บทความพิเศษ /นงนุช สิงหเดชะ / ก็สร้าง ‘ปีศาจ’ กันทั้งนั้น

บทความพิเศษ /นงนุช สิงหเดชะ

 

ก็สร้าง ‘ปีศาจ’ กันทั้งนั้น

 

เป็นอันว่าในที่สุดพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคจากคดีเงินกู้ 191 ล้านบาท ที่พรรคนี้ไปกู้จากธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรค พร้อมกับเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหาร 10 กว่าคน เป็นเวลา 10 ปี ทำให้บรรดาแกนหลักของพรรค ไม่ว่าจะเป็นนายธนาธร นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค พรรณิการ์ วานิช เป็นต้น หมดสิทธิยุ่งเกี่ยวการเมือง 10 ปี

คำนวณอายุแล้ว ทั้งธนาธรและปิยบุตรจะสามารถกลับมาเล่นการเมืองอีกครั้งตอนอายุ 51 ปีและ 50 ปีตามลำดับ ซึ่งถ้าอายุยืนพอก็จะมีเวลาต่อสู้ทางการเมืองประมาณ 30 ปีเพื่อให้บรรลุอุดมการณ์ (อนุมานเอาว่าคนเราจะมีเรี่ยวแรงทางการเมืองไปจนถึงอายุประมาณ 80 ปีโดยเฉลี่ย)

ทั้งก่อนจะถูกยุบและหลังจากถูกยุบพรรค ประเด็นหนึ่งที่แกนหลักของพรรคอนาคตใหม่ พยายามปลุกขึ้นมาเพื่อให้เกิดกระแสปกป้องพวกเขาเองก็คือ การอ้างว่าถูกผู้มีอำนาจสร้างภาพให้พวกเขาเป็น “ปีศาจ” ด้วยข้อหาล้มล้างสถาบัน เพราะบรรดาอำนาจเก่าและอำมาตย์ทั้งหลายกลัวคนรุ่นใหม่ อำนาจใหม่อย่างพวกตนจะมาแทนที่

ก่อนจะมีคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองหรือคดีอิลลูมินาติ (ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่ถูกยุบจากคดีนั้น) ปิยบุตรขู่ว่าหากยุบจริง จะเกิดผลร้าย 3 อย่าง เช่น คนที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ มีคนรุ่นใหม่จำนวนมาก การฆ่าตัดตอนพรรคอนาคตใหม่ เท่ากับขีดเส้นแบ่งระหว่างรุ่น เกิดการปะทะขัดแย้งกันระหว่างรุ่น นอกจากนี้ อ้างว่าหากมีการยุบพรรคจริงตามคำร้องของผู้ร้อง ถือเป็นการนำสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทำลายกันทางการเมือง

หลังจากถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคจากคดีเงินกู้ 191 ล้านบาท คำว่าปีศาจก็ยังออกมาจากปากอดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่

 

ในประเด็นการสร้างความขัดแย้งแตกแยกระหว่างรุ่น (เก่ากับใหม่) นี้ หากทบทวนความจำให้ดี ปิยบุตรและพรรคอนาคตใหม่น่าจะเป็นผู้เริ่มมากกว่า เพราะจำได้ว่าช่วงหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง 24 มีนาคมปีที่แล้ว ปิยบุตรเคยพูดว่าเราไม่ควรปล่อยให้คน (แก่) ที่อีกไม่กี่ปีก็จะจากโลกนี้ไปแล้วมาเขียนกติกาให้เราทำตาม

คำพูดของปิยบุตรน่าจะถูกสาวกตีความว่า พวกคนรุ่นเก่า (ตามนิยามคือ 40 ปลายๆ หรือ 50 ปีขึ้นไป) เป็นพวกขัดขวางความเจริญ ไม่สมควรจะมามีส่วนร่วมหรือมีปากเสียงในพื้นที่การเมือง

ด้วยเหตุนั้น เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาปรากฏว่าพรรคพลังประชารัฐได้เก้าอี้มา 100 กว่าที่นั่ง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะอิทธิฤทธิ์ของนโยบายช่วยคนจนผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็ปรากฏว่าสาวกพรรคสีส้มเข้าไปแสดงความเห็นไว้อย่างน่ากลัว เช่น “พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ที่เลือกพรรคพลังประชารัฐ ต่อไปนี้ไม่ต้องมาขอเงินลูกหลานใช้นะ” (อันที่จริงส่วนใหญ่ทุกวันนี้มีแต่ลูกหลานทั้งนั้นที่แบมือขอเงินพ่อแม่ หรือปู่ย่า ตายาย ขนาดเบี้ยคนชรายังถูกลูกหลานแย่งเอาไปซื้อของฟุ่มเฟือย เช่นมือถือ เพราะอยากเป็นคนรุ่นใหม่ทันสมัย) หรือ “จะเอาไปปล่อยทิ้งที่บ้านคนชรา เห็นแก่บัตรคนจนดีนัก”

คำพูดของปิยบุตรน่าจะกระตุ้นให้สาวกเชื่อว่า มีเพียงคนรุ่นใหม่อายุน้อยๆ เท่านั้นจึงจะมีสิทธิกำหนดอนาคตประเทศนี้ ทั้งที่พลเมืองไทยทุกคนมีสิทธิเท่ากันที่จะคิดถึงอนาคตตัวเองและกำหนดอนาคตตัวเอง ไม่ว่าพวกเขาจะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้อีก 20-30 ปี หรือ 60 ปี

ปิยบุตรและพวกพูดเสมอว่า ฝ่ายมีอำนาจพยายามสร้างความเกลียดชัง แต่เนื้อแท้แล้วอนาคตใหม่และบรรดาสาวกก็ใช้โซเชียลมีเดียสร้างความเกลียดชังเช่นกัน มีการตอบโต้และด่าฝ่ายเห็นต่างอย่างหยาบคาย

 

ส่วนเรื่องการนำสถาบันกษัตริย์มาทำลายทางการเมืองนั้น อันที่จริงปิยบุตรและพวกเป็นฝ่ายไปแตะหรือดึงสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้องทางการเมืองก่อน เพราะการแสดงออกทั้งในเชิงสัญลักษณ์และคำพูดหลายครั้งของแกนนำพรรคนี้ วนเวียนอยู่กับสถาบันกษัตริย์ เพราะปิยบุตรและพวกน่าจะเล็งเห็นผลว่าการพูดฉวัดเฉวียนส่อเสียดสถาบันกษัตริย์ เป็นที่ชอบอกชอบใจของกลุ่มเป้าหมายทางการเมืองของตน

แม้แต่หลังจากถูกยุบพรรคก็ยังตั้งคณะชื่อว่า “คณะอนาคตใหม่” ซึ่งมีนัยยะสอดคล้องกับคณะราษฎร์ ที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง อันมีนัยพาดพิงสถาบันกษัตริย์อยู่ดี

เรื่องจะไม่เกิดถ้าปิยบุตรและพวกไม่ดึงสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้อง แต่เมื่อดึงมาเกี่ยวข้องก็ย่อมถูกประชาชนอีกฝ่ายตอบโต้ เมื่อถูกตอบโต้ปิยบุตรและพวกกลับโวยวายว่าคนเหล่านั้นใช้สถาบันมาทำลายพวกตน มาล่าแม่มด มาทำให้พวกตนเป็นปีศาจ

ในขณะที่ปิยบุตรและพวกโวยวายว่าถูกอำนาจเก่าสร้างภาพป้ายสีว่าเป็นปีศาจ แต่อย่าลืมว่าการกระทำของปิยบุตรและพวกก็กำลังสร้างภาพให้อีกฝ่ายเป็นปีศาจเช่นกัน ผ่านวาทกรรมต่างๆ เช่น เผด็จการ สืบทอดอำนาจเผด็จการ ทำให้ประเทศล้าหลัง ทำให้คนตกอยู่ในความกลัว ไม่มีเสรีภาพในการแสดงออก

พร้อมกับปลุกให้คนไทยกล้าออกมาสู้

 

แต่ปิยบุตรและพวกอาจประเมินอารมณ์คนไทยจำนวนไม่น้อยผิดพลาดไปก็ได้ อย่างเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนี่ คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจรู้สึกว่าเมืองไทยเสรีภาพมากไปจนล้น มันถึงได้วุ่นวายก็เป็นได้ ที่พวกเขาไม่ได้ออกมาบนท้องถนน ก็อาจไม่ใช่เพราะกลัวรัฐบาล แต่เป็นเพราะไม่เห็นความจำเป็นที่จะออกมาต่างหาก

ที่ว่าไม่มีเสรีภาพการแสดงความเห็นนั้น ไม่ค่อยจริงเท่าไหร่ เพราะไปเปิดดูโซเชียลมีเดีย รวมทั้งสื่อดั้งเดิมที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล ก็ยังเห็นด่ารัฐบาลกันได้อย่างเสรีและหยาบคายด้วย

สรุปแล้วถ้าจะมีการสร้างปีศาจ ทั้งอำนาจเก่าและอำนาจ (ของคนรุ่นใหม่) ต่างก็พากันสร้างปีศาจคนละตัวทั้งนั้น จุดประสงค์ก็คือโค่นอำนาจของอีกฝ่าย

สำหรับบรรยากาศหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็เห็นมีบรรดาคนที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง ออกมาติดแฮชแท็กต่อต้านคำวินิจฉัยของศาลอย่างสนุกสนาน คะนองปากคะนองมือ และมีไม่น้อยที่ใช้คำดูถูกประชาชนฝ่ายที่เลือกพรรครัฐบาล

ซึ่งเด็กเหล่านี้คงไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ก็คือการไม่รู้จักเคารพคนอื่น สร้างความแตกแยก และก็กำลังกลายเป็นเผด็จการไปแบบไม่รู้ตัว

อย่างไรก็ตาม การยุบพรรคอนาคตใหม่ จะทำให้เกิดกระแสต่อต้านกว้างขวางหรือไม่นั้น ขอหยิบเอาผลโพลจัดทำโดยซูเปอร์โพลเมื่อปลายปีที่แล้ว ในหัวข้อ “รู้สึกอย่างไรถ้ามีการยุบพรรคอนาคตใหม่” คำตอบคือ ร้อยละ 77.4 บอกว่าเฉยๆ ร้อยละ 10.5 บอกว่ามีผลดี ร้อยละ 12.1 บอกว่ามีผลเสีย

เมื่อแยกย่อยไปตามอายุพบว่า แม้แต่คนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 88.1 ก็ตอบว่ารู้สึกเฉยๆ ถ้าพรรคนี้ถูกยุบ เพราะว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่และความเดือดร้อนของพวกเขา นักการเมืองฝ่ายไหนก็เหมือนกันหมด