คนของโลก : มูไฮยิดดิน ยาสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนใหม่

มูไฮยิดดิน ยาสซิน สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา หลังช่วงเวลาวุ่นวายทางการเมืองอันเป็นผลมาจากมหาธีร์ มูฮัมหมัด ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

มูไฮยิดดิน นักการเมืองมาเลเซียวัย 72 ปี ที่ไม่โดดเด่นในวงการการเมืองนัก ผงาดขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศมาเลเซียอย่างน่าประหลาดใจ หลังความพยายามต่อรองอำนาจกันระหว่างมหาธีร์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียหัวหน้าพรรคเบอร์ซาตู ที่ครองตำแหน่งมานาน 2 ปี กับอันวาร์ อิบราฮิม หัวหน้าพรรคปากาตัน ฮาราปัน ล้มเหลวลง

นักการเมืองจากรัฐยะโฮร์ ตอนใต้ของมาเลเซีย พื้นที่ชาวมาเลเซีย เชื้อสายมาเลย์ ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยในยุคนายกฯ มหาธีร์ ก่อนที่พรรคร่วมระหว่างเบอร์ซาตูกับฮาราปันจะเกิดปัญหาระหว่างกันจนนำไปสู่การลาออกของมหาธีร์เพื่อหวังกระชับอำนาจ

มูไฮยิดดิน อดีตมุขมนตรีรัฐยะโฮร์ ลงเล่นการเมืองระดับประเทศในฐานะสมาชิกพรรคอัมโน พรรคของนายนาจิบ ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรีที่เผชิญกับกรณีทุจริต “1เอ็มดีบี” อันอื้อฉาว เคยดำรงตำแหน่งระดับสูงอย่างรัฐมนตรีกีฬา รวมถึงรัฐมนตรีศึกษาธิการ ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในปี 2009

ท่ามกลางข่าวคราวอื้อฉาว 1เอ็มดีบี ที่โด่งดัง มูไฮยิดดินตัดสินใจออกมาวิพากษ์วิจารณ์นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นจนกระทั่งถูกปลดจากตำแหน่งในปี 2015 ก่อนที่มูไฮยิดดินจะเข้าร่วมกับพรรคเบอร์ซาตูของมหาธีร์ ที่เข้าชิงชัยในศึกเลือกตั้งและสามารถคว้าชัยชนะเหนือพรรคอัมโน กลายเป็นความพ่ายแพ้ของพรรคอัมโนเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปีของมาเลเซีย เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา

ขณะที่นายนาจิบต้องถูกดำเนินคดีข้อหาทุจริตยักยอกเงินจากกองทุน 1เอ็มดีบี ในเวลานี้

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวกลับหักมุมอีกครั้ง เมื่อมูไฮยิดดินชิงเหลี่ยมในช่วงเวลาสับสนวุ่นวายทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาหาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่ง ร่วมจับมือกับพรรคอัมโนและนายนาจิบซึ่งยังคงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเลเซียอยู่ เสนอตัวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

แม้มหาธีร์และอันวาร์จะกลับมาจับมือกันอีกครั้งเพื่อหยุดยั้งมูไฮยิดดิน แต่นั่นก็ไม่ทันการเสียแล้ว

มูไฮยิดดินถูกมองว่ามีแนวคิดทางการเมืองสาย “ชาตินิยมมาเลย์” ถึงขั้นเคยอธิบายแนวทางของตัวเองเอาไว้ว่า “ชาวมาเลย์ต้องมาก่อน” แทนที่จะเป็น “มาเลเซียต้องมาก่อน” กลายเป็นประเด็นดราม่าในประเทศพหุสังคมที่มีชนกลุ่มน้อยหลากหลายเชื้อชาติอาศัยร่วมกันอยู่

แม้แนวคิดทางการเมืองจะช่วยให้มูไฮยิดดินได้รับเสียงสนับสนุนสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองมาเลเซียมองว่า มูไฮยิดดินอาจไม่ได้รับการยอมรับเนื่องจากไม่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน

“เขาสามารถบริหารได้” บริดเจ็ต เวลช์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมาเลเซียจากมหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮม ประเทศอังกฤษระบุ

และว่า มูไฮยิดดินจะเป็นผู้นำที่ขาดการยอมรับจากประชาชนในท้ายที่สุด

 

เกิดความห่วงกังวลเกี่ยวกับแนวคิดด้านเชื้อชาติของมูไฮยิดดิน นักการเมืองที่เคร่งศาสนา เป็นคนเงียบๆ ผู้นี้เช่นกันว่า ความเห็นบางอย่างของนายกรัฐมนตรีคนใหม่อาจกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ซึ่งเรื่องเชื้อชาติและศาสนาเป็นเรื่องอ่อนไหว

หากมองในข้อเท็จจริงที่ว่า ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมาเลเซียเป็นมุสลิมถึง 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ประเทศมาเลเซียก็ยังมีพลเมืองเป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน รวมถึงชาวอินเดีย ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามด้วยเช่นกัน

หนึ่งในเหตุผลที่กลุ่มพันธมิตรเลือกสนับสนุนมูไฮยิดดิน ก็คือสถานะ “มาเลย์ชาตินิยม” ของมูไฮยิดดิน ที่น่าจะเป็นที่ชื่นชอบของพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ

หลังจากรัฐบาลมาเลเซียก่อนหน้านี้เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ถูกครอบงำโดยนักการเมืองเชื้อสายจีนมากเกินไป และล้มเหลวในการปกป้องสิทธิพิเศษของชาวมาเลย์ เช่น สิทธิพิเศษในการได้รับเลือกเข้าทำงานราชการก่อน หรือสิทธิพิเศษในการได้รับส่วนลดการซื้ออสังหาริมทรัพย์

นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มูไฮยิดดินผงาดสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างไม่มีใครคาดคิด