การบริหารราชการแผ่นดิน ผมไม่เห็นจะยากตรงไหน / ฉบับประจำวันที่ 13-19 มีนาคม 2563

ย้อนกลับไปเมื่อ 8 สิงหาคม 2557
พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการคืนความสุขให้กับคนในชาติ
อย่างมั่นอกมั่นใจ ว่า
“การบริหารราชการของ คสช. หลายคนบอกว่าเป็นทหารจะรู้หรือ
การบริหารบ้านเมืองเป็นเรื่องใหญ่
ผมเรียนท่านแล้วทุกวันนี้เราทำตามกลไกของรัฐปกติ
ในเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน
ผมไม่เห็นจะยากตรงไหน”

ตัดภาพมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
หรือ 6 ปีให้หลัง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
กล่าวในการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 1/2563
“…หลายคนบอกวันนี้ไม่ค่อยเชื่อนายกฯ แล้ว
ผมยังเป็นนายกฯ ของผมเหมือนเดิม
วิธีทำงานยังเหมือนเดิม ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐมนตรี เป็น ครม. ผมลงรายละเอียดให้ทั้งหมด
พยายามใช้สติปัญญาให้มากที่สุด…
…ผมพร้อมนำประเทศชาติให้ผ่านพ้นตรงนี้ไปให้ได้ ยึดกฎหมายเป็นหลัก ไม่ใช่ทำเรื่องการเมืองอย่างเดียว
ขอร้องรัฐมนตรีทุกคนแล้วว่าจะไม่ทำงานเพื่อการเมือง
เวลาพูดกับข้าราชการแล้วเข้าใจ แต่เวลาแถลงแบบราชการมากๆ สื่อ ประชาชนก็ไม่เข้าใจอีก
อย่างวันนี้ประชาชนบอกหลายอย่างว่าดี นายกฯ พูดดี แต่เวลาไปทำก็ทำไม่เป็น
มาตรการหลายอย่างรัฐบาลออกมาเยอะแต่เข้าไม่ถึงเพราะการสื่อสาร รัฐบาลต้องรับผิดชอบตรงนี้
ผมไม่โทษหน่วยงาน จากนี้ทุกหน่วยงานและทุกกระทรวงต้องทำทั้งหมดเรื่องให้บริการประชาชน ผมไล่ดูอยู่
ขอให้แจ้งมาที่ทำเนียบได้ ถ้าตรงไหนยังไม่ดีจะได้เล่นงานได้ถูกต้อง
ผมต้องรับผิดชอบทั้ง 77 จังหวัด ขอให้ได้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อะไรที่เป็นความขัดแย้งขอให้เบาๆ ลง เพราะจะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นอีก
มีอะไรก็บอกมา ผมก็อ่านและนำมาสู่นโยบาย ใครทุจริตตรงไหนฟ้องตรงนั้น
โอเคนะ สิ่งที่พูดไปใช้ได้ นายกฯ ตอบชัดเจนแล้ว
เลิกว่าผมซะทีเถอะ เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมางอมเต็มที
ใจผมก็แย่ไปทุกวัน”

จากคำพูดข้างต้น แสดงชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์รู้ซึ้งแล้วว่า ที่บอกว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ไม่เห็นจะยากตรงไหน
ไม่จริงเสียแล้ว
สิ่งรอบตัวกลายเป็นปัญหายากให้แก้ไขไปเสียทุกเรื่อง
ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมปัญหา
อาทิ แฟลชม็อบ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภัยแล้ง
พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลก็พยายามลดทอนความไม่พอใจนั้น ด้วยการพยายามผลักดันมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือชาวบ้าน
แต่ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง
กลายเป็น “วิกฤตศรัทธา” ของรัฐบาลที่เพิ่มเข้าไปอีกภายในรัฐบาลเองก็มิได้มีเอกภาพสักเท่าไหร่นัก
หากมีประเด็นหรือเงื่อนไขอะไรขึ้นมา ก็พร้อมจะขยายตัวเป็นปัญหาได้ทุกเมื่อ

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จึงตกอยู่ในภาวะเหมือนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19
ซึ่งหากรักษาตัวไม่ดี มีโอกาสที่จะ “สิ้นลม” อย่างไม่คาดหมายได้ง่ายๆ
แต่การจะ “หาย” ก็ไม่ง่าย ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง
แน่นอน ย่อมไม่ใช่การโอ่ประโคมอย่างเมื่อตอนรัฐประหารเข้ามาใหม่ๆ ว่า
“การบริหารราชการแผ่นดิน
ไม่เห็นจะยากตรงไหน”
เพราะขณะนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่จริง
แถมต้องดิ้นรนเพื่อยืดอายุตนเองอย่างเต็มแรง
จะถึงขนาดต้องปรับคณะรัฐมนตรียกเครื่อง
หรือเลวร้าย อย่างที่เริ่มมีกระแสข่าวสะพัดออกมา จนผู้สื่อข่าวต้องเอาไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ ว่ามีการปลุกกระแสข่าวรัฐประหารจริงหรือไม่
ซึ่งแม้จะมีคำตอบโต้จาก พล.อ.ประยุทธ์ทันทีว่า “ถามข่าวที่มีสาระมากกว่านี้หน่อย”
แต่ในภาวะเช่นนี้ มีใครไม่เงี่ยหูฟัง
—————————-