ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 มีนาคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ
ย้อนไทม์ไลน์และวาทะ
ก่อน ‘ธนาธร-ปิยบุตร-อภิรัชต์’ เจรจา ว.5
จับกระแส สะเทือนเก้าอี้ ‘บิ๊กแดง’
จับตาพลัง ‘นายพลสายบุ๋น’ แทรก ‘ทหารคอแดง’?
ท่ามกลางความเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในลักษณะแฟลชม็อบในหลายมหาวิทยาลัย จนถึงระดับมัธยม ที่แสดงจุดยืนต่อต้านบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม และความไม่ยุติธรรมในสังคม หลังศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมตัดสิทธิ์ทางการเมืองแกนนำพรรค
รวมถึงการแสดงออกในเชิงหมิ่นเหม่ จน พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมาเตือนว่า อย่าหมิ่นสถาบัน
ทุกสายตาจับจ้องไปที่บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่ได้ชื่อว่าเป็นทหารสาย royalist ผู้ปกป้องสถาบัน ที่ดูจะนิ่ง เงียบ หายไป
หลังหลั่งน้ำตาแถลงขอโทษต่อเหตุการณ์จ่าทหารกราดยิงที่โคราช ตามมาด้วยการจูงสุนัขทหาร เทียบกับพวกชังชาติ
แล้วก็เงียบหายไป…
เพราะอยู่ระหว่างการเดินทางไปเยือนกองทัพบกสหรัฐอเมริกา และไปปฏิบัติภารกิจในฐานะ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904
แต่ทว่าชื่อของ พล.อ.อภิรัชต์ถูกเอ่ยอ้างถึงอย่างหนัก ทั้งในกระแสข่าวจริงและข่าวลือ
โดยเฉพาะจากปฏิบัติการเจรจาลับกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ที่ถูกเปิดเผยออกมา
และทำให้นายปิยบุตรให้สัมภาษณ์ยอมรับว่ามีการคุยกันจริง
ขณะที่ เสธ.โหน่ง พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็ยอมรับว่าเป็นคนประสานการเจรจาระหว่างนายธนาธร นายปิยบุตร กับ พล.อ.อภิรัชต์ เมื่อต้นเดือนกันยายน 2562
ทั้งนี้ ก็เพื่อนำนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ที่เกี่ยวกับกองทัพไปนำเสนอทั้งการปฏิรูปกองทัพ การยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร และการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
แม้ พล.ท.พงศกรจะไม่ได้ไปร่วมวงเจรจาด้วย แต่ก็รู้ในภายหลังว่า ท่าทีของ พล.อ.ภิรัชต์ไม่ได้ตอบรับอะไร
เพราะ 11 ตุลาคม 2562 พล.อ.อภิรัชต์ก็ขึ้นเวทีบรรยายพิเศษ “แผ่นดินของเรา” ถล่มแกนนำพรรคอนาคตใหม่แบบเต็มๆ แม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อ แต่นายธนาธรก็โดนเต็มๆ รวมทั้งใช้คำว่าฮ่องเต้ซินโดรม
โดยเฉพาะการถล่มนักวิชาการและนักการเมือง ที่จับมือกันล้างสมองคนรุ่นใหม่
รวมทั้งประกาศคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1 หวั่นจะกระทบหมวดพระมหากษัตริย์ และการแบ่งแยกประเทศ
นั้นเป็นการสะท้อนผลการเจรจาลับ ที่ไม่เป็นผล…
เพราะนายปิยบุตรก็ระบุว่า ไม่มีการตกลงเรื่องผลประโยชน์ใดๆ
“ก็อย่างที่เห็น เมื่อคุยแล้ว พล.อ.อภิรัชต์ก็ขึ้นเวทีบรรยายพิเศษ แล้วผมก็ออกมาแถลงตอบโต้”
หากย้อนไทม์ไลน์ความเคลื่อนไหวของ พล.อ.อภิรัชต์ ก่อนการเจรจาจะพบว่า มีการออกมาประกาศว่า กำลังเขียนบทความเชิงวิทยานิพนธ์ ชำแหละการเมือง และโซเชียล เมื่อ 19 กรกฎาคม 2562
จนเกิดกระแสให้ปูเสื่อรอดูวิทยานิพนธ์ ฉบับ “บิ๊กแดง” ที่กำลังเขียน สรุปเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องงาน สถานการณ์บ้านเมือง ในอดีต ปัจจุบัน การเชื่อมโยงและสื่อโซเชียล
“ผมเขียนมา 2 สัปดาห์แล้ว เมื่อเขียนจบแล้วจะเชิญสื่อมาฟังการแถลง” พล.อ.อภิรัชต์เผย
ย้อนไปก่อนหน้านั้น 18 กรกฎาคม 2562 พล.อ.อภิรัชต์ซึ่งเพิ่งแนะนำให้ฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” ก็แนะนำเพลง “กิเลสมนุษย์” ของธานินทร์ อินทรเทพ ที่แม้ย้อนยุค แต่อาจจะเข้ากับสถานการณ์
จากนั้น 30 กรกฎาคม 2562 จากการแนะฟังเพลง พล.อ.อภิรัชต์ก็มาแนะนำให้ดูหนัง The Great Hack เพราะดูคล้ายๆ นักการเมืองไทยที่ใช้โซเชียลโฆษณาชวนเชื่อ คล้ายบางพรรคการเมือง
นอกจากนี้ พล.อ.อภิรัชต์ให้ความสนใจความคิดทางสังคมและการเมืองของเยาวชน ต่อกระแสนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ใช้โซเชียลเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ โดยเยาวชนเป็นกลุ่มเป้าหมาย ที่จะรับและซึมซับข้อมูลเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว และพรรคการเมืองจะใช้ประโยชน์ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นบทเรียนที่ควรศึกษาเพราะโซเชียลเป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้งง่าย
จากนั้นมา พล.อ.อภิรัชต์ก็ถูกนักข่าวถามเสมอเมื่อพบหน้าถึงความคืบหน้าของบทความเชิงวิทยานิพนธ์นี้
30 สิงหาคม 2562 พล.อ.อภิรัชต์เผยความคืบหน้าของ ‘บทความเชิงวิทยานิพนธ์’ ว่า เขียนเสร็จแล้ว เดี๋ยวเผยแพร่
“เดี๋ยวจะมีคนเดือดร้อนแน่” บิ๊กแดงย้ำในตอนนั้น
แต่แล้วกำหนดการแถลงบทความเชิงวิทยานิพนธ์ ของ พล.อ.อภิรัชต์ก็เลื่อนจากปลายสิงหาคม จนเข้าเดือนกันยายน
อันเป็นห้วงเวลาที่เชื่อกันว่ากำลังมีการประสาน จนมีการพูดคุยกับแกนนำพรรคอนาคตใหม่
แต่ในที่สุด 22 กันยายน 2562 พล.อ.อภิรัชต์ก็ส่งสัญญาณด้วยการส่งข้อความทางไลน์ให้ทีมงานฝ่ายเสนาธิการ ว่า ‘Do Right and Fear No Man.’ แต่เก็บตัวเงียบ และปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ
รอจังหวะเหมาะ เปิดบทความเชิงวิทยานิพนธ์
จากนั้นมีการแนะนำคนใกล้ชิดให้รอชม “The Politician” ของ NetFlix ที่ตัวละครชิงชัยการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ
พร้อมย้ำข้อความเหน็บแนมนักการเมืองที่ชอบสัญญาว่า จะสัญญาว่า “We promise to promise you everything.”
ก่อนที่การเปิดบทความเชิงวิทยานิพนธ์จะออกมาในรูปของการขึ้นเวทีทอล์กบรรยายพิเศษ เมื่อ 11 ตุลาคม 2562 ด้วยน้ำตาคลอ เมื่อเล่าถึงบิ๊กจ๊อด พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ บิดา ที่ถูกคอมมิวนิสต์ยิง ตอนนั่ง ฮ.เมื่อครั้งที่ตนเองยังเป็นเด็ก
จึงมีส่วนที่ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ฝังใจกับคอมมิวนิสต์ จนทำให้พูดถึงคอมมิวนิสต์ใหม่ คอมมิวนิสต์ฝังชิพ ในวันนั้นด้วย
จากนั้นทั้งนายธนาธรและนายปิยบุตรก็ถล่มกองทัพต่ออย่างต่อเนื่อง
อันเป็นการสะท้อนได้ว่า การเจรจาลับครั้งนั้นไม่ได้ผล
นายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่เดินหน้ารณรงค์ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และการชำแหละงบประมาณกลาโหมและเงินนอกงบประมาณของกองทัพอย่างหนัก
แต่ทว่าการเจรจาลับของ พล.อ.อภิรัชต์กับนายธนาธรและนายปิยบุตรก็ถูกเก็บเป็นความลับ ไม่มีข่าวรั่วแพร่งพรายมาก่อนหน้านี้เลย
เพราะต้องถือเป็นสัญญาสุภาพบุรุษ ที่จะไม่มีการนำมาเปิดเผย เพราะในมุมหนึ่ง หากผู้สนับสนุนรู้ว่านายธนาธรและนายปิยบุตรมาพบหารือกับ พล.อ.อภิรัชต์ ย่อมไม่ส่งผลดี และอาจเข้าใจผิดว่ามีการตกลงอะไรกันหรือไม่
ส่วนฝ่าย พล.อ.อภิรัชต์เองก็เสี่ยงไม่น้อย ที่การเจรจาจะถูกนำไปใช้ประโยชน์
และเชื่อกันว่า ในการสนทนาครั้งนี้ อาจมีการบันทึกเสียงการสนทนาไว้เป็นหลักฐานหรือไม่
แต่การพบกันของเขาทั้ง 3 คน จึงถูกปกปิดเป็นความลับอยู่หลายเดือน
และถูกเปิดเผยออกมาหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา โดยเพจของ “อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2563
แต่ในระหว่างนั้น จะเห็นผลพวงของการเจรจาออกมาบ้าง เมื่อ พล.อ.อภิรัชต์ทำแผนปฏิรูปกองทัพบกในเรื่องธุรกิจสีเขียว สนามม้า สนามมวย โรงแรม ทำเงินนอกงบประมาณให้ถูกต้อง จากที่เข้า ทบ. ก็ให้นำรายได้เข้าคลัง
ที่ถูกมองว่าตรงกับข้อเสนอของนายธนาธรก่อนหน้านี้ แต่มาได้จังหวะหลังเกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่โคราชพอดี
แม้ พล.อ.อภิรัชต์จะไม่ปฏิเสธ แต่ก็ไม่ยอมรับเสียทีเดียวว่า การทุบหม้อข้าว ทบ. ด้วยการส่งรายได้จากธุรกิจสวัสดิการต่างๆ เข้ากระทรวงการคลังนี้ เพราะนายธนาธร แต่เพราะ ทบ.เราทำเป็นการภายในมาอยู่แล้ว โดยจะให้เอกชนที่เป็นมืออาชีพมาดำเนินการ เพราะทหารเราไม่ได้จบการโรงแรม ไม่ได้จบการบริหารจัดการ สนามมวย สนามกอล์ฟมา
“อะไรที่ไม่ดี ผมยอมรับ แต่อย่ามาตีซ้ำตีซ้อน ผมแก้ ไม่ใช่ผมพูดอย่างเดียวแล้วไม่ทำ สิ่งที่ผิดพลาด ผมยอมรับ แล้วผมแก้” คำพูด พล.อ.อภิรัชต์ที่ตอกย้ำว่าถูกการเมืองโจมตี
อาจกล่าวได้ว่า แนวคิดของนายธนาธรตรงกับ พล.อ.อภิรัชต์พอดี เพราะ พล.อ.อภิรัชต์ปรับเปลี่ยนธุรกิจในค่ายทหาร ให้มืออาชีพมาดำเนินการตั้งแต่เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 นั่นแล้ว
แต่ก็ถือว่าสัญญาสุภาพบุรุษยังคงขลัง เพราะถูกปกปิดมาได้หลายเดือน
แต่ถูกเปิดเผยหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ นั้นถูกมองว่า เพราะต้องการจะโยงว่า การที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ เพราะการเจรจากับบิ๊กแดงไม่เป็นผลนั่นเอง
หลังเรื่องนี้ถูกเปิดเผย พล.อ.อภิรัชต์ที่แม้จะไม่ปฏิเสธเรื่องการเจรจาลับ แต่ก็เลี่ยงที่จะพูดถึง
ขณะที่นายปิยบุตรยอมรับว่า มีการพบกันจริง แต่มองว่าเป็นเรื่องปกติ เราพูดคุยกับคนเยอะมาก เพราะเราพร้อมพูดคุยกับคนที่มีอำนาจ ในเมื่อเราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ เราก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า มันมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจ
เมื่อเราจะเปลี่ยนแปลงประเทศโดยสันติ ไม่ต้องมีการนองเลือด ก็ต้องมีการคุยกัน
พร้อมยืนยันว่า เมื่อพูดคุยแล้ว ทั้งตนเองและนายธนาธร พรรคอนาคตใหม่ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจุดยืน และการพูดคุยไม่เคยมีเรื่องผลประโยชน์ใดๆ
“ผมบอก พล.อ.อภิรัชต์ว่า พรรคอนาคตใหม่ตั้งมาเพื่ออะไร ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศแบบใด เราไม่ได้คิดร้ายต่อชาติบ้านเมือง เราต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ดีขึ้น พรรคเราตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร ไม่ได้คิดที่จะมาล้มนั่นล้างนี่ อย่างเช่นที่พูดกัน”
พร้อมเปิดเผยว่า มีการพูดคุยเรื่องการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้มันเปิดกว้างกว่านี้ และกองทัพต้องค่อยๆ ทยอยถอยออกจากการเมืองและต้องปฏิรูปกองทัพ เรื่องนี้เราพูดกันเยอะ จนถึงการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้
ปมเจรจาลับได้กลายมาเป็นประเด็นหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อนายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย นำมาโจมตีนายปิยบุตรว่าแอบไปคุยกับทหารมา
หลังนายปิยบุตรโพสต์ตำหนิพรรคเพื่อไทย ฮั้วกับพรรคพลังประชารัฐในเรื่องเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จน ส.ส.อนาคตใหม่ไม่ได้อภิปรายบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ
จนกลายเป็นความขัดแย้งของพรรคเพื่อไทยและคณะอนาคตใหม่
ที่ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ถูกจับจ้องเมื่อกลับจากเยือน ทบ.สหรัฐอเมริกา และปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ
โดยเฉพาะเมื่อเกิดกระแสข่าวลือที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะแถลงข่าวใหญ่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา จะมีคำสั่งสำคัญออกมา
แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ออกมาปฏิเสธว่า ไม่มีแถลง ไม่มีเรื่องการเมืองใดๆ มีแต่มาตรการแก้ไขปัญหาโรคระบาด Covid-19
แต่กระแสข่าวลือก็ยังสะพัดไม่หยุด อันเป็นข่าวลือเดิม เมื่อครั้งที่เกิดเหตุกราดยิงที่โคราช ที่มีกระแสเรียกร้องให้ พล.อ.อภิรัชต์รับผิดชอบด้วยการลาออก พร้อมข่าวลือการปลด ผบ.ทบ.
ประโคมข่าวลือกันอย่างหนักว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ไฟเขียวให้เปลี่ยน ผบ.ทบ. แล้วให้บิ๊กกบ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด ควบ ผบ.ทบ.
แถมไปประจวบเหมาะกับข่าวสารบางอย่างในการเดินทางไปต่างประเทศของ พล.อ.อภิรัชต์ครั้งล่าสุด
แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้พบหน้า พล.อ.อภิรัชต์ ในการประชุมเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร กับปลัดกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด และ ผบ.เหล่าทัพ เมื่อ 2 มีนาคม ที่กระทรวงกลาโหม
ที่มีการหารือถึงสถานการณ์บ้านเมือง รวมทั้งการชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตั้งแต่มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ กับการกำหนดท่าทีของฝ่ายความมั่นคง
ตามมาด้วยการเขียนบทความของ “เสืออากาศ 24/7” ที่เป็นระดับบิ๊กวงในของ ทอ. ที่เปรียบเปรยแนวทางการจัดการกับม็อบนักศึกษา เหมือนนักฟุตบอลอาชีพ 3 คน แข่งฟุตบอลกับเด็กๆ ร้อยคน ที่วิ่งตามลูกบอลไปทั่วสนาม แต่นักฟุตบอลอาชีพที่เปรียบเป็น ผบ.เหล่าทัพ หรือหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงจะต้องคุมเกมให้ได้
ขณะที่กระแสข่าวในกองทัพที่สะพัดออกมาแรง ในช่วงการจัดโผโยกย้ายทหารกลางปี ที่โผส่งถึงมือ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว เตรียมทูลเกล้าฯ ในสัปดาห์หน้า ไม่เกินกลางมีนาคม
เพราะมีการมองข้ามช็อตไปถึงการโยกย้ายใหญ่กันยายนนี้ ที่ทั้ง พล.อ.พรพิพัฒน์ ผบ.ทหารสูงสุด และ พล.อ.อภิรัชต์ บิ๊กลือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. บิ๊กนัต พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผบ.ทอ. และบิ๊กแป๊ะ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เกษียณราชการพร้อมกันหมด เหลือบิ๊กณัฐ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหมคนเดียว เพราะเกษียณกันยายน 2564
แต่มีการจับตาไปที่บิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. ที่เป็นรอง ผบ.ทบ.มา 2 ปี ในยุคที่ พล.อ.อภิรัชต์เป็น ผบ.ทบ. เพราะเป็นเพื่อน ตท.20 ด้วยกัน ช่วยงานกัน
โยกย้ายใหญ่ครั้งนี้ จะสร้างประวัติศาสตร์เป็นรอง ผบ.ทบ.ต่อเป็นปีที่ 3 จนเกษียณกันยายน 2564 หรือไม่
แต่ย่อมหมายถึง การเป็นรอง ผบ.ทบ.รุ่นพี่ แต่มีบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผช.ผบ.ทบ.ที่ถูกวางตัวไว้เป็น ผบ.ทบ.คนต่อไป ที่เป็นรุ่นน้อง ตท.22
จะเข้าข่ายรุ่นน้องปกครองรุ่นพี่
แต่ในยุค พล.อ.อภิรัชต์ก็เป็นเช่นนั้น เพราะมีบิ๊กเป้ง พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ รุ่นพี่ ตท.19 เป็น เสธ.ทบ. มาแล้วเช่นกัน แต่โผนี้ก็อาจขยับข้ามไปเป็นรองปลัดกลาโหม
เพื่อเปิดทางให้ระดับแม่ทัพภาคขึ้นมาเป็น เสธ.ทบ. ที่คาดว่าจะเป็นบิ๊กหนุ่ย พล.ท.ธรรมนูญ วิถี แม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งเป็นเพื่อน ตท.22 ของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ว่าที่ ผบ.ทบ.คนใหม่
รวมทั้งจะรั้งเก้าอี้เลขาธิการ กอ.รมน.ด้วย เพราะ พล.ท.ธรรมนูญก็ดูแลงาน กอ.รมน.มาตลอด และต้องมาทำหน้าที่แม่บ้าน ทั้ง ทบ. และ กอ.รมน.
ที่สำคัญคือ เป็นนายทหารคอแดงจาก ฉก.ทม.รอ.904 ด้วยกัน
กล่าวกันว่า ตำแหน่งของ พล.อ.ณัฐพลนั้นเป็นประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรเคยหารือกันว่า จะให้ลงตำแหน่งใดจึงจะเหมาะสม
มีการหารือกันว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ พล.อ.ณัฐพลขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ก่อน 1 ปี เกษียณกันยายน 2564 แล้ว พล.อ.ณรงค์พันธ์ค่อยขึ้น ผบ.ทบ. นั่งอีก 2 ปี เพราะเกษียณกันยายน 2566
แต่ก็ติดตรงที่ พล.อ.ณัฐพลไม่ใช่นายทหารคอแดง ไม่ได้ฝึกหลักสูตรของ ฉก.ทม.รอ.904 และไม่ได้เติบโตจากหน่วยรบ หน่วยคุมกำลัง แต่เป็นสายบุ๋น ที่เติบโตในฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายเสนาธิการ สายกรมยุทธการทหารบก หรือเรียกได้ว่า “สาย ย.ก.”
จึงกลายเป็นคีย์แมนกลไกสำคัญในการเดินงานของ ทบ. และ กอ.รมน.มาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในยุค คสช. เพราะเคยเป็น เสธ.ทบ. และเลขาฯ กอ.รมน. ที่แม้มาเป็นรอง ผบ.ทบ. แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ผอ.รมน. ก็ยังมีคำสั่งแต่งตั้งให้มาช่วยงาน กอ.รมน.ด้วย
จนเป็นที่รู้กันว่า พล.อ.ณัฐพลเป็น “แม่บ้าน” ตัวจริงของ ทบ. และยังถูกเรียกว่าเป็น ผบ.ทบ.เงา หรือ ผบ.ทบ.คนที่ 2 อีกด้วย
เพราะ พล.อ.อภิรัชต์มักมอบหมายภารกิจให้ทำแทนบ่อยมากมาตลอดกว่า 1 ปีของการเป็น ผบ.ทบ.
ด้วยเพราะ พล.อ.อภิรัชต์สวมหมวกทั้ง ส.ว. และ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 และมีภารกิจ ว.5 เสมอๆ ในฐานะสายตรงของบิ๊กตู่ด้วย
พล.อ.ณัฐพลเรียกตัวเองว่าเป็นแม่บ้าน ในการนำนโยบายของ ผบ.ทบ.มาสู่การสั่งการและการปฏิบัติ
อีกทั้ง พล.อ.อภิรัชต์เห็นในความสามารถของ พล.อ.ณัฐพลที่เป็นคนเก่งในรุ่น และทำงานมาอย่างต่อเนื่องในยุค คสช.
และถูกมองว่าเป็นการชดเชยให้ พล.อ.ณัฐพล เพื่อนรักที่ไม่ได้เป็น ผบ.ทบ.
แม้ พล.อ.ณัฐพลจะเกษียณกันยายน 2564 หลัง พล.อ.อภิรัชต์ ที่จะเกษียณกันยายน 2563 นี้น่าจะได้เป็น ผบ.ทบ. 1 ปี เพราะจ่อเป็นรอง ผบ.ทบ. และครองอัตราจอมพลอาวุโสมา 2 ปีแล้วก็ตาม
แต่เป็นที่รู้กันว่า พล.อ.ณัฐพลไม่ได้เป็น “ทหารคอแดง” จึงไม่อาจเป็น ผบ.ทบ.ได้
แต่ด้วยผลงาน ทั้งใน ทบ. กอ.รมน. และยุค คสช. ที่ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ใช้งานมาตลอด จึงหาตำแหน่งที่เหมาะสมให้
จนเกิดข่าวสะพัดว่า ในการโยกย้ายใหญ่ปลายปีนี้ จะส่ง พล.อ.ณัฐพลข้ามไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด 1 ปี คั่นก่อนบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เสนาธิการทหาร เพราะ พล.อ.เฉลิมพล มีอายุราชการถึงกันยายน 2566
แต่ก็เป็นไปได้ยาก เพราะ พล.อ.อภิรัชต์จะสนับสนุน พล.อ.เฉลิมพลให้ข้ามจาก ทบ.มาเป็นเสนาธิการทหาร ที่ บก.ทัพไทย เพื่อเตรียมตัวขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุดคนใหม่ และก็เป็นนายทหารคอแดงอีกด้วย
จึงคาดกันว่า พล.อ.ณัฐพลก็อาจจะต้องย่ำเป็นรอง ผบ.ทบ. ต่อเป็นปีที่ 3 แม้ ผบ.ทบ.คนใหม่จะเป็นรุ่นน้องก็ตาม เพราะเป็นกำลังสำคัญของ ทบ.
แต่ยังเหลือเวลาอีกหลายเดือน…
พร้อมๆ กับภารกิจที่ พล.อ.อภิรัชต์ต้องเร่งทำให้เสร็จก่อนเกษียณ ทั้งการปฏิรูป ทบ. และการปรับโครงสร้าง ทบ. ให้สอดรับกับ ฉก.ทม.รอ.904 ที่ต้องเร่งคัดตัวนายทหารมารับราชการในตำแหน่งสำคัญต่างๆ ให้ครบก่อนที้จะเกษียณ
แม้ในโค้งนี้จะเกิดข่าวลือสะพัดที่สั่นสะเทือนเก้าอี้ ผบ.ทบ.ก็ตาม… แต่ พล.อ.อภิรัชต์ก็ยังเดินหน้าภารกิจสำคัญต่อไป