ต่างประเทศ : เจาะปมลึก เกมเปลี่ยนอำนาจในมาเลเซีย

ช่วงกว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาการเมืองในมาเลเซียประหนึ่งราวกับรถไฟเหาะตีลังกา ที่สถานการณ์พลิกผันไปมาในการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองภายในพรรครัฐบาลผสมปากาตัน ฮาราปัน (พีเอช) ด้วยกันเอง

โดยเป็นการงัดข้อกันระหว่าง มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ทรงอิทธิพลในวัย 94 ปี ปัจจุบันสังกัดพรรคเบอร์ซาตู กับอันวาร์ อิบราฮิม หัวหน้าพรรคพีเคอาร์ แกนนำสำคัญของกลุ่มพีเอช ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากอันวาร์ออกมากล่าวอ้างว่ามีความพยายามที่จะล้มรัฐบาลผสมพีเอช จากการที่มีพรรคการเมืองในกลุ่มพีเอช ซึ่งก็คือพรรคเบอร์ซาตู กับสมาชิก 11 คนในพรรคพีเคอาร์ แอบไปเจรจาพูดคุยกับพรรคอัมโน แกนนำพรรคฝ่ายค้าน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นใหม่

ที่มาของชนวนเหตุขัดแย้งของคู่ไม้เบื่อไม้เมาทางการเมืองคู่นี้ เกี่ยวโยงกับการทวงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ซึ่งมหาธีร์เคยตกปากรับคำไว้ในขณะจับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มพีเอชก่อนจะโค่นล้มรัฐบาลพรรคอัมโนลงได้ในศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2018 ว่าจะส่งไม้ต่อการบริหารประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับอันวาร์

แต่จนแล้วจนรอดมหาธีร์ก็ยังไม่ยอมกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้เมื่อใด

นั่นทำให้ชาวมาเลเซียต้องอ้าปากค้าง เมื่อมหาธีร์ประกาศลาออกฟ้าผ่าจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ด้วยความมั่นใจว่าตนเองถือไพ่ในมือเหนือกว่าที่จะเดินเกมการเมืองต่อ

ก่อนที่สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่าน อับดุลละฮ์ สุลต่าน อาหมัด ชาห์ กษัตริย์มาเลเซียจะโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้มหาธีร์นั่งรักษาการนายกรัฐมนตรีไปจนกว่าจะได้ตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่

โดยที่กษัตริย์มาเลเซียยังทรงเรียกสมาชิกรัฐสภาเข้าเฝ้าฯ เป็นรายบุคคลเพื่อทรงสอบถามว่าจะให้การสนับสนุนใครขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

ช่วงจังหวะเวลานั้นมหาธีร์ยังเสนอไอเดียจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นที่จะทำให้เขาควบคุมอำนาจไว้ในมือมากขึ้น

แต่ไม่มีใครเอาด้วย

 

การเมืองมาเลเซียตกอยู่ในความอึมครึมหนักในช่วงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ที่มีรายงานว่ามหาธีร์ลงนั่งจับเข่าคุยกับอันวาร์ในช่วงเช้า จากนั้นออกมาประกาศว่าตนเองมีเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาอยู่ในมือ 114 เสียง ซึ่งเกิน 112 เสียงตามที่กำหนดที่จะได้รับรองการเป็นนายกรัฐมนตรีจากรัฐสภา

และมหาธีร์ยังเตรียมจะเข้าเฝ้าฯ กษัตริย์มาเลเซียเพื่อถวายรายงานเรื่องนี้

ทว่าสมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่าน อับดุลละฮ์ ทรงมีคำสั่งโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งมูฮิดดิน ยัสซิน อดีตรัฐมนตรีมหาดไทย ผู้เป็นมือขวาของมหาธีร์เอง ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนใหม่แทน

ซึ่งมูฮิดดินก็ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณตนรับตำแหน่งไปเป็นที่เรียบร้อย

เกมการเมืองพลิกนี้ถือเป็นการพลาดท่าเสียทีของมหาธีร์เอง ที่อาจประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป จนทำให้ตนเองตกจากเก้าอี้

แล้วทำให้มูฮิดดินกลายเป็นตาอยู่ หยิบชิ้นปลามันไปครอง ได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ขณะที่ก็ถือเป็นวิบากกรรมของอันวาร์ ซึ่งไปไม่ถึงฝั่งฝันเสียทีกับเก้าอี้นายกรัฐมนตรีที่โอกาสจ่อรออยู่ตรงหน้าถึงสองครั้งแล้ว

 

เจาะปมเบื้องลึกที่เป็นจุดเปลี่ยนเกมอำนาจทางการเมืองในมาเลเซียครั้งนี้ จากบทวิเคราะห์ของเจมส์ ชิน นักรัฐศาสตร์ประจำสถาบันเอเชียแห่งมหาวิทยาลัยทัสมาเนีย พุ่งเป้าไปที่ 3 ประเด็นหลักใหญ่

ประการแรกคือ เป็นผลจากการผนึกกำลังเป็นพันธมิตรกันของพรรคอัมโนและพรรคปาส อีกตัวแสดงสำคัญในเวทีการเมืองมาเลเซีย ซึ่งเป็นพรรคชาตินิยมมาเลย์ทั้งคู่ ที่เป็นคู่ปรับทางการเมืองมาช้านานถึง 60 ปี

แต่การพ่ายแพ้อย่างหมดรูปในการเลือกตั้งปี 2018 ของพรรคอัมโน ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนทุกอย่าง ที่ทำให้พรรคอัมโนหันมาจับมือกับพรรคปาส ซึ่งในศึกเลือกตั้งซ่อมในเวลาต่อมากลุ่มพีเอชยังเสียที่นั่งให้กับพรรคอัมโนและพรรคปาสไปถึง 3 ที่นั่ง

นั่นทำให้ทั้งสองพรรคนี้เล็งเห็นสูตรของการจับขั้วการเมืองเพื่อเอาชนะกลุ่มพีเอชได้ การแตกคอภายในพรรคพีเคอาร์และการที่พรรคเบอร์ซาตูหันมาคุยกับพรรคอัมโน

ยิ่งทำให้การเป็นพันธมิตรของพรรคอัมโนกับพรรคปาสยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น

 

อีกปมขัดแย้งที่ทำให้การเมืองมาเลเซียตกอยู่ในภาวะปั่นป่วน นั่นคือชนชาติมาเลย์ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่คือราว 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศมีความรู้สึกว่าตนเองกำลังถูกคุกคาม โดยเฉพาะจากพรรคกิจประชาธิปไตย (ดีเอพี) ที่ฐานเสียงเป็นชนเชื้อสายจีนซึ่งถือเป็นชนกลุ่มน้อย จากการลดทอนสิทธิพิเศษของคนชนชาติมาเลย์ที่เคยได้รับอย่างเต็มที่

ตัวอย่างหนึ่งคือรัฐบาลพีเอชแต่งตั้งคนที่ไม่ใช่ชนเชื้อสายมาเลย์ขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลจากที่เคยสงวนไว้ให้กับผู้นำทางการเมืองเชื้อสายมาเลย์

เช่น ตำแหน่งรัฐมนตรีคลังที่มีนายลิม กวน เอ็ง หัวหน้าพรรคดีเอพีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในรัฐบาลผสมพีเอช

หากถามว่าแล้วเหตุใดรัฐบาลผสมพีเอชถึงได้รับการยอมรับจากชาวมาเลเซียเชื้อสายมาเลย์ก่อนหน้านี้ นั่นก็เป็นเพราะมีบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั่นก็คือ นายมหาธีร์ และรองนายกรัฐมนตรี นางวัน อาซิซาห์ ภรรยาของอันวาร์ เป็นชนชาวมาเลย์ ที่นำการบริหารประเทศอยู่

และที่ผ่านมาตัวนายมหาธีร์เองก็เป็นผู้นำที่ให้การสนับสนุนชนชาวมาเลย์เป็นสำคัญ

 

อีกปมสำคัญคือ การแตกคอกันเองของพรรคพีเคอาร์กับพรรคเบอร์ซาตูดังที่กล่าวมาข้างต้น ที่กลุ่มผู้สนับสนุนนายอันวาร์และนายมหาธีร์งัดข้อกันมาตลอด เรื่องการทวงคำมั่นสัญญาว่าจะส่งไม้ต่ออำนาจบริหารประเทศให้กับนายอันวาร์

โดยที่ผ่านมามหาธีร์ซื้อเวลาด้วยการให้เหตุผลว่าเขายังต้องการเวลาที่จะสะสางปัญหาท้าทายประเทศที่มีอยู่ตรงหน้าให้เรียบร้อยเสียก่อน จึงอาจยังไม่พร้อมที่จะถ่ายโอนอำนาจให้กับนายอันวาร์ภายในเดือนพฤษภาคมปีนี้ตามที่อีกฝ่ายร้องขอได้

นั่นทำให้อีกฝ่ายมองว่าเป็นแผนของมหาธีร์ที่จะยื้อเวลาเอาไว้เพื่อให้ตนเองอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ

จนกลายเป็นจุดแตกหักกัน และนำมาสู่การเดินเกมผิดพลาด ที่ทำให้ทั้งมหาธีร์และอันวาร์หลุดออกจากการเป็นผู้คุมเกมอำนาจทางการเมืองในมาเลเซียไปอย่างไม่ทันตั้งตัว