ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : พระอิศวรฟ้อนรำ ที่ระเบียงคตวัดพระแก้ว

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ที่ระเบียงคตวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันอย่างชินปากมากกว่าว่า “วัดพระแก้ว” นั้นมีภาพจิตรกรรมเรื่อง “พระอิศวรฟ้อนรำ” อยู่ด้วยนะครับ (ถึงแม้ว่าจะดูไม่ค่อยจะออกว่า พระอิศวรท่านฟ้อนรำอยู่ ถ้าไม่อ่านจากคำจารึก ที่มีกำกับความภาพวาดเอาไว้ก็เถอะ)

โดยพวกพราหมณ์ถือกันว่า พระอิศวรนั้นเป็นราชาแห่งการฟ้อนรำ หรือที่เรียกกันว่า “ศิวนาฏราช”

หนังสือไศวาคม คัมภีร์ในศาสนาพราหมณ์ ไศวนิกาย ที่นับถือพระอิศวรเป็นใหญ่อ้างว่า พระอิศวรมีท่วงท่าในการฟ้อนรำ 108 ท่า จำนวนเลขเดียวกันนี้ยังตรงกับจำนวนท่ารำในตำราแม่บทของการฟ้อนรำในอินเดียที่ชื่อว่า “นาฏยศาสตร์” ของภรตมุนี บางทีจึงเรียก “ภรตนาฏยศาสตร์” ชาวอินเดียจึงพากันถือว่า ท่ารำหรือที่มีศัพท์เฉพาะว่า “กรณะ” 108 ท่าในนาฏยศาสตร์คือท่ารำของพระอิศวร ภรตมุนีก็พลอยได้อานิสงส์เป็นพระภาคหนึ่งของพระอิศวรไปด้วย

นับเฉพาะในโลกอุษาคเนย์ มีเฉพาะจันทิ (คำเรียกทั้งวัดในพุทธศาสนา และเทวาลัยในศาสนาพรหามณ์-ฮินดู ในวัฒนธรรมใหญ่บนเกาะชวา) ปรัมบนัน ทางภาคกลางของเกาะชวา ซึ่งสร้างขึ้นหลัง พ.ศ.1400 ที่มีภาพสลักพระอิศวรฟ้อนรำ 108 ท่าอยู่ที่รอบอาคารประธาน ที่สร้างขึ้นถวายพระอิศวร นอกจากนั้นทั่วทั้งอุษาคเนย์ไม่มีที่อื่นอีก

น่าแปลกนะครับที่ในวัฒนธรรมขอมโบราณ และจามปาก็นิยมจำหลักภาพพระอิศวรฟ้อนรำ กลับไม่มีที่สลักครบ 108 ท่า แต่มักจะสลักเพียงท่าเดียวไว้ตามบริเวณสำคัญภายในวัด หรือปราสาท โดยเฉพาะในวัฒนธรรมขอม ที่ภาพสลักของพระอิศวรท่านก็ฟ้อนในท่วงทำนองอย่างพื้นเมือง เทียบไม่ได้กับในตำราภรตนาฏยศาสตร์เลยสักนิด

สรุปว่าอุษาคเนย์ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่รู้จักรูปพระอิศวรฟ้อนรำ แต่ไม่ได้ลอกแบบอย่างการฟ้อนรำมาจากภรตนาฏยศาสตร์ ยิ่งไม่เคยปรากฏการสลักรูปพระอิศวรร่ายรำ 108 ท่า

 

อุษาคเนย์ภาคผืนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะพวกที่ไม่ได้พูดภาษาตระกูลมลายู ไม่นิยมเรื่องพระอิศวรร่ายรำ 108 ท่า

แต่รู้จักภรตมุนีผ่านเครือข่ายความสัมพันธ์ที่โยงใยกันผ่านวัฒนธรรมดนตรี โดยเฉพาะเมื่อมีการกระจายตัวของวัฒนธรรมฆ้องขนานใหญ่ (หลังผ่านพัฒนาการจากมโหระทึกไปสู่เครื่องดนตรีโลหะขนาดเล็ก) ที่ทำให้เกิดความหลากหลายของเสียงดนตรีมากยิ่งขึ้น

วัฒนธรรมดนตรีที่ว่าถ่ายโอนกันไปมาระหว่างอุษาคเนย์ภาคผืนแผ่นดินใหญ่ และภาคหมู่เกาะผ่านเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการค้า และการเมืองการปกครองอีกทอดหนึ่ง สรรพความรู้ หรือเรื่องราวในศาสนาต่างๆ ก็โอนถ่ายกันไปมาผ่านเครือข่ายที่ว่านี้เอง

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อของพวกพราหมณ์ พระอิศวรไม่ได้ฟ้อนรำเพียงครั้งเดียว แต่ได้ฟ้อนรำอย่างมีนัยยะสำคัญถึง 3 ครั้ง

ในหนังสือ Elements of Hindu Iconography ตำราทางประติมานวิทยา (Iconography, คือวิชาที่ว่าด้วยการศึกษาความหมายของรูปภาพ) เกี่ยวกับเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ฉบับคลาสลิคของ ที. เอ. โคปินาถะ เรา (T.A. Gopinatha Rao) ได้รวบรวมเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระศิวะนาฏราชไว้ โดยอ้างว่าจากคัมภีร์ปุราณะฉบับต่างๆ มีฉากตอนพระอิศวรฟ้อนรำครั้งสำคัญทั้งหมดสามครั้ง แต่ก็มีที่กล่าวถึงอยู่ประปรายกระจายอยู่ในตอนอื่นๆ ด้วย

ฉากพระอิศวรร่ายรำตอนสำคัญครั้งที่ 1 พบอยู่ในหนังสือกถาสริตสาคร และศิวะประโทษสโตตระ

กล่าวถึงการร่ายรำบนเขาไกรลาศในยามเย็น มีหมู่เทพเจ้าทำดนตรี ทั้งพระสรัสวตีทรงวีณา พระอินทร์ทรงขลุ่ย พระพรหมทรงกระดิ่งคอยกำกับจังหวะ พระลักษมีเป็นผู้ขับร้อง โดยมีพระนารายณ์ทรงกลอง ห้อมล้อมไว้ด้วยนักสิทธิ์วิทยาธร และคนธรรพ์ต่างๆ

ฉากที่ 2 เรียกว่า “ตาณฑวะ” พระอิศวรในรูป 10 กร จะร่ายรำอยู่ในสุสานร่วมกับเทวี โดยมีเหล่าภูตผีปีศาจตัวน้อยๆ ร่วมวงอยู่ด้วย

โคปินาถะ เราได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ฉากตาณฑวะนี้มีพื้นเพดั้งเดิมมาจากความเชื่อในยุคก่อนอารยันที่นับถือผีซึ่งมีลักษณะกึ่งเทพ กึ่งปีศาจ ในชั้นหลังพระอิศวรบางครั้งก็ร่ายรำในฐานะพระเทวี แสดงให้เห็นว่าเรื่องราวในไศวนิกายที่ผสมปนเปเข้ากับความคิดในลัทธิศักติ คือกลุ่มผู้บูชาพลังของเพศหญิง ฉากตาณฑวะนี้เกี่ยวข้อง หรืออาจจะเป็นต้นแบบให้กับพระอิศวรในรูปดุร้ายคือ พระไภรวะ หรือพระวีรภัทร แต่ไม่ใช่ตอนเดียวกัน

ฉากที่ 3 พระอิศวรฟ้อนรำที่ติลไลย หนังสือโกยิลปุราณัม ซึ่งเป็นตำราพราหมณ์ของพวกทมิฬทางตอนใต้ของอินเดียเป็นการเฉพาะ เล่าเรื่องพระอิศวรตอนนี้โดยอ้างว่าติลไลยเป็นศูนย์กลางของโลก

โดยท้องเรื่องมีอยู่ว่า พระอิศวรได้ชักชวนพระนารายณ์ และอาทิเศษะ (หมายถึงนาคที่เกิดมาตัวแรก ในไศวนิกายว่าคือนาควาสุกรี แต่ไวษณพนิกายว่า อนันตนาคราช) มาปราบเหล่าฤๅษีนิกายมีมางสาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมในป่าตารกะ

พระอิศวรจำแลงกายเป็นฤๅษีหนุ่มรูปงาม ในขณะที่พระนารายณ์ก็จำแลงเป็นนักบวชสาวสวย เข้ามาเย้ายวนเหล่าฤๅษีทุศีล เมื่อรู้ว่าถูกหลอก เหล่าฤๅษีต่างโกรธจึงเสกเสือขึ้นจากกองไฟบูชายัญเข้าทำร้ายพระอิศวร พระอิศวรจึงจับถลกหนังใช้เป็นเครื่องทรงตลอดมา

คราวนี้พวกฤๅษีจึงเสกงูเข้าทำร้าย พระอิศวรก็จับมาทำเป็นสังวาลย์ประจำพระองค์อีก

จากนั้นพระองค์ก็เริ่มร่ายรำ (ถ้าอ่านแล้วรู้สึกไม่สมเหตุสมผล ก็ลองจินตนาการว่ากำลังดูหนังแขกที่ทั้งรำ ทั้งวิ่งมันทั้งเรื่องดูสิครับ) สิ่งสุดท้ายที่พวกฤๅษีเสกเข้าทำร้ายพระอิศวรคือ อสูรแคระที่ชื่อ มูลยกะ (ไทยเรียก มูลคินี)

พระอิศวรท่านก็จับเอาอสูรแคระเป็นฟลอร์ขึ้นไปรำเซิ้งอยู่บนหลังของเจ้าอสูรนี่แหละ เราจึงเห็นรูปประติมากรรมพระอิศวรฟ้อนรำอยู่บนอสูรแคระเป็นปกติ

อาทิ เศษะผู้บูชะพระอิศวร (ความตรงนี้แน่แล้วว่าในที่นี้หมายถึง นาควาสุกรี) เห็นเหตุการณทั้งหมดเข้าก็ประทับใจความงามที่พระอิศวรร่ายรำออกมา จึงขอให้พระอิศวรฟ้อนรำให้ดูอีกครั้ง พระอิศวรท่านก็เมตตาสัญญาว่าจะร่ายรำอีกครั้งที่ติลไลย

“ติลไลย” ที่ว่าปัจจุบันคือเมือง “จิทัมพรัม” อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย มีวัดชื่อ “นาฏราช” สร้างขึ้นหลัง พ.ศ.1450 ที่โคปุระคือ ซุ้มประตูทางเข้าขนาดใหญ่มีรูปพระอิศวรฟ้อนรำ 108 ท่า ในหนังสือไศวาคม ซึ่งเป็นคัมภีร์ในไศวนิกายพระอิศวรมีท่วงท่าในการฟ้อนรำ 108 ท่า

 

จารึกที่ใต้ภาพจิตรกรรมพระอิศวรฟ้อนรำ ที่ระเบียงคตวัดพระแก้วมีข้อความระบุภาพตอนนี้ว่า “พระอินสวน (คือ พระอิศวร) ก็เสด็จลงมาปราบอะสูระมูลาคะนี ขึ้นเหยียบเหนือหลังแล้วจึงไขท่อน้ำท่อไฟออกจากพระกรรณทั้งสองให้ตกต้อง อะสูระมูลาคะนีก็สูญไป” ดังนั้น ภาพจิตรกรรมรูปพระอิศวรฟ้อนรำที่วัดพระแก้วจึงเป็นฉากที่เกี่ยวข้องกับการฟ้อนรำของพระองค์ที่ติลไลย ตามเรื่องราวในโกยิลปุราณัมนั่นเอง

ยักษ์ “มูลาคะนี” ก็คืออสูรแคระ “มูลยกะ” ส่วนท่อน้ำท่อไฟที่ออกมาจากพระกรรณของพระอิศวรที่มีอยู่ในตำนานข้างไทยก็คือชายพระเกศาของพระอิศวรที่สยายออกยามร่ายรำอยู่เหนือมูลยกะ ตามอย่างที่สุนทรียรสอย่างอินเดียใต้ ที่พบเห็นอยู่ทั่วไปแม้กระทั่งในเครือข่ายของพวกพราหมณ์ชาติพันธุ์ทมิฬ

ภาพจิตรกรรมพระอิศวรฟ้อนรำที่วัดพระแก้ว ถึงแม้จะดูจะเลือนไปจากต้นฉบับของชมพูทวีปอยู่มาก แต่เมื่อพิจารณาจากถ้อยคำจารึกที่กำกับอยู่ และหนังสือนารายณ์สิบปางฉบับโรงพิมพ์หลวง ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2417 (ตรงกับช่วงต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 5) ซึ่งเล่าถึงเรื่องพระอิศวรฟ้อนรำไว้โดยมีปกรณ์เรื่องการปราบอสูรมูลาคะนีกำกับอยู่ไม่ต่างกัน จึงพอจะเห็นร่องรอยได้ว่า มีที่มาจากหนังสือโกยิลปุราณัม

ปกรณ์เรื่องพระอิศวรฟ้อนรำในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (และรวมถึงยุคสมัยก่อนหน้า อย่างน้อยก็รวมถึงกรุงศรีอยุธยา) นั้น จึงมีที่มาจากพวกทมิฬทางตอนใต้ของอินเดีย มากกว่าที่จะเกี่ยวข้องกับพวกพราหมณ์ที่อยู่ในส่วนอื่นๆ ของชมพูทวีป แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับปกรณ์เรื่องนี้คงลบเลือนลงไปมาก

ภาพจิตรกรรมที่ระเบียงคตวัดพระแก้ว (รวมไปถึงข้อความกำกับในจารึก) จึงแสดงให้เห็นเพียงรูปพระอิศวรใช้เท้าเหยียบลงบนตัวอสูรมูลาคะนี โดยไม่ฟ้อนรำนั่นเอง