วรศักดิ์ มหัทธโนบล : “อู่เจ๋อเทียน” และ “ตี๋เหญินเจี๋ย”

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สุย-ถังกับนานาวิสาสะสมัย (32)
จักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน (ต่อ)

ด้วยเหตุที่มีอำนาจมานานก่อนเป็นจักรพรรดินี หลังจากเป็นจักรพรรดินีแล้วอำนาจนั้นจึงมิได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก จะมีก็แต่เหตุการณ์สำคัญบางเหตุการณ์เท่านั้นที่งานศึกษานี้เห็นว่าพึงกล่าวถึงตามสมควร

และเป็นการกล่าวผ่านอีกยุคสมัยหนึ่งที่มิใช่ถัง หากแต่คือราชวงศ์โจว (ค.ศ.690-705)

เหตุการณ์แรกคือ การเผชิญหน้ากับชนชาติทูเจี๋ว์ย ทู่ปอหรือทิเบต และคีตันหรือที่จีนเรียกว่า ชี่ตัน ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเอเชียกลาง

โดยทูเจี๋ว์ยกับทู่ปอนั้นได้ทำศึกกับจีนในยุคนี้อยู่หลายครั้งหลายครา

จนถึงต้นทศวรรษ 700 ผู้นำทูเจี๋ว์ยได้ส่งธิดาของตนมาสมรสกับราชนัดดาของอู่เจ๋อเทียน

และผู้นำทู่ปอได้ส่งม้า 1,000 ตัวและทองคำอีก 2,000 ตำลึงมาสู่ขอราชนัดดาของอู่เจ๋อเทียนเพื่อสมรสกับโอรสของตน

การศึกระหว่างสองชนชาตินี้กับจีนจึงสงบลง

ส่วนการศึกที่มีกับคีตันนั้นเกิดขึ้นและจบลงในกลางทศวรรษ 690 โดยจีนเป็นฝ่ายชนะ

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่า ตอนที่ถังสิ้นวงศ์เมื่อกลางทศวรรษ 900 นั้น เป็นช่วงเดียวกับที่คีตันเข้มแข็งจนสามารถตั้งราชวงศ์เป็นของตนเองขึ้นมาได้ และจะเป็นภัยคุกคามจีนยาวนานพอสมควร

จนชื่อของชนชาตินี้ทำให้ชาวตะวันตกเรียกว่า คาเท่ย์ แล้วเข้าใจว่าคือชนชาติจีน

เรื่องราวของชนชาติคีตันนี้จึงน่าสนใจมาก

 

เหตุการณ์ต่อมา เป็นเหตุการณ์ที่มาจากนโยบายให้มีการแจ้งความร้องทุกข์และกล่าวโทษ นโยบายนี้มีมาก่อนที่อู่เจ๋อเทียนจะตั้งตนเป็นจักรพรรดินี

ครั้นเมื่อเป็นแล้วนโยบายนี้ยังคงมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

ผลจากนโยบายนี้ส่วนหนึ่งได้ทำให้เกิดกล่าวหาด้วยข้อมูลเท็จขึ้นด้วย

การกล่าวหานี้มีขึ้นในกลุ่มบุคคลที่มีความแค้นเคืองส่วนตัว หรือเป็นข้าราชการที่ฉ้อฉลหรือใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล

ดังนั้น แม้อู่เจ๋อเทียนจะทรงพอใจที่มีเสนามาตย์ที่เป็นภัยต่อราชวงศ์จะถูกกำจัดออกไป แต่ก็จะส่งผลเสียทันทีหากการกล่าวหานั้นตั้งอยู่บนความเท็จ

และเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดผลเช่นว่าก็คือ การกล่าวหามหาอำมาตย์ที่มีชื่อว่า ตี๋เหญินเจี๋ย

ตี๋เหญินเจี๋ย (ค.ศ.630-700) มีบรรพชนเป็นเสนามาตย์มาตั้งแต่ต้นราชวงศ์ถัง ส่วนตัวเขาได้เป็นที่ร่ำลือถึงความเฉลียวฉลาดมาแต่เยาว์วัย ครั้นเติบโตขึ้นก็เข้าวังหลวงเพื่อสอบรับราชการและสามารถสอบผ่านมาได้ จากนั้นก็ถูกส่งไปปกครองเมืองต่างๆ และมีความก้าวหน้าในทางราชการมาโดยลำดับ

แต่ผลงานที่สร้างชื่อให้แก่เขาจนเป็นตำนานเล่าขานกันมาจนทุกวันนี้คืองานด้านตุลาการ ที่เขาทำตั้งแต่สมัยถังเกาจง

ว่ากันว่าคดีที่เขาพิจารณามีอยู่ประมาณ 17,000 คดี แต่ละคดีล้วนถูกตัดสินจนเป็นที่ยอมรับในความโปร่งใสและยุติธรรม

ครั้นมาถึงสมัยอู่เจ๋อเทียน ตี๋เหญินเจี๋ยยังคงได้รับความไว้วางใจจากพระนาง แต่ด้วยเหตุจากนโยบายดังกล่าวข้างต้น ก็ได้เป็นเหตุให้ขุนนางผู้หนึ่งสร้างหลักฐานเท็จมากล่าวหาตี๋เหญินเจี๋ยว่าเป็นกบฏ

การสอบสวนของขุนนางผู้ฉ้อฉลมีเกณฑ์อยู่ว่า หากผู้ใดปฏิเสธข้อกล่าวหาจะถูกทรมานจนตาย แต่หากสารภาพก็จะลดหย่อนโทษไม่ให้ถึงตาย โดยเมื่อตี๋เหญินเจี๋ยถูกสอบสวนด้วยวิธีดังกล่าว เขาก็รับสารภาพว่าคิดก่อกบฏจริง

จากนั้นผู้สอบสวนให้เขาเปิดเผยชื่อผู้ร่วมกบฏ ตี๋เหญินเจี๋ยก็เอาหัวกระแทกเสาหินจนเลือดอาบแล้วกล่าวว่า แม้นตนจะตายก็หาได้เสียดายชีวิตไม่ แต่ที่จะให้ใส่ร้ายผู้บริสุทธิ์ย่อมมิใช่วิสัย

ผู้สอบสวนจึงให้พักการพิจารณาคดีเอาไว้แล้วนำตัวเขาไปขังเอาไว้ ระหว่างนี้เองตี๋เหญินเจี๋ยได้ลักลอบเขียนข้อความว่าตนถูกใส่ร้าย แล้วแอบส่งไปจนถึงอู่เจ๋อเทียนเพื่อร้องขอความเป็นธรรม เมื่ออู่เจ๋อเทียนทรงทราบความจึงเปิดให้มีการไต่สวนขึ้น

ประเด็นคำถามในการไต่สวนอยู่ตรงที่ ถ้าหากตี๋เหญินเจี๋ยมิได้เป็นกบฏแล้ว เหตุใดเขาจึงรับสารภาพ ตี๋เหญินเจี๋ยตอบประเด็นนี้ว่า หากเขาไม่สารภาพก็จะไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าและร้องขอความเป็นธรรมจากอู่เจ๋อเทียน

หลังจากนั้นจึงเป็นการไต่สวนเรื่องราวทั้งหมด ผลคือ อู่เจ๋อเทียนไม่เชื่อว่าตี๋เหญินเจี๋ยเป็นกบฏและทรงให้ปล่อยตัวเขาไป

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเหตุการณ์กล่าวร้ายตี๋เหญินเจี๋ยไประยะหนึ่ง ขุนนางฉ้อฉลผู้นั้นก็ถูกสอบสวนพฤติกรรมในการให้ร้ายผู้อื่น แล้วลงโทษจนถึงแก่ชีวิตเป็นจำนวนมาก อู่เจ๋อเทียนทรงเสียใจที่ไว้วางใจขุนนางผู้นี้มากเกินไป และทรงสั่งให้ทำการประหารชีวิตเขาเสีย จากนั้นก็ให้ยกเลิกนโยบายร้องทุกข์และกล่าวโทษ

กล่าวกันว่า ระหว่างที่นำตัวขุนนางผู้นี้ไปยังลานประหารนั้น ผู้คนที่รู้ความและเคียดแค้นชิงชังขุนนางผู้นี้ต่างพากันมารุมประชาทัณฑ์ การประชาทัณฑ์เป็นไปในทุกสัดส่วนของสรีระร่าง จนร่างของขุนนางผู้นั้นเหลวแหลกไม่มีชิ้นดี

ส่วนตี๋เหญินเจี๋ยหลังจากคดีสิ้นสุดแล้วก็ยังคงเป็นมหาอำมาตย์ที่อู่เจ๋อเทียนทรงไว้วางใจต่อไป

ควรกล่าวด้วยว่า ตี๋เหญินเจี๋ยนับเป็นอีกบุคคลหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนที่ได้รับการกล่าวขานกันมาก

คำกล่าวขานมีที่มาจากการเป็นขุนนางที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง และจากช่วงหนึ่งของชีวิตราชการที่ทำหน้าที่ด้านตุลาการที่พิจารณาคดีที่เที่ยงธรรม

ที่มาทั้งสองนี้เป็นไปอย่างมีสีสันอย่างยิ่ง

จากเหตุนี้ เรื่องราวของตี๋เหญินเจี๋ยจึงถูกนำมาบอกเล่าในรูปของวรรณกรรมแนวสืบสวนสอบสวนตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โดยมีชื่อว่าคดีอุโฆษของตุลาการตี๋ (ตี๋กงอั้น, Celebrated Cases of Judge Dee) โดยผู้แต่งที่ใช้นามปากกาว่า ปู้ถีจ้วนเหญิน (แปลว่า ผู้นิพนธ์ที่ไม่ระบุนาม) หลังจากนั้นก็มีการบอกเล่าผ่านวรรณกรรมที่แต่งขึ้นใหม่เพื่อเพิ่มสีสันให้แก่เรื่องราว

ในยุคปัจจุบันเรื่องราวของตี๋เหญินเจี๋ยยังถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์หลายตอนหลายภาค ซึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้วรรณกรรม

 

นอกจากเหตุการณ์ทั้งสองข้างต้นแล้ว บทบาทที่โดดเด่นของอู่เจ๋อเทียนที่ดำรงมาโดยตลอดทั้งก่อนและหลังตั้งตนเป็นจักรพรรดินีก็คือ การแสวงหาคนดีมีความรู้และความสามารถมาเป็นข้าราชการ ครั้นเป็นจักรพรรดินีแล้วพระนางก็ทรงสอบบัณฑิตด้วยพระองค์เอง

ข้าราชการที่เข้ามาโดยการสอบบัณฑิตนี้เป็นนโยบายสำคัญในสมัยถังไท่จง ในสมัยนั้นข้าราชการที่รับเข้ามามีจำนวน 205 คน แต่ในสมัยอู่เจ๋อเทียนมีถึงกว่าพันคน จำนวนที่มากเช่นนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีข้าราชการที่หลากหลายความคิดเห็น

ซึ่งก็พบว่าอู่เจ๋อเทียนทรงเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่ต่างกันนั้น และทรงมีความรู้สึกผูกพันกับเสนามาตย์ที่ซื่อสัตย์และปรีชาสามารถ หากสิ้นเสนามาตย์นี้ไปพระนางจะทรงเสียหทัยอย่างสุดซึ้ง

ดังเมื่อตี๋เหญินเจี๋ยจากไปนั้นอู่เจ๋อเทียนกันแสงและรำพันว่า “ท้องพระโรงแห่งเราว่างเปล่าไปเสียแล้ว” เป็นต้น

การที่มีผู้ปรีชาสามารถมาเป็นเสนามาตย์เช่นนี้น่าที่จะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย แต่เอาเข้าจริงแล้วก็หาเป็นเช่นนั้นไม่

ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุที่ว่ายังมีความจริงอีกด้านหนึ่งมาลดทอนบทบาทเชิงบวกดังกล่าว ความจริงที่ว่านี้ก็คือ การที่อู่เจ๋อเทียนทรงนิยมที่จะมีมานพหนุ่มมาคอยถวายงาน ทั้งที่จารีตประเพณีของวังหลวงตั้งแต่สมัยฮั่นได้ห้ามเอาไว้

แต่จะอนุญาตเฉพาะบุรุษเพศที่ตัดอวัยวะเพศแปลงตนเป็นเป็นขันทีเท่านั้นที่สามารถเข้าออกวังหลวงชั้นในได้

และที่ต้องกำหนดเช่นนี้ก็เพื่อมิให้บุรุษเพศมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับเหล่านางในได้ ด้วยเหล่านางในถือเป็นสมบัติของจักรพรรดิที่มีฐานะโอรสแห่งสวรรค์ และนับแต่ที่มีจารีตประเพณีนี้ทุกราชวงศ์ทุกสมัยต่างก็ยึดถือปฏิบัติกันมาโดยตลอด

 

ดังนั้น การที่อู่เจ๋อเทียนทรงฝืนจารีตประเพณีนี้ จึงย่อมมิอาจเป็นที่ยอมรับได้ในเหล่าเสนามาตย์ที่ถือเคร่งในลัทธิขงจื่อ

กระนั้นก็ตาม หากพิจารณาโดยเที่ยงธรรมแล้ว การฝืนจารีตประเพณีดังกล่าวของอู่เจ๋อเทียนนั้น หากกล่าวในเชิงพฤติกรรมแล้วก็มิได้แตกต่างไปจากบุรุษที่เป็นจักรพรรดิ ซึ่งมีสนมหรือนางในคอยถวายงานปรนนิบัติอยู่มากมาย

หากอิสตรีที่เป็นจักรพรรดินีจะมี “นายใน” คอยถวายงานปรนนิบัติจึงย่อมมิใช่เรื่องแปลก