E-DUANG : จุดร่วมจาก ๒๕๑๖ มา ๒๕๖๓ ต้านเผด็จการ ขอประชาธิปไตย

หากมองจากการเปรียบเทียบกับเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ หรือเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ภาพที่ปรากฎผ่าน FLASH MOB ก็เป็นเรื่องเด็กๆ

นั่นเพราะว่าเอา “อดีต” มาเปรียบเทียบและตัดสินต่อสภาพอันกำลังเกิดใน “ปัจจุบัน”

มองเห็นว่าหากเป็นการชุมนุมก็ต้องมี”ผู้นำ”

ผู้นำนั้นเองจะเป็นผู้ประสานและจัดการ ไม่ว่าจะผ่านใบปลิวผ่าน แถลงการณ์ ผ่านการกำหนดแต่ละจังหวะก้าวของการเคลื่อนไหวและการเรียกร้อง

ลืมนึกไปว่า ภาพแห่งอดีตเป็นภาพในยุคหนึ่ง ภาพแห่งปัจจุบันเป็นภาพและความเป็นจริงในอีกยุคหนึ่ง

เอา”อะนาล็อก”มาตัดสิน”ดิจิทัล”

 

ไม่ว่าการชุมนุมเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ไม่ว่าการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ ไม่ว่าการชุมนุมเมื่อเดือนกุมภาภันธ์ ๒๕๖๓ ล้วนมีลักษณะร่วม

๑ มีปัจจัยแห่งความหงุดหงิด ความไม่พอใจ ๑ ความหงุดหงิด ไม่พอใจนั้นเองดึงให้คนจำนวนมากมาอยู่ร่วมกัน

กระนั้น ภายในลักษณะร่วมก็มีรูปแบบอันแตกต่าง

ความแตกต่างจากยุคเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ กับยุคเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ ก็เห็นจากอย่างแรกเป็นยุคแห่งใบปลิว ขณะที่ยุคหลังเรียกขานว่า “ม็อบมือถือ”

ยิ่งมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ต่อเดือนมีนาคม ๒๕๖๓ ก็พัฒนาจาก ยุค “มือถือ” กลายมาเป็นม็อบยุค”สมาร์ทโฟน” แทนที่จะจุดเท่ยนกลับ เป็นการเปิดไฟวิบๆวับๆจากสมาร์ทโฟน

กระนั้น ลักษณะร่วมอันเป็นพื้นฐานคือความหงุดหงิด ไม่พอใจ

 

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน คนเปลี่ยน รูปแบบการเคลื่อนไหว รูปแบบการต่อสู้ก็ย่อมเปลี่ยน

แต่สภาพที่ไม่เปลี่ยนก็คือ เนื้อหาในทางความคิด

เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ เป็น จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อเดือน พฤษภาคม ๒๕๓๕ เป็น พล.อ.สุจินดา คราประยูร

เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เป็นใครย่อมรู้เป็นอย่างดี

การต่อสู้ยังเป็นต่อสู้กับความคิดเผด็จการ  ขณะเดียวกัน ก็ต้องการเห็นระบอบประชาธิปไตยเบ่งบาน

เป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยผ่านรูปแบบที่เปลี่ยนไป