มนัส สัตยารักษ์ | ไวรัสในรัฐบาล

ร่างจดหมายฉบับหนึ่งถึง “นายกฯ ตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไว้หลายวันแล้ว…

“เรียน ท่านนายกฯ

ท่านอย่าทำตาดุใส่ผมสิ และไม่ต้องกราดเกรี้ยว ชี้หน้าชี้ตาราวกับผมเป็นอ้ายตัวร้ายมาจากไหน ผมเป็นชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ได้เป็นศัตรูกับท่านนะครับ

เพียงแต่ว่า เมื่อท่านหรือพวกของท่าน คิด พูด และทำอะไรที่มัน “ไม่เข้าท่า” แล้วถูกฝ่ายตรงกันข้ามเอาไปคอมเมนต์ กระแหนะกระแหน สับและจวก มันทำให้ผมหงุดหงิดและโมโหจนของขึ้น จนต้องระบายออกมา

อะไรบ้างที่ว่า ไม่เข้าท่าน่ะ?…

หกปีที่ผ่านมาด้วยคนไม่มีฝีมือและไม่มีวิสัยทัศน์และไม่โปร่งใส เรื่องไม่เข้าท่าย่อมมากมายจนสาธยายไม่หมด สาเหตุส่วนใหญ่แม้ไม่ได้มาจากตัวนายกฯ โดยตรง ก็มาจากคนรอบตัวท่านหรือคนที่ท่านแต่งตั้งเข้ามา หลายคนเปรียบเสมือน “ไวรัสโคโรนา”

จะอย่างไรก็ตาม ท่านเป็นคนเดียวที่มีสิทธิ์และมีอำนาจที่จะแสดงความหยาบคายดังกล่าวข้างต้น

ที่เห็นชัดก็คือ ท่านถูกล้อมรอบด้วยคนเชลียร์ คนทุจริตคอร์รัปชั่น ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ที่ใกล้และเห็นชัดก็เช่น แจกเงินนักท่องเที่ยวหรือจะสร้างภาพยนตร์เชิดชูนักรบไทย ฯลฯ ท่ามกลางความล่มสลายของเศรษฐกิจ เป็นต้น

ผมจะเรียนให้ท่านทราบว่า ทุกครั้งที่ท่านกร้าวใส่กล้องถ่ายทีวีหรือผู้สื่อข่าว ก็เท่ากับท่านตวาดหรือตะคอกใส่ผมและคนที่พบเห็นภาพนั้นนั่นเอง

คนโดนตวาดเมื่อตอบโต้ไม่ได้ ก็ย่อมระบายตอบโต้ทางสื่อเท่าที่จะหาได้ครับ”

ผมไม่ได้ตั้งใจจะส่งจดหมายฉบับนี้แต่อย่างใด เพียงแต่คิดว่า เมื่อถึงเวลาเหมาะๆ จะเอาไปใช้ใน What”s on your mind? (คุณกำลังคิดอะไรอยู่) ของเฟซบุ๊ก ซึ่งเปิดช่องว่างไว้ให้

วันนี้เปิดทีวีดูการ “อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี” ในสภาผู้แทนราษฎร ทันได้เห็นและฟัง พล.อ.ประยุทธ์ยืนตอบหักล้างการอภิปราย แล้วก็พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่มี “จุดเดือด” ให้เห็นเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่มีการขว้างปาสิ่งของ ไม่มีถลึงตาชี้นิ้ว และไม่มีถ้อยคำหยาบคายอย่างที่เคยมี

แม้ว่าจะมีตอบผิดหรือตอบไม่ตรงกับความจริง เช่นกรณีที่อ้างว่าได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยไม่ใช้เสียงวุฒิสมาชิก

ส.ส.พรรคเพื่อไทยประท้วงว่า “พูดเท็จ โกหก” พล.อ.ประยุทธ์ชี้แถไปว่า “เป็นการหารือของสองสภา”

พรรคฝ่ายค้านเพียงประท้วง แต่สื่อโซเชียลถึงกับประณามด้วยคำหยาบคาย ส่วนตัวผมไม่อยากชี้ว่าเป็นความเท็จ เพียงแต่ถือว่าไม่เป็นความจริงเท่านั้น!

อีกประเด็นหนึ่งเป็นเรื่องไร้สาระ เมื่อ ส.ส.พรรครัฐบาลหลายคนประท้วงผู้อภิปรายที่เรียก พล.อ.ประยุทธ์ว่า “คุณประยุทธ์” พวกเขาประท้วงว่าเป็นการไม่ให้เกียรติหรือไม่สุภาพ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ เรียกประธานชวน หลีกภัย ว่า “คุณชวน” โดยขอให้ “คุณชวน” วินิจฉัย นายชวนตอบทันทีว่า “ได้ อย่าเรียกไอ้ก็แล้วกัน”

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า “กรณีเรื่องการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ถ้าเป็นพลเรือนด้วยกัน ผมไม่ห่วงว่าจะเรียกกันว่าอะไร แต่สำหรับทหารและตำรวจทั้งหลายได้ร่วมพิธีถวายสัตย์และรับพระราชทานยศมาด้วยกัน กรุณารักษาศักดิ์ศรีของตัวเองกันไว้ด้วย”

ยอมรับว่าไม่ค่อยเข้าใจคำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ ฟังดูเหมือนกับว่าพลเรือนกับทหาร-ตำรวจเป็นคนละพวกกัน มีศักดิ์ศรีของตัวเองต่างกัน โดยส่วนตัว ผม (ซึ่งเป็นคนมียศ) จะรู้สึกไม่เสียเกียรติหรือไร้ศักดิ์ศรีแต่อย่างใดหากใครจะเรียกผมว่า “คุณมนัส” แต่จะกลับรู้สึกผิดปกติถ้าถูกเรียกโดยมียศนำหน้า เพราะฟังดูเหมือนเป็นการแบ่งแยกหรือแบ่งฝ่าย “พลเรือน-ทหาร” ชัดเจน

ฟังดูเหมือนจะประกาศว่าผมเป็นตำรวจระดับล่าง ชั้นยศต่ำกว่าชั้นนายพล

อันที่จริง คำว่า “คุณ” มิใช่คำที่ฟังเป็นการดูถูกหรือเหยียบย่ำหรือไม่ให้เกียรติ คำนี้ใช้เป็นคำนำหน้าผู้หญิงที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ระดับสูง เท่ากับ “คุณหญิง” เพียงแต่ใช้กับผู้หญิงที่ยังโสดหรือยังไม่มีสามี

คำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ ฟังดูราวกับว่า “ยึดติด” กับยศถาบรรดาศักดิ์ มองพลเรือนเป็นคนละพวกกับทหาร-ตำรวจ (คนมียศ)-อย่างไรอย่างนั้น

ในวาระของการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ส.ส.ฝ่ายค้านท่านหนึ่งได้ประมวลคลิปที่แสดงพฤติกรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ขณะเกิดอาการ “จุดเดือดเป็นพิษ” มาโชว์บนจอกลางสภา ขอแสดงความนับถือฝ่ายค้านที่สามารถรวบรวมได้ราวสิบ-ยี่สิบภาพ รวมทั้งจัดเรียงได้พอเหมาะกับเวลาอันจำกัด แต่ละคลิปก็สอดคล้องกับคำอภิปราย

แต่ถึงกระนั้นก็คงจะไม่ช่วยให้ฝ่ายค้านได้ชัยชนะในการลงมติ

พล.อ.ประยุทธ์ตระหนักดีว่าการมีประสิทธิภาพของการอภิปรายไม่ช่วยในประสิทธิผลของการลงมติแต่อย่างใด เราจึงเห็นคุณประยุทธ์เปลี่ยน “ลุค” ใหม่ กลายเป็นคนใจเย็น กระหยิ่มยิ้มย่อง ไม่มีคำหยาบคาย ไม่มีท่าทีเถื่อนๆ เช่น การปาข้าวของในสภา

ผลก็คือรัฐบาลประสบชัยชนะอย่างขาดลอยในสภา

แต่นอกสภาโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศเป็นอีกเรื่องหนึ่ง!!

สภาพการณ์นอกสภา ราวกับวันเริ่มต้นของวันประวัติศาสตร์ “14 ตุลา” เป็นสภาพที่สืบเนื่องมาจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคมีกำหนด 10 ปี

สาเหตุที่วินิจฉัยเช่นนี้ มาจากการกระทำของพรรคอนาคตใหม่เองในกรณีกู้เงิน

มาจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่สภาร่างฯ บัญญัติไว้

มาจากการยื่นคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.

แต่…ผู้ชุมนุมสร้างสภาพการณ์นอกสภาล้วนประณามไปที่รัฐบาลหรือ พล.อ.ประยุทธ์แต่เพียงผู้เดียว ผนง.ต้องออกไป!

จุดเริ่มของการรวมตัวอาจจะมาจาก 36 อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. ลงชื่อแถลงไม่เห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่

การรวมตัวของนักศึกษาได้รับคำทักท้วงจากอดีต “คน 14 ตุลาตัวจริง” อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และศิษย์เก่ารุ่นพี่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งอาจารย์จากหลายสถาบัน

ผมซึ่งเป็น “ผู้เฒ่า” ในวันนี้ไม่ได้เป็นฝ่ายใด รักและนับถือทุกฝ่าย

แต่เมื่อ “ไวรัส” ของ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาประกาศว่า “พวกนักศึกษาเพิ่งจะโต สมองก็น้อยนิดหลอกง่าย เดี๋ยวผมจะจัดระเบียบให้สงบปากกันไปเลย”

ผมวางตัวใหม่แล้วครับ ขอชูป้ายที่นักศึกษาเขียนว่า “ผนง.ต้องออกไป!”