ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : โลงหินของพระบิดาแห่งกรุงโรม?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ สำนักข่าว BBC รายงานว่า ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ได้มีการขุดพบโลงหิน ที่ในวัฒนธรรมโรมันใช้สำหรับเป็นโลงศพ ที่มีศัพท์เรียกเป็นการเฉพาะว่า “sachopagus” ซึ่งนักโบราณคดีชาวอิตาเลียนเขาประเมินกันว่า เก่าแก่มากกว่า 2,500 ปีมาแล้วเลยทีเดียว

ที่สำคัญก็คือ โลงหินที่ว่านี้ขุดพบอยู่กับแท่นบูชารูปทรงกลม ตรงบริเวณ “เนินเขาพาลาไตน์” (Palatine hill) ซึ่งว่ากันว่าเป็นศูนย์กลางของกรุงโรม

หากจะนับเฉพาะพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไทเบอร์ (Tiber) ที่ไหลผ่านกรุงโรมนั้น ประกอบไปด้วยเนินเขาจำนวน 7 ลูก และเนินเขาไทเบอร์ก็ตั้งอยู่ตรงกลาง โดยมีเนินเขาลูกอื่นๆ โอบล้อมเอาไว้จริงๆ นั่นแหละนะครับ แต่นอกเหนือไปจากลักษณะทางภูมิศาสตร์แล้ว เนินเขาแห่งนี้ก็ยังมีตำนานที่เล่าถึงความเป็นศูนย์กลางของโรมอยู่ด้วย

ตำนานดังกล่าวเล่าว่า “พระบิดา” ผู้สร้างกรุงโรมที่ชื่อ “โรมูลุส” (Romulus) ได้สร้างเมืองแห่งนี้ขึ้นเมื่อ 753 ปีก่อนคริสตกาล โดยใช้เนินเขาพาลาไตน์นี่แหละ เป็นศูนย์กลางของเมือง

คำว่า “โรม” ก็เป็นชื่อที่ได้มาจากพ่อหนุ่มโรมูลุสนี่แหละ แต่โรมูลุสไม่ได้เป็นคนหัวเดียวกระเทียมลีบ เขายังมีฝาแฝดอีกคนที่ชื่อว่า “เรมุส” (Remus)

เรมุสและโรมูลุส เป็นลูกฝาแฝดของเจ้าหญิงรีอา ซิลเวีย (Rhea Silvia) แห่งเมืองอัลบา ลองกา (Alba Longa) ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของโรม พระอัยกาคือคุณตาของสองหนุ่มน้อยคนนี้คือ กษัตริย์นูมิเตอร์ (Numitor) ถูกพี่ชายแท้ๆ ของตัวเองที่ชื่อ อะมูลิอุส (Amulius) ปราบดาภิเษกขึ้นมา

อีตาตัวโกงคนนี้จัดการฆ่ารัชทายาทที่เป็นลุงของฝาแฝดพระเอกของเรา และบังคับให้แม่ของฝาแฝดคู่นี้ไปเป็นนักบวชผู้รับใช้เวสป้า เทพีแห่งครอบครัว (Vestal Virgin) ที่ผมวงเล็บภาษาอังกฤษให้ก็เพื่อจะบอกว่านักบวชในอารามเทพีองค์นี้ยังเป็นสาวบริสุทธิ์

ดังนั้น เรมุส และโรมูลุส จึงไม่ได้มีพ่อเป็นแค่ปุถุชนธรรมดา พ่อของเค้าบ้างก็ว่าคือ มาร์ (Mars, หรือเทพอาเรส [Ares] ของกรีก) เทพเจ้าแห่งสงคราม แต่บางสำนวนก็ว่าเป็นเฮอร์คิวลิส (Hercules) จึงได้สามารถเสกลูกแฝดคู่นี้เข้าไปยังท้องของหญิงสาวได้ โดยไม่แปดเปื้อนมลทินใดๆ นั่นเอง

แต่พ่อของสองหนุ่มนี่จะเป็นใครก็ไม่มีผลต่อท้องเรื่องหรอกนะครับ เพราะในท้ายที่สุด อีตาตัวโกงอะมูลิอุสก็จับสองแฝดนี่ไปทิ้งแถวแม่น้ำไทเบอร์ ด้วยหวังใจว่าจะให้ตายซากไปเอง เพราะกลัวจะเป็นหนามยอกอกเอาในภายหลัง

แต่ขึ้นชื่อว่าพระเอกแล้ว จะมาตายตั้งแต่ต้นเรื่องได้อย่างไรกัน ปาฏิหาริย์ที่เป็นจุดพีกของเรื่องนี้ก็คือแม่น้ำไทเบอร์ไม่ยอมให้สองหนุ่มนี่ตาย จึงได้ดูแลฝาแฝดคู่นี้เอาไว้ จากนั้นอยู่ๆ ก็มีแม่หมาป่า (she-wolf ที่มีชื่อในภาษาละตินว่า Lupa) มาให้นมเรมุสและโรมูลุส จนเด็กน้อยทั้งคู่รอดตาย

พวกโรมถือว่าฉากตอนนี้นี่เป็นไคลแมกซ์ของเรื่องเลยนะครับ เพราะถ้าลูปาเธอไม่โผล่ออกมา ทั้งเรมุสและโรมูลุสก็คงสิ้นใจตายไปหมดตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว และกรุงโรมก็คงไม่ได้กำเนิดขึ้นมาแน่ๆ

ดังนั้น ในกรุงโรมจึงมีการสร้างรูปแม่หมาป่าให้นมฝาแฝดคู่นี้กันอยู่บ่อยๆ เพราะถือเป็นสัญลักษณ์ของเมือง โดยตำนานยังเล่าต่อไปด้วยว่า ที่อยู่ของแม่หมาป่าตัวนี้ ก็ไม่ใช่สถานที่อื่นไกลที่ไหน แต่เป็นถ้ำแห่งหนึ่ง ที่วางตัวอยู่ในเนินเขาพาลาไตน์นี่เอง ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ในภายหลัง โรมูลุสจะเลือกเนินเขาแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของกรุงโรม ที่ตนเองเป็นคนสร้างขึ้นมากับมือ

 

เรื่องราวต่อจากนั้น ก็คือว่ามีคนเลี้ยงแกะได้มาพบฝาแฝดคู่นี้เข้า จึงเก็บเอามาเลี้ยง ทั้งเรมุสและโรมูลุสจึงได้ดำรงตนเป็นคนเลี้ยงแกะมาจนโตเป็นหนุ่มเหน้า

และเมื่อเติบใหญ่ขึ้นมาแล้ว พ่อหนุ่มแฝดคู่นี้ก็ได้รับรู้เรื่องความแค้นแต่หนหลังของครอบครัวตัวเองเข้า ก็เลยได้กลับไปแก้แค้นอะมูลิอุส จนเลือดนองท่วมราชสำนัก ก่อนจะกลับไปเชิญกษัตริย์นูมิเตอร์ พระอัยกาของพวกตนเอง กลับมาครองบัลลังก์ราชย์

แน่นอนครับว่า ฝาแฝดคู่นี้ก็มีสิทธิที่จะครองบัลลังก์องค์เดียวกันนี้ที่เมืองอัลบา ลองกา แต่พวกเขาเลือกที่จะไปหาที่สร้างเมืองกันเองมากกว่า พวกเขาทั้งสองคนเดินทางมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไทเบอร์ โรมูลุสเห็นว่าควรสร้างเมืองที่เนินเขาพาลาไตน์ แต่เรมุสไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าควรสร้างเมืองบนเนินเขาอเวนไตน์ (Aventine hill) ที่อยู่ทางใต้สุดของเนินเขาทั้ง 7 ลูกมากกว่า

เรื่องราวบานปลายไปจนกระทั่งทั้งคู่ทะเลาะกันใหญ่โต จนถึงขั้นทำการประลองกันในที่สุด และก็เป็นโรมูลุสที่เป็นฝ่ายชนะการประลอง โดยมีซากศพของเรมุสเป็นเครื่องยืนยันชัยชนะในครั้งนั้น

จากนั้นโรมูลุสจึงได้สร้างกรุงโรมลงบนเนินเขาพาลาไตน์ แล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งโรม

 

และก็เป็นเพราะตำนานที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ ที่ทำให้เมื่อมีการขุดพบโลงหินที่สำนักข่าว BBC รายงานนั้นก็ทำให้มีคนเชื่อว่า โลงหินดังกล่าวคือโลงศพของโรมูลุส (ถึงแม้ว่าอายุสมัยของโลงจะอ่อนกว่าปีศักราชที่ตำนานระบุว่า โรมูลุสมีชีวิตอยู่ถึงเกือบ 200 ปีก็เถอะ)

แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ โลงหินใบนี้เป็นโลงเปล่าๆ นะครับ ไม่ได้มีซากโครงกระดูกอะไรบรรจุไว้อยู่ภายในเลย

และก็เป็นเพราะการที่ไม่พบอะไรอยู่ในโลงหินใบนี้นี่เอง ที่ทำให้นักโบราณคดีอิตาเลียนอย่างอัลฟองซิน่า รุสโซ่ (Alfonsina Russo) ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการของ Rome”s Colosseum Archaeological Park เสนอว่า สถานที่ซึ่งขุดพบโลงหินนี้ ไม่ใช่สุสานของโรมูลุส แต่เป็นเหมือนอนุสาวรีย์ หรือพื้นที่พิเศษ ซึ่งมีการเฉลิมฉลองลัทธิบูชาโรมูลุส

คำอธิบายของรุสโซ่ถือได้ว่าน่าฟังทีเดียวนะครับ โดยเฉพาะเมื่อพวกโรมันมีความเชื่อที่ว่า โรมูลุสไม่ได้ตาย แต่ได้ขึ้นไปบนสวรรค์แล้วกลายเป็นเทพเจ้าที่มีชื่อว่า “ควิรินุส” (Quirinus) ต่างหาก

โลงหินที่ถูกขุดพบนี้ จึงคงไม่ใช่โลงศพที่ใช้สำหรับฝังร่างของโรมูลุสอย่างที่ผู้อำนวยการรุสโซ่ว่าไว้นั่นแหละ แต่เป็นเครื่องใช้ในการประกอบพิธีกรรมบางอย่างในการเฉลิมฉลองของลัทธิบูชาโรมูลุส โดยเฉพาะเมื่อเราไม่รู้ว่าโรมุลุสมีตัวตนอยู่จริงหรือเปล่าเสียด้วยซ้ำไป