วิเคราะห์ | ผลสะเทือนศึกซักฟอก ธรรมนัสระทึก-ปรับ ครม. จับตากลุ่ม 3 มิตร พปชร. ทวงคืนโควต้ารัฐมนตรี

“การปรับ ครม. ไม่มีตอบ ผมขอไม่ตอบ ไม่ได้หมายความว่าจะปรับหรือไม่ปรับ อย่าไปตีความคำพูดผม เรื่องนี้ผมจะตัดสินใจเอง เมื่อถึงเวลาของผม”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตอบคำถามแบบแบ่งรับแบ่งสู้ พร้อมทั้งแสดงอาการหงุดหงิดเมื่อถูกถามเรื่องปรับ ครม.

หงุดหงิดทั้งที่การประชุมสภาลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ผ่านพ้นไปอย่างเรียบร้อยโรงเรียนรัฐบาล หงุดหงิดทั้งที่การปรับ ครม.หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเรื่องปกติธรรมดาทางการเมือง

เหมือนที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ระบุ ในอดีตหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกครั้ง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลากหลายรูปแบบเสมอ ไม่ว่ายุบสภา นายกฯ หรือรัฐมนตรีลาออก หรือปรับ ครม.

ครั้งนี้ก็เช่นกัน เชื่อว่าจะมี “อาฟเตอร์ช็อก” ตามมา

เพราะถึงการโหวตญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้ง 6 คนจะได้คะแนนสอบผ่านในสภา ก็ยังมีเสียงจากกระแสสังคมภายนอกสภา เสียงจากประชาชนทั่วประเทศที่เฝ้าติดตามการอภิปรายของฝ่ายค้านตลอด 4 วัน 3 คืน

จะให้ความไว้วางใจรัฐมนตรีหมดทั้ง 6 คนด้วยหรือไม่ หากประชาชนไม่ไว้วางใจย่อมมีผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล รวมถึงตัวนายกรัฐมนตรีผู้มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจ

ปรับหรือไม่ปรับ ครม.

จากผลคะแนน “ไว้วางใจ” ที่ออกมา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้ 272 คะแนน เท่ากับรัฐมนตรี 3 คน คือ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ สร้างเซอร์ไพรส์ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจมากสุด 277 คะแนน ได้มากกว่านายกฯ ถึง 5 คะแนน

เป็น 5 คะแนนที่ “งอก” ออกมาจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน 5 คน คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย 3 คน ได้แก่ น.ส.นภาพร เพ็ชร์จินดา นายวัชรา ณ วังขนาย นายอำไพ กองมณี

พรรคเพื่อไทย 2 คน น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี และนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กรุงเทพฯ

อันดับบ๊วย เป็นของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ แห่งพรรคพลังประชารัฐ ลงทุนโหวตไว้วางใจให้ตัวเองก็ยังได้เพียง 269 คะแนน ต่ำสุดในบรรดา 5 รัฐมนตรี

หากวัดจากตรงนี้ ร.อ.ธรรมนัสคือ “จุดอ่อน” สมควรถูกกำจัดมากที่สุด

แต่ในโลกความเป็นจริงทางการเมือง กลับปรากฏสัญญาณหลายจุดบ่งชี้ว่าการปรับ ครม.ครั้งนี้อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด และน่าจะเป็นเหตุผลทำไม พล.อ.ประยุทธ์ถึงได้หงุดหงิดเมื่อถูกสื่อไล่บี้ซักถาม

ลำพังจะจัดการกับกรณี ร.อ.ธรรมนัสอย่างไรก็สร้างความอึดอัดลำบากใจมากพออยู่แล้ว ต้องไม่ลืมว่า ร.อ.ธรรมนัสไม่ใช่แค่ “เส้นเลือดใหญ่” รัฐบาล แต่ยังเป็น “คนแจกกล้วยเลี้ยงลิง”

พล.อ.ประยุทธ์ยังต้องหงุดหงิดกับท่าทีพรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ที่กดดันหนักเรื่อง ร.อ.ธรรมนัส

ตั้งแต่ก่อนลงมติในสภาเสียด้วยซ้ำไป

ผ่านการแถลงข่าวของตัวแทนกลุ่ม 17 ส.ส.ประชาธิปัตย์

นำโดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายเทพไท เสนพงศ์ และนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ที่เห็นควร “ไม่ไว้วางใจ” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เนื่องจากชี้แจงข้อกล่าวหาได้ไม่ชัดเจน แต่เมื่อมติพรรคให้ไว้วางใจ ก็ต้องตามนั้น

“การแถลงจุดยืนกลุ่ม 17 ส.ส. ต้องการส่งสัญญาณถึงนายกฯ และ ครม. ว่าเสียงไม่ไว้วางใจนับเฉพาะในสภาไม่ได้ แต่ควรต้องฟังเสียงประชาชนนอกสภาด้วย กระแสความไว้วางใจต่อ ร.อ.ธรรมนัสยังเป็นที่กังขาอย่างมาก จึงอยากเรียกร้องถึงผู้นำรัฐบาลให้หยิบประเด็นนี้ไปทบทวน—

—เพราะความมั่นคงของรัฐบาลขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของประชาชนทั้งประเทศ เรากังวลเรื่องนี้ เพราะภาพลักษณ์ของรัฐบาลเกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์รัฐมนตรีใน ครม.ด้วย” นายสาทิตระบุ

ในรัฐมนตรีทั้ง 6 คน ยังมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ ที่มีกระแสข่าวเตรียมยื่นลาออกหลังการอภิปราย อย่างไรก็ตาม ทั้งสองออกมาปฏิเสธข่าวภายหลังว่าไม่เป็นความจริง

กลุ่มพี่น้อง 3 ป. “ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์” ไม่ได้รับผลกระทบใดจากการอภิปรายของฝ่ายค้าน จึงกอดคออยู่ด้วยกันต่อไป ไม่เปลี่ยนแปลงในส่วนนี้

ส่วนพรรคร่วมรัฐบาล ต้องจับตาพรรคภูมิใจไทยของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ดึง ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่มาเสริมทัพได้อีกอย่างน้อย 9 เสียง ว่าจะต่อรองขอเพิ่มโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีหรือไม่

“อย่าไปพูดถึงเรื่องนั้นเลย เราเริ่มมาแบบนี้แล้วไม่เคยมีปัญหาอะไร เวลาเกิดมีคลื่นลมไม่สงบ คนในเรืออย่าไปโยกตัวเองให้มากนัก จะประคองเรือผ่านไปได้ เดี๋ยวคลื่นลมก็สงบ เมื่อถึงเวลาทุกอย่างจะเรียบร้อยเอง” นายอนุทินกล่าวปฏิเสธ

ด้านพรรคประชาธิปัตย์อ้างว่า แกนนำพรรคทั้งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ไม่ได้รับแจ้งหรือการส่งสัญญาณใดจาก พล.อ.ประยุทธ์ว่าจะปรับ ครม.ในส่วนของประชาธิปัตย์

ไม่มีกระทั่งแจ้งลดโควต้ารัฐมนตรีที่มีอยู่ 7 ตำแหน่ง แม้ตอนนี้เสียงน้อยกว่าพรรคภูมิใจไทยก็ตาม

“ถ้ามีการปรับ ครม.ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมในพรรคร่วมรัฐบาลแน่นอน” รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ระบุ

โดยเชื่อว่าในที่สุดหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการปรับ ครม. การเปลี่ยนแปลงน่าจะเกิดขึ้นในพรรคพลังประชารัฐเอง มากกว่าจะไปแตะพรรคร่วมอื่นๆ

จริงดังว่า ตั้งแต่หลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคที่เคลื่อนไหวเรื่องปรับ ครม.มากที่สุดก็คือพรรคพลังประชารัฐ

เริ่มจากนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โพสต์เฟซบุ๊กแฉวงจรอุบาทว์การเมือง ถูกคนในพรรคจ้องเลื่อยขาเก้าอี้ เพราะเป็นคนขาลอย ไม่ได้เป็น ส.ส. ไม่ได้จ่ายเงินให้พรรค ไม่มีฐานเสียง ส.ส.ในมือ ไม่มีพวกในพรรค

นายสุวิทย์ดักคอนายกฯ หากจะปรับ ครม.ก็เชื่อว่าจะทำด้วยเหตุผลที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ มากกว่าประโยชน์ของนักการเมือง

ตามด้วยรายงานข่าวพรรคพลังประชารัฐ ว่าหากปรับ ครม.ก็ต้องเกลี่ยโควต้ากันใหม่

จับตาไปที่ชื่อนายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี ประธาน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เป็นลำดับแรกที่จะได้รับการพิจารณาเป็นรัฐมนตรีตามสัญญาใจที่แกนนำพรรคให้ไว้ หลังเจ้าตัวพลาดเก้าอี้ รมว.แรงงานไปในรัฐบาล “ประยุทธ์ 2”

เช่นเดียวกับนายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท แกนนำกลุ่มสามมิตรที่ชื่อหลุดโผรัฐมนตรีไปในรอบแรก

กระทรวงเศรษฐกิจ มีการพูดถึงการสลับเก้าอี้ระหว่างนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน กับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม 1 ในแกนนำกลุ่มสามมิตร

ขณะที่กลุ่ม กทม.พยายามเคลื่อนไหวเข้าไปมีบทบาทในกระทรวงเศรษฐกิจภายใต้การคุมทีมของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ

ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองร้อนแรงรุมเร้าจากการยุบพรรคอนาคตใหม่

อันเป็นชนวนนำมาสู่การชุมนุมแฟลชม็อบของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ขยายวงไปทั่วประเทศเหมือนไฟลามทุ่ง

รวมถึงผลจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี นำมาสู่ข้อสรุปได้ว่า อย่างไรเสียการปรับ ครม.ต้องเกิดขึ้น

เพียงแต่ตอนนี้มีปัญหาใหญ่คือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สอดแทรกเข้ามาเป็นเรื่องด่วนให้รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข

เปิดโอกาส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้เป็นเหตุผล “แตะเบรก” เรื่องปรับ ครม. สยบความปั่นป่วนในรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐไว้ได้ชั่วคราว

แต่อีกมุมหนึ่งในทางตรงข้าม การยืดเวลาออกไปอาจยิ่งทำให้สถานการณ์การเมืองอึมครึม นำมาสู่การเรียกร้องต่อรองวุ่นวายมากกว่าเดิม ก่อเป็นแรงกดดันย้อนกลับมาถึงตัวนายกรัฐมนตรี ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน

การตัดสินใจเลือกจังหวะปรับ ครม.จึงสำคัญ