ศัลยา ประชาชาติ : วิกฤต “หน้ากาก” ขาดตลาด ปชป.-ภจท.เล่นเกมชิงซีน โจทย์ใหญ่เฉพาะที่รัฐบาลยังมึน

เป็นเรื่องแปลกแต่จริงสำหรับ “หน้ากากอนามัย” ที่เพิ่งจะถูกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุม โดยประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

และล่าสุด หน้ากากอนามัยกำลังจะถูกยกระดับเป็นสินค้าที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กำหนดจำนวน/ปริมาณการครอบครอง และผู้ครอบครองจะต้องแจ้งกรมการค้าภายใน (คน.) ตามมาตรา 30 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542

จากเดิมที่เป็นสินค้าควบคุม เพื่อดูแลป้องกันการซื้อ ราคาจำหน่าย ต้องแจ้งปริมาณ สถานที่จัดเก็บ และห้ามการส่งออก

โดยขณะนี้ (4 มีนาคม) อยู่ระหว่างการประชุมของ กกร. หากเห็นชอบก็จะมีการกำหนดจำนวน/ปริมาณที่เหมาะสมในการถือครองว่าควรเป็นเท่าใด

เป้าหมายเพื่อป้องกันการกักตุน

นั่นเพราะรัฐบาล “เอาไม่อยู่” ไม่สามารถแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนได้ตลอดช่วงเกือบ 2 เดือน หลังจากสถานการณ์ฝุ่นพิษ พีเอ็ม 2.5 ที่ปกคลุมทั่วกรุงเทพฯ-ปริมณฑล รวมถึงหลายๆ จังหวัดอย่างหนักตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ถัดมาก็ถูกซ้ำเติมด้วยไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือไวรัสโควิด-19 และลากยาวมาถึงวันนี้

 

ความเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมจะประกาศให้ “หน้ากาก” เป็นสินค้าที่กำหนดจำนวนการมี/ต้องแจ้งต่อ คน.ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรีที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา

โดย “บิ๊กตู่” มีข้อสั่งการให้เร่งแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 อย่างเร่งด่วน

นอกจากการจัดตั้งศูนย์มาตรการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อบูรณาการข้อมูลจากทุกส่วนราชการ รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องไปยังสาธารณชนแล้ว ยังมีข้อสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันพิจารณาปริมาณความต้องการสินค้าที่จำเป็นสำหรับการป้องกันการแพร่ระบาด โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย น้ำยาฆ่าเชื้อ เจลฆ่าเชื้อ และจัดหาให้เพียงพอกับความต้องการ

พร้อมทั้งให้มีการจัดลำดับความสำคัญในการกระจายสินค้าตามความเสี่ยงของบุคคลและหน่วยงานและสถานที่ เช่น สถานพยาบาลรัฐและเอกชน กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และประชาชนทั่วไป

เป็นการย้ำให้เร่งแก้ปัญหาเรื่องสินค้าขาดตลาดและมีราคาสูง หลังจากที่มีประชาชนร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาเป็นจำนวนมาก

ไม่เพียงปัญหานี้จะไม่คลี่คลาย แต่ตรงกันข้าม กลับทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

หากย้อนกลับไปจะพบว่า ตลอดระยะเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ลงไปตรวจเยี่ยมโรงงานหน้ากาก พร้อมทั้งยืนยันว่าโรงงานผลิตหน้ากากรายใหญ่ที่มีประมาณ 10 โรง มีกำลังการผลิตรวมกันถึงประมาณ 100 ล้านชิ้น/เดือน และความต้องการใช้ปกติจะอยู่ที่ประมาณเดือนละ 30 ล้านชิ้น หรือหากมีความต้องการเพิ่มก็อาจจะเพิ่มเป็นเดือนละ 40 ล้านชิ้น

หน้ากากจึงมีเพียงพอแน่นอน นอกจากนี้ยังมีสต๊อกอยู่อีกประมาณ 200 ล้านชิ้น ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้ได้นาน 4-5 เดือน

แต่ในความเป็นจริง จนถึงวันนี้ “มาส์ก” ยังเป็นสินค้าที่หายาก ขาดแคลน

แต่ละวันประชาชนต่างแวะเวียนเข้าร้านขายยาเพื่อสอบถาม-หาซื้อหน้ากากตลอดทั้งวัน ทั้งๆ ที่แทบทุกร้านจะปิดป้ายแจ้งว่า “สินค้าหมด” และได้รับคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ประจำร้านว่า “ของไม่มี” “สั่งของไม่ได้” “สั่งไปแล้วแต่ไม่รู้ว่าจะได้ของมั้ย และจะมาเมื่อไหร่” ฯลฯ

ที่หนักหนาสาหัสไปกว่านั้น ไม่เฉพาะประชาชนทั่วไปเท่านั้นที่หาซื้อไม่ได้ แต่ปัญหานี้ลุกลามไปถึงหมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งโรงพยาบาลรัฐบาล โรงพยาบาลเอกชน หลายๆ แห่งเริ่มไม่มีหน้ากากอนามัยใช้เข้าขั้นวิกฤต แม้จะสั่งออเดอร์ไปแล้วแต่ไม่รู้ว่าจะได้ของมาหรือไม่ หรือบางแห่งก็ไม่ยอมรับออเดอร์ โดยให้เหตุผลว่า ต้องจัดสรรสินค้า 50% ของกำลังการผลิตให้กับกระทรวงพาณิชย์เพื่อนำไปกระจายต่อก่อน

ยิ่งนานวัน ความหวาดวิตกจากโรคร้ายที่รุนแรงถึงขั้นคร่าชีวิต และยังลุกลามแพร่ระบาดไปทั่วสารทิศ ทำให้ความต้องการของหน้ากากอนามัยมีมากขึ้นหลายเท่าตัว และกลายเป็นของหายาก และราคาพุ่งขึ้นไปอย่างบ้าระห่ำและฉุดไม่อยู่

จากราคา 60-80 บาท/กล่อง (50 ชิ้น) ก็ขยับไปเป็น 200-300 บาท/กล่อง เมื่อดีมานด์มีมากขึ้น ราคาก็ยิ่งวิ่งเป็นเงาตามตัว จาก 300 ขยับไปเป็น 500-600 และทะลุหลัก 1,000 ไปเรียบร้อย

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสร้ายแพร่กระจายลุกลามมากขึ้น ความต้องการหน้ากากที่มีมากขึ้นก็มีภาพความเคลื่อนไหวของทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุข ที่เจ้ากระทรวงทั้ง 2 “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์-อนุทิน ชาญวีรกูล” สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดนำหน้ากากมาใส่ถุงแพ็กขายให้ประชาชนตามจุดต่างๆ

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เปิดจุดขายที่ทำเนียบรัฐบาล ราคาเฉลี่ยชิ้นละ 2.50 บาท ฟากกระทรวงสาธารณสุขก็เปิดขายที่องค์การเภสัชกรรม ราคาเฉลี่ยชิ้นละ 1 บาท โดยจำกัดคนละไม่เกิน 10 ชิ้น ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม ประชาชนแห่ไปต่อคิวซื้อกันอย่างยาวเหยียด หน้ากากจำนวนเรือนหมื่นเรือนแสนขายเกลี้ยงภายในพริบตา

และเป็นที่น่าสังเกตว่า มีหลายงานที่เจ้ากระทรวงต้องปลีกเวลาไปเป็นประธานเปิดงาน บางงานก็มีนักร้อง-นักแสดงชื่อดังไปร่วมสร้างสีสัน

เท่านั้นยังไม่พอ ในฟากฝั่งของกระทรวงพาณิชย์ยังเปิดเกมรุกอีกระลอกด้วยการจับมือกับผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่หลายค่ายและร้านธงฟ้ากว่า 800 แห่งทั่วประเทศเป็นจุดจำหน่ายหน้ากากให้กับประชาชนด้วย พร้อมกันนี้ยังตั้งเป้าว่าจะเปิดขายหน้ากากให้ครบ 10 ล้านชิ้นทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม มีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่า “…ทำไมไม่แจกให้ประชาชนฟรีๆ?” “…ทำไมหน้ากากของกระทรวงพาณิชย์แพงกว่าของสาธารณสุข?” เป็นต้น

อีกไม่กี่วันถัดมา เจ้ากระทรวงสาธารณสุขก็ประกาศแจกหน้ากากให้ประชาชนฟรีจำนวน 1 แสนชิ้น ผ่าน 9 กรมในสังกัด สธ. ซึ่งก็มีประชาชนในพื้นที่ไปเข้าคิวรอรับแจกหน้ากากจำนวนมาก พร้อมยังมอบหมายให้กรมในสังกัดแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้ประชาชนเพิ่มอีก 2 แสนชิ้น และจะกระจายไปยังหน่วยงานในสังกัดในภูมิภาคอีก 1.2 ล้านชิ้น

ทั้งหมดนี้ นัยว่าเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

แต่ก็ดูเหมือนว่าความเคลื่อนไหวของ 2 กระทรวงก็ยังไม่ช่วยให้สถานการณ์หน้ากากขาดแคลนคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

 

ล่าสุด “อนุทิน” ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “คนที่หาซื้อหน้ากากอนามัยไม่ได้ ทั้งพี่น้องประชาชนและสถานพยาบาลเอกชน ขอความกรุณาติดต่อกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่จัดหาหน้ากากอนามัยให้กับโรงพยาบาล สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ไม่มีภารกิจจัดหาหน้ากากอนามัยมาจำหน่าย จ่าย แจก ให้กับประชาชน เว้นแต่มีจำนวนที่เกินกว่าความต้องการใช้ของโรงพยาบาลในสังกัด”

ปรากฏการณ์นี้น่าจะสะท้อนภาพของการใช้ “หน้ากากอนามัย” เป็นเครื่องมือในการเรียกคะแนนของ “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย” ได้เป็นอย่างดี โดยมีเรื่องสุขภาพของประชาชนที่กำลังหวาดวิตกกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นตัวประกัน

ขณะเดียวกันภาพรวมในการแก้ปัญหาวิกฤตความเชื่อมั่นต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็สะท้อนให้เห็นปัญหาที่ซ้อนอยู่ในวิกฤตอย่างชัดเจนว่า ขาดเอกภาพและความร่วมมือในระหว่างกระทรวงที่ควรต้องทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม

และเชื่อว่า สถานการณ์ที่รุนแรงจากกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีกพอสมควร ตราบเท่าที่รัฐบาลยังไม่มีแนวทาง มาตรการที่เด็ดขาดชัดเจนออกมาเพื่อบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ