คนมองหนัง : “Creepy” และ “Harmonium” ดูหนังระทึกขวัญญี่ปุ่นร่วมสมัย

คนมองหนัง

ระหว่างกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม มีโอกาสดูหนังญี่ปุ่นเรื่อง “Creepy” และ “Harmonium”

ทั้งสองเรื่องมีจุดร่วมกันหลายๆ จุด อาทิ การเป็นหนังดราม่า-ระทึกขวัญคล้ายๆ กัน พูดถึงประเด็นครอบครัวและความแปลกแยกในสังคมสมัยใหม่เหมือนๆ กัน

รวมทั้งมีตัวละครเอกเป็นฆาตกร/อาชญากร “ต่อเนื่อง” เกือบสอดคล้องกัน (เรื่องแรกนั้น “ชัด” ว่าเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ส่วนเรื่องหลัง มีแนวโน้มว่า “น่าจะ” เป็น)

Creepy เป็นผลงานของ “คิโยชิ คุโรซาว่า” ผู้กำกับภาพยนตร์ชั้นครูคนหนึ่งของวงการหนังญี่ปุ่นร่วมสมัย แม้ระยะหลัง ฝีมือของคุโรซาว่าอาจจะตกลงไปบ้าง

แต่หลายคนเห็นว่า Creepy คือผลงาน “คืนฟอร์ม” ของเขา

หนังเล่าเรื่องราวของอดีตตำรวจหนุ่ม ผู้มีความรู้เรื่องทฤษฎีจิตวิทยาอย่างหาตัวจับยาก แต่ความเชื่อมั่นในหลักวิชาการกลับส่งผลให้เขาทำงานพลาด ตัวเองได้รับบาดเจ็บ ส่วนผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องถูกวิสามัญฆาตกรรม

จนเขาตัดสินใจลาออกไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

นอกจากเปลี่ยนงานแล้ว อาจารย์หนุ่มอดีตตำรวจและภรรยาสาว ยังตัดสินใจ “เริ่มต้นชีวิตใหม่” ด้วยการย้ายบ้าน จากอพาร์ตเมนต์พื้นที่จำกัด ไปยังบ้านเดี่ยวที่มีบริเวณกว้างขวางขึ้น และมี “เพื่อนบ้าน” ที่น่าจะไปมาหาสู่กันได้

แล้วสองสามีภรรยาก็ได้พบเจอกับ “เพื่อนบ้านพฤติกรรมแปลกประหลาด” ที่ค่อยๆ ชักจูงทั้งคู่เข้าสู่เหตุการณ์ฆาตกรรมสะเทือนขวัญสุดวิปริต

Creepy

จุดโดดเด่นสุดของหนังเรื่องนี้ คงได้แก่การนำเสนอภาวะ “แปลกแยกจากกัน” ระหว่างมนุษย์ในสังคมสมัยใหม่

น่าสนใจว่าความแปลกแยกดังกล่าวได้ร้าวลึกไปถึงระดับครอบครัว โดย “ขีดสุด” แห่งความแปลกแยกถูกเอ่ยออกมาจากปากของตัวละครเด็กสาวในครอบครัวเพื่อนบ้านพฤติกรรมแปลกประหลาด

ว่าผู้ชายที่สังคมเข้าใจว่าคือพ่อของเธอนั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่พ่อของเธอ!

เคียงคู่ไปกับคำประกาศชวนตระหนกข้างต้น ความแปลกแยกระหว่างคนในครอบครัว ยังถูกนำเสนอผ่านสายสัมพันธ์ระหองระแหง-ไม่เข้าใจกัน ของคู่สามีภรรยาผู้เป็นตัวละครนำด้วย
Creepy แฝงประเด็นชวนขบคิดไว้อีกเยอะแยะ

เช่น ปรากฏการณ์ที่ “ฆาตกรโหดเหี้ยม” ผู้มีพฤติกรรมล่อลวง-สังหารคนอย่าง “ไร้ความเป็นมนุษย์” กลับไม่เคยถูกสมาชิกร่วมสังคม (ยกเว้นเพื่อนบ้านข้างเคียง) กล่าวโทษ/ประณามด้วยข้อกล่าวหาดังกล่าว

แต่กลับกลายเป็นพระเอก อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งถูกเพื่อนอาจารย์และอดีตเพื่อนร่วมกรมตำรวจ ค่อยๆ โน้มน้าวใจให้เข้ามาช่วยสืบคดีฆาตกรรม ที่โดน “อดีตเหยื่อ” ผู้หลุดพ้นจากเงื้อมมือฆาตกร ด่าทอว่าวิธีการสอบสวน/เค้นหาข้อมูลของเขานั้น “หนักมือ” กับพยาน จนแทบจะ “ไร้ความเป็นมนุษย์”

คำถามสำคัญอีกข้อที่คุโรซาว่าฝากเอาไว้ จึงได้แก่ ใครกันแน่ที่ “ไร้ความเป็นมนุษย์” มากกว่ากัน? หรือเราๆ ท่านๆ ทั้งคนดีและคนเลว ล้วนแล้วแต่ “ไม่ค่อยเป็นมนุษย์” ด้วยกันทั้งนั้น

ไปๆ มาๆ จึงมิใช่แค่สมาชิกร่วมสังคม/ครอบครัวที่จะรู้สึกแปลกแยกต่อกัน ทว่า ปัจเจกบุคคลเอง ก็อาจยังไม่เข้าใจใน “ตัวตน” ของตนเองเลยด้วยซ้ำ

ข้ามไปที่ Harmonium หนังเรื่องนี้เป็นผลงานของ “โคจิ ฟุกาดะ” ซึ่งได้รับรางวัล “Un Certain Regard Jury Prize” จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2016

นักแสดงนำที่มีบทบาทแค่ประมาณ 1 ใน 3 ของเรื่อง แต่ “อิทธิพลมืด” ของเขากลับแผ่ขยายปกคลุมหนังทั้งเรื่องได้อย่างน่าทึ่ง ก็คือ “ทาดาโนบุ อาซาโน่” ซึ่งเคยเป็นพระเอกในหนังของ “เป็นเอก รัตนเรือง” เมื่อหลายปีก่อน

หนังเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 3 องก์ ซึ่งจริงๆ แล้ว สามารถแยกทำเป็นภาพยนตร์ 3 เรื่อง 3 รส ก็ยังได้

องก์แรกของหนังเริ่มต้นด้วยชีวิตธรรมดาสามัญของครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่ง

ฝ่ายชายหัวหน้าครอบครัว รับสืบทอดกิจการอุตสาหกรรมขนาดย่อมมาจากบรรพบุรุษ เขามีภรรยาที่ดี มีลูกสาววัยประถมกำลังน่ารัก

แต่แล้ววันหนึ่ง ก็มี “เพื่อนเก่า” (อาซาโน่) เข้ามาหาเขา เพื่อของานทำ และขออาศัยในบ้านเป็นการชั่วคราว

ชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวและเจ้าของกิจการ ไม่ปฏิเสธคำร้องขอต่างๆ จนน่าแปลกใจ

“เพื่อนเก่า” รายนี้ ขยันทำงาน พูดจาสุภาพเรียบร้อย เขามีบุคลิกโดดเด่นด้วยการสวมชุดยูนิฟอร์ม “ขาวล้วน” แลดูสะอาดบริสุทธิ์

พอเวลาผ่านไปสักพัก “เพื่อนเก่า” คนนี้ก็ค่อยๆ เข้าแทนที่ “ชายหัวหน้าครอบครัว” ซึ่งหมกมุ่นอยู่กับงานและไม่สุงสิงกับลูกเมียมากนัก

“เพื่อนเก่า” สานสัมพันธ์กับภรรยาเพื่อนจนใกล้ชิดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นแอบมีเพศสัมพันธ์กัน

นอกจากนั้น เขายังเข้าไปสอนออร์แกนให้ลูกสาวเพื่อน ซึ่งกำลังเตรียมตัวฝึกซ้อมดนตรีเพื่อร่วมงานของโรงเรียน

ทว่า เมื่อ “เพื่อนเก่า” ปลดเปลื้องยูนิฟอร์ม “ขาวล้วน” ให้เห็น “เสื้อยืดสีแดงสด” ภายใน เขาก็ลงมือก่อเหตุการณ์ระทึกขวัญยากลืมเลือนฝากเอาไว้กับครอบครัวเพื่อน

บาดแผลและความสูญเสียไม่เคยจางหาย แต่ตัว “เพื่อนเก่า” ได้หนีหายไปเรียบร้อยแล้ว

Harmonium

องก์สองตัดข้ามเวลาไปยังเหตุการณ์ในอีกหลายปีถัดมา ซึ่งครอบครัวเดิมในองก์แรกมีชีวิตที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ไม่ใช่แค่คู่สามีภรรยามีอายุมากขึ้น แต่ฝ่ายหญิงยังมีอาการวิตกจริตและเคร่งครัดเรื่องความสะอาดมากเป็นพิเศษ

ที่สำคัญกว่านั้น คือ ลูกสาวของพวกเขาไม่สามารถเติบโตได้ดังคนปกติในวัยเดียวกัน!

โดยที่สองผัวเมียต่างยังคงสืบหาตัว “เพื่อนเก่า” ซึ่งหายสาบสูญไปอย่างไร้วี่แวว

ขณะเดียวกัน โรงงานของผู้เป็นสามีก็ได้รับเด็กหนุ่มอัธยาศัยดีรายหนึ่งเข้ามาเป็นลูกจ้างรายใหม่ล่าสุด ก่อนที่สมาชิกครอบครัวจะพบว่า เจ้าหนุ่มรายนี้คือ “ลูกชาย” ของ “เพื่อนเก่า” รายนั้นนั่นเอง

เขาเป็นลูกที่ถูกพ่อทิ้งตั้งแต่ยังไม่ลืมตาดูโลก และเข้ามาสมัครงานที่นี่เพื่อหวังจะพบพ่อ เพราะจำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อน พ่อเคยเขียนจดหมายไปหาแม่ โดยระบุที่อยู่เป็นโรงงานแห่งนี้บนซองจดหมาย

แม้ลูกของ “ศัตรู/เพื่อนเก่า” จะอยู่ใกล้ตัวเกินคาดคิด แต่สองสามี-ภรรยา กลับไม่ลงมือ “ล้างแค้น”

เหตุผลข้อแรก คือ พวกเขาหวังจะใช้เด็กหนุ่มเป็นเครื่องมือนำทางไปหา “เพื่อนเก่า”

แต่มีปัจจัยอีกสองข้อที่ไม่ควรมองข้าม คือ เด็กหนุ่มนี่ไม่ใช่คนเลว และเขาก็ถูกผู้เป็นพ่อ “กระทำ/ทอดทิ้ง” มาเหมือนกัน

องก์สามของหนังพลิกกลับมาฉายภาพ “สะท้อนย้อนแย้ง” ในทำนอง “นรกคือตัวเราเอง”

เมื่อฝ่ายชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว ยอมรับต่อหน้าภรรยาว่าตนเองเคยอยู่ร่วมแก๊งยากูซ่ากับ “เพื่อนเก่า” รายนั้น แต่พอร่วมกันลงมือสังหารคน เขากลับปล่อยให้ “เพื่อนเก่า” ต้องรับโทษหนักเพียงผู้เดียว

หัวหน้าครอบครัวยังซัดข้อหาใส่ภรรยาของตนด้วยว่า เขารู้ดีว่าเธอเคยแอบมีอะไรกันกับ “เพื่อนเก่า”

สำหรับผู้เป็นสามี ความทุกข์ทรมานที่ครอบครัว (รวมถึงลูกสาว) ต้องเผชิญ จึงเป็นผลลัพธ์ของความผิดบาป ซึ่งเขาและภรรยาลงมือก่อเอาไว้ ขณะที่ผู้เป็นภรรยาอาละวาดกลับว่า แล้วลูกสาวของเธอเกี่ยวข้องอะไรด้วย ถึงต้องมาร่วม “รับกรรม” อย่างที่เป็นอยู่?

หนังค่อยๆ เดินทางสู่จุดคลี่คลายท้ายสุด เมื่อพ่อ-แม่-ลูกสาว-ลูกชายเพื่อน ออกเดินทางสไตล์ “โรดมูฟวี่” เพื่อตามหา “ฆาตกรเพื่อนเก่า” และทวงถาม-ชำระล้างหนี้แค้น

ทว่า ปลายทางที่ไปถึงกลับผิดแผกจากเป้าประสงค์ที่วางไว้ หนังลงเอยอย่างไม่มีเลือด ไม่โหดเหี้ยม ไร้ซึ่งความสะใจ

แต่โศกเศร้ากัดกร่อนหัวใจอย่างหนักหน่วง

Harmonium

นอกจากจะพูดเรื่องภาวะแปลกแยก ผ่านการเก็บงำความลับระหว่างกันของคนในครอบครัว

หรือพูดถึงสายสัมพันธ์หรือสถานะอันสลับซับซ้อนของมนุษย์ (เช่น เด็กหนุ่มบุตรชายของ “เพื่อนเก่า” ซึ่งเป็นทั้ง “ลูกศัตรู” และ “เหยื่อร่วมชะตากรรม”)

ประเด็นหลักของ Harmonium คือ “การล้างแค้น” ก็มีเหลี่ยมมุมชวนฉุกคิดอยู่ไม่น้อย

นี่ไม่ใช่เรื่องราวการลุกขึ้นมา “ล้างแค้น” ของฆาตกร/คนร้าย ซึ่งเคยมีสถานะเป็น “ฝ่ายถูกกระทำ” มาก่อน (ด้วยเหตุนี้ เขาจึงมีความชอบธรรมที่จะชำระแค้นในระดับหนึ่ง)

ตามแนวทางของพล็อตที่หนัง-นิยาย-ซีรี่ส์ร่วมสมัย ใช้กันจนเกร่อ

แต่หนังตั้งประเด็นเพิ่มเติมว่า นอกจากฆาตกรจะหวนกลับมาล้างแค้น ในฐานะ “คนเคยถูกกระทำ” แล้ว ณ ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ฆาตกรผู้นี้ยัง “ลงมือกระทำย่ำยี” ผู้บริสุทธิ์รายอื่นๆ อีกด้วย

ทั้งการที่เขามีความสัมพันธ์กับผู้หญิงคนหนึ่ง แล้วละทิ้งเธอกับลูกชายไปเสียเฉยๆ

ตลอดจนการแก้แค้น โดยไม่เล่นงานคู่กรณีตรงๆ แต่ดันไปเล่นงาน “คนใกล้ชิด” ที่ไร้หนทางต่อสู้

เป้าหมายของหนังจึงไม่ได้อยู่ตรงการพยายามคืนความบริสุทธิ์ (บางส่วนเสี้ยว) ให้แก่ “คนร้าย” แต่ตั้งคำถามต่อว่า “เฮ้ย! นอกจากมึงจะกลับมาแสวงหาความชอบธรรมในการล้างแค้นแล้ว มึงยังเคยก่อคดีอื่นๆ ไว้อีกรึเปล่า?”

ยิ่งกว่านั้น ความสัมพันธ์ที่ดำรงอยู่ผ่าน “ความแค้น” ในหนัง ยังมีลักษณะ “อสมมาตร” เมื่อฝ่ายหนึ่งสามารถย้อนคืนมา “ล้างแค้น” อีกฝ่ายได้อย่างสาสม แต่พออีกฝ่ายจะ “แก้แค้น” กลับไปอีกรอบ ผลลัพธ์ที่ได้กลับกลายเป็น “ความสูญเปล่า”

creepy

ในมุมมองส่วนตัว Creepy กับ Harmonium มีจุดแตกต่างกันอย่างสำคัญสองข้อ

ข้อแรก คือ ขณะที่ตัวละครฆาตกรใน Creepy มีลักษณะเป็น “สนามแม่เหล็ก” ซึ่งแม้จะใช้ชีวิตอยู่เฉยๆ ก็สามารถดึงดูด-ล่อลวงผู้คนจำนวนมากมายหลากหลายช่วงวัยและอาชีพ ให้เข้าไปติดกับดักหรือตกอยู่ภายใต้เงื่อมมือของเขาได้อย่างน่าทึ่ง

หรือเป็นการผนวกรวมภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ให้เข้ามาเป็นเหยื่อชิ้นแล้วชิ้นเล่าของอาชญากรรมระลอกนี้

ฆาตกรใน Harmonium กลับเป็นฝ่ายเดินเข้าไปหา “เพื่อนเก่า” อย่างเงียบเชียบ เพื่อรอวันทวงแค้นคืน

ก่อนจะสานก่อสายสัมพันธ์รุนแรงแบบ “จำกัดวง” ระหว่างปัจเจก และสมาชิกครอบครัวของปัจเจกบุคคลสองคน โดยไม่ขยายตัวแผ่กว้างไปกว่านั้น

 

ข้อสอง คือ Creepy ปิดฉากลงด้วยสุขนาฏกรรม เมื่อคุณค่าของ “ครอบครัว” ได้รับการรื้อฟื้น ความแปลกแยกระหว่างคนใกล้ชิดถูกลบเลือน และความวิปริตบิดเบือนมาตรฐานสังคมถูกทำลาย

ผิดกับ Harmonium ที่บาดแผล-วงจรแค้นยังดำรงอยู่มิรู้จบ และไร้หนทางเยียวยาให้ดีขึ้นกว่าเดิม

หนังปิดฉากลงอย่างโศกสลดรวดร้าว โดยที่คนรุ่นเก่า “ผู้ร่วมก่อหนี้แค้น” ไม่รู้จะไปทางไหนกันต่อ ส่วนคนรุ่นใหม่ก็พลอยต้องรับ “ผลกรรม” โดยมิอาจต่อต้านขัดขืน