เกษียร เตชะพีระ | วิพากษ์ตุลาการภิวัตน์ (2)

เกษียร เตชะพีระ

(บีบีซีได้เชิญโจนาธาน ซัมพ์ชัน นักเขียน นักประวัติศาสตร์และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาอังกฤษมาแสดงปาฐกถารีธประจำปี ค.ศ.2019 เรื่อง “กฎหมายกับความเสื่อมถอยของการเมือง” ซึ่งเป็นแนวโน้มหลักของหลายประเทศรวมทั้งไทยเราด้วย ผมจึงใคร่ขอนำมาเรียบเรียงเสนอเป็นอนุสติทางวิชาการดังนี้)

ตอนที่หนึ่ง : จักรวรรดิกฎหมายขยายตัว (ต่อ)

เป็นธรรมชาติวิสัยของสัตว์สังคมที่จะมองโลกในแง่ดีว่าปฏิบัติการรวมหมู่จะสามารถบรรลุผลสำเร็จบางอย่างได้

กฎหมายเป็นเครื่องมือเอกของปฏิบัติการรวมหมู่และความคาดหวังที่เพิ่มสูงขึ้นต่อรัฐย่อมนำไปสู่เสียงเรียกร้องให้หาทางออกเชิงกฎหมายเป็นธรรมดา

ในบางเรื่อง ธรรมชาติของปัญหานั้นเองเป็นตัวบงการให้ต้องหาทางออกเชิงกฎหมาย

ยกตัวอย่างเช่น ผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าผลกระทบภายนอกทางลบ อาทิ อาการป่วยไข้และบาดเจ็บทางอุตสาหกรรม มลพิษ การผูกขาด ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง อันเป็นผลกระทบภายนอกทางลบบางอย่างซึ่งเห็นได้ชัดเจนกว่าอย่างอื่น

ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจถูกสร้างขึ้นโดยปัจเจกบุคคลจำนวนเหลือคณานับอย่างเป็นไปเอง ทว่าการกระทำอย่างเป็นไปเองกลับไม่สามารถจัดการแก้ไขต้นทุนรวมหมู่ที่ไม่พึงประสงค์ซึ่งมาพร้อมกับมัน มีแต่รัฐเท่านั้นจึงทำได้

ฉะนั้นเองเราจึงมีกฎหมายห้ามการรวมกลุ่มผู้ผูกขาดเพื่อครอบงำตลาด ห้ามก่อมลพิษ เป็นต้น

แต่ก็มีเรื่องอื่นๆ ที่การแทรกแซงโดยกฎหมายไม่ได้ถูกบังคับยัดเยียดให้แก่เรา หากเป็นการเลือกเองแบบรวมหมู่ ซึ่งมันสะท้อนการเปลี่ยนแปลงอย่างแผ่ซ่านครอบคลุมที่เกิดแก่โลกทัศน์ของเรา

ผมใคร่จะดึงเราให้สนใจความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้สองประการ ซึ่งผมคิดว่าสมทบส่วนให้จักรวรรดิของกฎหมายแผ่ขยายออกไปอย่างมาก

ประการหนึ่งได้แก่ ลัทธิสัมบูรณนิยมทางศีลธรรมและสังคมที่เติบกล้าขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหวังพึ่งกฎหมายให้ช่วยก่อให้เกิดการอนุโลมตามขึ้นมา

อีกประการได้แก่ การใฝ่หาความมั่นคงยิ่งขึ้นและลดความเสี่ยงลงเรื่อยๆ อยู่เสมอในชีวิตประจำวันของเรา

ขอให้เรามาดูการใช้กฎหมายเป็นวิธีการยัดเยียดการอนุโลมตามกันก่อน

ครั้งหนึ่งเรื่องนี้ถูกถือเป็นหน้าที่เอกอย่างหนึ่งของมันเลยทีเดียว กฎหมายกำกับควบคุมการนับถือศาสนาอยู่จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 มันเลือกปฏิบัติระหว่างลัทธินิกายศาสนาต่างๆ อยู่จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 มันกำกับควบคุมความสัมพันธ์ทางเพศส่วนตัวแบบสมยอมจนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้เอง การรักร่วมเพศเป็นความผิดทางอาญามาถึงปี ค.ศ.1967 แต่ทว่าทุกวันนี้กฎหมายได้ถอนตัวออกจากเรื่องเหล่านี้ทั้งหมดแทบจะโดยสิ้นเชิง อันที่จริงแล้ว มันย้ายไปทางสุดโต่งตรงข้ามและห้ามการเลือกปฏิบัติที่ครั้งหนึ่งเคยบังคับให้ทำด้วยซ้ำไป

แต่กระนั้นในแง่อื่นๆ แล้ว เรากลับถอยหลังไปยังความคิดเก่าแก่กว่าที่ว่ากฎหมายดำรงอยู่เพื่อยัดเยียดให้เกิดการอนุโลมตาม

เราอยู่ในยุคสมัยแห่งการจ้องเขม่นโขกสับกันซึ่งอาจจะหนักข้อกว่าครั้งใดนับแต่ขบวนการผู้ประกาศข่าวประเสริฐ (evangelical movement) เปลี่ยนโฉมอารมณ์อันละเอียดอ่อนไหวทางศีลธรรมของคนยุครัชสมัยพระราชินีวิกตอเรียเป็นต้นมา

ตอนนั้นปากเสียงฝ่ายเสรีนิยมในอังกฤษหรือ บริเตนสมัยพระราชินีวิกตอเรียอย่างจอห์น สจ๊วต มิลล์ (นักปรัชญาและเศรษฐศาสตร์การเมืองเสรีนิยม-ประโยชน์นิยมชาวอังกฤษ, ค.ศ.1806-1873) ก็กำลังประท้วงทัดทานผลกระทบของมันต่อเสรีภาพส่วนบุคคลแล้ว มิลล์เถียงว่ากฎหมายมีไว้ปกป้องเราจากภยันตรายและหาได้มีไว้กะเกณฑ์เราให้อนุโลมตามศีลธรรมไม่

แต่กระนั้นทุกวันนี้สื่อสิ่งพิมพ์ที่ปากกล้าสามหาวอาจปล่อยคำประณามหยามหยาบสาธารณะถล่มใส่ใครหน้าไหนก็ได้ที่บังอาจก้าวออกนอกแถว

สื่อโซเชียลกระตุ้นส่งเสริมคนให้หันไปหาคำตอบง่ายๆ และก่อให้เกิดสัญชาตญาณหมู่อันทรงพลังซึ่งกดปรามมิเพียงแต่ความเห็นแย้งเท่านั้นหากรวมกระทั่งความสงสัยและเฉดความเห็นที่เหลื่อมต่างด้วย การแสดงกิริยาวาจาผิดจรรยามารยาทต่อหน้าธารกำนัลและแม้แต่ในที่รโหฐานอาจทำลายลู่ทางอาชีพของบุคคลลงได้

ผู้ลงโฆษณาพากันกดดันบรรณาธิการไม่ให้ตีพิมพ์ข่าวบทความที่ก่อกระแสโต้แย้งอื้อฉาวและบรรณาธิการก็อาจถูกไล่ออกได้หากยืนกรานที่จะตีพิมพ์มัน

องค์การนักศึกษาอาจห้ามปรามองค์ปาฐกนอกรีตนอกรอยกล่าวปราศรัยให้คนอื่นได้ยินได้ฟัง

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ทำให้แรงกดดันให้ผู้คนอนุโลมตามเข้มข้นยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาในสมัยของมิลล์อักโข

วิธีคิดอย่างเดียวกันนี้แหละที่หวังพึ่งกฎหมายให้ช่วยกำกับควบคุมเรื่องราวต่าง ๆ ของชีวิตซึ่งครั้งหนึ่งเคยอยู่ในเขตอำนาจวินิจฉัยส่วนบุคคลล้วนๆ เราพร้อมที่จะเคารพอัตวินิจฉัยในการเลือกของปัจเจกบุคคลน้อยลงกว่าที่เราเคยเป็นอันมาก เราโน้มเอียงที่จะถือว่าคุณค่าทางสังคมและศีลธรรมเป็นธุระของชุมชนโดยรวม กล่าวคือ เป็นเรื่องของการตัดสินใจรวมหมู่ หาใช่ส่วนบุคคลไม่

เมื่อสองปีก่อน ศาลและสื่อสิ่งพิมพ์ตีโพยตีพายกับกรณีชาร์ลี การ์ด หนูน้อยผู้ถือกำเนิดมาพร้อมโรคทางพันธุกรรมที่หายากและร้ายแรงถึงชีวิต แพทย์แนะนำว่าไม่มีโอกาสที่อาการจะดีขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ โรงพยาบาลที่เจ้าหนูรักษาตัวอยู่ยื่นคำร้องต่อศาลสูงเพื่อขออนุญาตหยุดยั้งการรักษาและปล่อยให้เด็กตายไป

ข้างพ่อแม่ก็ปัดปฏิเสธคำแนะนำของแพทย์นั้น พวกเขาอยากเอาลูกออกจากระบบบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษและพาไปสหรัฐอเมริกาเพื่อทดลองรับการรักษาแบบใหม่ที่ยังไม่ผ่านการทดสอบที่นั่น

ผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันเห็นว่าโอกาสที่อาการจะดีขึ้นมีอยู่น้อย แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นศูนย์ พ่อ-แม่ของเด็กต้องการลองโอกาสนั้นดู

ที่ผิดแปลกออกไปก็คือพวกเขาระดมทุนแบบลงขันสามัคคี (crowd funding) และสามารถออกค่าใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องหันไปพึ่งเงินหลวงเลย

นี่เป็นกรณีที่ผสมผสานการวินิจฉัยทางศีลธรรมเข้ากับสวัสดิการเชิงปฏิบัตินิยมซึ่งยากแก่การพินิจพิจารณา

ปรากฏว่าศาลอนุมัติให้โรงพยาบาลหยุดการบำบัดรักษาและเด็กน้อยก็สิ้นชีวิตลง

เรื่องที่เล่ามานี้มีข้อโดดเด่นสะดุดใจสองประการ

ประการแรกก็คือ แม้การตัดสินใจว่าจะทำการรักษาต่อไปหรือไม่จะเป็นเรื่องของการวินิจฉัยทางคลินิก ทว่าแพทย์คลินิกผู้เกี่ยวข้องก็ไม่เต็มใจจะวินิจฉัยเอง โดยที่ผมสงสัยว่าพวกเขาคงทำกันไปแล้วถ้าเป็นเมื่อช่วงอายุคนรุ่นก่อน พวกเขากลับต้องการให้ผู้พิพากษามารับรองแทน ทั้งนี้ หาใช่เพราะคิดเห็นกันว่าพวกผู้พิพากษามีคุณสมบัติพิเศษทางคลินิกหรือศีลธรรมซึ่งพวกหมอขาดแคลนแต่อย่างใดไม่

แต่เป็นเพราะผู้พิพากษามีอำนาจล้างผิดต่างหาก โดยส่งผ่านเรื่องไปให้ศาลตัดสินแทน พวกหมอก็กำบังตนเองไว้ได้จากความรับผิดทางกฎหมาย

จะว่าไปนั่นก็เป็นสัญชาตญาณที่เข้าใจได้ทั้งหมดแหละครับ พวกหมอไม่อยากเสี่ยงถูกฟ้องหรือดำเนินคดีอาญาไม่ว่าพวกเขาจะเชื่อมั่นข้อวินิจฉัยของตนเพียงใดก็ตาม

ทว่าการที่มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องหรือดำเนินคดีอาญานั้นก็เพียงเพราะเราได้หันมาถือว่าภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอันย่ำแย่ของคนเราที่ว่านี้เป็นเขตอำนาจโดยชอบของกฎหมายนั่นเอง

ลักษณะประการที่สองของกรณีนี้อาจจะยิ่งน่าตื่นตาตื่นใจกว่าประการแรกด้วยซ้ำไป กล่าวคือ ศาลตัดสินว่าไม่เพียงแต่โรงพยาบาลควรมีสิทธิ์หยุดการรักษาเยียวยาเด็กได้เท่านั้น หากพ่อแม่ของเด็กยังไม่ควรได้รับอนุญาตให้มีโอกาสลองพาเด็กไปรักษาที่อื่นด้วย

ไม่ได้มีการบ่งชี้ออกมาว่าการย้ายเด็กไปสหรัฐอเมริกาและรักษาเขาที่นั่นเอาเข้าจริงจะยิ่งทำให้อาการป่วยของเด็กแย่ลง แม้จะเห็นได้ชัดว่ามันย่อมทำให้อาการป่วยยืดเยื้อยาวนานออกไป

ดูเหมือนข้อวินิจฉัยตัดสินใจของพ่อแม่ก็อยู่ในขอบเขตกว้างๆ ซึ่งพ่อแม่ผู้รับผิดชอบและห่วงใยลูกที่ไหนๆ ก็อาจคิดตัดสินใจเช่นนั้นได้ แต่กระนั้นว่ากันตามตัวบทกฎหมายแล้วกล่าวให้ถึงที่สุดมันก็เป็นภารธุระขององค์กรรัฐอันได้แก่แผนกศาลครอบครัวของศาลสูงที่จะตัดสินใจ จะบอกว่าการตัดสินใจของพ่อแม่ได้ถูกยึดมาเป็นของรัฐก็ว่าได้

ผมควรบอกให้ชัดว่าผมไม่ได้กำลังวิจารณ์การตัดสินใจที่ว่านี้ในตอนไหนเลย ผมเพียงแค่ชี้ให้เห็นว่าบางทีมันคงถูกตัดสินใจต่างออกไปจากนี้ถ้าเป็นเมื่อช่วงอายุคนรุ่นก่อนหากแม้นคำถามนี้ได้เข้าสู่การพิจารณาของศาล ซึ่งก็คงไม่น่าจะเข้าไปถึง

ที่ผมอ้างอิงถึงกรณีอันชวนปวดร้าวทุรนทุรายใจนี้ก็เพราะถึงแม้ข้อเท็จจริงของมันจะผิดแปลกไปจากปกติ แต่มันก็สาธิตให้เห็นแนวโน้มที่เห็นได้โดยทั่วไปยิ่งกว่าของกฎหมาย

กล่าวคือ ระเบียบกฎเกณฑ์ของกฎหมายและอำนาจดุลพินิจซึ่งกฎหมายมอบให้แก่ผู้พิพากษานั้นจำกัดขอบเขตการตัดสินใจเองอย่างอิสระโดยปัจเจกบุคคลลง มันบั่นทอนพื้นที่ซึ่งพลเมืองเข้าแบกรับความรับผิดชอบส่วนบุคคลต่อชะตากรรมของตนเองและของครอบครัว

(อ่านต่อตอนหน้า)