วงค์ ตาวัน | จุดติดแล้วจะไปจุดไหน

วงค์ ตาวัน

มีคำถามไปทั่วบ้านทั่วเมืองเวลานี้ว่า ขบวนการนิสิต-นักศึกษาฟื้นคืนมาแล้วใช่หรือไม่ แล้วจะขยายตัวไปถึงจุดไหน จะนำไปสู่การลงถนนหรือเปล่า และประเด็นคำถามที่สำคัญคือ เป็นไปได้หรือไม่ ที่ลงเอยจะเกิดแบบ 14 ตุลาฯ

อันที่จริงผ่านมาแล้ว 47 ปี สังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก นิสิต-นักศึกษาในวันนี้กับในยุคนั้นแตกต่างกันหลายด้าน

แต่ก็น่าสนใจศึกษาเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่มีนักเรียน นิสิต นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวเป็นขบวนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์บ้านเมืองเรา จนสามารถโค่นล้มรัฐบาลทหารของ 2 จอมพลได้สำเร็จ แม้จะต้องเผชิญกับการปราบปรามด้วยกระสุนจริงของกองทัพ

“ไปย้อนดูเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นั้น จะพบว่าสถานการณ์มีการสั่งสมต่อเนื่อง”

มีกระแสความไม่พึงพอใจจากปัญญาชนคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นต่อการครองอำนาจยาวนานของผู้นำทหาร โดยเฉพาะการรัฐประหารตัวเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ

ต่อมาต้นปี 2516 เกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์กองทัพบกตกที่นครปฐม แล้วเจอซากกระทิง เรื่องจึงแดงออกมาว่ามีการนำ ฮ.ไปล่าสัตว์ป่า พร้อมมีดาราสาวร่วมคณะ ในป่าสงวนฯ ทุ่งใหญ่นเรศวร นำโดย พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ลูกชายจอมพลถนอม และลูกเขยจอมพลประภาส จารุเสถียร

นักศึกษาตามรั้วมหาวิทยาลัยเริ่มแสดงความไม่พอใจต่อกลุ่มอำนาจ 2 จอมพลและ 1 พ.อ.ดังกล่าว จนเกิดเหตุการณ์ลบชื่อ 9 นักศึกษารามคำแหงที่จัดทำหนังสือเสียดสีรัฐบาล

จึงเกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่ของนักศึกษาในเดือนมิถุนายน 2516 ยืดเยื้อหลายวัน เพื่อประท้วงการลบชื่อ 9 นักศึกษาดังกล่าว จนสุดท้ายอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงต้องยอมยกเลิกคำสั่ง

“เรียกว่าการชุมนุมประท้วงใหญ่หลายวันกรณีลบชื่อ 9 นักศึกษา คือจุดเริ่มต้น คือการจุดติด!”

จนกระทั่งต้นเดือนตุลาคม 2516 แกนนำนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แล้วถูกสั่งจับ กลายเป็น 13 กบฏ และเป็นการจุดชนวนไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อวสานของรัฐบาลทหารนั่นเอง

จึงเป็นประวัติศาสตร์การชุมนุมประท้วงที่ใหญ่ที่สุด จนโค่นล้มอำนาจรัฐบาลทหารได้ และเป็นการนองเลือดครั้งใหญ่ มีการนำทหารออกมาปราบปรามผู้ประท้วงจนล้มตายไปกว่า 70 ชีวิต บาดเจ็บอีกหลายพันคน

“ทั้งถือเป็นต้นแบบของการรวมตัวต่อสู้ด้วยพลังคนหนุ่มสาว ที่ไม่เกรงกลัวการปราบปรามด้วยกระสุนปืน จนนำไปสู่การเบิกม่านประชาธิปไตย”

จะเห็นได้ว่าสถานการณ์มีการสั่งสมความไม่พอใจหลายเหตุการณ์ เริ่มจุดติดแล้วค่อยๆ ลุกลาม ก่อนจะนำมาสู่การจุดชนวนก่อม็อบครั้งใหญ่

ส่วนการฟื้นคืนมาของการเคลื่อนไหวคนหนุ่มสาวในวันนี้ ผ่านแฟลชม็อบที่ลุกลามไปทั่วทุกมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆ ต้องติดตามจับตาพัฒนาการกันต่อไป!

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด ระหว่างนิสิต นักศึกษาในยุค 14 ตุลาคม 2516 กับคนหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ ในปี พ.ศ.นี้ก็คือ สังคมได้ก้าวจากยุคอะนาล็อกไปสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มตัวแล้ว

สมัยก่อน นักศึกษาเคลื่อนไหวผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ แถลงการณ์ใบปลิว ไปจนถึงการติดโปสเตอร์เพื่อรณรงค์และนัดหมายชุมนุม

“ขณะที่วันนี้ก้าวจากยุคติดโปสเตอร์ เป็นทวิตเตอร์ เป็นยุคสื่อโซเชียลกันแล้ว”

ในยุคก่อนตื่นตัวจากงานเขียนวรรณกรรม ปรัชญาการเมือง ทฤษฎีการต่อสู้ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคม ส่วนยุคนี้เติบโตจากข้อมูลข่าวสารโดยตรง เพราะเป็นยุคที่มีอะไรให้ค้นหาได้รวดเร็วจากอินเตอร์เน็ต พูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ความไม่ถูกต้อง ความอยุติธรรม ผ่านสังคมออนไลน์

“คนรุ่นใหม่ยุคนี้เริ่มรวมตัวกันในสังคมโซเชียล โดยเฉพาะทวิตเตอร์ เริ่มแลกเปลี่ยนความคิดข้อมูลข่าวสารกันมาหลายปี โดยเริ่มจากความไม่พอใจในช่วงรัฐประหาร คสช.”

พร้อมกับการเกิดพรรคอนาคตใหม่ ก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 เป็นจุดที่ปลุกคนรุ่นใหม่ให้ตื่นตัวการเมืองในระบบเลือกตั้งอย่างขนานใหญ่ แล้วก็แห่ออกมาเลือกพรรคตัวแทนคนรุ่นใหม่กันอย่างล้นหลามกว่า 6 ล้านเสียง

กระบวนการของกลุ่มอำนาจล้าหลัง ที่พยายามทำลายพรรคอนาคตใหม่ตั้งแต่เริ่มลงสนามเลือกตั้ง ปลุกให้คนรุ่นใหม่จับตาการเมืองไทยอย่างเข้มข้นและรู้เท่าทัน

“เมื่อพรรคอนาคตใหม่โดนยุบ จึงเป็นชนวนให้ต้องลุกจากหน้าจอจากคีย์บอร์ด ออกมาเป็นแฟลชม็อบ เริ่มตั้งแต่คืนวันยุบพรรค แล้วต่อเนื่องลุกลามไปทั่วประเทศ”

การเคลื่อนไหวแฟลชม็อบที่จุดติดแล้ว จะพัฒนาไปสู่อะไร คงต้องขึ้นกับข้อเท็จจริงของสถานการณ์ในระหว่างนี้

ท่าทีของฝ่ายรัฐบาลและกลุ่มอำนาจเองสำคัญที่สุด

จะท้าทายยั่วยุเติมฟืนไฟ หรือลงมือก่อเหตุการณ์ที่ผลักให้ไปถึงจุดแตกหักหรือเปล่า!?!

ความหวาดผวาพลังคนหนุ่มสาวในขณะนี้ ทำให้กลุ่มผู้มีอำนาจไปจนถึงกองเชียร์ที่แวดล้อม เริ่มโจมตีการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาว่าถูกนักการเมืองจากพรรคที่ถูกยุบยุยงปลุกปั่น กล่าวหาว่าเด็กยังอ่อนหัด เลยถูกชักจูงไปเล่นเกมการเมืองลงสู่ท้องถนน ตามด้วยคำขู่ว่า กำลังเป็นเหยื่อของเกมอันตรายเสี่ยงตายเสี่ยงติดคุก

ก็คงไม่ได้ผลอะไร เพราะเด็กยุคนี้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างลุ่มลึก และรู้ดีว่าไม่มีนักการเมืองคนไหนมาจูงจมูก

“ดังที่ประกาศกันว่า ไม่ได้ออกมาต่อสู้เพื่อพรรคอนาคตใหม่ แต่สู้เพื่ออนาคตของคนรุ่นใหม่”

หนักที่สุดพวกที่อ้างตัวว่าเคยผ่าน 14 ตุลาฯ มาแล้ว รู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร ดาหน้าออกมาสั่งสอนเด็กรุ่นนี้ว่ายังไม่ประสีประสาการเมือง

ทั้งคนในยุคเดือนตุลาฯ ส่วนหนึ่ง ที่วันนี้เปลี่ยนจุดยืนจากซ้ายกลายเป็นขวาจัด หลายรายจมอยู่กับผลประโยชน์ทั้งทางการเมืองไปจนถึงธุรกิจการค้า จึงมองการเมืองเจือปนด้วยผลประโยชน์ส่วนตัวทั้งสิ้น แต่ยังมาชี้นิ้วสั่งสอนคนรุ่นใหม่ ที่เป็นคนวัยบริสุทธิ์ ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ มาบังตา

“แล้วไม่ย้อนมองไปถึงความยิ่งใหญ่ของ 14 ตุลาฯ ว่ามาจากคนหนุ่มสาวในวันนั้น ที่เป็นวัยเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและไร้ผลประโยชน์ใดๆ นั่นเอง!”

แต่ขณะเดียวกัน คนในยุคตุลาคม 2516-2519 ที่วันนี้เป็นคนสูงวัย แต่ไม่เปลี่ยนจุดยืน กลับรู้ตัวเองดีว่า ไม่ได้เอาอดีตมาอวดอ้างไปชี้นำแนะนำ แต่ให้กำลังใจให้การสนับสนุน

ดังเช่น สุธรรม แสงประทุม อดีตเลขาธิการศูนย์นิสิตฯ คนสุดท้าย ที่ถูกจับกุมในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จากนั้นเดินเข้าสู่ถนนประชาธิปไตยเล่นการเมืองลงเลือกตั้ง

“ได้โพสต์เฟซบุ๊กต้อนรับการตื่นตัวของคนหนุ่มสาวยุคใหม่ โดยหยิบยกบทกวีขอบฟ้าขลิบทองของอุชเชนีมาร่วมให้กำลังใจ “ขอให้กำลังใจแด่คนหนุ่มสาว ผู้ซึ่งเข้ามาแบกรับภารกิจเพื่อสังคมที่ดีงาม ด้วยบทกวีของอุชเชนี ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาวรุ่นผมลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีงาม”

คนรุ่นเก่าที่วันนี้พะรุงพะรังไปด้วยภาระในชีวิตและครอบครัว ควรจะรู้ตัวเองได้แล้ว

ยิ่งคนที่ร่วมประท้วงชัตดาวน์เป่านกหวีด เพื่อเรียกหาทหารให้เข้ามายึดอำนาจ แล้วออกมาโจมตีสั่งสอน

ในสายตาคนหนุ่มสาวแล้ว การประท้วงของคนพวกนี้แหละที่สร้างความเสียหายต่อประชาธิปไตย ทำให้บ้านเมืองถดถอยย้อนยุค จนตกต่ำล้าหลังมาถึงวันนี้

จนเป็นเหตุให้คนรุ่นใหม่ต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้พ้นจากอำนาจแอบแฝงของทหาร ไปสู่สังคมเจริญรุดหน้าเสียที!