คำ ผกา | เธอเป็นสลิ่ม เธอจะรู้อะไร

คำ ผกา

ถ้อยแถลง หรือ statement ที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับฉันในแฟลชม็อบของนักศึกษาคือ การประกาศตัวว่า “เราไม่เป็นสลิ่ม”

สำหรับฉันนี่เป็นชัยชนะของการต่อสู้เชิงวัฒนธรรมที่สำคัญมาก

เพราะย้อนไปเมื่อครั้งหลังรัฐประหารปี 2549 และช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดง คำว่า “เสื้อแดง” เป็นคำที่น่ารังเกียจ

ถ้าใครยังจำกันได้ ในโลกโซเชียลมีเดียในยุคนั้น คนจะกระบิดกระบวนม้วนต้วนกันหนักมากในการจะยอมรับว่าตัวเองเป็นเสื้อแดง อย่างมากก็จะพากันพูดว่า

“เราไม่เอารัฐประหารนะ แต่เราไม่ใช่เสื้อแดง เราไม่ชอบแกนนำเสื้อแดง”

“เราไม่เอาทหารนะ แต่เราไม่ใช่เสื้อแดง ไม่ใช่พวกทักษิณ”

“เราต่อต้านเผด็จการ แต่อย่าเข้าใจผิดว่าเราเห็นด้วยกับ นปช.นะ”

“เราไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารร้อยเปอร์เซ็นต์ เราเห็นใจชาวบ้านที่ออกมาชุมนุม แต่เราไม่เอาพรรคเพื่อไทย ไม่เอาพวกแกนนำ นปช.นะ อริสมันต์งี้ จตุพรงี้ ณัฐวุฒิงี้ เราเป็นห่วงชาวบ้านมากเลยว่าจะถูกพรรคหลอก ถูกแกนนำหลอก”

“เราเห็นด้วยนะว่าการรัฐประหารผิด แต่การชุมนุมของ นปช.ก็เต็มไปด้วยความรุนแรง ด่าทอ หยาบคาย ใส่ร้ายป้ายสี ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาก็มีแกนนำรอด นักการเมืองรอด คนที่ตายและติดคุกคือประชาชน”

“เราเอาประชาธิปไตย ไม่เอาเผด็จการ แต่ทำไมเราต้องเลือกข้างด้วย เราสนับสนุนประชาธิปไตยเฉยๆ ไม่ได้เหรอ ทำไมต้องยัดเยียดความเป็นเสื้อแดงให้เราด้วย”

“เราเลือกประชาธิปไตยนะ แต่เราไม่เลือกข้าง ขึ้นชื่อว่านักการเมือง ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ไม่น่าไว้ใจทั้งนั้นแหละ”

โอ๊ย ถ้าให้เขียนอีกเรื่อยๆ ฉันก็คิดออกได้เรื่อยๆ เพราะในสมัยนู้น ฉันอึดอัดคับข้องใจกับผู้คนในสังคมไทยมากว่า กะอีจะเลือกข้างให้ชัดๆ กะอีแค่จะมี solidarity กับคนเสื้อแดงนี่มันจะเป็นจะตาย มันจะน่าอาย มันจะดูโง่เง่า มันจะดูเป็นขี้ข้าแม้ว มันจะดูไม่รู้เท่าทันนักการเมือง มันจะดูไม่ฉลาด ไม่เก๋ ไม่ sophisticate ไม่ฉลาดกันขนาดนั้นเหรอ

และฉันจะไม่มีวันลืมเลยว่า ในยุคนั้น มีปัญญาชน เอ็นจีโอ นักวิชาการ นักคิด นักเขียน คนทำหนังสือ สื่อมวลชนและพระสงฆ์องค์เจ้าอีกเยอะมาก ที่ออกมาโวยวายว่า ไม่มีพื้นที่ให้คนกลางๆ เลยว้อยยยยย

และขออนุญาตอ้างอิงประสบการณ์ส่วนตัว เพราะคิดย้อนกลับไปก็ตลกมาก

ในช่วงปีแรกๆ ของวอยซ์ทีวีนั้น ทางทีมผู้บริหารในยุคนั้น พยายามอย่างยิ่งที่จะเชิญคนที่เป็นทั้งคนกลางๆ คนเป็นสลิ่ม ให้เป็นพิธีกร, คอมเมนเตเตอร์, หรือมาเป็นแค่แขกรับเชิญก็ได้ ที่วอยซ์ทีวี เพราะอยากทำสื่อที่มีความหลากหลาย และเพื่อพิสูจน์ว่า ไม่ได้เป็นสื่อปิดกั้นความเห็นที่ “หลากหลาย” ทางการเมือง

เชื่อไหมว่า ไม่มีใครตอบรับการมาทำงานร่วมกับวอยซ์ทีวีเลย อย่าว่าแต่มาทำรายการข่าวที่วอยซ์ หรือมาจัดรายการปกิณกะบันเทิงที่วอยซ์ แค่มาเป็นแขกรับเชิญก็ยังไม่กล้ามากัน

และเหตุผลที่ไม่มาก็เพราะกลัวจะถูกหาว่าเป็น “เสื้อแดง”

ขนาดว่าหลายๆ คนที่ถูก “ถอด” รายการออกจากช่องอื่นเพราะไปวิจารณ์การเมือง ทางวอยซ์ก็เพียรจะไปจีบให้มาจัดรายการโดยสัญญาว่าจะมอบเสรีภาพในการทำคอนเทนต์ให้เต็มที่ ยกขันหมากไปขอจนน้ำลายเหนียว

แต่ “คนดีๆ” ก็ไม่มีใครเขามาทำช่องนี้กัน เพราะใครๆ ก็กลัวการมีมลทินจากเสื้อแดงและทักษิณ – และแปลกมากที่คนเหล่านี้ไม่ว่าจะถูกทำร้าย หักหลังจากรัฐบาล เผด็จการแค่ไหน ก็ไม่เคยกลัวการมีมลทินจากการไปทำงานให้สื่อ “สลิ่ม” หรือมักมีความกระตือรือร้นอยากไปบริหารองค์กรที่มีพวกสลิ่มรับใช้เผด็จการหนุนหลัง ไปแล้วก็มาพ่นๆๆ อุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างงี้ อย่างงั้น แล้วก็ได้เครดิตว่า เนี่ยะ ขนาดอยู่ในองค์กรสลิ่ม ยังกล้าด่าสลิ่มไรงี้

โอ๊ยย ได้หน้าได้ตากันไปอีก

ฉันเขียนย้อนเรื่องเก่ามายืดยาวแบบนี้ด้วยอารมณ์เก็บกดจริงๆ ว่า ในครั้งหนึ่งการแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างเปิดเผยในฐานะที่เรามี solidarity กับ “คนเสื้อแดง” และ ประกาศว่า “ฉันก็คนเสื้อแดง” นั้นมันดูเป็นเรื่องน่าอาย สกปรก โสมม มากอย่างไม่น่าเชื่อ

ทั้งๆ ที่สิ่งซึ่งคนเสื้อแดงเรียกร้องนั้น เรียบง่ายที่สุดคือ ต่อต้านรัฐประหาร และต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของพรรคการเมือง และนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของเขา

19 ล้านเสียงเขาเลือกพรรคการเมืองและตัวแทนของเขามา แล้วถูกกระทำย่ำยีเช่นนี้ เขาก็ต้องออกมาต่อสู้ และการไปอยู่เคียงข้างพวกเขามันผิดตรงไหน?

มาถึงวันนี้ ฉันก็ยังอยากถามคำถามเดิมว่า มันผิดตรงไหน มันน่าอายตรงไหน และการดีเฟนด์พรรคการเมืองที่คน 19 ล้านคนเขาเลือกมากับมือมันผิดตรงไหน?

และไม่น่าเชื่ออีกว่า ในยุคนั้น การประกาศออกมาดังๆ ว่าฉันเป็นคนเสื้อแดงมันเป็นเรื่องที่ controversial หรือ “คาบลูกคาบดอก” มากๆ ในสังคมไทย และคนรอบตัว เพื่อนฝูงของฉันหลายคนเริ่มตั้งกลุ่มลับ ตั้งวง นัดเจอ นัดคุย อันเนื่องจาก “เป็นเสื้อแดง” แต่ไม่กล้าเปิดเผยตัว ไม่กล้าพูด ไม่กล้าโพสต์ ไม่กล้าแชร์ข่าว แต่อึดอัด หงุดหงิด

ซึ่งตอนนั้นเราเรียกเพื่อนๆ กลุ่มนี้ว่า Redshirt in The Closet หรือ เสื้อแดงในตู้เสื้อผ้า เหมือนคนที่เป็นเกย์ แล้วไม่กล้าบอกพ่อ-แม่ ไม่กล้าบอกที่ทำงาน กลัวสังคมรังเกียจ กลัวเพื่อนไม่คบ กลัวพ่อ-แม่เสียใจ กลัวครูบาอาจารย์ว่าเป็นคนอกตัญญู

กลุ่มเสื้อแดงในตู้เสื้อผ้าเป็นกลุ่มเสื้อแดงปัญญาชน หรือคนที่มีทุนทางสังคมประมาณหนึ่ง เมื่อผ่านวิกฤตความรุนแรงทางการเมืองหลังปี 2553 พวกเขาเริ่มออกจากตู้เสื้อผ้า เพราะรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ไม่สามารถจะนั่งดูสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่ทำอะไร ไม่พูดอะไร

เมื่อกลุ่มคนที่มีต้นทุนทางสังคมเริ่มไม่กลัวที่จะบอกว่าตัวเองเป็น “เสื้อแดง” พร้อมๆ กับที่ความสามานย์ของโครงสร้างการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเผยความชั่วร้ายของมันออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับมีงานวิชาการที่เผยแพร่มายาคติว่าด้วยการ “ให้ร้าย” หรือ “ด้อยค่า” การเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน

เช่น การด้อยค่าพรรคการเมือง การด้อยค่า ส.ส. การสร้างแบบฉบับว่า นักการเมืองโกงกิน เห็นแก่ตัว โดยละเลยที่มองว่า กติกาแบบไหน กฎหมายแบบไหน ที่เป็นต้นตอของการเมืองน้ำเน่า เพราะมันชัดเจนว่า เมื่อการซื้อเสียง การมีรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ การซื้อสิทธิ์ขายเสียง การคอร์รัปชั่น ไม่ได้เกิดจากนิสัยหรือสันดานของนักการเมือง แต่มันเป็นผลพวงของการเขียนกติกาโดยจงใจให้เกิดภาวะอย่างนั้นขึ้นมาในการเมืองมากกว่าจะเป็นสันดานของปัจเจกบุคคล

ก็ทำให้สังคมไทยเริ่มเข้าใจว่า – เออ การเมืองมันไม่ใช่เรื่องการควานหาคนดีนะ การเมืองมันเป็นเรื่องการมีกติกาที่บีบให้นักการเมืองต้องมีความรับผิดของ “เสียง” ของประชาชน อย่างไม่มีทางเลือกต่างหาก

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากต่อการ “ปฏิวัติ” เชิงอุดมการณ์ในสังคมไทย และทำให้อุดมการณ์แบบแม่พลอยสี่แผ่นดิน หรือความสุขของกะทิ หลุดไปจากการเป็นเจ้าของ Hagemony ทางวัฒนธรรมและอุดมการณ์ คือ การล่มสลาย เจ๊งกะบ๊งของบรรดานิตยสาร “ชั้นนำ” ทุกหัว

เพราะนิตยสารเหล่านี้คือแพลตฟอร์มที่มอบตำแหน่ง influencers ให้กับบรรดาไฮโซ เซเลบ ดารา ที่ล้วนแต่เป็นคอนเน็กชั่นของขุมข่ายอำนาจของชนชั้นนำที่ต่อมาเราเรียกว่า “สลิ่ม” นั่นเอง

เมื่อไม่มีแพลตฟอร์ม ก็ไม่มีใครสถาปนาความเป็น influencers ให้คนกลุ่มนี้

และการเป็น “ไฮโซ” สำหรับยุคปัจจุบัน ดูเป็นเรื่องน่าขำมากกว่า น่า look up to

เมื่อไม่มีแพลตฟอร์มผลิตซ้ำอุดมการณ์สลิ่มใน Pop culture อุดมการณ์สลิ่มจึงค่อยๆ อ่อนกำลังลงตามลำดับ

และฝ่ายครองอำนาจรัฐก็เหลือเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อน้อยลงเรื่อยๆ จนต้องมาใช้ io 100 และ 300 อย่างที่รู้ๆ กัน

หรือแม้กระทั่งพยายามหาคนดังมาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้

แต่ในยุคแห่งสื่อใหม่ที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้แคร์ “คนดัง” และพร้อม “ฟาด” ถ้าพูดอะไรไม่มีหลักการ ความรู้ เหตุผล ตรรกะ

ผลก็คือ งานเผยแพร่อุดมการณ์ของฝ่ายถือครองอำนาจก็มีแต่อ่อนกำลังลง

และไม่น่าเชื่อที่ในที่สุดก็มีวันนี้ วันที่ “สลิ่ม” ไม่ต้องการถูกเรียกว่า “สลิ่ม” บ้างออกมากรีดกราดว่าเป็นเฮทสปีช ลดทอนความเป็นมนุษย์ และในทางกลับกันที่คำว่า “ควายแดง” กลายเป็น Term ที่ “เท่” ขึ้นมาเสียอย่างนั้น ตอนนี้ใครๆ ก็สามารถเรียกตัวเองว่า “ควายแดง” ได้โดยภูมิใจอย่างยิ่ง

ช่องข่าวอย่างวอยซ์ทีวี กลายเป็นช่องที่คนรุ่นใหม่อยากเข้ามาทำงาน ตรงกันกับสถานการณ์สื่อใหม่ที่ได้ชื่อว่าเป็นสื่อที่มีคุณภาพเป็นสื่อที่คนรุ่นใหม่เสพต่างก็เป็นสื่อที่มีจุดยืนประชาธิปไตยอย่างพร้อมเพรียงกันจนถูก io เอาไปปั่นว่าเป็น “สื่อลิเบอร์ร่าน”

ไม่น่าเชื่อว่าในวันนี้ ทุกการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ “สลิ่ม” กลายเป็นสิ่งต้องห้าม

ไม่น่าเชื่อว่าในวันนี้ คนที่ถูกเรียกว่าเป็น “ควายแดง” มีความมั่นใจในความเป็นควายแดง ไม่รู้สึกว่าเป็น “คำด่า” แต่เป็นดั่งเหรียญกล้าหาญว่า ได้ฝ่าฟันพายุแห่งความเกลียดชังมาได้จนถึงทุกวันนี้เพียงเพราะยืนยันว่าประชาธิปไตยและการเลือกตั้งคือความถูกต้อง การรัฐประหารคือผิด

ไม่น่าเชื่อว่าในวันนี้ “สลิ่ม” โกรธที่ถูกเรียกว่า “สลิ่ม” เพราะลึกๆ ก็รู้ว่ากูไม่น่าและไม่ควรจะเป็นสลิ่มมาตั้งแต่ต้น และลึกๆ ก็รู้ว่าที่ไปเป็นสลิ่มนั้นเป็นไปเพราะไม่รู้อะไรเลย!

ดังที่ป้ายหนึ่งในแฟลชม็อบเขียนว่า “เธอเป็นสลิ่ม เธอจะรู้อะไร”