คนของโลก : เซรเก คิสเลียค ทูตรัสเซียประจำกรุงวอชิงตัน

เซรเก คิสเลียค เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐอเมริกา กลายเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องอื้อฉาวในกรุงวอชิงตันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อ เจฟฟ์ เซสชันส์ รัฐมนตรียุติธรรมคนใหม่ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐเสนอชื่อเข้ามา โกหกในเรื่องที่เกี่ยวกับการพบปะหารือกับคิสเลียค

นักการทูตหลายรายเปิดเผยกับเอเอฟพีว่า คิสเลียค ผู้มีประสบการณ์สูงในแวดวงความสัมพันธ์ทางการทูตแบบเป็นศัตรูคู่แข่งกันระหว่างสหรัฐ-รัสเซีย คงจะสนุกสนานกับการโต้เถียงที่ไร้สาระในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นปัญหาล่าสุดในความพยายามจัดตั้งรัฐบาลของทรัมป์

คิสเลียค วัย 66 ปีเรียนจบมาทางด้านวิศวกรรม มีความใกล้ชิดกับนโยบายต่างประเทศของรัสเซียมานับตั้งแต่ช่วงเวลาการเผชิญหน้ากันของสหรัฐและสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น

คิสเลียคมีลูกสาว 1 คน ใกล้จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ด้วยเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับ “สายลับ” ที่ถือเป็นความล้มเหลวในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ชาติและกำลังกลายเป็นประเด็นทางการเมือง

ถึงตอนนี้ มีสมาชิกในฝ่ายบริหารของทรัมป์แล้ว 1 รายที่ถูกบีบให้ต้องลาออกไปหลังดำรงตำแหน่งได้เพียงไม่นานเท่าไหร่นัก

นั่นคือ ไมเคิล ฟลินน์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทำเนียบขาว หลังมีกรณีอื้อฉาวในเรื่องการพบปะหารือกับคิสเลียค

 

ถึงตอนนี้ เซสชันส์ถูกบีบให้ต้องถอนตัวจากการมีส่วนร่วมในการสอบสวนใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมโยงระหว่างทีมงานหาเสียงของทรัมป์กับรัสเซีย ซึ่งกำลังถูกตรวจสอบจากทุกฝ่าย หลังจากที่เขายอมรับว่า เคยพบปะหารือกับคิสเลียค 2 ครั้งก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปีที่แล้ว

ท่ามกลางบรรยากาศที่ป่วยไข้ในวอชิงตันซึ่งเจ้าหน้าที่ด้านนโยบายต่างประเทศและข่าวกรองมีแนวโน้มในการต่อต้านทรัมป์ รายงานข่าวบางชิ้นถึงขั้นระบุว่า คิสเลียคเป็นเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าสายลับรัสเซีย

เจ้าหน้าที่รัสเซียหัวเราะเยาะในเรื่องนี้โดยระบุว่าเป็นอารมณ์ความรู้สึกในการต่อต้านรัสเซียที่เกิดจากความหวาดระแวง และนักการทูตคนอื่นๆ ในวอชิงตันต่างพากันปฏิเสธในเรื่องนี้

แน่นอนว่า นักการทูตทุกคนต้องมีการติดต่อกับสายลับของประเทศตนเอง แต่คิสเลียคถึงขนาดเป็นผู้เฟ้นหาคนที่จะมาเป็นสายลับให้หน่วยสืบราชการลับต่างชาติ (เอสวีอาร์) ของรัสเซียจริงอย่างนั้นหรือ

แน่นอนว่ามีสายลับรัสเซียอยู่ในวอชิงตัน โดยเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ตอนนั้นกำลังจะพ้นจากตำแหน่ง สั่งขับนักการทูต 35 คนของรัสเซียออกนอกประเทศในฐานะที่เป็นสายลับต่างชาติ

และคิสเลียคดำรงตำแหน่งทูตสหรัฐเมื่อปี 2010 ในตอนที่หน่วยงานต่อต้านข่าวกรองของสหรัฐจับกุมสายลับรัสเซียที่แฝงตัวปฏิบัติหน้าที่ในสหรัฐได้ 10 คน

1 ในนั้นคือ แอนนา แชปแมน ที่กลายเป็นจุดสนใจของสื่อทั่วโลกจนเธอมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมา

 

แต่หากคิสเลียคเคยหรือทำงานให้กับเอสวีอาร์หรือเคจีบีจริง ประสบการณ์ส่วนนั้นก็คงจะไม่ปรากฏอยู่ในชีวประวัติอย่างเป็นทางการของเขา ซึ่งระบุว่าเขาเป็นนักการทูตที่ประสบความสำเร็จด้วยการค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมาอย่างช้าๆ ในกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย

เขาประจำอยู่ในสหรัฐตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นตลอดช่วงยุคทศวรรษที่ 1980 ตอนแรกในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานผู้แทนรัสเซียประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในนครนิวยอร์ก ก่อนที่จะมาเป็นเลขานุการเอกประจำสถานทูตรัสเซียในกรุงวอชิงตัน

หลังจากนั้น กลับมาประจำที่กระทรวงต่างประเทศรัสเซียในกรุงมอสโกตลอดช่วงยุคทศวรรษที่ 1990 ก่อนที่จะได้ควบตำแหน่งทูตรัสเซียประจำเบลเยียม และผู้แทนรัสเซียประจำองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ในปี 2003 และเป็นรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศในปี 2008

ในช่วงก่อนหน้าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ นักการทูตของหลายๆ ประเทศที่เป็นทั้งมิตรและศัตรูของสหรัฐต่างพยายามทำงานของตนด้วยการสานสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญที่คาดว่าจะมีอำนาจอิทธิพลในรัฐบาลใหม่ และเซสชันส์กับฟลินน์ที่มีความใกล้ชิดกับทรัมป์ ก็จัดอยู่ในกลุ่มบุคคลประเภทนี้

แต่บทบาทของคิสเลียคต้องตกอยู่ภายใต้การจับตาตรวจสอบอย่างเข้มข้นเนื่องจากหน่วยข่าวกรองของสหรัฐเชื่อว่า รัฐบาลรัสเซียมีส่วนในการทำลายโอกาสของ ฮิลลารี คลินตัน และช่วยให้ทรัมป์ผงาดได้รับชัยชนะในที่สุด