คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “ทัตตาเตรยะ” พระตรีมูรติท้องถิ่นยอดนิยม

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมได้กล่าวไปแล้วว่า คติตรีมูรติไม่ใช่อะไรที่เก่าแก่ถึงยุคพระเวท มามีบทบาทล่วงมาในสมัยปุราณะแล้ว อีกทั้งอาจเป็นอะไรที่ชาวตะวันตกสนใจเป็นพิเศษเพราะมีลักษณะคล้ายตรีเอกานุภาพ (Trinity) ของศาสนาคริสต์

ตรีมูรติตามคติแบบฮินดูนั้น ถ้าว่าตามหลักคิดของนิกายต่างๆ พระเจ้าสูงสุดของนิกายนั้นแหละคือตรีมูรติตัวจริง เป็นต้นว่า นิกายที่นับถือพระศิวะ ก็ถือว่า พระศิวะทรง “สำแดง” เป็น “ภาค” ผู้สร้าง (สัทโยชาตะ) ผู้รักษา (วามเทวะ) และทำลาย (อโฆระ)

หากนับถือพระวิษณุ ก็ถือว่าพระองค์มี “วยูหะ” ต่างๆ คือภาคสำแดงของการสร้าง รักษา ทำลาย เช่นเดียวกันกับพระศิวะ

ที่เป็นเช่นนี้ก็เข้าใจได้ไม่ยากครับว่า นิกายไหนเขาก็ย่อมถือว่าพระเป็นเจ้าของเขานั้นคือสภาวะสูงสุด เป็นพระเจ้าสูงสุด เมื่อเป็นพระเจ้าสูงสุด ก็ย่อมมีพลานุภาพทำได้ทุกอย่าง เทพอื่นๆ ก็เป็นแค่บริวาร อวตาร หรือภาคสำแดงเท่านั้นเอง

ส่วนตรีมูรติที่แยกออกเป็นสามองค์ คือ พระพรหม พระวิษณุและพระศิวะนั้น ผมเข้าใจว่ามีความนิยมในนิกาย “สมารตะ” หรือนิกายที่พัฒนามาจากปรัชญา อไทฺวตเวทานตะของท่านศังกราจารย์ นิกายนี้ไม่ได้นับถือเทพองค์ใดเป็นพิเศษ และพยายามรวมความเชื่อจากทุกนิกายเข้าด้วยกัน จึงบูชาเทพเจ้าอันเป็นที่นับถือของนิกายต่างๆ เหล่านั้นทั้งหมด

ทั้งนี้ นอกจากตรีมูรติแบบฉายเดี่ยว ตรีมูรติแบบแยกสามองค์ และยังมีแบบสุดท้ายคือสามองค์มารวมกันในองค์เดียว ซึ่งน่าจะมีความนิยมแพร่หลายในภายหลัง และดูเหมือนคนไทยจะรู้จักแบบนี้มากกว่าแบบอื่นๆ

 

ในบรรดาตรีมูรติแบบรวมสามองค์นี้ มีเทพเจ้าองค์หนึ่ง ชื่อ “ทัตตาเตรยะ” (Duttatreya) เป็นที่นิยมและมีชื่อเสียงที่สุดในบรรดาพระตรีมูรติแบบนี้

ที่จริงพระตรีมูรติในรูปพระทัตตาเตรยะนี้มีความซับซ้อนอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะจะว่าไปแล้ว อาจถือได้ว่าท่านเป็นเทพท้องถิ่นที่ถูกนำไปผนวกกับเทพในคัมภีร์ปุราณะ หนำซ้ำยังอาจมีตัวตนจริงๆ ในฐานะนักบวชผู้ก่อตั้งนิกายบางนิกายของฮินดูด้วย

ตามตำนานในปุราณะ ทัตตาเตรยะเป็นบุตรของฤษีอัตริและนางอนสูยา ฤษีอัตริผู้นี้ เชื่อว่าเป็นผู้รจนาพระเวทท่านหนึ่งและอยู่ในกลุ่ม “สัปตฤษี” หรือฤษีทั้งเจ็ดตนผู้เป็นบรรพชนของคนและสิ่งทั้งหลายในโลก

ตำนานเล่าว่า ฤษีอัตริชราภาพแล้ว และนางอนสูยาเป็น “ปดิวรดา” คือผู้ภักดีในสามี พระตรีมูรติทั้งสามองค์ คือพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ จึงได้ลงมา “อวตาร” รวมกันเป็นบุตรคนเดียวของท่าน (บางตำนานก็ว่า ทั้งสามพระองค์อวตารมาเป็น “บุตรทั้งสาม” โดยทัตตะเป็นพระวิษณุอวตาร)

คนในแคว้นมหาราษฎร์ (หรือคนมาราฐา) เชื่อกันว่าบ้านเกิดของพระทัตตาเตรยะคือเมืองมหูร (Mahur) ทางทิศตะวันออกของแคว้นมหาราษฎร์ ดังนั้น ตำนานนี้คงแพร่หลายอยู่ในชาวมาราฐาก่อน และแพร่ไปสู่ส่วนอื่นๆ เช่น อันธรประเทศ และเตลังคนะ เรื่อยไปจนถึงทมิฬนาฑู และข้ามน้ำข้ามทะเลมายังบ้านเราเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง

ที่บอกว่าเป็นเทพพื้นเมืองก็ด้วยเหตุนี้ละครับ เพราะชาวมาราฐาในแคว้นมหาราษฎร์นั้นเคารพพระทัตตาเตรยะเป็นพิเศษ และความเชื่อเกี่ยวกับพระทัตตะก็แพร่หลายอยู่ในดินแดนแถบนี้ก่อนที่อื่นๆ นอกจากนี้ยังมีเหตุผลในทางประวัติศาสตร์ของนิกายบางนิกายอีก

รูปเคารพของพระทัตตาเตรยะที่นิยมสร้างกันในแคว้นมหาราษฎร์และอันธรประเทศ เป็นรูปนักบวช (สันยาสี) มีสามเศียร (ซึ่งคือพระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ) มีหกกร แต่ละกรถือข้าวของของพระตรีมูรติทั้งสาม คือจักรและสังข์ (ของพระวิษณุ) ตรีศูลและกลองบัณเฑาะว์ (พระศิวะ) และประคำกับหม้อน้ำกมัณฑลุ (ของพระพรหม)

ท่านยืนโดยมีโคหนึ่งตัวให้พิงและมีสุนัขสี่ตัวอยู่รายรอบ บางท่านตีความว่าสุนัขคือพระเวททั้งสี่ (ฤค ยชุ สามะ และอถรวะ) แต่บางท่านก็ว่า พระเวทไม่ควรแทนที่ด้วยสัญลักษณ์ของสัตว์ชั้นต่ำ (ในวัฒนธรรมฮินดู) อย่างสุนัข รูปนี้จึงควรตีความเพียงว่า คำสอนของพระทัตตะนั้นไม่มีแบ่งชนชั้น ไม่ว่าจะเป็นสัตว์แสนประเสริฐอย่างโคไปจนถึงสุนัข

 

พระทัตตาเตรยะเป็นเทพเจ้าในรูปนักบวช จึงไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ “ความรัก” แต่มีบทบาทครู เชื่อว่าท่านได้สอนสั่งธรรมชั้นสูงขั้นโลกุตระ เฉกเช่นพระกฤษณะสอน “ภควัทคีตา” แก่อรชุนในทุ่งกุรุเกษตร ด้วยเหตุนี้ท่านจึงถูกเรียกด้วยความเคารพว่า “คุรุทัตตะ” หรือทัตตคุรุ

คำสอนของคุรุทัตตะปรากฏในคัมภีร์ชื่อ “อวธูตคีตา” (ใช้คำว่า “คีตา” แบบเดียวกับภควัทคีตาและคีตาอื่นๆ) อวธูต แปลว่า ผู้เสรี หรือเป็นอิสระ บางครั้งหมายถึงนักบวชจำพวกหนึ่ง ซึ่งไม่สังกัดลัทธินิกายใดและมีอิสระจากประเพณีธรรมเนียมปฏิบัติทั้งหลาย

คัมภีร์เล่มนี้นักวิชาการเห็นว่ามีทัศนะสอดคล้องกับปรัชญาสำนักเวทานตะ และมีส่วนคล้ายคำสอนของฝ่ายตันตระทั้งพุทธและฮินดู

นอกจากที่มาในเชิงเทวตำนาน พระทัตตาเตรยะอาจเป็นบุคคลจริงๆ ในประวัติศาสตร์ ซึ่งอาจเป็นนักบวชผู้ก่อตั้งสายการปฏิบัติหลายสาย เช่นนิกาย “นาถ” อันเป็นนิกายของนักบวชฮินดูที่แพร่หลายช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14-18 ในภาคเหนือของอินเดียเรื่อยไปจนถึงเนปาล และอาจนับเป็นสาขาหนึ่งของไศวะนิกาย

กระนั้น นักบวชของนาถบางองค์มีความเกี่ยวพันกับพุทธศาสนาฝ่ายตันตระด้วย คือได้รับการนับถือเป็นคุรุจากชาวพุทธ เช่น โครักขนาถ (ในคัมภีร์ฝ่ายตันตระเรียกว่ามหาสิทธาโครักษะ) และเป็นที่มาของชื่อเมือง “โครักขปุระ” (บางคนไพล่ไปเขียน โครักขะ เป็น “กูรข่า” ทำให้งงกันไปหมด)

 

นักวิชาการอินเดียบางท่านเห็นว่า การที่คุรุทัตตะกลายเป็นต้นวงศ์ของพวกนาถนั้น ก็เพราะมีการเพิ่มความเชื่อนี้เข้าไปในศตวรรษที่สิบแปด แต่สายการปฏิบัติจริงๆ ของคุรุทัตตะได้สืบทอดมาในกลุ่มคนมาราฐาโดยเฉพาะ เรียกว่าสาย “คุรุจริต” เพราะอิงคัมภีร์ที่ชื่อคุรุจริต (เรื่องราวของคุรุ) ประพันธ์ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 14 โดยนักบวชชื่อสวามี นรสิงหะ สรัสวตี ซึ่งสืบสายธรรมอีกส่วนมาจากสำนักของท่านศังกราจารย์

ในคุรุจริตเล่าว่า ท่านคุรุทัตตะผู้เป็นต้นสายธรรม ได้ “อวตาร” มาเป็นคุรุ ชื่อ “ศรีปาทะ ศรีวัลลภะ” แห่งนิกายทัตตาเตรยะ จากนั้นผู้สืบทอดคนต่อไปคือ สวามีนรสิงหะ สรัสวตี ตามด้วย สวามีสมารถ แห่งอกลโกฏ (ใครไปแถบนั้น มักเห็นรูปท่านตามรถราและอาคาร ชาวมาราฐานับถือกันมาก) และบางครั้งก็ยังอ้างว่า ได้สืบมายังท่านไสบาบาแห่งศิรทิ (ซึ่งเป็นฟาร์กี หรือนักบวชมุสลิมสายซูฟี คนละองค์กับที่ผมฟูๆ ที่อยู่ในอินเดียใต้)

คุรุทั้งหมดนี้ในนิกายถือกันว่าเป็นอวตารของคุรุทัตตะทั้งสิ้น ที่จริงสายธรรมคุรุจริตมีอายุไม่เก่าแก่ เพราะมีคุรุสืบมาเพียงสี่คน และเป็นไปได้ว่าเป็นการเชื่อมโยงเอาในภายหลัง

นอกจากสองสายปฏิบัติข้างต้น ยังมีการอ้างถึงคุรุทัตตะในสายปฏิบัติอื่นๆ อีกมากมาย เช่น สายทศนามี สายภักติ (นักบุญในสายนี้หลายคนเอ่ยถึงคุรุทัตตะ) สายมหานุภาวะ ฯลฯ เรียกได้ว่าคุรุทัตตะเป็นที่นิยมอย่างยิ่ง

ความนิยมดังกล่าวอาจเพราะ คุรุทัตตะนั้นมีความ “คลุมเครือ” มากพอที่จะสามารถนำไปเชื่อมโยงกับสายการปฏิบัติของตน คือดูเป็นนักบวชลึกลับ มีปาฏิหาริย์ แถมยังเป็นถึง “ตรีมูรติอวตาร” ไม่ใช่คุรุธรรมดาๆ

ผมคิดว่า คล้ายๆ การอ้างถึง “หลวงปู่เทพโลกอุดร” ในบ้านเรานั่นแหละครับ

 

ส่วนความรู้เกี่ยวกับตรีมูรติแบบคุรุทัตตะนั้นคงมาถึงบ้านเราราวๆ ปี 2530-2540 เพราะปรากฏว่า เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ได้สร้างตรีมูรติในรูปแบบคุรุทัตตะทำด้วยทองคำ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในปี พ.ศ.2545 ซึ่งในพิธีมีพราหมณ์อินเดียทั้งจากเทพมณเฑียรและวัดแขกสีลมเข้าร่วมด้วย

ดังนั้น เทวสถานโบสถ์พราหมณ์จึงถือเอาตรีมูรติ ในรูปคุรุทัตตะเป็นมาตรฐาน เมื่อกรุงเทพมหานครได้ทำการบูรณะเสาชิงช้าในปี พ.ศ.2550 ได้มีการจัดสร้างพระตรีมูรติแบบเดียวกับที่หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ทางโบสถ์พราหมณ์จึงไม่ได้เข้าร่วมพิธีกรรมเทวาภิเษกแต่อย่างใด

เรื่องพระตรีมูรติในอินเดียว่าซับซ้อนซ่อนเงื่อนแล้ว

ก็ยังไม่เท่าเรื่องราวของพระตรีมูรติในสังคมไทย ที่แสนจะซับซ้อนซ่อนแง่ยิ่งกว่า

เช่น ทำให้ท่านกลายเป็นเทพแห่งความรักเสียฉิบ

นาร้ายณ์ นารายณ์