จรัญ พงษ์จีน : กสทช.ยุค “ฐากร”

จรัญ พงษ์จีน

การยื่นใบลาออกของ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ก่อนจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ในวันที่ 9 กันยายนปีนี้ สร้างความประหลาดใจให้กับวงการสื่อสารโทรคมนาคมไม่น้อยทีเดียว

ความจริงแล้ว “ฐากร” ยังนั่งเก้าอี้เลขาฯ กสทช.ได้อีกนาน 6 เดือน

ตามมาตรา 63 ในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2553 กำหนดให้เลขาธิการ กสทช.พ้นจากตำแหน่งเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

“ฐากร” อยู่ในตำแหน่งเลขาฯ กสทช.ติดต่อกันเป็นวาระที่ 2 หรือเกือบ 10 ปี

ตลอดที่นั่งเก้าอี้เลขาฯ กสทช. สร้างผลงานโดดเด่นเป็นที่ฮือฮา

เริ่มตั้งแต่การประมูลคลื่น 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ตซ์ หรือคลื่น 3 จี เมื่อปี 2555 สร้างรายได้ให้กับรัฐ 44,538.75 ล้านบาท

อย่างที่รู้ๆ ว่า ก่อนหน้า “ฐากร” จะเข้ามาเป็นเลขาธิการ กสทช. มีการเปิดประมูลคลื่น 3 จีมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2553 ปรากฏว่าเกิดปัญหาวุ่นวายขึ้นเมื่อบริษัททีโอทีผนึกกำลังกับบริษัท กสท.โทรคมนาคม ยื่นฟ้อง กสทช. อ้างถึงการประมูลไม่เป็นธรรม

ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ระงับการประมูล ทำให้การประมูลล้มคว่ำไม่เป็นท่า

เมื่อ “ฐากร” สวมบทบาทเลขาธิการ “กสทช.” ประสานมือกับบอร์ด กสทช.ขับเคลื่อนการจัดประมูลคลื่น 3 จีอีกครั้งจนประสบผลสำเร็จ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยี 3 จีของเมืองไทยล้าหลังมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อเกิด 3 จี มีการใช้งานอย่างเต็มที่แล้ว ประเทศไทยพลิกโฉม

คนไทยหันมาซื้อโทรศัพท์มือถือพุ่งพรวด อย่างเช่น บริษัทเอไอเอส กวาดลูกค้าเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านคนมาเป็น 12 ล้านคนในเวลาเพียง 1 ปี มีการใช้ข้อมูลผ่านทางมือถือ 120 เปอร์เซ็นต์

ระหว่างนั้น ฐากรเร่งผลักดันแนวทางการลงทะเบียนซิมการ์ด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือและสร้างความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

จากนั้นในปี 2558, 2559, 2561 และ 2562 กสทช.เดินหน้าประมูลคลื่น 4 จี ได้เงินอีกกว่า 373,000 ล้านบาท

คลื่น 4 จี ทำให้ประเทศไทยพลิกโฉมอีกครั้ง ทั้งในเรื่องการทำธุรกิจการค้าผ่านออนไลน์ พฤติกรรมของผู้บริโภค

ประเมินกันว่า มูลค่าตลาดผ่านช่องทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว ตกปีละกว่า 3 ล้านล้านบาท

คนไทยหันมาใช้มือถือ 126 ล้านเลขหมาย มากกว่าจำนวนประชากรทั้งประเทศซึ่งมีราว 70 ล้านคน

ในจำนวนนี้มีการใช้โซเชียลมีเดียผ่านโทรศัพท์มือถือ 49 ล้านคน

กิจการธนาคารก็เปลี่ยนไปอย่างมาก

ผู้คนหันมาโอนเงินผ่านโมบายแบงกิ้งอย่างมากมาย จากปี 2553 แค่ 1,100 ล้านบาท กระโดดเป็น 2,055,000 ล้านบาทในปี 2562

 

ในการประมูลคลื่น 5 จี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กสทช.ทำรายได้ให้รัฐอีก 107,557.66 ล้านบาท

“ฐากร” ยอมรับว่า ราคาประมูลที่ กสทช.ตั้งไว้ถือว่าไม่ได้สูงมากนัก แต่บริษัทเข้าประมูลทั้ง 5 บริษัทต่างมองเห็นความสำคัญของ “คลื่น 5 จี” จึงเกิดการแข่งขันแย่งชิง ทำให้เงินเข้ารัฐเป็นแสนล้าน ถือเป็นเรื่องปกติของการค้าเสรี

จากการประมูลคลื่น 3 จีในปี 2555 จนกระทั่งคลื่น 5 จี กสทช.มีรายได้รวมแล้ว 563,834 ล้านบาท

ตลาดโทรคมนาคมของประเทศไทยโตขึ้น 58 เปอร์เซ็นต์

คลื่น 5 จีของไทยเปิดใช้ในเชิงพาณิชย์เป็นแห่งแรกในอาเซียน และคาดหมายว่าจะเกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศราว 178,361 ล้านบาท หรือราว 1.03 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี

 

ใบลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. “ฐากร” ยื่นให้กับ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. จะมีผลในวันที่ 18 พฤษภาคม

“ฐากร” วาดหวังว่า แม้จะพ้นตำแหน่งไปแล้ว แต่ กสทช.จะยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายเพื่อให้ลงไปถึงฐานรากประเทศ อุดช่องความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย

คนในชนบทห่างไกล สามารถเข้าถึงการแพทย์ผ่านระบบเทเลเมดิซีน นำข้อมูลสุขภาพมาวิเคราะห์วินิจฉัยโรค โดยคนไข้ไม่ต้องเดินทางมายังโรงพยาบาลในเมือง

เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านการสอนออนไลน์เท่าเทียมกับเด็กในเมืองใหญ่

ธุรกิจออนไลน์ มีสตาร์ตอัพใหม่ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ชนบทเชื่อมโยงกับโลก

ระบบการเกษตรที่เรียกว่า “สมาร์ต ฟาร์มมิ่ง” เอาเทคโนโลยี 5 จีมาประยุกต์ใช้ข้อมูลชนิดเรียลไทม์มาควบคุมระบบความชื้น สภาพภูมิอากาศ หรือใช้โดรนไปควบคุมการเพาะปลูก ลดต้นทุนแรงงาน

คนในชนบทไม่ต้องเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองลดความแออัด กระจายได้อย่างทั่วถึง

การจัดระเบียบสายสื่อสารในกรุงเทพมหานครเป็นอีกหนึ่งในโครงการ “ฐากร” ที่อยากให้ “กสทช.” เดินหน้าสานต่อ

ถ้าดึงสายสื่อสารทั้งหมดที่ห้อยระโยงสร้างความยุ่งเหยิง ปิดบังทัศนียภาพของกรุงเทพฯ มาอยู่ในท่อใต้ดินได้หมด

ถึงวันนั้น “ฐากร” เชื่อว่ากรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองหลวงสวยสง่าทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก