ในประเทศ : “ดร.โกร่ง” วิพากษ์รัฐบาลเผด็จการ นี่คือมหาวิกฤตการณ์ของชาติ ต้นปีเผาจริง ปลายปีเก็บกระดูก

ยิ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

ไม่เพียงแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 เท่านั้น

แต่ยังหมายถึงวิกฤตทางเศรษฐกิจที่จะเริ่มส่งผลอย่างชัดเจนในปีนี้ ตามคำที่ว่า “ปีกลายเผาหลอก ต้นปีเผาจริง ปลายปีเก็บกระดูก”

ซึ่งเป็นคำพูดของ “ดร.โกร่ง” หรือนายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้กล่าวในงานปาฐกถาเรื่อง “ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย 2020” จัดโดยสถาบันสร้างไทย ที่พรรคเพื่อไทย

โดย ดร.โกร่งได้ออกมาวิเคราะห์ถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในหลากหลายมิติ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้กันว่าเศรษฐกิจทั่วโลกได้ก้าวเข้าสู่ภาวะ “วิกฤต” แล้ว

รวมไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลแบบชัดเจนและตรงไปตรงมา

เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยนั้น ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ “รัฐบาล” ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะสามารถฟันฝ่าและแก้ไขไปได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารงานของรัฐบาล

 

ดร.โกร่งเริ่มต้นจากการฉายภาพที่มาของวิกฤตเศรษฐกิจว่า สถานการณ์วิกฤตมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเริ่มจากสหรัฐ แล้วเพิ่มไปยังภูมิภาคอื่น การชะลอตัวของสหรัฐได้กระทบต่อการส่งออกของประเทศจีน ในระยะหลังประเทศจีนเป็นหัวรถจักรในเศรษฐกิจของภูมิภาค จีนกลายเป็นโรงงานของโลก ทำให้สหรัฐและสหภาพยุโรปกลายเป็นผู้บริโภค การที่จีนเป็นผู้ผลิตส่งผลให้ไทยได้รับประโยชน์อย่างมาก อีกทั้งสัดส่วน 70% ของอุตสาหกรรมในประเทศไทยเป็นสินค้ายี่ห้อญี่ปุ่น แต่เป็นสินค้าไทย ไทยได้ขยับจากการที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้ากึ่งเกษตร เช่น ข้าว ยาง น้ำตาล กลายเป็นสินค้าอุตสาหกรรมมากขึ้น ไม่ใช่เป็นประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกึ่งพัฒนา แต่เป็นประเทศกึ่งพัฒนาขั้นสูง

จากนั้น จุดพลิกผันทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญของไทยดูเหมือนจะเกิดขึ้นเมื่อมีการรัฐประหาร

ดร.โกร่งกล่าวว่า เราโชคร้ายที่มีการรัฐประหาร ที่ถีบให้การเป็นประเทศพัฒนาแล้วต้องหยุดชะงัก โดยในเวทีการค้าการเจรจาและการลงทุนระหว่างประเทศ ผู้นำของเราไม่สามารถเดินทางไปได้ เพราะยังมียศนายพลนำหน้า บนโต๊ะเจรจานั้นจะมีอยู่เพียงประเทศเดียว แม้แต่พม่ายังมียศพลเรือนเป็นส่วนใหญ่ แล้วการที่ระบอบการปกครองของไทยไม่เหมือนประเทศอารยะ เป็นปัจจัยที่ “ดึง รั้ง ถ่วง” ไม่ให้ประเทศไทยก้าวหน้าเหมือนประเทศเจริญแล้ว เดิมเราคิดว่าจะเป็นเสือตัวที่ 5 มาเอเชีย แต่หลังจากปฏิวัติรัฐประหาร ทุกสิ่งชะงักงันล้าหลังไปหมด

โดย ดร.โกร่งได้ขยายความถึงความเกี่ยวข้องกันโดยตรงระหว่างระบอบการปกครองและภาวะเศรษฐกิจว่า การที่รัฐบาลทหารคิดว่าระบอบการปกครองไม่มีความสำคัญนั้นไม่จริง

การที่ผู้นำไม่สามารถเดินทางไปเจรจาการค้าแบบทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ได้ ไปได้เฉพาะพหุภาคี เป็นเหตุให้ภาวะเศรษฐกิจของเราอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยลง การส่งออกประสบปัญหา

เราเคยหวังพึ่งการท่องเที่ยวที่จะเป็นตัวอุ้มชูเศรษฐกิจ ชดเชยการถดถอยการส่งออกสินค้า ปรากฏว่าเราได้ทำหลายสิ่งที่เป็นลบต่อกิจการการส่งออกของประเทศโดยเฉพาะกับประเทศจีน เมื่อมีอุบัติเหตุที่เกาะภูเก็ต ก็พูดจากระทบกระเทือนจิตใจของคนจีน

เมื่อมีโรคระบาดเราก็ได้ทำบางอย่างที่กระเทือนใจคนจีน ไม่ตระหนักว่าการท่องเที่ยวนั้น จีนเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดของประเทศและหวังพึ่ง

ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั่งก้นไม่ติดแล้ว ต้องดิ้นรนเจรจาการค้าทุกวิถีทางไม่ให้เศรษฐกิจเป็นแบบนี้

ความสำคัญของการส่งออกต่อเศรษฐกิจของไทย มองเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นด้วยคำพูดบางช่วงของ ดร.โกร่งที่กล่าวว่า ประเทศไทยต้องพึ่งการส่งออกเป็นหลัก มูลค่าการส่งออกมีมูลค่าถึง 70% ของรายได้ประชาชาติ ดังนั้น ใครที่พูดว่าการส่งออกไม่สำคัญ แสดงว่าไม่เข้าใจโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

เมื่อได้ยินรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันบอกว่าการส่งออกไม่สำคัญ เราสามารถสร้างความต้องการภายในรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งเป็นคำพูดที่โง่เขลา เพราะถ้าหากประเทศไทยไม่ส่งออก ไม่มีนักท่องเที่ยว รายได้ประชาชาติจะเหลือ 30% ของรายได้ประชาชาติในขณะนี้ จะเกิดวิกฤตการณ์อย่างแน่นอน

ต่อมา ดร.โกร่งยังคงวิพากษ์รัฐบาลชุดนี้ภายใต้ความเป็นรัฐบาล “เผด็จการ” ว่า ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้อยู่กับเราไปอีกนานไม่ใช่ไตรมาสสองไตรมาส เมื่อเรามีรัฐบาลเผด็จการไม่สามารถไปเจรจากับใครได้เลย ความสามารถในการแข่งขันก็จะด้อยไปเรื่อยๆ ที่จะหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นเร็ว ขอให้เลิกคิด เราจะได้ตาสว่างรีบเรียกร้องให้ประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศไทยโดยไว

เพราะเผด็จการทหารเป็น “อุปสรรค” สำคัญในการค้าการลงทุนของต่างประเทศ

ถ้ารัฐบาลเป็นประชาธิปไตย นักการเมืองอยู่ไม่ได้ถ้าเศรษฐกิจยังเป็นแบบนี้ แต่รัฐบาลทหารอยู่ได้ด้วยความสบายใจเพราะเขาใช้ปืน

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั่งก้นไม่ติดแล้ว ต้องดิ้นรนเจรจาการค้าทุกวิถีทางไม่ให้เศรษฐกิจเป็นแบบนี้ และวิสัยทัศน์นักการเมืองที่ติดมากับโครงสร้างเป็นสิ่งสำคัญ ประชาชนจะไม่ให้เป็นแบบนี้เป็นอันขาด

 

นอกจากนี้ อดีตรองนายกรัฐมนตรีได้อธิบายถึงผลของนโยบายที่รัฐบาลนำมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจว่า ถ้าพูดถึงความเหลื่อมล้ำให้ถูกต้องจะต้องลดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิต มาตรการการใช้เงินสดแจกเฉยๆ แต่แจกให้ถึงคนที่ควรได้รับแจก ก็ยังมีชนชั้นกลางที่รายได้สูงกว่าระดับที่จะได้รับแจกเงินจึงไม่ทั่วถึง จึงควรมีมาตรการลดภาษี ระบบสถิติบิ๊กเดต้าต้องให้ละเอียดอย่าให้ซ้ำกัน ถ้าทำอย่างนี้จะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจชิม ช้อป ใช้ “ไม่มีประโยชน์” ใดๆ ทั้งสิ้น เป็น “ปาหี่” หลอกคนในเมือง

โดยวิกฤตทางเศรษฐกิจคงไม่สามารถชะล่าใจได้อีกต่อไป เมื่อผลกระทบเริ่มปรากฏให้เห็นขึ้นทุกวันและมีแนวโน้มว่ายังคงอยู่ไปอีกนาน

ตามที่ ดร.โกร่งได้กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจปีกลายเผาหลอก ต้นปีนี้เผาจริง และปลายปีจะเก็บกระดูกไปลอยอังคาร ให้เตรียมการไว้

ไม่ใช่ผมไม่ชอบรัฐบาลแล้วมาพูด แต่มาจากตัวเลขและความรู้ที่สะสมมา บางครั้งเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้น แต่จะฟื้นหน่อยแล้วก็ฟุบลง เป็นฟันปลาเหมือนดัชนีหุ้น เราจะประสบปัญหาแบบนี้ไปหลายปี จากประสบการณ์วัฏจักรการขึ้น-ลงของเศรษฐกิจจะขึ้น-ลงทุกๆ 10 ปี รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาก็เริ่มลงมา 5 ปี ดังนั้น น่าจะเหลือ 5 ปีเป็นอย่างน้อยที่เศรษฐกิจเราจะเริ่มฟื้น และสัญญาณจากการฟื้นต้องมาจากต่างประเทศ

“ขณะนี้เราอยู่ในวิกฤตการณ์แล้ว ไม่ใช่วิกฤตการณ์ทางการเมืองเท่านั้น แต่อยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจและกฎหมาย ซึ่งทั้ง 3 อย่างเป็นเหตุให้โครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง ของกระบวนการยุติธรรมของประเทศพังพินาศเกือบทั้งสิ้น ถือว่าเป็นมหาวิกฤตการณ์”