วิรัตน์ แสงทองคำ : เครือข่ายยักษ์ใหญ่ธุรกิจโรงพยาบาล

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

คงไม่มีใครคาดคิดว่าโรงพยาบาลจะกลายเป็นเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ได้อย่างที่เห็นเป็นอยู่

เครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ว่า ถือกำเนิดมาจากโรงพยาบาลเอกชนธรรมดาเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว เป็นชิ้นส่วนเล็กๆ พัฒนาการธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนค่อยๆ เติบโตขึ้นในสังคมไทย ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนในทั่วประเทศมีมากกว่า 300 แห่ง โดยกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณหนึ่งในสาม

ทั้งนี้ คงมีเพียงเครือข่ายโรงพยาบาลในนามบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือที่เรียกกันว่า โรงพยาบาลกรุงเทพ เท่านั้น มีเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วประเทศมากถึง 49 แห่งในปัจจุบัน

หากพิจารณาอย่างเจาะจง พบว่าโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศไทยมีจำนวนเตียงรวมกันทั้งสิ้นราว 40,000 เตียงนั้น

เครือข่ายโรงพยาบาลกรุงเทพนำเสนอข้อมูลไว้ว่า ในปี 2563 มีจำนวนเตียงถึง 8,700 เตียง หรือกว่า 20%

ถือเป็นสัดส่วนที่น่าสนใจทีเดียว

(ข้อมูลข้างต้น ประมวลและเรียบเรียงจากรายงานสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2560 และ Bangkok Dusit Medical Services (BDMS) Analyst Presentation 4Q19&2019 Results, 27 February 2020)

 

โรงพยาบาลกรุงเทพเกิดขึ้นจากความร่วมมือของแพทย์ศิริราช มีนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เป็นหัวเรือใหญ่ และต่อมากลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด เชื่อกันว่าเป็นผู้บริหารที่มีอำนาจมากที่สุด แม้ว่าจะปราฏชื่อในทำเนียบผู้บริหารอย่างเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม

เขาเป็นนักธุรกิจเต็มตัว จากภูมิหลังครอบครัวผลิตและจำหน่ายยาแผนโบราณ ในฐานะคนรุ่นที่สอง นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ได้ก้าวไปไกล บุกเบิกธุรกิจซึ่งเคยเป็นกิจการอยู่ภายใต้เงาของอำนาจรัฐ

เริ่มต้นจากธุรกิจสายการบิน ในนาม สายการบินกรุงเทพ กับตำนานอันวกวน ก่อนมาเป็นสายการบินบุคลิกเฉพาะ และดูเหมือนมีที่ทางและการดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมั่นคงพอสมควร ในฐานะสายการบินเอกชนรายแรก บุกเบิกมาก่อนจะมีสายการบินของเอกชนตามมาอีกมาก

สำหรับธุรกิจโรงพยาบาล ตอนแรกๆ เหมือนไม่ให้ความสนใจมากนัก จนกระทั่งมาตระหนักว่าเป็นธุรกิจที่มั่นคงและให้ผลตอบแทนดีกว่าสายการบิน แผนการธุรกิจเชิงรุกอันเข้มข้นจึงเริ่มต้นจากนั้นมา

ผมเองเคยนำเสนอไว้ว่า “โมเดลความสำเร็จของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน-โรงพยาบาลกรุงเทพไม่ใช่ต้นแบบ หากเป็นโรงพยาบาลคู่แข่ง ซึ่งเกิดขึ้นทีหลังเกือบ 10 ปี ได้พัฒนาไปอย่างน่าสนใจ” (มติชนสุดสัปดาห์ ต้นปี 2555)

นั่นคือโรงพยาบาลรายล่าสุด ในความพยายามของโรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อเข้าซื้อกิจการ

 

โรงพยาบาลซึ่งเป็นธุรกิจหนึ่งของตระกูลโสภณพนิช ผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารอันดับต้นๆ ของไทย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2518 ในช่วงเวลาธนาคารกรุงเทพกำลังผลัดรุ่น โดยมีบุตรชายของชิน โสภณพนิช คนหนึ่งดูแล-ชัย โสภณพนิช ในฐานะได้รับแบ่งมรดกดูแลธุรกิจประกันชีวิต อาจเป็นไปได้ว่ามีความเชื่อมโยงกัน ด้วยมุมมองธุรกิจที่แตกต่าง “โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จึงมีเป้าหมายไปไกลในตลาดต่างประเทศมาก่อนใคร ว่าไปแล้วโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้จุดประกาย “จุดแข็ง” ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยในระดับภูมิภาค”

โมเดลธุรกิจโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อย่างน้อยมี 2 มิติที่โรงพยาบาลกรุงเทพพยายามศึกษาและเดินตามรอย

หนึ่ง-การเข้าตลาดหุ้นสามารถระดมทุนเพื่อตอบสนองการขยายตัวทางธุรกิจได้อย่างสอดคล้อง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เข้าตลาดหุ้นก่อนในปี 2532 หลังจากนั้นอีก 2 ปี โรงพยาบาลกรุงเทพจึงดำเนินตาม

สอง-การสร้างตลาดใหม่ จากตลาดเดียวกันในใจกลางกรุงเทพฯ สู่ลูกค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านและตะวันออกกลาง ทุกวันนี้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีความแข็งแกร่งในตลาดต่างประเทศมากกว่าโรงพยาบาลกรุงเทพ

อีกตอนหนึ่งที่สำคัญ ผมเคยตั้งประเด็นไว้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว “การแอบซื้อหุ้นประมาณ 20% ในโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ของนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถนั้นหากไม่มองไกลไปถึงความพยายามครอบงำกิจการ คงพยายามศึกษาบทเรียนความสำเร็จตรงจุดนี้ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์” (อ้างแล้ว)

“เดือนกุมภาพันธ์ 2554 บริษัทเข้าลงทุนซื้อหุ้นสามัญ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) โดย ณ สิ้นปี 2554 บริษัทถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 103,827,600 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.25 ของทุนที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน)”

และในตอนต้นปี 2555 ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า

“บริษัทลงทุนซื้อหุ้นสามัญบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) เพิ่มเติมจำนวน 70,522,600 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.66 ของทุนที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) ทำให้ปัจจุบันบริษัทถือหุ้นในบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) จำนวนทั้งสิ้น 174,350,200 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.88 ของทุนที่ออกจำหน่ายและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน)”

ข้างต้นเป็นข้อมูลสำคัญจากบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) (https://investor.bangkokhospital.com/) ระบุช่วงเวลาและเหตุการณ์สำคัญเข้ามาเกี่ยวข้องโรงพยาบาลคู่แข่ง

 

พัฒนาการสำคัญของโรงพยาบาลกรุงเทพเวลานั้น สะท้อนแนวทางธุรกิจเชิงรุกอย่างเห็นได้ชัดมาก่อนนั้นแล้ว ตั้งแต่ในช่วงเวลาแห่งโอกาส เมื่อผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่มาไม่นาน

ขณะที่มีแผนการขายเครือข่ายโรงพยาบาลด้วยตนเอง (greenfield) สู่เมืองหลักในภูมิภาค และเมืองท่องเที่ยว เริ่มจากภาคตะวันออก ถือเป็นย่านใหญ่อุตสาหกรรมของธุรกิจต่างชาติ ในชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด (2546) และกรณีเกาะสมุย (2547) ได้เดินหน้าต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันจนขยายสู่เมืองรองๆ รวมทั้งบุกเบิกสู่ต่างประเทศ ในกรณีบุกเบิกโรงพยาบาลในประเทศตะวันออกกลาง-เข้าไปร่วมทุนกับนักลงทุนท้องถิ่นในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (2549) เปิดโรงพยาบาลในประเทศเพื่อนบ้าน-กัมพูชาในช่วงเดียวกันถึง 2 แห่ง (2550)

ในเวลาเดียวกัน ได้เปิดฉากแผนการเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาล นับเป็นครั้งแรกๆ ของแผนการดำเนินการโดยเครือข่ายโรงพยาบาลกรุงเทพ จนกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญอันต่อเนื่องอย่างครึกโครม เริ่มด้วยเข้าซื้อกิจการและเครือข่ายโรงพยาบาลสมิติเวช โดยสามารถครอบครองหุ้นเกือบทั้งหมด ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ จำกัด และโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต (2547) ตามมาด้วยเข้าซื้อกิจการ โดยเข้าถือหุ้นเกือบทั้งหมดของโรงพยาบาลบีเอ็นเอช เมดิเคิล เซ็นเตอร์ (2548)

มาถึงดีลครั้งใหญ่ครั้งสำคัญควรกล่าวถึงในปี 2553-การร่วมกิจการกับเครือโรงพยาบาลพญาไทและเปาโลเมโมเรียล โดยเข้าซื้อและรับโอนกิจการทั้งหมด (จากผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่-วิชัย ทองแตง และครอบครัว) โดยใช้เงินลงทุนเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ กลุ่มวิชัย ทองแตง กลับมาเข้าถือหุ้นเครือข่ายโรงพยาบาลกรุงเทพ (บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ) ประมาณ 12%

มีกรณีหนึ่งแสดงแผนการที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่า

“บริษัทได้ตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ชื่อบริษัท บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก จำกัด บริษัทถือหุ้นร้อยละ 100 เพื่อซื้อที่ดินบริเวณโครงการปาร์คนายเลิศ ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน จำนวนเนื้อที่รวมประมาณ 15 ไร่ และสิ่งปลูกสร้างซึ่งประกอบด้วยอาคารโรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ อาคาร Promenade รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 10,800 ล้านบาท และงบประมาณลงทุนและปรับปรุงทรัพย์สินอีกเป็นจำนวนเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการศูนย์สุขภาพแบบครบวงจร BDMS Wellness Clinic ซึ่งเป็นธุรกิจด้านบริการสุขภาพ มุ่งดูแลให้ผู้ใช้บริการมีสุขภาพที่แข็งแรงในองค์รวมทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงมีอายุยืนยาว (Longevity)” ประวัติบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) อีกตอนหนึ่งบันทึกไว้ (อ้างแล้ว– https://investor.bangkokhospital.com/)

กรณีข้างต้นสะท้อนภาพกว้างๆ ความเปลี่ยนแปลงในเชิงภูมิศาสตร์ข้างต้น สะท้อนพลวัตกรุงเทพฯ ขณะที่บางมิติทางธุรกิจซึ่งอ้างอิงกับเมืองหลวงกับเมืองใหญ่ ขยับปรับเปลี่ยนในทิศทางที่น่าสนใจ

ทิศทางซึ่งดำเนินไปอย่างกระชั้นและต่อเนื่อง อิทธิพลเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ กับโครงการใหญ่ๆ มีแผนการขยายเครือข่ายธุรกิจให้ใหญ่มากขึ้น มีอำนาจต่อตลาดมากขึ้นๆ ดำเนินไปท่ามกลางปัจจัยและโอกาสที่เปิดกว้างมากขึ้นเฉพาะและเป็นพิเศษ

ยิ่งภาวะเศรษฐกิจมีปัญหามากขึ้น ดูเหมือนระบบจะคัดเลือกและประคับประคองรายใหญ่มากยิ่งขึ้นๆ

 

คงไม่มีใครคาดคิดว่าธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะเติบโตจนสามารถขึ้นมาเทียบเคียงเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ทั่วไป

ด้านหนึ่ง ให้ภาพที่ชัดเจนว่า ขณะที่บทบาทหน้าที่รัฐตามไม่ทัน ไม่สอดคล้องกับความเป็นไป ในภารกิจการบริหารเพื่อสาธารณะ ได้เปิดช่องว่างอย่างมากมายสู่เอกชน

อีกด้านหนึ่ง มีคำถามซึ่งส่งเสียงดังมากขึ้นๆ ในช่องว่างนั้น ธุรกิจซึ่งมีความคาบเกี่ยวกับบริการเพื่อสาธารณะ สามารถเติบโต มีอำนาจต่อตลาดได้อย่างเสรี และสามารถกำหนดค่าบริการได้เอง หรือไม่อย่างไร

สถานการณ์ปัจจุบัน ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมีความผันแปรมากขึ้นอีก

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2563 ภาพรวมกำไรสุทธิของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน (ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ) น่าจะเติบโตร้อยละ 3-6 ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่คาดว่าจะโตร้อยละ 6-9 โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่เจาะกลุ่มคนไข้กำลังซื้อปานกลางถึงสูง ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยจำนวนคู่แข่งทยอยเพิ่มขึ้น แต่คนไข้ที่มีศักยภาพกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม…” (อ้างจาก “โรงพยาบาลเอกชนปี 2563 หลายปัจจัยกดดันการทำกำไร…” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 27 ธันวาคม 2562)

ค่อนข้างจะแน่ใจว่า มีผลสะท้อนบ้างไม่มากก็น้อยกับแผนการขยายเครือข่ายให้ใหญ่ยิ่งขึ้น ดังชิ้นส่วนย่อยๆ สะท้อนในกรณีโรงพยาบาลกรุงเทพพยายามซื้อกิจการโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ทั้งๆ ที่รอเวลามานานถึง 7 ปีเต็ม