อภินิหารทางกฎหมาย บี้ภาษี “หุ้นชินฯ” รอบใหม่ ถอนขนแม้ว 1.6 หมื่นล้าน

ข้อโต้แย้งระหว่างกรมสรรพากรกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

กรณีการเรียกเก็บเงินภาษี 1.6 หมื่นล้านบาทจาก นายทักษิณ ชินวัตร ในการขายหุ้น บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น หรือชินคอร์ป

ผ่านนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวให้กับกลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ จำนวนกว่า 7.3 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2549 สามารถกระทำได้หรือไม่

ในขณะที่คดีหลีกเลี่ยงภาษีกำลังจะหมดอายุความ 10 ปีในวันที่ 31 มีนาคมนี้

“สรุปกรมสรรพากรต้องดำเนินการเรียกเก็บภาษี ถ้าไม่ได้ก็ไปอุทธรณ์ว่ากันตามกฎหมาย ซึ่งต้องทันเวลาก่อนวันที่ 31 มีนาคมนี้” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวให้สัมภาษณ์หลังประชุม ครม. 14 มีนาคมที่ผ่านมา

ผ่านมานานกว่า 10 ปี ภาษีหุ้นชินคอร์ปกลับมาเป็นประเด็นการเมืองอีกครั้ง เมื่อ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เรียกร้องให้รัฐบาลสั่งการกรมสรรพากร ขยายเวลาเรียกเก็บภาษีจากนายทักษิณ

หากไม่ดำเนินการและปล่อยให้คดีหมดอายุความ ผู้เกี่ยวข้องและกรมสรรพากร อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่

การจุดพลุเปิดประเด็นของ สตง. ทำให้กรมสรรพากรเป็น “ตำบลกระสุนตก” ทันที

เสียงวิพากษ์วิจารณ์หลักๆ มาจากฝ่ายต่อต้าน “ทักษิณ” และตระกูล “ชินวัตร” ว่ากรมสรรพากรมีเจตนาดึงเรื่องไว้จนหมดอายุความ เพื่อเอื้อประโยชน์ช่วยเหลือ “ตัวการ” กลุ่มอำนาจเก่าหรือไม่

บางคนตั้งแง่หวาดระแวงไปไกลกว่านั้น ว่ารัฐบาลกับ คสช. อาจมีส่วนรู้เห็นกับพฤติการณ์น่าสงสัยของกรมสรรพากรด้วยหรือไม่

ประกอบกับการที่ผู้นำรัฐบาลและ คสช. ยืนยันไม่ใช้ “มาตรา 44” เข้าดำเนินการเรื่องนี้ เพราะไม่ต้องการให้เกิดภาพการใช้กฎหมายอำนาจพิเศษรุกไล่ฝ่ายตรงข้าม ยิ่งแสดงให้เห็นข้อพิรุธ

แต่แล้วด้วย “อภินิหารทางกฎหมาย” จากการชี้ช่องของนักกฎหมายระดับ “เกจิอาจารย์”

รัฐบาลสั่งให้กรมสรรพากรเก็บภาษีตามความเห็นของ สตง. โดยอาศัยมาตรา 61 แห่งประมวลรัษฎากรที่ระบุ

ภายใน 10 ปี ถ้าปรากฏหลักฐานแน่ชัด กรมสรรพากรใช้อำนาจประเมินภาษีได้ทันที ไม่ต้องออกหมายเรียกใดๆ ทั้งสิ้น แล้วให้เริ่มนับหนึ่งใหม่ไปอีก 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ขณะที่ “เผือกร้อน” ยังตกอยู่ในมือกรมสรรพกร

กรมสรรพากรอ้างเหตุผล ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีขายหุ้นชินคอร์ปว่า เนื่องจากเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้รับการยกเว้นตาม

นอกจากนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 พิสูจน์แล้วว่า หุ้นที่ขายให้กลุ่มเทมาเส็ก ผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริงคือ นายทักษิณ ชินวัตร

และได้ยึดทรัพย์จากการขายหุ้นดังกล่าว 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินภาษีขายหุ้นได้ผนวกรวมอยู่ในนั้นด้วย

ส่วนการขยายเวลาออกหมายเรียกตรวจสอบ ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะพ้นระยะเวลา 5 ปีตามกฎหมายประมวลรัษฎากรเกี่ยวกับคดีความทางภาษี

อย่างไรก็ตาม สตง. ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลกรมสรรพากร เพราะมองว่าเงินที่ถูกยึดทรัพย์กับเงินที่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีจากการขายหุ้นเมื่อปี 2549 เป็นคนละส่วนกัน

ทั้งยังชี้ว่ากรมสรรพากรสามารถทำหนังสือแจ้งการประเมินภาษีนายทักษิณได้ โดยไม่ต้องออกหมายเรียกตรวจสอบก่อนตามมาตรา 61 ประมวลกฎหมายรัษฎากร

อีกทั้งกรมสรรพากรเคยออกหมายเรียกตรวจสอบนายพานทองแท้ กับ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ซึ่งคนทั้งสองเป็นตัวแทนนายทักษิณ ผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริง

จึงมีผลเท่ากับได้ออกหมายเรียกตรวจสอบนายทักษิณไปแล้ว

ส่วนที่ว่านายทักษิณ ถูกคำสั่งศาลฎีกาฯ ยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้าน ถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่ภาษี แต่เป็นการถูกยึดตามคดีอาญาเรื่องทุจริต

ข้อโต้แย้งระหว่างกรมสรรพากร กับ สตง. นำมาสู่การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม เป็นเจ้าภาพเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ

ภายใต้หลักเกณฑ์ 4 ข้อ ได้แก่ ต้องไม่ใช้มาตรา 44 ต้องไม่ขยายอายุความ ยืนอยู่บนหลักนิติธรรม และดูเจตนาการขายหุ้นว่าสุจริตหรือไม่

ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม นายวิษณุเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าหารือ อาทิ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนรายงานผลหารือไปยัง พล.อ.ประยุทธ์

อันเป็นที่มาของ “อภินิหารทางกฎหมาย” หรือ Miracle Of Law

นอกจากคำสรุปของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่า

กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรต้องดำเนินการเรียกเก็บภาษีจาก นายทักษิน ชินวัตร ส่วนจะได้หรือไม่ ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ทุกฝ่ายมีโอกาสโต้แย้งในชั้นศาล

“หลายอย่างมีความซับซ้อน มีการวางแผนแยบยล ถ่ายเงินหลายทอด ผมพยายามแกะมาสัปดาห์กว่าๆ จนได้ข้อยุติ”

นายวิษณุ เครืองาม อธิบายความเพิ่มเติมว่า การเรียกเก็บภาษีกับนายทักษิณ ได้หรือไม่ได้ ใครผิดถูกอย่างไร ต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสินในขั้นสุดท้าย

เริ่มจากกรมสรรพากรต้องทำคำประเมินภาษีไปยังนายทักษิณ ถ้าไม่จ่าย รัฐก็ต้องฟ้องร้องต่อศาลภาษีอากรกลาง ถ้าตัดสินแล้วฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่พอใจ สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้

สำหรับผลคำตัดสินสุดท้ายออกมาอย่างไร จะนำไปเป็นบรรทัดฐานในคดีลักษณะเดียวกัน ซึ่งยังมีอยู่อีกหลายสิบคดี

ส่วนการขยายอายุความที่หลายคนเป็นห่วง ไม่ใช่ประเด็นปัญหาต้องพูดถึงอีกต่อไป

เพราะหากกรมสรรพากรส่งคำประเมินภาษีไปยังนายทักษิณ ในเวลาที่เหลืออยู่ 10 กว่าวันก่อนถึงวันที่ 31 มีนาคม เวลาการนับอายุความ 10 ปีจะ “หยุด” ทันที

แล้วเริ่ม “นับใหม่” ไปอีก 10 ปี โดยนายทักษิณมีสิทธิอุทธรณ์คำประเมินภาษีได้ภายใน 30 วัน

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล กล่าวถึงที่มาของยุทธการไล่บี้ “ภาษีหุ้นชินฯ” รอบใหม่ 1.6 หมื่นล้านบาท

“มันคงเป็นรายละเอียดที่มีกฎหมายเล็กซ่อนอยู่ในกฎหมายใหญ่ ในที่ประชุม ครม. นายวิษณุใช้คำว่า ทำไม่ได้ แต่ทำได้ด้วยอภินิหารของกฎหมาย มุมแบบนี้คงไม่สามารถคิดออกได้ด้วยคนใดคนหนึ่ง แต่การประชุมวงนายวิษณุเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ได้เชิญเกจิอาจารย์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มา จึงคิดออก”

แน่นอนว่าทางออกดังกล่าว ถึงคำตอบจะไม่ใช่ “มาตรา 44” แต่น่าจะสร้างความพึงพอใจให้กับฝ่าย “ต้านทักษิณ” ได้ในระดับหนึ่ง ทั้งยังกลบเสียงครหากลุ่มอำนาจใหม่เตรียมเดินแผน “เกี้ยเซียะ” กลุ่มอำนาจเก่า

เมื่อสถานการณ์เดินมาถึงจุดนี้ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า

กรมสรรพากรจะจัดการกับ “เผือกร้อน” ที่รัฐบาลผ่องถ่ายมาอย่างไร

ไม่ให้ “ลวกมือ” ตัวเอง?