จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 6-12 มีนาคม 2563

จดหมาย

0 ยุทธศาสตร์ชาติ

 

เห็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) แล้วใจหาย

เพราะทะเลหายไป

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนี้ บอกในคำนำว่า เป็นยุทธศาสตร์ฉบับแรกของประเทศไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และใช้ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2561

เป็นอันว่า เมืองไทยมียุทธศาสตร์อย่างเป็นทางการ เป็นของจริง ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ ใช้แล้วหรือของปลอม ที่สำนักต่างๆ อุปโลกน์ขึ้น

ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 บอกวิสัยทัศน์ว่า ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ในยุทธศาสตร์ชาติ มีการตั้งผู้ประเมินยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ได้แก่ คณะกรรมการด้านความมั่นคง ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิต ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

ในการประเมินยุทธศาสตร์ทั้ง 6 เงื่อนไขนั้น

ไม่มีเลยที่ระบุหรือแม้แต่พาดพิงว่า ประเทศไทยมีทะเล

ทะเลที่มีศักยภาพ เสริมสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ตามวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้

ไม่มีเงื่อนไขอะไรที่บอกเป็นพื้นฐานของยุทธศาสตร์ที่ว่า ประเทศไทยมีตำบลที่อยู่ในสุวรรณภูมิ

อันแวดล้อมด้วยกลุ่มประเทศทั้งในอาเซียนและไกลโพ้น อันเกื้อกูล หรือเป็นอุปสรรคต่อความปรองดอง หรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่เป็นผลต่อความมั่นคง และมั่งคั่งของประเทศ

ประเมินยุทธศาสตร์ชาติ โดยขาดเงื่อนไขภูมิศาสตร์ หรือภูมิประเทศ ทั้งที่ประเทศไทยมีฝั่งทะเลยาว 15,000 ไมล์ทะเล

 

อย่างไรก็ตาม มีเรื่องของทะเลโผล่มาอยู่ในหัวข้อ ด้านความมั่นคง

เป็นหัวข้อปลีกย่อย 4.2.4 การรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งทางบกและทางทะเล

ในหัวข้อย่อย 4.2 การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ของหัวข้อใหญ่ 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง

ก็แสดงว่า ทะเลเป็นเรื่องปลีกย่อยต่อความมั่นคงและมั่งคั่งของประเทศ

การประเมินยุทธศาสตร์ชาติโดยไม่มีเงื่อนไขที่ประเทศชาติมีทะเลโดยประเมินไปตามจิตใต้สำนึกของคุณลักษณะชนชาติ ยากที่จะกล่าวถึงคุณลักษณะชนชาติไทยหรือผู้ร่างยุทธศาสตร์ แต่ก็ไม่ยากนัก

เช่น การไปดูที่หน่วยงานการขนส่งและการเดินทางของประเทศ คือ กระทรวงคมนาคม

ที่แบ่งส่วนราชการระดับกรม : กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมเจ้าท่า กรมท่าอากาศยาน กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางราง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักการบินพลเรือน

กับส่วนที่เป็นรัฐวิสาหกิจ : บริษัท การบินไทย จำกัด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด การท่าเรือ การรถไฟ บริษัทขนส่ง จำกัด การทางพิเศษ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย และสถาบันการบินพลเรือน

กล่าวคือ เป็นเรื่องทางบกและทางอากาศทั้งสิ้น

มีแววทางน้ำบ้าง คือการท่าเรือ ที่มีภูมิลำเนาริมทะเล

ยุทธศาสตร์ชาติไทยมิได้สำนึกเลยว่า น้ำในคลองมอญ ไปได้ถึงคลอดสุเอซ คลองปานามา ฯลฯ

ยุทธศาสตร์ชาติ ขาดทะเล

พลเรือโทพัน รักษ์แก้ว

 

ใครจะลืม

แต่พลเรือโทพันไม่ลืม

นั่นคือ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ

จึงเขียนจดหมายมาตั้งข้อสังเกต

ยุทธศาสตร์ชาติ ขาดทะเลหรือเปล่า

หรือถึงไม่ขาด ก็เป็นเรื่องปลีกย่อย

สะท้อนถึงการไม่เอาใจใส่

ซึ่งก็น่าสนใจ

แต่ที่น่าสนใจกว่าก็คือ ตั้งแต่มีรัฐบาลลุงตู่

เห็นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามือเป็นระวิง

จึงอย่าไปถามเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ เดี๋ยวโดนวีน

เอาแค่ให้รอดได้ในแต่ละวัน ก็เป็นบุญแล้ว

เรือเหล็กรั่ว

เขาว่าอุดยากใช่ไหมครับ ท่านนายพล

หรือเขาจะแปลงรัฐนาวาเป็นเรือดำน้ำ

แบบถึงไม่มียุทธศาสตร์ชาติ “ทะเล”

แต่ก็ได้เรือดำน้ำ–แล้วจะเอายังไงกันอีกหือ