โฟกัสพระเครื่อง/ โคมคำ/เหรียญรุ่น 2 พ.ศ.2498 หลวงพ่อทองสุข อินทโชโต วัดโตนดหลวง จ.เพชรบุรี

หลวงพ่อทองสุข อินทโชโต

โฟกัสพระเครื่อง/ โคมคำ [email protected]

เหรียญรุ่น 2 พ.ศ.2498

หลวงพ่อทองสุข อินทโชโต

วัดโตนดหลวง จ.เพชรบุรี

 

“พระครูพินิจสุตคุณ” หรือ “หลวงพ่อทองสุข อินทโชโต” วัดโตนดหลวง ต.บางเก่า อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มิใช่เฉพาะคนเมืองเพชร ตลอดถึงชาวจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะวัตถุมงคลที่มากด้วยพุทธคุณและประสบการณ์

กล่าวสำหรับวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม คือ เหรียญหลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง รุ่น 2 ถือได้ว่าเป็นเหรียญที่มีความยอดนิยมอย่างสูงในวงการพระเครื่อง

เหรียญรุ่นนี้จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2498 เพื่อแจกในงานฉลองกุฏิ จัดสร้างด้วยกัน 3 เนื้อ คือ เนื้อทองคำ เงิน และทองแดง จำนวนสร้างไม่มีการบันทึกไว้แต่อย่างใด

เหตุที่เหรียญรุ่น 2 ได้รับความนิยมมากกว่าเหรียญรุ่นแรก เนื่องมาจากเหรียญรุ่น 2 มีใบหน้าคล้ายมากกว่าเหรียญรุ่นแรก ซึ่งแม้แต่หลวงพ่อทองสุขก็ชอบเหรียญรุ่น 2 มาก

ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนครึ่งตัว ด้านบนเขียนคำว่า “พระครูทองศุข อินทโชโต”

ด้านหลังตรงกลางเป็นยันต์ประจำตัว ด้านบนยันต์ เขียนคำว่า “ที่ระลึกในงานฉลองกุฏิ” ด้านล่างสุดเขียนคำว่า “วัดโตนดหลวง ๒๔๙๘”

เหรียญทั้งหมดนี้ได้ปั๊มเนื้อทองแดงก่อน หลังจากได้ปั๊มเหรียญเป็นจำนวนมาก แม่พิมพ์เคลื่อน ทำให้ด้านหน้าตรงอักษร “อินทโชโต” สระอิมีเนื้อเกินขึ้นมาชิดติดขอบเหรียญ

หลังจากปั๊มเนื้อทองแดงครบตามจำนวน จึงปั๊มเนื้อเงินกับเนื้อทองคำ ทำให้ทั้ง 2 เนื้อ สระอิมีเนื้อเกินทั้งหมด

ปัจจุบัน แบ่งเป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์สระอิลอย และพิมพ์สระอิติดขอบ

เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมสูงมาก ทั้งยังเป็นที่รู้จักและมีประสบการณ์ จนติดอันดับเหรียญยอดนิยมของเมืองเพชร

เหรียญหลวงพ่อทองศุข (หน้า-หลัง)

 

นามเดิมว่า สุข นามสกุล ดีเลิศ เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2420 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 9 ค่ำ เกิดที่บ้านทับใต้ ต.หินเหล็กไฟ แขวงเมืองเพชรบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 5

อายุ 9 ขวบ เข้าเรียนหนังสือที่วัดโพธิ์ อ.บ้านลาด เป็นศิษย์เจ้าอาวาส เล่าเรียนจนอ่านออกเขียนได้ และยังได้เรียนหนังสือขอมและบาลีอีกด้วย อีกทั้งท่านยังรักการต่อสู้ รักวิชาหมัดมวย กระบี่กระบอง จนต่อมาภายหลังมีลูกศิษย์ลูกหาในวิชาเหล่านี้หลายคน

อายุ 15 ปี ย้ายไปอยู่ที่บ้านเพลง จ.ราชบุรี เป็นระยะช่วงวัยรุ่น คึกคะนอง ชอบเที่ยวเตร่คบเพื่อน ไม่ค่อยอยู่ติดบ้าน ชอบไปแสดงลิเก ละคร โขนหนัง จนขนาดเป็นครูสอนผู้อื่น

ครั้นเบื่อการแสดง ลิเก ละคร ฯลฯ ก็เที่ยวเตร่ไปโดยไม่มีจุดหมาย จนไปคบพวกนักเลงอันธพาล จึงกลายเป็นนักเลงอันธพาล และในที่สุดเป็นอาชญากรสำคัญในย่านเพชรบุรี ราชบุรี และสมุทรสงคราม ต้องคอยหลบอาญาบ้านเมือง ซุกซ่อนอยู่ในป่าด้วยความลำบาก

ครั้งหนึ่งหลบหนีเข้าไปในป่า ไม่ได้กินอาหาร 3 วัน ตอนนี้เองสำนึกตัวได้ว่าตนดำเนินชีวิตผิดทางเสียแล้ว ถ้าไม่กลับตัวย่อมจะได้รับความทุกข์ทรมานทั้งกายและใจ จึงตัดสินใจเข้าพิธีอุปสมบท ซึ่งขณะนั้นอายุได้ 32 ปี ตรงกับวันที่ 12 กรกฎาคม 2452 ที่วัดปราโมทย์ ต.โรงหวี อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม มีหลวงพ่อตาด วัดบางวังทอง เป็นพระอุปัชฌาย์

จำพรรษาอยู่ที่วัดปราโมทย์ 4 พรรษา แล้วไปอยู่วัดแก้ว 2 พรรษา จังหวัดราชบุรี และไปอยู่วัดใหม่ 1 พรรษา ต่อจากนั้นก็ออกธุดงค์ไปกับสามเณรจันทร์ (ต่อมาคือ พระครูจันทร์ ธัมมสโร เจ้าอาวาสวัดมฤคทายวัน) หลังจากธุดงค์ไปหลายจังหวัดแล้ว ในที่สุดมาถึง ต.บางเก่า อ.ชะอำ

ในช่วงนั้น วัดโตนดหลวง ไม่มีสมภาร ชาวบ้านไปพบก็เกิดความเลื่อมใส จึงนิมนต์ไปอยู่วัด เพื่อให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ.2448

บำเพ็ญประโยชน์ต่อพระศาสนา บูรณะวัดโตนดหลวงเดิม ซึ่งชำรุดทรุดโทรมให้ดีขึ้น ยังมีเมตตาจิตสร้างวัดช้างแทงกระจาด วัดท่าขาม และวัดเขาลูกช้าง ในด้านการศึกษาได้ช่วยสร้างอาคารเรียนให้ 3 ครั้ง

เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม มีความรู้ในทางแพทย์แผนโบราณ

อีกทั้งยังมีวิทยาคมขลัง จนมีผู้เลื่อมใสนับถืออยู่ทั่วไป ท่านมีชื่อเสียงในด้านการสักยันต์และลงกระหม่อม ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงและบรรดาศิษยานุศิษย์จากต่างถิ่น นิยมชมชอบเรื่องการสักยันต์ และลงกระหม่อม จึงทำให้มีคนเดินทางมายังวัดโตนดหลวงมากมาย กุฏิจึงแน่นขนัดไปด้วยลูกศิษย์ แม้แต่คนใหญ่คนโตระดับประเทศยังเคารพเลื่อมใส ถวายตัวเป็นศิษย์ และรักการสักยันต์ ตลอดจนให้ลงกระหม่อม

อาทิ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา, จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นต้น

 

ด้วยคุณูปการสร้างความเจริญแก่ท้องถิ่นชุมชนดังปรากฏผลงานมากมาย คณะสงฆ์จึงแต่งตั้งให้เป็นพระครู กรรมการศึกษา, พระอุปัชฌาย์ ในที่สุดได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูพินิจสุตคุณ

พ.ศ.2458 ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโตนดหลวง

เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ในช่วงสงครามอินโดจีน ท่านได้รับนิมนต์ให้เป็น 1 ใน 108 พระเกจิ ที่นั่งปลุกเสกพระพุทธชินราชที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย จัดสร้าง ณ พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม และพิธีพุทธาภิเษกครั้งสำคัญอีกหลายครั้ง อาทิ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในงานปลุกเสกแหวนมงคล 9, นิมนต์ท่านเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก พระเครื่อง งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งเป็นพิธีครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด

สำหรับวัตถุมงคลที่มีชื่อเสียง อาทิ เหรียญ, ลูกอม, แหวน เป็นต้น

มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2500 สิริอายุ 80 ปี