แมลงวันในไร่ส้ม/ แฟลชม็อบ-ยูธเควก เมื่อคนรุ่นใหม่ ‘เดือด’ ฮือเขย่า ‘การเมือง’

แมลงวันในไร่ส้ม

แฟลชม็อบ-ยูธเควก

เมื่อคนรุ่นใหม่ ‘เดือด’

ฮือเขย่า ‘การเมือง’

 

การเคลื่อนไหวแฟลชม็อบภายหลังศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่กำลังเป็นที่จับตาและถกเถียงว่า “จุดติด” หรือไม่ และจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

การลุกขึ้นของเยาวชน นิสิต นักศึกษาในครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายย้อนรำลึกถึงการลุกฮือของนิสิตนักศึกษาเมื่อปี 2516 ขับไล่เผด็จการที่เรียกว่า “สามทรราช” ต้องลี้ภัยไปนอกประเทศ ก่อนจะโดนปราบปรามอย่างรุนแรงในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519

คนหนุ่ม-สาวหลั่งไหลเข้าป่า กลายเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก่อนที่กระแสคอมมิวนิสต์จะตกต่ำ รัฐบาลสมัยนั้นออกคำสั่ง 66/2523 เปิดโอกาสให้คนหนุ่ม-สาวกลับมาเรียนต่อ ประกอบอาชีพตามปกติได้

ทำให้สงครามคอมมิวนิสต์ในประเทศลดความรุนแรง ก่อนที่ พคท.ลดปฏิบัติการลงจนยุติในที่สุด

และนั่นคือ youthquake ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ

 

มติชนออนไลน์รายงานเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ว่า สื่อออนไลน์ญี่ปุ่น นิกเคอิเอเชี่ยนรีวิว ตีแผ่ปรากฏการณ์ “ยูธเควก” พลังคนรุ่นใหม่ที่กำลังสั่นสะเทือนสังคมไทย ระบุว่า “ยูธเควก” หรือแรงสั่นสะเทือนจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ในประเทศไทย ที่ถูกสังคมยุคเก่ากดทับมาเป็นเวลานาน ลุกขึ้นแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อกลุ่มอนุรักษนิยมผู้มีอำนาจ รวมไปถึงรัฐบาลทหาร มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

รายงานที่เปิดให้ดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของนิกเคอิ ระบุว่ากลุ่มเยาวชนที่เกิดในช่วงทศวรรษที่ 90 ในสังคมไทยกำลังแสดงความไม่พอใจต่อวิกฤตการเมืองในสังคมไทย โดยเฉพาะในยุครัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากรัฐบาลทหาร

โดยยกตัวอย่างกลุ่มนักดนตรีฮิปฮอป RAD หรือ Rap Against Dictatorship เจ้าของเพลงประเทศกูมี รวมไปถึง โชติรส นาคสุทธิ์ เจ้าของเพจ สตรีผู้หลงใหลในบทกวี เพจเจ้าแม่ และเพจยั่ว-Yed เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่เริ่มกล้าที่จะแสดงออกและเป็นเสียงสะท้อนความไม่พอใจของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยที่มีมากขึ้น

“เราควรที่จะสามารถลุกขึ้นมาท้าทายวัฒนธรรมอนุรักษนิยมและสิ่งที่รัฐบาลบอกเกี่ยวกับประเทศไทยว่าเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม ผู้คนมีความสุข ซึ่งนั่นเป็นเพียงนิทานและเป็นโฆษณาชวนเชื่อของกระทรวงท่องเที่ยวของไทย” โชติรสระบุในรายงาน

กลุ่มคนรุ่นใหม่มองว่าประเทศไทยกำลังก้าวถอยหลัง โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่หดตัวลงเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่หางานทำได้ยากขึ้น ภาวะว่างงานของนักศึกษาจบใหม่กำลังขยายตัว กลายเป็นสถานการณ์ที่คนรุ่นใหม่กำลังมองว่าประเทศกำลังอยู่ในสถานการณ์สิ้นหวัง

และระบุถึง “พรรคอนาคตใหม่” ในหัวข้อ “อนาคตอันยากลำบาก” ว่าเป็นพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ ครองเก้าอี้ในสภาได้ถึง 81 ที่นั่ง กลับถูกจ้องเล่นงานจากกลุ่มอนุรักษนิยม

กลุ่มอำนาจด้านความมั่นคงใช้วิธีการต่อสู้กับคนรุ่นใหม่ด้วยวิธีการแบบเผด็จการยุคเก่า สร้างเฟซบุ๊กแฟนเพจสอดส่องและรับแจ้งเรื่องราวกิจกรรมที่แสดงถึงความไม่รักชาติ รัฐบาลตั้ง “วอร์รูม” สอดส่อง “เฟกนิวส์” และพยายามกล่าวหากิจกรรมทางออนไลน์บางอย่างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง

นิกเคอิระบุว่า กลุ่มอำนาจเก่าในกองทัพซึ่งใช้ประโยชน์จากความแตกแยกทางการเมืองและสังคม เวลานี้กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่เอาชนะได้ยากมาก นั่นก็คือ “ความแตกแยกระหว่างวัย”

ขณะที่ขอบเขตทางการเมืองจะไม่ใช่เมืองกับชนบท หรือเมืองหลวงกับต่างจังหวัดอีกต่อไป แต่จะเป็น “โซเชียลมีเดีย” ขอบเขตซึ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่กำลังมีชัยชนะในสนามนี้

คำว่า youthquake ยูธเควก ที่นิกเคอินำมาใช้ เป็นคำศัพท์แห่งปี 2017 ของพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด ตัวศัพท์เป็นการผสมคำว่า Youth ที่แปลว่าคนหนุ่ม-สาว และคำว่า Quake ที่แปลว่าสั่นสะเทือนไว้ด้วยกัน

youthquake มีความหมายว่า “การเปลี่ยนแปลงทางสังคม, การเมือง และวัฒนธรรมที่สำคัญ ที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวหรืออิทธิพลของคนหนุ่ม-สาว” ซึ่งหมายถึงการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่ออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในปี 2017

คำนี้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2017 เพราะคนหนุ่ม-สาวจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนนายเจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงานในการเลือกตั้ง และสื่อของอังกฤษใช้คำว่า youthquake เรียกการเคลื่อนไหวในครั้งนั้น

คำนี้ใช้มานานหลายสิบปีแล้ว เช่น เมื่อปี 1965 บรรณาธิการของนิตยสารโว้กก็เคยใช้คำนี้เรียกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับวงการแฟชั่น แนวเพลง ฯลฯ โดยคนหนุ่ม-สาวในยุคนั้น

 

ส่วนการเคลื่อนไหวแฟลชม็อบ กลายเป็นโจทย์ที่ฝ่ายผู้มีอำนาจกำลังหาหนทางจัดการ

แฟลชม็อบเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ธรรมศาสตร์, มหิดล, เกษตรศาสตร์, มศว, แม่โจ้, แม่ฟ้าหลวง, ศิลปากร, ราชภัฏ และโรงเรียนมัธยมต่างๆ

ด้วยรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงจากม็อบหรือการชุมนุมที่ผ่านๆ มา นัดหมายและชุมนุมในเวลาจำกัด สื่อความหมายด้วยกระดาษแผ่นเล็กๆ ใช้ลายมือ

ดนตรีในการชุมนุม เปลี่ยนไปใช้เพลงร่วมสมัย เพลงประท้วงยุคเก่าที่นำมาใช้ มีเพียงแสงดาวแห่งศรัทธา ของจิตร ภูมิศักดิ์ และเพื่อมวลชน ของวงกรรมาชน วงดนตรีนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อปี 2516

เปิดแฟลชหรือไฟฉายในสมาร์ตโฟน แสดงถึงการยืนหยัดในข้อเรียกร้องเดียวกัน คือทวงความเป็นธรรม ทวงประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะยิ่งขยายกว้างขวางออกไป

ที่สำคัญคือพุ่งเป้าไปที่รัฐบาล โดยเริ่มมีหลายเวทีเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย และเลือกตั้งใหม่

นักกิจกรรมชื่อดัง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ว่า เรื่องใหญ่ที่ต้องตามกันต่อคือความเคลื่อนไหวของคนหนุ่ม-สาว นักเรียน นิสิต นักศึกษา

อยากจะเน้นย้ำให้น้องๆ ยึดหลักการประชาธิปไตยอันมีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างเคร่งครัด อะไรสุ่มเสี่ยงอย่าไปทำ อย่าไปเปิดช่องให้อีกฝ่ายหนึ่งโจมตีหรือทำลายความชอบธรรม ทำลายความบริสุทธิ์ของพลังนี้ได้

ถึงตรงนี้เชื่อว่าหลังจากนี้คงมีข้อเรียกร้อง คงมีคำประกาศต่างๆ ตามมาให้สังคมได้รับรู้และพิจารณา เพียงแต่นิสิต-นักศึกษาต้องมองให้ขาดว่า คนกลุ่มนี้ไม่ธรรมดา เคยจัดการการชุมนุมของประชาชนมาแล้วในปี 2552 และ 2553

อย่าประมาทหัวจิตหัวใจของคนที่มีอำนาจบาตรใหญ่อยู่ในบ้านเมือง ตนเคยเจอมาแล้ว

และกล่าวถึงรัฐบาลว่า ผู้มีอำนาจก็ต้องตั้งสติดีๆ ลูกหลานที่ออกมาไม่ใช่ศัตรูของชาติ และไม่ใช่ศัตรูของท่าน

เขาเพียงต้องการสังคมประชาธิปไตยอย่างที่ทุกฝ่ายยอมรับและอย่างที่ท่านเองก็ประกาศอยู่ทุกวัน

เมื่อไหร่ท่านมองคนหนุ่ม-สาวบุตรหลานเป็นศัตรู เมื่อนั้นเท่ากับท่านกำลังประกาศสู้กับคนทั้งแผ่นดินเหมือนกัน ดังนั้น สิ่งที่ควรจะเป็นคือ ผู้มีอำนาจต้องรู้จักฟังและรู้จักพอ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม และพวก เข้ามามีอำนาจจนถึงวันนี้ 6 ปี พอได้แล้ว

เพราะคนส่วนใหญ่ได้ข้อสรุปแล้วว่าท่านแก้ปัญหาอะไรไม่ได้

นั่นคือภาพรวมของการเคลื่อนไหวของคนหนุ่ม-สาว ที่สร้างความพรั่นพรึงให้คนรุ่นเก่าที่ครองอำนาจ

และน่าติดตามว่า จะนำไปสู่สถานการณ์ใดหรือไม่