คนมองหนัง | เมื่อกอง บ.ก.นิตยสาร “กาเยส์ ดู ซีนีมา” ยกทีมลาออก

คนมองหนัง

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพิ่งเกิดข่าวใหญ่ในวงการหนังฝรั่งเศส เมื่อกองบรรณาธิการรุ่นปัจจุบันของนิตยสาร “กาเยส์ ดู ซีนีมา” สื่อสิ่งพิมพ์เก่าแก่ซึ่งมีส่วนในการก่อร่างสร้างกระแสให้แก่ภาพยนตร์กลุ่ม “เฟรนช์ นิว เวฟ” เมื่อหลายทศวรรษก่อน ได้ตัดสินใจลาออกกันยกกอง

หลังจากนิตยสารรายเดือนฉบับนี้เพิ่งถูกขายให้แก่คณะผู้ลงทุนรายใหม่ ซึ่งประกอบด้วยโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์และนักธุรกิจด้านเทคโนโลยีหลายราย

บรรณาธิการและนักเขียนประจำกองบรรณาธิการรวม 15 คน ซึ่งตัดสินใจยื่นจดหมายลาออกระบุเหตุผลว่า กลุ่มเจ้าของนิตยสารรายใหม่อาจก่ออันตรายให้แก่ “ความเป็นอิสระ” ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์เล่มนี้สงวนรักษาไว้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

“กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหม่มีโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์จำนวน 8 รายรวมอยู่ด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การมีผลประโยชน์ทับซ้อนในกระบวนการตีพิมพ์เผยแพร่บทวิเคราะห์วิจารณ์ ไม่ว่าบทความชิ้นใดถูกเผยแพร่ออกไป มันย่อมหลีกหนีไม่พ้นข้อสงสัยที่ว่าการปฏิบัติงานของกองบรรณาธิการถูกแทรกแซงหรือไม่”

ทีมงานทั้ง 15 ชีวิตแถลง

อดีตกองบรรณาธิการของ “กาเยส์ ดู ซีนีมา” ยังแสดงความไม่พอใจที่กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหม่มีนโยบายจะเปลี่ยนแปลงแนวทางการเขียนบทวิจารณ์แบบเข้มข้นจริงจังในนิตยสาร ให้มีความผ่อนคลายและทันสมัยยิ่งขึ้น

ดังที่ “เอริก เลอนัวร์” ผู้อำนวยการนิตยสารคนใหม่ ให้สัมภาษณ์สื่อหลายสำนักเอาไว้ว่า เขาหวังจะทำให้กาเยส์ฯ “มีความเก๋มากขึ้น เหมือนดังเช่นที่นิตยสารเล่มนี้เคยเป็นมายาวนานหลายทศวรรษ” ในยุคแรกของการก่อตั้ง (ยุคปกเหลือง) ขณะเดียวกัน เขาก็หวังว่างานเขียนภายในเล่มควรมีลักษณะเป็น “บทวิจารณ์อันรื่นรมย์โดยปราศจากอาการดูถูกแดกดัน”

สมาชิกกองบรรณาธิการทั้ง 15 รายที่ยื่นใบลาออก โต้แย้งต่อประเด็นนี้ว่า “กาเยส์ฯ เป็นสื่อที่พยายามพัวพันกับเรื่องการเมืองอย่างเสมอมาและแน่ชัด” มากกว่าจะเป็นนิตยสารหนังที่เก๋ไก๋รื่นรมย์ตามคำกล่าวอ้างของเลอนัวร์

ตัวอย่างสำคัญได้แก่ งานเขียนที่สร้างชื่อเสียงโด่งดังให้นิตยสารเมื่อปี 1954 นั่นคือบทความหัวข้อ “แนวโน้มปัจจุบันในวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศส” ที่เขียนโดย “ฟรองซัวส์ ทรุฟโฟต์” ผู้กำกับฯ และหนึ่งในนักวิจารณ์รุ่นบุกเบิกที่ได้รับการยกย่องชื่นชมมากที่สุดของกาเยส์ฯ ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์แวดวงภาพยนตร์ฝรั่งเศสสมัยนั้นว่าถูกยึดครองโดยนายทุนกระฎุมพีอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน

ทั้งนี้ ภาวะตึงเครียดระหว่าง “กลุ่มเจ้าของใหม่” กับ “ทีมงานเดิม” ของ “กาเยส์ ดู ซีนีมา” ยังมีความข้องเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองร่วมสมัยด้วย

โดยผู้ถือหุ้นใหม่ของกาเยส์ฯ หลายรายนั้นมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกับรัฐบาลฝรั่งเศสชุดปัจจุบัน และบางรายก็เป็นผู้สนับสนุนประธานาธิบดี “เอ็มมานูแอล มาครง” ในช่วงเลือกตั้ง

สวนทางกับอดีตกอง บ.ก.กาเยส์ฯ ซึ่งมีจุดยืนเคียงข้างกลุ่มผู้ประท้วง “เสื้อกั๊กเหลือง” ที่ออกมาต่อต้านมาครง รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอปฏิรูปมหาวิทยาลัยและวัฒนธรรม

ตลอดจนตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของ “ฟรองก์ ริสเตอร์”

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายน 2015 “กาเยส์ ดู ซีนีมา” ได้นำเสนอประเด็นหลักประจำเล่มที่เป็นเรื่องการเมืองอย่างชัดเจน โดยหน้าปกของนิตยสารได้ใช้ภาพนิ่งจากหนังเรื่อง “One Wild Moment” มาใส่ข้อความพาดหัวว่า “ความว่างเปล่าทางการเมืองของภาพยนตร์ฝรั่งเศส”

ขณะที่บทบรรณาธิการของ “สเตฟาน เดอลอร์ม” ภายในเล่ม ก็ได้บ่งชี้ว่าหนังเรื่อง “Dheepan” ของ “ฌากส์ โอดิยาร์ด” ที่คว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ไปอย่างพลิกความคาดหมาย เป็นตัวอย่างของการครอบงำหัวสมองมนุษย์ด้วยรายการโทรทัศน์ช่อง BFM ซึ่งมักมองว่าปัญหาความไม่สงบในสังคมไม่ใช่ปัญหาทางการเมือง แต่เป็นเพียงฉากหลังของหนังแอ๊กชั่น

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่สถานีโทรทัศน์ BFM และหนังเรื่อง “Dheepan” ล้วนถูกก่อตั้งและอำนวยการผลิตโดย 2 ในหุ้นส่วนใหม่ของ “กาเยส์ ดู ซีนีมา” พอดี

ข้อมูลจาก

https://www.theguardian.com/world/2020/feb/27/staff-on-magazine-that-launched-french-new-wave-quit-over-sale

https://www.theguardian.com/film/2020/feb/28/giving-millionaires-the-boot-why-cahier-du-cinema-editors-quit-en-masse