ฉัตรสุมาลย์ : เส้นทางไปศีลปุร์

ศีลปุร์ ที่ไหนก็ไม่รู้ ไม่เคยได้ยินชื่อเลยค่ะ ท่านธัมมนันทาได้รับนิมนต์ไปร่วมประชุมนานาชาติครั้งแรกที่จัดในอินเดีย เรื่องภิกษุณี ถ้าท่านไม่ไปก็คงแปลกนะคะ

ผู้เขียนต้องมาหาเส้นทางใหม่หมด เพราะชื่อไม่คุ้นหูเลย ศีลปุร์เป็นแหล่งที่เพิ่งค้นพบโบราณสถานและโบราณวัตถุ และเปิดเผยเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.2000

พี่ท่านขรรค์ชัย บุนปาน คงหูผึ่ง แหล่งโบราณสถานแห่งนี้ กินเนื้อที่กว้างไกลถึง 10 ก.ม. จะค่อยๆ ย่อยเรื่องราวให้ฟัง แต่ตอนนี้ต้องหาเส้นทางไปก่อน

เขาว่า ศีลปุร์เองไม่มีสนามบิน สนามบินที่ใกล้ที่สุดคือรายปุร์ ซึ่งอยู่ห่างจากศีลปุร์ 78 ก.ม. เราจะบินจากกรุงเทพฯ ไปโกลกัตตา แล้วไปเปลี่ยนเครื่องเป็นสายการบินในประเทศ เพื่อเข้าเมืองรายปุร์

ปกติท่านธัมมนันทาไม่เดินทางกลางคืน แต่ทริปนี้เลือกไม่ได้จริงๆ ตอนซื้อตั๋ว เราบอกเอเย่นต์ไปตามเส้นทางนี้ เอเย่นต์ตอบกลับมาว่า มีเครื่องที่ไปตรงเข้าไจปุร์ได้เลย

เอ้อ ไม่ใช่ค่ะ เราจะไปรายปุร์ คราวนี้เอเย่นต์ก็เหวอเหมือนกับเรา

เราบินแอร์เอเชีย เนื่องจากพยายามจะประหยัด ไม่ซื้อน้ำหนัก ลากกระเป๋าไปเอง ต้องน้ำหนักไม่เกิน 7 ก.ก. อันนี้ไม่แนะนำเลยนะคะ ทรมานคนแก่มาก

นอกจากไม่ได้นอนแล้วยังต้องมาทรมานสังขารอีก

 

เราออกจากสนามบินดอนเมืองตอนหลังเที่ยงคืนเล็กน้อย เวลาบิน 2 ชั่วโมงครึ่ง ถึงโกลกัตตาตอนตี 1 ครึ่ง เวลาท้องถิ่นที่นั่นช้ากว่าไทย 1 ชั่วโมงครึ่งค่ะ

สิ่งที่กลัวมากคือต้องเดินออกจากสนามบินระหว่างประเทศออกไปข้างนอก แล้วเดินไปเข้าสนามบินภายในประเทศ เพื่อต่อเครื่องภายในประเทศ

แต่พอถึงที่นั่น ความกลัวหมดไปค่ะ สนามบินดัม ดัม หรือสนามบินโกลกัตตา ในรูปลักษณ์เดิมนั้นเปลี่ยนไปหมดแล้ว คราวนี้เป็นสนามบินนานาชาติใหม่กิ๊ก เพิ่งเปิดทำการเมื่อปลายปี 2562 นี้เอง เปลี่ยนชื่อด้วยค่ะ เป็นเนตาจี สุพาสจันทรโพศ ผู้นำชาวเบงกอลีที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศอินเดีย

ชื่อสนามบินยาวมาก เจ้าพนักงานบนเครื่องเรียกง่ายๆ ว่าสนามบินโกลกัตตา และที่ดีมากคือ สายการบินระหว่างประเทศและในประเทศอยู่ในอาคารเดียวกัน เพียงแต่แยกคนละชั้น

ขอบคุณพระเจ้าทั้งปวงของอินเดียเลยค่ะ

 

สนามบินกว้างขวางโอ่โถง และขจัดความหวาดกลัวไปได้เลย เราต้องนั่งรอเครื่องที่จะบินเข้ารายปุร์ตอนตี 5 พอตี 3 เราก็ลากกระเป๋าไปเช็กอินที่เคาน์เตอร์ของสายการบินอินดิโก ซึ่งเป็นสายการบินของอินเดียเอง

โล่งอกไปที่เราเช็กกระเป๋าขึ้นเครื่องได้ เราได้บัตรขึ้นเครื่อง (boarding pass) เรียบร้อย ไปรออยู่ที่ประตูทางออกหมายเลข 23 บี

รออยู่จนได้เวลาเครื่องออก ก็ไม่เรียกเราขึ้นเครื่องสักที จนในที่สุด มีการประกาศขยับไปว่าทางออกเป็นหมายเลข 23 ซี

ไม่ว่ากัน เพราะทางออกก็อยู่ติดกันนั่นเอง อีกชั่วโมงหนึ่งต่อมา เขาเอาป้ายมาแปะไว้ เขียนด้วยลายมือว่า ไฟลต์ของเรายังออกไม่ได้ เพราะอากาศไม่ดีที่รายปุร์ กัปตันยังไม่สามารถนำเครื่องออกจากโกลกัตตาได้ ต้องรอจนกว่าได้รับสัญญาณจากรายปุร์

ผู้เขียนเคยเจอสถานการณ์แบบเดียวกันนี้ ตอนไปลาดัคเมื่อหลายปีก่อน ที่นั่นทางสายการบินแจ้งว่า “ฟ้าไม่เปิด”

สำรวจใจของเราดู ตอนนี้ก็ไม่มีกังวล ทำใจว่า เมื่อไรก็เมื่อนั้น

พอมีประกาศอีกครั้ง นึกว่าเรียกขึ้นเครื่อง ปรากฏว่า ไม่ใช่ค่ะ เรียกไปรับอาหารกล่อง เป็นอาหารเช้า

เครื่องของเราควรจะบินตั้งแต่ตี 5 แต่ตอนนั้น 8 โมงเช้าแล้ว ผู้โดยสารที่จะขึ้นเครื่องเดียวกับเรา ก็กรูกันไปที่ร้านอาหารที่เขาระบุในสนามบิน ไม่ห่างจากที่เรานั่งรอเครื่องมากนัก เราแสดงบัตรขึ้นเครื่องแล้วก็รับอาหารมาถุงหนึ่ง

ปลอบใจตัวเอง อย่างน้อยก็ไม่อด อาหารที่ทางสายการบินจัดให้ มีน้ำผลไม้ 1 กล่อง น้ำขวดเล็ก และแซนด์วิชมังสวิรัติ

รีบจัดการเสีย เพียงเพื่อจะได้ไม่ต้องเป็นภาระถือไป

 

ในที่สุด เสียงสวรรค์เรียกพวกเราขึ้นเครื่องได้ตอน 9 โมงเช้า คิวยาวมาก ท่านธัมมนันทาเดินไปรอคิวยาว ท่านก้มหัวให้กับผู้ชายแขกสูงอายุ และทักทายว่า รอนานหน่อยนะ เขาก็ทักทายตอบและผายมือให้ท่านธัมมนันทาเข้ามาในคิวข้างหน้าเขา ท่านธัมมนันทาใช้ภาษากายขอบคุณเขาไป

เพียงชั่วโมง 20 นาที เราก็ถึงที่หมายที่รายปุร์ นึกในใจว่า คนที่มารอรับจะรออยู่หรือไม่หนอ

ปรากฏว่า ชายหนุ่มหน้าตาดี เป็นแขกขาว ยืนถือแผ่นกระดาษมีชื่อท่านธัมมนันทาและผู้ติดตามรออยู่แล้ว รู้สึกขอบคุณจริงๆ

เพราะถ้าเขาไม่รอรับเราก็คงจะเคว้ง

ขนของขึ้นรถแล้ว ท่านธัมมนันทาบอกกับชายหนุ่มที่มารับ ทราบชื่อภายหลังว่า ชื่อมันชิต (ออกเสียงว่า มันจีต) ขอแวะร้านยา เพราะตอนนั้นมีอาการพะอืดพะอมมาก

ร้านยาเล็กๆ ข้างทาง เจ้าของร้านไม่พูดภาษาอังกฤษ แต่เข้าใจ สามารถจัดยาให้ได้อย่างดี

 

จากนั้น เรานึกว่าเราจะไปนอนที่ศีลปุร์ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการเดินทาง ปรากฏว่า มีการเปลี่ยนแผนโดยที่เราไม่ทราบมาก่อนว่า ให้พักที่ “room” ในรายปุร์เอง

อ๋อ เหรอ คือไม่รู้เรื่องจริงๆ

ที่พักของเราที่รายปุร์ เป็นแคมป์ตำรวจชายแดนของอินเดียและทิเบต แล้วก็ยังนึกไม่ออกจริงๆ ว่า เราไปพักที่แคมป์ตำรวจได้อย่างไร

เขาพาเราขึ้นมาพักบนอาคารชั้นสองของตัวอาคาร สถาปัตยกรรมของอาคารนี้ ตรงบันไดที่เวียนขึ้นไปถึงชั้น ๓ นั้น เป็นรูปทรงกระบอก อาจจะเป็นความตั้งใจที่จะออกแบบให้ดูเหมือนป้อมปราการ

มีตำรวจรักษาเวรยามที่ประตูด้านหน้า

มีถนนรอบตัวอาคาร และทางเข้าอาคารต้องวนไปด้านข้าง แปลกตรงนี้ แต่ในภาคปฏิบัติ คนขับจะวนซ้ายก็ได้ วนขวาก็ได้ เพื่อไปส่งเราเข้าตัวอาคาร

เราไม่มีข้อมูลเลยค่ะ ว่าเรามาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร

ชายหนุ่มที่รับเรามาก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษ

ท่านธัมมนันทามีอาการไม่สบายมาก หนาวเย็นเข้าไปในกระดูก ขอให้ชายหนุ่มที่มากับรถพาไปหาหมอ แต่เมื่อรถออกมาได้เพียง 5 นาที มีโทรศัพท์เข้ามา

ชายหนุ่มพาเราย้อนกลับมาที่พัก บอกแต่เพียงว่า “บอส” ของเขากำลังมา

อันนี้ก็งง

เราเข้าไปนั่งในห้องรับแขก เดี๋ยวเดียว “บอส” ก็มาถึง เป็นแขกที่ท่าทางดีมาก สุภาพ สูงสง่า ไม่มีพุง ใส่สูทสีเข้ม ที่ตัดเย็บด้วยฝีมืออย่างดี อายุประมาณ 50 ปลาย ท่านแนะนำตัวเอง และว่า เคยพบกับท่านธัมมนันทาแล้วที่พุทธคยา ตอนที่ท่านธัมมนันทาไปรับรางวัลชาวพุทธดีเด่นจากสมาคมมหาโพธิ์เมื่อต้นปี 2562

ถามท่านธัมมนันทาทีหลัง ท่านก็จำไม่ได้

ตอนนี้จับภาพมาปะติดปะต่อกัน ท่านเป็นผู้ว่าการของตำรวจในรัฐนี้ คือ ฉัตติสการห์ ซึ่งเคยเป็นส่วนของรัฐมัชฌิมประเทศ เพิ่งแยกออกมาเป็นรัฐใหม่เมื่อ ค.ศ.2000 คือเมื่อ 20 ปีมานี้เอง และรายปุร์เป็นเมืองหลวงของรัฐ

บริเวณนี้ในสมัยโบราณ คือตอนใต้ของแคว้นโกศล ของพระเจ้าปเสนทินั่นเอง คราวนี้ท่านผู้อ่านจะถึงบางอ้อว่า มิน่าเล่า ถึงมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่นี่มาก และกว้างขวางถึง 10 ก.ม.

เดิมผู้จัดการประชุม จะให้ท่านไปพักที่รีสอร์ตแห่งเดียวที่ศีลปุร์ ท่านบอกว่า เขาอยู่กันห้องละ 12 คน ไม่สะดวกแก่ท่านธัมมนันทาแน่ๆ

จึงนำท่านมาพักที่แคมป์ตำรวจ

 

ทันทีทีข่าวออกไปว่า ท่านธัมมนันทามาอยู่ที่แคมป์ตำรวจ เกิดข่าวลือว่า ท่านถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับที่รายปุร์ ข้อหาอะไรนะ

ก็เป็นภิกษุณีนั่นแหละ

ลือกันไปได้

ยังไม่ถึงศีลปุร์ค่ะ ต้องพรุ่งนี้ คืนนี้พักที่แคมป์ตำรวจที่รายปุร์ก่อน