ธงทอง จันทรางศุ | ทรัสตี

ธงทอง จันทรางศุ

หลายคนคงเคยเดินทางไปกราบไหว้สักการะพระมหาเจดีย์ชเวดากองที่เมืองย่างกุ้งกันมาบ้างแล้ว

ผมเองก็ได้เคยไปที่พระมหาเจดีย์แห่งนี้มาแล้วสามสี่ครั้ง ทุกครั้งที่ไปก็รู้สึกตื่นเต้นยินดีกับศรัทธาปสาทะของชาวพม่าที่ได้พบเห็น

และสัมผัสได้ทีเดียวว่า พระมหาเจดีย์นี้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพม่าอย่างแท้จริง

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาผมมีโอกาสไปกราบไหว้พระมหาเจดีย์ชเวดากองอีกครั้งหนึ่ง

แต่คราวนี้ไปในเวลาแปลกกว่าทุกที เพราะที่เคยผ่านมาแต่หนหลังนั้นผมไปในเวลากลางวัน ตอนเช้าบ้าง ตอนบ่ายบ้าง

แต่ครั้งนี้กว่าจะไปถึงพระมหาเจดีย์ดังกล่าวก็เป็นเวลาเกือบสามทุ่มแล้ว แรกทีเดียวยังใจตุ๊มๆ ต่อมๆ อยู่เลยว่าจะไปทันเวลาหรือไม่ เพราะทราบข่าวจากผู้สันทัดกรณีว่ามีเวลาเปิด-ปิดประตูทางเข้าออกอยู่ชัดเจน ตอนเช้าเปิดให้เข้าสักการะได้ตั้งแต่ตีสี่ และยืดยาวไปจนถึงสี่ทุ่ม

โชคดีที่สุดท้ายก็ไปทันเวลาครับ

ขอกระซิบว่าการไปไหว้พระที่นี่เวลากลางคืนมีความสุขมากครับ เดินไปไหนก็ไม่ร้อนเท้า แม้จะต้องถอดทั้งรองเท้าและถุงเท้าออกตามทะเบียนบ้านเมืองของเขาก็ตาม

องค์พระเจดีย์ก็มีไฟส่องสว่างจากทุกทิศ สีทองของทองคำเป็นประกายสุกปลั่งทีเดียว

นอกจากการกราบไหว้และทำบุญตามปกติของวิสัยพุทธศาสนิกชนแล้ว ผมยังได้มีโอกาสพบกันกับผู้ที่มีหน้าที่เป็น “ทรัสตี (Trustee)” ของปูชนียสถานแห่งนี้ด้วย

ได้สนทนากันพอสมควรพอที่จะเก็บความมาเล่าสู่กันฟังได้ในที่นี้

อันว่า “ทรัสตี” นั้นเป็นคำมาจากภาษาอังกฤษอย่างแน่นอน หมายถึงผู้ที่ดูแลทรัพย์สิน และจัดการผลประโยชน์ของกองทรัพย์ แต่ไม่ใช่การจัดประโยชน์เพื่อตัวเอง หากแต่จัดการผลประโยชน์เพื่อนำเงินทองที่ได้ไปมอบให้แก่ผู้รับผลประโยชน์

คำนี้อยู่ในระบบกฎหมายของอังกฤษมาช้านาน

เมืองไทยของเราเมื่อประมาณร้อยปีก่อนก็เคยอนุญาตให้ใช้ระบบนี้ได้

แต่ภายหลังได้มีการเขียนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ห้ามไม่ให้นำเอาระบบทรัสต์ ที่มีทรัสตีเป็นผู้จัดการผลประโยชน์มาใช้อีกต่อไป

ทุกวันนี้เราจึงไม่คุ้นเคยกับคำนี้อีกต่อไปแล้ว

ผมเข้าใจว่าสาเหตุเนื่องมาจากประเทศอังกฤษเคยเป็นเจ้าอาณานิคมของเมียนมา ประกอบพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากองเป็นที่เคารพศรัทธาเลื่อมใสของมหาชนทั้งชาวเมียนมาและพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พระเจดีย์แห่งนี้จึงมีสมบัติที่คนมาอุทิศถวายไว้เป็นจำนวนมาก

เพียงแค่ดูอัญมณีที่ประดับอยู่ที่องค์พระเจดีย์ก็พอจะเข้าใจได้แล้วว่ามากมายสักแค่ไหน

ถ้าเป็นวัดเมืองไทยก็คงมีไวยาวัจกรหรือคณะกรรมการของวัดเป็นผู้จัดการดูแลผลประโยชน์

ซึ่งแม้ส่วนใหญ่จะทำงานได้เรียบร้อยเป็นอย่างดี แต่ก็มีอยู่เหมือนกันที่เป็นข่าวน่ากังวลใจในบางแห่งบางวัด

ส่วนพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากองนั้นมีทรัสตี ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นระบบที่ตั้งขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจากเมืองอังกฤษมาเป็นสำคัญ และงานการของเขาเรียบร้อยดีครับ

ทรัสตีของพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากองเป็นคณะกรรมการจำนวน 14 คน คนที่ผมพบเล่าให้ผมฟังว่า แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี

สมาชิกของคณะกรรมการทรัสตีเกือบทั้งหมดเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว

มีเกียรติประวัติชื่อเสียงงดงาม และมีจิตอาสาอยากจะทำบุญทำกุศล

ยกเว้นตัวผู้เล่าเองที่ไม่ได้เป็นข้าราชการมาแต่ก่อน ผมก็ไม่กล้าถามว่าเคยทำอะไรมาบ้างหรือ

แต่สังเกตดูก็พอรู้ได้ว่าไม่มีความเดือดร้อนเรื่องเงินทอง และเป็นผู้ที่มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา

ทรัสตีจำนวน 14 คนนี้ จะผลัดกันมาเข้าเวรประจำการอยู่ที่พระเจดีย์ทุกสองสัปดาห์ นั่นหมายความว่าประมาณเดือนละสองครั้ง การเข้าเวรนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ 09:30 น. ในตอนเช้าวันหนึ่ง ไปจนบรรจบครบรอบ 24 ชั่วโมงคือ 09:30 น. ของวันรุ่งขึ้น

การอยู่เวรอย่างนี้มีห้องนอนอยู่ในบริเวณสำนักงานซึ่งอยู่มุมหนึ่งของลานพระมหาเจดีย์นี้เอง

หน้าที่สำคัญในการอยู่เวรคือดูแลรักษาความเรียบร้อยทั่วไป และแก้ปัญหาหากเกิดมีขึ้น

ถ้ามีแขกเหรื่อเป็นผู้ใหญ่มากราบไหว้พระเจดีย์ ก็คอยต้อนรับและนำชม

คุณทรัสตี คนที่ผมพบคราวนี้ไม่ใช่คนนอนเวรสำหรับวันนั้น

แต่เนื่องจากเป็นผู้มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ จึงถูกตามตัวมาเพื่อพูดคุยต้อนรับคณะของเราซึ่งไปในฐานะเป็นทางการอยู่พอสมควร

ทั้งไทยทั้งพม่าพูดฝรั่งกันสนุกน่าดูเลยครับ

ผมพลอยได้รู้ต่อไปด้วยว่า การดูแลรักษาและบริหารกิจการของพระมหาธาตุเจดีย์ชเวดากองนั้นมีเจ้าหน้าที่มากมายถึง 1,500 คน แบ่งเป็นแผนกต่างๆ เก้าแผนก เช่น แผนกรับบริจาค แผนกซ่อมแซมและบูรณะ แผนกรักษาความปลอดภัย และแผนกระวังเพลิงหรือดับไฟ คนเกือบทั้งหมดต้องแบ่งงานเป็นสองกะ เพราะเริ่มงานตั้งแต่ตีสี่ไปจนถึงสี่ทุ่มดังที่ว่ามาแล้วข้างต้น

วันหนึ่งมีคนมาไหว้พระที่นี่สิบแปดชั่วโมง หยุดพักหกชั่วโมง แล้วเริ่มใหม่วนกันไปอย่างนี้ เจ้าหน้าที่แต่ละผลัดจึงทำงานประมาณ 9 ชั่วโมง

ผมถามว่าค่าใช้จ่ายในการจ้างงานคนเหล่านี้มาจากที่ไหน

ได้รับคำอธิบายว่ามาจากค่าผ่านเข้ามาในเขตบริเวณพระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งเขาเก็บเงินจำนวนนี้ในอัตราที่แตกต่างกันระหว่างชาวต่างประเทศกับชาวเมียนมา

ถ้าเป็นชาวต่างประเทศเขาเก็บอยู่ที่ประมาณ 200 บาท แต่ถ้าเป็นชาวเมียนมาเองเขาเก็บเพียงเล็กน้อย เทียบเป็นเงินไทยแล้ว ไม่ถึงห้าบาท

ลำพังนักท่องเที่ยวที่มาในสถานที่แห่งนี้วันละประมาณสามพันถึงห้าพันคน ถ้าคิดสมบัติบ้าแบบผม จำนวน 3,000 คน คนละ 200 บาท ปีหนึ่งมี 365 วัน เงินที่เก็บได้เห็นจะพอค่าจ้างแรงงานคน 1,500 คนแล้วนะครับ

เจ้าของข้อมูลพูดชัดเจนว่า เงินทำบุญที่ใส่กล่องบริจาคเพื่อถวายพระเจดีย์ ต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคโดยเคร่งครัด จะไม่นำมาใช้จ่ายในการบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ้างแรงงานคนจำนวนที่ว่านี้เป็นอันขาด

ส่วนเงิน “ค่าผ่านประตู” แบบที่ผมเล่ามานี้ ถ้ามีเหลือ ก็จะนำไปทำบุญบำรุงพระเจดีย์ด้วย

การทำหน้าที่เป็นทรัสตี ถือเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติสูง เมื่อมีเกียรติแล้วก็ไม่ต้องมีค่าตอบแทน มีแต่บุญกุศลเท่านั้นที่จะหอบติดตัวกลับบ้านไป

ผมเดินคุยกับคุณทรัสตีที่ว่านี้ไปพลาง พร้อมกับสังเกตความเป็นไปในลานพระมหาเจดีย์แห่งนั้นพร้อมกันไปด้วย เห็นได้ชัดทีเดียวว่าชาวเมียนมาทั้งหลายถือว่าพระเจดีย์แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา และเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของพระเจดีย์ด้วย

ที่ผมพูดอย่างนี้เพราะไม่ได้เห็นแต่เพียงแค่คนเข้ามากราบไหว้หรือนั่งสวดมนต์เท่านั้น แต่บางครอบครัวก็นำอาหารมารับประทานกันในบรรยากาศคล้ายปิกนิก เยาวชนคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวก็มานั่งคุยกัน จับเป็นวงเป็นหมู่อยู่ตรงโน้นตรงนี้ ทุกอย่างดูเป็นกันเองคุ้นเคยกันไปหมด

ผมว่าน่ารักดีนะครับ

เห็นจะเป็นด้วยสาเหตุว่าพระมหาธาตุเจดีย์แห่งนี้เป็นของทุกคน และทุกคนเป็นของพระมหาธาตุเจดีย์ดังที่ว่า ระบบคณะกรรมการทรัสตีที่อยู่มาช้านานนับสิบนับร้อยปีแล้ว จึงเป็นระบบที่ทุกคนเข้าใจและไว้วางใจ คนเป็นทรัสตีก็ต้องประพฤติตนให้สมกับความไว้วางใจที่ได้รับจากคนทั้งประเทศ

ในนามของไวยาวัจกรวัดโสมนัสวิหาร ที่ผมทำหน้าที่อยู่ ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

และขอนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง ถือว่าเป็นของฝากจากเมียนมาก็แล้วกันครับ