วิกฤติศตวรรษที่ 21 | ศึกชิงแอฟริกา ระหว่างสหรัฐ-จีน

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน : สู่ขั้นใช้ยาแรง (40)

ศึกชิงแอฟริกาสหรัฐ-จีน

ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้ไปเยือน 3 ประเทศในแอฟริกา ซึ่งเป็นที่สนใจพอสมควร

เนื่องจากเป็นการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงครั้งแรกในรอบกว่าสองปีของรัฐบาลทรัมป์ แสดงว่าสหรัฐจะยังคงไม่ทิ้งทวีปแอฟริกาไปง่ายๆ และพร้อมจะสร้างอุปสรรคสิ่งกีดขวางอิทธิพลของจีนในทวีปนี้ต่อไป

ก่อนหน้านี้ในปี 2007 ประธานาธิบดีบุชผู้ลูกได้ประกาศตั้งกองบัญชาการแอฟริกันขึ้นเพื่อดูแลความสงบและผลประโยชน์ของสหรัฐ โดยเน้นการต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายอัลเคด้า เป็นต้น ที่หันมาเคลื่อนไหวในทวีปแอฟริกา หลังการถูกปราบที่อัฟกานิสถาน

แต่มีผู้วิเคราะห์ว่า ที่จริงเกิดจากความกังวลสองเรื่อง ได้แก่ อิทธิพลของจีนและน้ำมัน ซึ่งขณะนั้นสหรัฐยังต้องนำเข้าน้ำมันจากแอฟริกาอยู่จำนวนไม่น้อย

ในสมัยประธานาธิบดีโอบามา สหรัฐก็ยังไม่ได้ให้ความสนใจแอฟริกาเพิ่มขึ้น แม้ว่าเขาเองจะมีบรรพบุรุษจากประเทศเคนยา

โอบามาได้เดินทางไปเยือนแอฟริกาเป็นชุดอยู่ 2 ครั้ง

ครั้งแรกปลายเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2013 รวม 3 ประเทศ ได้แก่ เซเนกัล แอฟริกาใต้ และแทนซาเนีย

ครั้งที่สองในเดือนกรกฎาคม 2015 ได้แก่ เคนยา ที่นั่นเขาแถลงเรื่องสิทธิของเกย์ และที่เอธิโอเปียซึ่งนครหลวงคือเมืองแอดดิสอาบาบาอันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่สหภาพแอฟริกา (มูอัมมาร์ กัดดาฟี เป็นผู้นำเคลื่อนไหวก่อตั้ง)

วิจารณ์กันว่าการเยือนของโอบามาทั้งสองครั้งเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้มีเนื้อหาที่จะกระชับความสัมพันธ์กับแอฟริกาอะไรมากนัก

ประเทศในแอฟริกาที่ปอมเปโอเยือนในครั้งนี้มีอยู่ 3 ประเทศ คือ

1) เซเนกัล ซึ่งอยู่ทางแอฟริกาตะวันตก เป็นประเทศไม่ใหญ่บนฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก มีประชากรราว 15 ล้านคน ได้ชื่อว่ามีความมั่นคงทางการเมืองค่อนข้างสูง มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยต่อเนื่อง การเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายยังไม่มาก เมื่อเทียบกับประเทศมาลี ไนเจอร์ และบูร์กินา ฟาโซ เป้าหมายการเยือนเซเนกัลของปอมเปโอน่าจะมีอยู่สองประการได้แก่

ก) จุดที่สหรัฐสามารถสร้างระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคงเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย

ข) เพื่อเป็นการแจ้งว่าสหรัฐกำลังประเมินว่าจะคงกองทหารไว้ในแอฟริกาตะวันตกเพื่อต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายไว้เพียงใด

และย้ำว่า สหรัฐมีข้อผูกมัดที่จะสร้างความมั่นคงขึ้นในภูมิภาคนี้ ที่ต้องย้ำความมั่นใจเนื่องจากว่าก่อนหน้านั้นสหรัฐคุกคามว่าจะถอนกองกำลังในภูมิภาคนี้ออกไป แสดงบทบาทเพียงฝึกอบรมไม่ใช่หน่วยสู้รบ

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการมีกองทหารสหรัฐกับความมั่นคงของแอฟริกานั้น มีนักวิเคราะห์ชี้ว่า การมีอยู่ของกองทัพสหรัฐที่เป็นอยู่ไม่ได้ช่วยสร้างความมั่นคงแก่ภูมิภาค แต่กลับเป็นตรงกันข้าม เช่นกรณีลิเบีย ที่สหรัฐให้กองทัพขับไล่และฆ่ามูอัมมาร์ กัดดาฟี สร้างความวุ่นวายที่นั่นและการก่อการร้ายได้ลามมายังบริเวณซาเฮล (บริเวณกึ่งทะเลทรายตอนใต้ทะเลทรายสะฮารา ตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติกถึงทะเลแดง)

2) ประเทศต่อมาที่ปอมเปโอไปเยือน ได้แก่ แองโกลา อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปบนฝั่งแอตแลนติก เป็นประเทศที่มีน้ำมันมาก บ้านเมืองไม่ค่อยสงบ มีการก่อการร้ายและสงครามกลางเมือง การไปเยือนเป็นสัญญาณว่าสหรัฐสนับสนุนรัฐบาลที่นั่นที่กำลังรณรงค์ปราบคอร์รัปชั่น แองโกลาเป็นประเทศที่มั่งคั่ง

ถ้าสหรัฐตั้งมั่นที่นั่นได้ ก็จะส่งอิทธิพลไปทั่วแอฟริกาตอนใต้ในการต่อต้านจีน

ประเทศนี้กู้เงิน 40 พันล้านดอลลาร์จากจีน ระหว่างปี 2005-2019 เป็นครึ่งหนึ่งของปริมาณหนี้ทั้งหมด รัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสองได้สนทนาเกี่ยวกับบทบาทของจีนในแอฟริกาด้วย

3) การเยือนแอฟริกาประเทศสุดท้ายได้แก่ เอธิโอเปีย ซึ่งเป็นประเทศใหญ่มีประชากรกว่า 100 ล้านคน อยู่ทางฝั่งทะเลแดง เป็นเหมือนประตูสู่จะงอยแอฟริกา ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเดินเรือของทะเลอาหรับ จีนเองได้ไปตั้งฐานทัพในประเทศจิบูตีบนจะงอยแอฟริกา จีนได้ทุ่มลงทุนในเอธิโอเปียไม่น้อย ถือเป็นเส้นทางสายไหมทางทะเลที่สำคัญ

ที่เอธิโอเปีย นายปอมเปโอได้โจมตีจีนแบบไม่ออกชื่อ เขาปราศรัยว่า

“ประเทศทั้งหลายควรกังวลกับระบอบรวบอำนาจและคำสัญญาที่ว่างเปล่า พวกเขาจะมาสร้างการคอร์รัปชั่น การพึ่งพาและความไร้เสถียรภาพ ไม่ใช่ความไพบูลย์ อำนาจอธิปไตยและความก้าวหน้า”

นอกจากนั้น สหรัฐประกาศสนับสนุนรัฐบาลนายอาบีย์ อาห์เหม็ด ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2019 ในการปฏิรูปทางการเมือง ให้เงินช่วยเหลือจำนวนหนึ่ง เฉพาะที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีมูลค่า 23 ล้านดอลลาร์ ไม่นับความช่วยเหลือที่ประกาศไว้แล้ว 1 พันล้านดอลลาร์ (ดูบทรายงานของ Giulia Paravicini ชื่อ Pompeo takes veiled swipe at China at final leg of African trip ใน reuters.com 19/02/2020)

อย่างไรก็ตาม เสียงวิจารณ์ส่วนใหญ่เห็นว่า การมาเยือนเพียงครั้งเดียวของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ย่อมไม่สามารถเปลี่ยนสถานการณ์อะไรได้มากนัก

ข่าว “เสียงแห่งอเมริกา” ยังเผยแพร่ทัศนะของนักวิชาการตะวันตกหลายคน ว่าคงเป็นการยากที่นายปอมเปโอจะชนะใจผู้นำแอฟริกา และจีนได้ปักหลักมั่นคงในแอฟริกาแล้ว

ประชาชนแอฟริกาก็ฉลาด ได้รับการศึกษามากขึ้น ไม่เชื่อคำสัญญาใครง่ายๆ

ท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ก็กลับไปกลับมา การพูดจาเป็นแบบถือเชื้อชาติผิวขาวเป็นใหญ่

ก่อนการเยือนของปอมเปโอ ทรัมป์ยังสั่งห้ามชาวแอฟริกาอีก 4 ประเทศเข้าอเมริกา ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดเวลาอย่างแรง

สรุปคือสหรัฐมีทัศนะต่อแอฟริกาแบบล้าสมัย เห็นว่าแอฟริกาเป็นดินแดนแห่งปัญหาที่ต้องคอยแก้ไข

ขณะที่จีนมุ่งกระชับมิตรกับแอฟริกาในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ถ้าสหรัฐต้องการไล่ทันอิทธิพลของจีน ก็ต้องรู้จักมองเห็นแอฟริกาตามความเป็นจริง

(ดูรายงานของ Simon Marks ชื่อ Pompeo Faces Uphill Battle Win Over African Leaders ใน voanews.com 18/02/2020)

การแซงขึ้นหน้าของจีนในแอฟริกา

การแซงขึ้นหน้าสหรัฐในทวีปแอฟริกาเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นกรณีตัวอย่างของการรุ่งเรืองของจีน และการเสื่อมถอยของสหรัฐ โดยในทางการค้าการลงทุน ระหว่างปี 2000-2017 จีนให้กู้แก่รัฐบาลและบริษัทในแอฟริกามูลค่า 143 พันล้านดอลลาร์ กลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของแอฟริกา

สหรัฐได้สูญเสียฐานะประเทศคู่ค้าสำคัญของแอฟริกาแก่จีนตั้งแต่ปี 2009 ในด้านการทหารและความมั่นคง จีนก็ได้แทรกเข้าไปมีบทบาทสูงในกองกำลังรักษาสันติภาพในแอฟริกาขณะที่สหรัฐถอยร่น จีนเข้าไปปฏิบัติการในภารกิจที่ประเทศมาลี ซูดานใต้และเมืองดาร์ฟูร์

ซึ่งทางจีนชี้ว่า ความสำเร็จในภารกิจเหล่านี้แสดงถึง “คุณภาพของประเทศจีน” และ “มาตรฐานของจีน” ในการทหาร และเป็นผู้รักษาสันติภาพของโลก

(ดูบทความของ Logan Pauley ชื่อ China Takes the Lead in UN Peacekeeping ใน thediplomat.com 17/04/2018)

เหตุปัจจัยที่ทำให้จีนขึ้นแซงหน้าในแอฟริกา ได้แก่

ก) หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต สหรัฐและยุโรปหันไปสนใจยุโรปตะวันออก เอเชียกลาง และมหาตะวันออกกลาง ทอดทิ้งแอฟริกาไปชั่วครู่ เปิดช่องให้จีนเข้ามา ยังมีทั้งมาเลเซีย อินเดีย เวียดนาม ตุรกี บราซิล รัสเซีย กลุ่มรัฐอ่าวอาหรับเข้ามาผลักดันให้เศรษฐกิจแอฟริกาเติบโตอย่างรวดเร็ว

กล่าวสำหรับจีนมีลักษณะเฉพาะ ได้แก่ นโยบาย “ออกไปข้างนอก” (ประกาศ 1999) ซึ่งได้ผลสำเร็จจนเป็นการ “ออกไปทั้งโลก” นโยบายออกไปข้างนอกของจีนนั้น สืบเนื่องจากนโยบาย “เชิญเข้ามาข้างใน” ที่ปฏิบัติในสมัยของเติ้งเสี่ยวผิงที่เชื้อเชิญให้ทุนต่างประเทศจากญี่ปุ่น สหรัฐ ยุโรป เป็นต้น เข้ามาในจีน โดยเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษรองรับซึ่งได้รับผลดีเกินคาด ทุกวันนี้จีนยังคงเป็นพื้นที่ที่นักลงทุนทั่วโลกเข้ามาลงทุน

ความสำเร็จของนโยบายออกไปข้างนอกมีผลข้างเคียงบางอย่างที่ต้องแก้ไขที่สำคัญได้แก่

(ก) การมีทุนสำรองระหว่างประเทศในมือมากเกินไป กดดันให้ค่าเงินจีนสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อการส่งออก นอกจากนี้ ยังทำให้เศรษฐกิจจีนมีความคับแคบ

(ข) ถึงเวลาปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่อิงกับรัฐบาลและยังไม่ปรับตัวเข้ากับการแข่งขันบนเวทีโลก รัฐวิสาหกิจที่นำการปฏิรูปและเปิดกว้างจำต้องก้าวออกไปข้างนอก เพื่อรักษาบทบาทการนำของตนต่อไป

(ค) ถึงเวลาที่จีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และมั่นคง ควรจะทำให้เงินหยวนของตนเป็นสากล นโยบายดังกล่าวเป็นการเปิดกว้างและเพิ่มพลังความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของจีนเพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาด ทรัพยากรธรรมชาติ และเทคโนโลยีนอกประเทศได้มากและเร็วขึ้น ซึ่งจะหมุนกลับมาขับเคลื่อนการพัฒนาและการปฏิรูปของจีนให้รุดหน้าต่อไป

ตอนที่นักลงทุนและบริษัทของจีนเริ่มออกไปข้างนอกนั้น กล่าวได้ว่าแทบไม่มีบทเรียนอะไรในการลงทุนในต่างแดน จึงเริ่มขึ้นด้วยการตลาดและการกระจายสินค้า เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าราคาถูกให้กว้างออกไปยิ่งขึ้น

ในด้านพื้นที่ แอฟริกานั้นน่าสนใจเป็นอันดับแรกเพราะจีนเคยให้ความช่วยเหลือมาตั้งแต่สมัยประธานเหมา และยังเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานที่จีนต้องการใช้เป็นวัตถุดิบ

นอกจากนี้ ยังไม่มีกฎระเบียบหรือการแข่งขันอื่นมาก การไปปักหลักแอฟริกาของจีนเห็นชัดตั้งแต่กลางทศวรรษ 2000 หลังจากที่จีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก และสหรัฐ-นาโต้ติดหล่มสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน

ข) การมีนโยบายการเงินการลงทุนเชิงรุกและยืดหยุ่น เมื่อจีนเข้าไปลงทุนในแองโกลาที่เพิ่งผ่านพ้นสงครามกลางเมือง ทั่วประเทศมีทุ่นระเบิดฝังอยู่ ถนนถูกทำลาย และแทบไม่มีโครงสร้างพื้นฐานใดที่ใช้งานได้ จีนได้เสนอว่าจะบูรณะและสร้างโครงสร้างพื้นฐานขึ้นใหม่ โดยแองโกลาไม่ต้องจ่ายเป็นเงิน แต่จ่ายเป็นน้ำมันแทน เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างทรัพยากรธรรมชาติกับโครงสร้างพื้นฐาน เรียกกันว่า “ตัวแบบแองโกลา” มูลค่าราว 2 พันล้านดอลลาร์

และจีนได้ใช้ตัวแบบนี้กับประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกา ซึ่งได้ผลดีในตอนแรก เมื่อถึงปี 2014 ปรากฏว่าประเทศในแอฟริกาพากันเป็นหนี้จีนอย่างมาก

จีนถูกโจมตีหนักหน่วงว่าสร้างกับดักหนี้ให้แก่ประเทศเหล่านี้ จึงได้มีการคิดสร้างนโยบายการเงินใหม่ในระบบสวอป ที่ยืดหยุ่นและเอื้อประโยชน์แก่ผู้กู้มากขึ้น (ดูบทความของ Eric Olander ชื่อ China”s infrastructure finance model is changing. Here”s how ใน theafricanreport.com 14/01/2020)

อนึ่ง นโยบายทางการเงินเชิงรุกที่สามารถปฏิบัติจนได้ผลนั้น เพราะว่าได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจ

ค) การมีอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมโรงงานที่เข้มแข็งสามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานทุกรูปแบบได้ทั่วโลก จีนชนะการประมูลการก่อสร้างของธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกาเป็นส่วนใหญ่ ก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในด้านราคาและผลงาน

กล่าวได้ว่ามีอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ส่วนอุตสาหกรรมโรงงานที่เข้มแข็งผลิตของดีราคาถูก ชิงตลาดในแอฟริกาได้ นอกจากนี้ ยังขยายการตั้งโรงงานไปในแอฟริกา เพื่อได้แรงงานราคาถูกกว่าในจีน

ง) การใช้นโยบาย “ชนะ-ชนะ” การเติบโตไปด้วยกัน การได้ผลประโยชน์ด้วยกัน กิจกรรมที่จีนไปลงทุนในแอฟริกาและทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วย การพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานทั่วไป และโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอล ซึ่งเป็นการสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เป็นจริงของประเทศเหล่านี้อย่าง เห็นได้ แม้ว่าจีนจะได้ผลประโยชน์มากกว่า จากการลงทุนลงแรงและแบกรับความเสี่ยงสูง

จ) การกลมกลืนทางวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนกับประชาชน ขณะที่ทรัมป์ห้ามชาวแอฟริกันหลายประเทศเข้าสหรัฐ มีทัศนะต่อชาวแอฟริกันแบบคนขาวเป็นใหญ่

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการยืนขึ้นของทวีปแอฟริกา ฝรั่งเศสกับแอฟริกาตะวันตก และความเสี่ยงของนโยบายออกไปทั้งโลกของจีน