เศรษฐกิจ / ท่องเที่ยว ‘โคม่า’ ติดเชื้อโควิด ส่งออกยังต้องลุ้น ถึงเวลา รบ.เร่งสปีด…จะกระต่ายหรือเต่า เข็นมาตรการกระตุ้น ศก.

เศรษฐกิจ

 

ท่องเที่ยว ‘โคม่า’ ติดเชื้อโควิด

ส่งออกยังต้องลุ้น

ถึงเวลา รบ.เร่งสปีด…จะกระต่ายหรือเต่า

เข็นมาตรการกระตุ้น ศก.

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ล่าสุดกำลังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการท่องเที่ยวไทย

เนื่องจากทางการจีนได้ออกมาประกาศปิดประเทศ ไม่ให้มีการเดินทางเข้าหรือออกของบริษัททัวร์นำเที่ยว เพื่อควบคุมโรคติดต่อ

ทำให้นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายหลักของประเทศไทยหายไปจำนวนมาก

รวมถึงนักท่องเที่ยวจากชาติอื่นๆ ก็เกิดความกังวล ชะลอการเดินทางและหายไปด้วยเช่นกัน

สะท้อนได้จากแหล่งทองเที่ยวสุดฮิต ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ ที่ผู้ประกอบการหลายรายต้องยอมแพ้ เลิกกิจการ เพราะรายได้เริ่มถดถอยน้อยลงจนไม่พอรองรับรายจ่ายที่อยู่เท่าเดิม

แม้แต่คนขับรถแท็กซี่ในเชียงใหม่ก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดหนัก จนนักท่องเที่ยวจีนหายไปเกือบทั้งหมด

จากที่เคยมีรายได้เฉลี่ยวันละประมาณ 1,000 บาท เหลือไม่ถึง 500 บาท ไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดรถกับบริษัทไฟแนนซ์เดือนละประมาณ 10,000 บาทต่อคัน

คนขับรถแท็กซี่หลายรายจึงต้องยอมแพ้และทยอยคืนรถร่วมเกือบ 100 คันแล้ว

สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประเทศไทย แม้จะยังไม่รุนแรงถึงจุดสูงสุด แต่จำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และล่าสุดมีผู้เสียชีวิตรายแรกในประเทศไทยแล้ว

ตามติดด้วยข่าวแรงงานไทยที่ลักลอบไปทำงานในเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมายได้ขอกลับประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เพราะกังวลการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในเกาหลี ได้สร้างความกังวลแบบทวีคูณให้กับคนไทยที่อยู่ในประเทศว่าจะเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 มากยิ่งขึ้น

ย่อมหมายความว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสในไทยคงจะกระอักเลือดขึ้นมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน

 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า สถิติของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทย ก่อนรัฐบาลจีนจะประกาศปิดเมืองอู่ฮั่น เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 มีอัตราการเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น 2%

แต่นับจากวันหลังประกาศปิดเมืองอู่ฮั่นจนถึงสิ้นกุมภาพันธ์ 2563 อัตราการเดินทางเข้าไทยลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 มากกว่า 40%

โดยประเทศที่ลดลงมากสุด แน่นอนคือจีน เพราะก่อนปิดเมืองอู่ฮั่น จีนเข้าไทยเพิ่มขึ้น 14% หลังประกาศปิดเมือง จีนลดลง 80% รวมถึงตลาดนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ก็ลดลง

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างไปยังเกือบทุกภูมิภาคของโลก จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวหายไปตลอดปี 2563 อยู่ที่ 6 ล้านคนเป็นอย่างน้อย หากเทียบกับปี 2562 ที่มีจำนวน 39.8 ล้านคน หรือมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้าไทยมากที่สุดได้เพียง 33 ล้านคน ใกล้เคียงปี 2559 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยประมาณ 32.5 ล้านคน

ส่วนผลกระทบต่อรายได้ คาดว่าจะสูญเสียเบื้องต้น 3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้

 

ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวไทยกำลังเจอวิกฤตหนักจนไร้ทิศทางที่จะเดินหน้าสร้างรายได้เข้าประเทศ ค่าเงินบาทกลับได้อานิสงส์อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว จากห้วงเวลา 1 ปีเต็มที่ผ่านมาบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาคส่งออกก็น่าจะได้รับอานิสงส์จากบาทอ่อนค่า ช่วยให้มีกำไรเพิ่มขึ้นและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่ง น่าจะกลับมาทวงตำแหน่งพระเอกเบอร์ 1 ในการผลักดันภาวะเศรษฐกิจ หรือจีดีพีของไทยขึ้นมาได้ โดยตัวเลขค่าเงินบาทเคลื่อนไหวที่ระดับ 31.30-31.60 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และเคยอ่อนค่าต่ำสุดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ระดับ 31.90 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากช่วงที่ผ่านมาแข็งค่าระดับ 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐมาตลอด

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่า ภาคการส่งออกไทยจะกลับมาสดใสอีกครั้ง คงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือน เพราะในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มอาหารที่ส่งออกไปจีนมีทิศทางดีมาก

แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถส่งเข้าไปจีนได้ตามปกติ เนื่องจากเส้นทางการขนส่งโลจิสติกส์บางเส้นทางยังมีการปิดไม่ให้ใช้บริการอยู่

ส่วนบางเส้นทางที่เปิดทำการแล้ว ก็ยังมีเจ้าหน้าที่เข้ามาให้บริการไม่เต็มที่ หรือยังไม่เป็นปกติดี จึงยังมีการสะสมของตู้คอนเทนเนอร์ที่ส่งไปก่อนหน้านี้ แต่ยังบริหารจัดการออกได้ไม่หมด จึงประเมินว่าความต้องการในสินค้าและบริการจากผู้ส่งออกไทยในจีนนั้น ยังมีอยู่ แต่ยังต้องรอเวลาเล็กน้อย เพื่อให้ระบบโลจิสติกส์ของจีนสามารถกลับมาทำงานได้เต็มที่อย่างน้อย 80% ก่อน จะทำให้ยอดขายหรือยอดการส่งออกกลับมาเพิ่มขึ้นได้พอสมควร

สำหรับตลาดที่ยังสามารถขยายได้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤต เป็นสินค้าพื้นฐานที่สามารถไปได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว หากจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้นจะเป็นในช่วงที่ขนส่งโลจิสติกส์ของจีนกลับมาทำงานตามปกติ 100% และความเชื่อมโยงของระบบซัพพลายเชนที่เกี่ยวเนื่องกับจีนกลับมามีความต้องการพร้อมกันอีกครั้ง เพราะการที่ตลาดการส่งออกจะฟื้นตัวได้นั้น ความต้องการในด้านสินค้าและบริการ รวมถึงการผลิตจะต้องกลับมาพร้อมกัน เพื่อเดินหน้าไปด้วยกัน

โดยสิ่งที่ภาครัฐต้องเร่งรัดทำต่อจากนี้คือ ต้องประคองให้ภาคธุรกิจอยู่ได้ท่ามกลางสถานการณ์ และปัจจัยเสี่ยงต่อไป

 

ล่าสุดหลังจากจีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แล้ว รัฐบาลจีนได้จัดเตรียมวงเงินถึง 10 ล้านล้านหยวน เพื่ออัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจีน โดยหนึ่งในมาตรการเบื้องต้นที่เตรียมดำเนินการคือ การลดภาษี เพื่อกระตุ้นให้ผู้มีความสามารถในการใช้จ่าย ออกมาใช้เงินมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะดึงดูดใจให้คนจีนกระเป๋าหนัก ออกมาใช้จ่ายมากขึ้นได้ เพราะในช่วงที่ผ่านมา

คนจีนส่วนใหญ่อัดอั้นกับการเลือกซื้อสินค้าที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการ

หากประเทศไทยโดยภาครัฐจะใช้มาตรการลดภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย จะมีความน่าสนใจมาก เพราะจริงๆ แล้วรัฐบาลเคยออกมาตรการที่คล้ายคลึงกัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

อาทิ การลดหย่อนภาษีต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก จึงเชื่อว่าหากมีมาตรการทางภาษีที่โดนใจ ออกมากระตุ้นการใช้จ่ายแบบจัดหนักจัดเต็ม น่าจะเป็นอีกแรงเสริมหลักที่จะสามารถสร้างแรงจูงใจทั้งในแง่ของการเดินทางท่องเที่ยว และการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้นได้

ประเมินแล้วภาคการท่องเที่ยวน่าจะโตได้ไม่สวยเท่าที่ควร ส่วนภาคการส่งออกจะกลับมาสดใสไร้มลทิน จนสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยฝ่าวิกฤตไวรัสตัวร้ายไปได้หรือไม่

  คงต้องฝากความหวังไว้ที่ภาครัฐ หลังหมดห่วงศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านไปแล้ว จะเร่งสปีด กดปุ่มสตาร์ตมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน ก้าวข้ามวิกฤตไปพ้นหรือไม่…มาดูกัน