ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 มีนาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมา เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย
นิทรรศการนี้มีชื่อว่า
ออเหลน (ORLANE)
โดยกรกฤช เจียรพินิจนันท์ ศิลปินภาพถ่ายผู้จบการศึกษาในสาขาศิลปะภาพพิมพ์และการถ่ายภาพ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เขามีผลงานในนิทรรศการแสดงเดี่ยวและกลุ่มทั้งในและต่างประเทศ ทั้งในกรุงเทพฯ, เชียงใหม่, กรุงโซล เกาหลีใต้, กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย, ยอร์กจาการ์ตา อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, ฟลอเรนซ์ อิตาลี, บรัสเซลส์ เบลเยียม, มาสทริชท์ และร็อตเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์
ในนิทรรศการครั้งล่าสุดนี้ กรกฤชนำเสนอผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะเจาะจงพื้นที่ (site-specific installation) ที่แสดงให้เห็นภาพหลากหลายของผู้คนในพื้นที่เมืองและวัฒนธรรมเยาวชนในกรุงเทพฯ
อนึ่ง ออเหลนเป็นคำสแลงที่ใช้เรียกวัยรุ่นชายในยุค พ.ศ.2500 ที่กรกฤชพบจากการค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับภาพเหตุการณ์วัฒนธรรมสมัยนิยมและวัฒนธรรมของคนหนุ่มสาวในพื้นที่เมือง
โดยได้แรงบันดาลใจจากการอ่านข้อเขียนและภาพจากคอลเล็กชั่นหนังสือของห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน ศิลปินได้สำรวจการปะทะสังสรรค์ (การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน) ทางวัฒนธรรมและความทรงจำส่วนบุคคลและส่วนรวมของวัยรุ่นในช่วงปี พ.ศ.2500 จนถึงปัจจุบัน ผ่านรูปภาพ ข้อเขียน และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ขอบเขตของการสังเกตภาพถ่ายจากอดีตถูกใช้ในการสะท้อนบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่มีอยู่ในหลายมิติ และอาจนำไปสู่การเผยให้เห็นความเป็นจริงใหม่ๆ
นิทรรศการออเหลนจัดแสดงผลงานของกรกฤชที่ประกอบด้วย หนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ และภาพเคลื่อนไหว จัดวางอย่างเฉพาะเจาะจงพื้นที่ภายในห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน
โดยผู้ชมงาน รวมถึงผู้ใช้ห้องสมุดสามารถสำรวจตรวจสอบผลงานเหล่านั้นด้วยการค้นหาและเปิดอ่านและดูชมได้
“งานในนิทรรศการนี้มีสองส่วน ส่วนแรกเราได้ไอเดียมาจากการค้นหาข้อมูลในห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน จนบังเอิญไปเจอหนังสือ Chronicle of Thailand : headline news since 1946 ของสำนักพิมพ์บางกอกโพสต์ ที่มีหัวข้อข่าวเกี่ยวกับเรื่องของกลุ่มวัยรุ่นในช่วงยุค 50s หรือปี พ.ศ.2500 ที่ถูกเรียกว่า “ออเหลน” ซึ่งโดนจับไปปรับพฤติกรรมเป็นร้อยคน เราก็ไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีเรื่องราวอะไรอีกบ้าง
เราสนใจเรื่องของ Sub Culture (วัฒนธรรมย่อย) ที่เกิดจากการปะทะสังสรรค์ทางวัฒนธรรม เราก็คิดหาวิธีการว่าเราจะดัดแปลงสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นงานของเราได้ยังไงบ้าง อย่างกลุ่ม “ออเหลน” เนี่ย เขาจะสังสรรค์กันตามโรงหนัง และได้รับอิทธิพลจากดารา-นักร้องต่างประเทศที่เขาชื่นชอบอย่างเอลวิส เพรสลีย์ กับเจมส์ ดีน เขารับเอาอิทธิพลทางวัฒนธรรมเหล่านั้นมาปรับใช้กับตัวเอง
ซึ่งเราจะเห็นได้จากภาพลักษณ์ของเขาอย่างการแต่งตัว ทรงผม หรือรูปแบบการใช้ชีวิตที่ดูคล้ายกับอยู่ในหนัง
อย่างคำว่า “ออเหลน” เนี่ย ก็เป็นคำจำกัดความที่คนอื่นตั้งให้พวกเขา ซึ่งน่าจะมีที่มาจากการแต่งกายของวัยรุ่นในยุคนั้น โดยเฉพาะผู้ชายที่ใส่กางเกงขาเดฟฟิตๆ ซึ่งมีอีกชื่อว่ากางเกงทรงจิ้งเหลน (ในสมัยจอมพลสฤษดิ์มีการออกกฎหมายห้ามวัยรุ่นใส่กางเกงทรงนี้ โดยตรวจสอบด้วยการเอาขวดน้ำยัดขากางเกง ถ้ายัดไม่เข้าก็แสดงว่าผิดระเบียบนั่นแล) ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของคำนี้
เราก็รวบรวมเอาข้อมูลเหล่านี้มาปะติดปะต่อ และทำออกมาในรูปแบบของหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ ที่นำเสนอเรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นในยุคสมัยต่างๆ โดยเรียบเรียงตามช่วงเวลา ประจวบกับในช่วงปลายยุค 90s ที่เราเรียนจบ เริ่มเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ทำงานสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสารต่างๆ เราก็เอางานในช่วงนั้นของเราส่วนหนึ่งเข้ามาใส่เอาไว้ด้วย
ที่ทำออกมาในรูปของหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์นอกจากจะมีที่มาจากแหล่งข้อมูลที่เป็นหนังสือพิมพ์แล้ว เรายังนึกถึงฟังก์ชั่นของที่เวลากางออกมาแล้วมีลักษณะเหมือนโปสเตอร์อีกด้วย
หนังสือพิมพ์นี้ถูกทำออกมาในจำนวน 50 เล่ม วางขายเฉพาะในงานนิทรรศการนี้โดยเฉพาะ”
“ส่วนผลงานอีกส่วนเราได้ไอเดียมาจากหนังสือของคุณวิลเลียม วอร์เรน (นักเขียนชาวอเมริกันคนสนิทของจิม ทอมป์สัน ผู้เขียนถึงประวัติของจิม ทอมป์สัน เป็นคนแรก ซึ่งชื่อของเขาเป็นที่มาของชื่อห้องสมุดแห่งนี้) ที่เขาทำงานกับช่างภาพชาวฝรั่งเศส ในการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงเทพฯ ในช่วงปี 1972 ในแง่มุมของเมืองในย่านต่างๆ ที่มีลักษณะแตกต่างกัน รวมถึงกลุ่มคนที่อยู่ในย่านต่างๆ เหล่านี้ก็มีพื้นเพอะไรบางอย่างที่แตกต่างกัน
ประจวบกับการที่เราเคยทำงานชุดหนึ่งเป็น Environment Portrait (พอร์ตเทรตสิ่งแวดล้อม) ซึ่งเราไปถ่ายตามจุดต่างๆ ของกรุงเทพฯ เราก็เอาไอเดียตรงนี้มาทำเป็นงานที่ถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบของกล่องข้อมูล ที่วางอยู่ตามจุดต่างๆ ในห้องสมุดให้คนเข้ามาเปิดดูเปิดอ่าน
ซึ่งเราก็รวมเอาข้อมูล, ผลงานภาพถ่าย และผลงานสิ่งพิมพ์อื่นๆ ของเราเพิ่มเติมเข้าไปด้วย
ที่ตัดสินใจมาแสดงงานครั้งนี้ในห้องสมุด ก็เพราะพอเราทำเรื่องของ Environment Portrait ที่มีเรื่องของสถานที่ตั้ง, จุดสังเกต และเส้นทาง ซึ่งการจัดวางผลงานในห้องสมุดของเราก็เป็นการจำลองเส้นทางเหล่านี้ อีกแง่หนึ่งก็คือพื้นที่ห้องสมุดเป็นสถานที่เก็บข้อมูลต่างๆ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับชุมชน แผนที่ ฯลฯ
ตัวห้องสมุดเองก็เป็นแหล่งความรู้ที่สาธารณชนสามารถเข้ามาใช้งานได้ ซึ่งแนวคิดของงานที่เป็นศิลปะจัดวางเฉพาะเจาะจงพื้นที่ในห้องสมุดก็น่าจะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราทำอยู่ด้วย”
การเข้าไปชมนิทรรศการศิลปะในห้องสมุดของกรกฤชในครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์การดูงานศิลปะในบรรยากาศที่แปลกใหม่น่าสนใจอยู่ไม่ใช่น้อย เรียกได้ว่าได้ทั้ง “อ่าน” และ “ดูชม” งานศิลปะไปพร้อมๆ กันเลยทีเดียว
นอกจากผลงานหลักแล้ว ในนิทรรศการนี้ยังมีผลงานวิดีโอจัดวางที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับระบบการเดินทางในเมืองที่ถ่ายทำจากบนเส้นทางรถไฟฟ้า โดยจัดแสดงเฉพาะในช่วงเวลาของเทศกาล Galleries” Night Bangkok 2020 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ในนิทรรศการยังมีกิจกรรมเกี่ยวเนื่อง ทั้งการเสวนา โดยศิลปินเจ้าของงาน กรกฤช เจียรพินิจนันท์ เกี่ยวกับผลงานสื่อสิ่งพิมพ์ของเขาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 จนถึงปัจจุบัน ในวันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ เวลา 14:00-17:00 น. และการเสวนา โดยวิทยากรรับเชิญ ชานันท์ ยอดหงษ์ ในวันเสาร์ที่ 14 มีนาคม เวลา 14:00-17:00 น. ในสถานที่แสดงงานอีกด้วย
นิทรรศการออเหลน (ORLANE) โดยกรกฤช เจียรพินิจนันท์ จัดแสดงในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2563 ที่ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน ซอยเกษมสันต์ 2 ปทุมวัน (รถไฟฟ้า BTS สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ทางออกที่ 1) กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0-2612-6741 หรืออีเมล [email protected]
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปิน กรกฤช เจียรพินิจนันท์, Jim Thompson Art Center