วรศักดิ์ มหัทธโนบล : บทบาทหลังม่านของราชชนนีอู่

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

สุย-ถังกับนานาวิสาสะสมัย (31)
จักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน (ต่อ)

และใน ค.ศ.675 ขณะเสวยกระยาหารพร้อมกับราชบิดาและมเหสีอู่ซึ่งเป็นราชมารดาอยู่นั้น ช่วงหนึ่งมเหสีอู่ทรงรินสุราให้หลี่หงดื่ม เมื่อแล้วเสร็จทุกฝ่ายจึงเสด็จกลับ แต่เฉพาะหลี่หงกลับประชวรด้วยอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ผ่านไปไม่กี่วันก็ทรงสิ้นใจ

กรณีนี้นักวิชาการที่มองมเหสีอู่ในเชิงบวกย่อมเชื่อว่าพระนางมิได้วางยาพิษโอรสในไส้ของตน แต่หลี่หงคงสิ้นใจด้วยอาการป่วยจริง แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร หลังกรณีนี้ไปแล้ว หลี่เสียนโอรสองค์ที่สองของมเหสีอู่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัชทายาทแทน

หลี่เสียน (ค.ศ.653-684) มีด้านที่เหมือนกับหลี่หงตรงที่สมาทานลัทธิขงจื่อและใกล้ชิดขุนนางฝ่ายนี้ แต่ที่ต่างออกไปก็คือ การครองตนเยี่ยงราชบิดาที่ฝักใฝ่ในกามเสวนกิจ ทั้งนิยมคบหาบัณเฑาะก์และใช้จ่ายไปในครองตนเช่นนี้อย่างมากมาย

จน ค.ศ.678 มเหสีอู่ทรงให้โหรหลวงพยากรณ์ดวงชะตาของหลี่เสียน โหรหลวงพยากรณ์ว่าหลี่เสียนไม่เหมาะที่จะเป็นจักรพรรดิ และความนี้ได้รู้ไปถึงหลี่เสียน ไม่นานหลังจากนั้นโหรหลวงก็ถูกสังหาร มเหสีอู่ทรงเชื่อว่าเป็นฝีมือของหลี่เสียน แต่ก็ไร้หลักฐานมาจัดการ โดยสิ่งที่ตามมากลับคือข่าวลือที่แพร่สะพัดไปทั่วว่า หลี่เสียนมิใช่โอรสของมเหสีอู่

ข่าวลือนี้ทำให้หลี่เสียนหวั่นไหวว่าจะกระทบกับตำแหน่งรัชทายาทของตน

 

เหตุการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ได้นำไปสู่การสอบสวนหลี่เสียน ที่มีตั้งแต่การครองตน การสังหารโหรหลวง และข่าวลือที่สั่นคลอนตำแหน่ง ผลคือ หลี่เสียนถูกตั้งข้อหาว่ามีแผนที่จะยึดอำนาจ มเหสีอู่จึงให้ลงโทษหลี่เสียนด้วยการถอดออกจากรัชทายาท แล้วนำไปคุมขังก่อนที่จะบังคับให้หลี่เสียนทำอัตวินิบาตกรรมในที่สุด

ส่วนบุคคลที่ต้องสงสัยว่าสมรู้ร่วมคิดกับหลี่เสียนล้วนถูกประหารทั้งหมด ที่สำคัญ โอรสสกุลหลี่ที่มีตำแหน่งกษัตริย์ของรัฐต่างๆ จำนวนหนึ่งยังถูกลงโทษด้วยการย้ายไปยังเมืองชายแดนที่ห่างไกลอีกด้วย

หลังเหตุการณ์นี้ผ่านไปจึงได้ตั้งให้โอรสองค์ที่สามคือหลี่เจ๋อ หรือที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า หลี่เสี้ยน (ค.ศ.656-710) เป็นรัชทายาท หลังตั้งรัชทายาทไปแล้ว การเมืองในช่วงนี้ถือได้ว่ามีความสงบพอสมควร แต่ฐานะการคลังกลับถดถอยลงจากค่าใช้จ่ายในด้านการศึก การสร้างวัง และอาคารสาธารณะ

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ถังเกาจงทรงมีอาการประชวรที่ทรุดลงตามลำดับ พระองค์สูญเสียการมองเห็นและทรงวิงเวียนศีรษะอันเนื่องมาจากเส้นโลหิตตีบตัน (stroke) จนเมื่อรู้ตนว่าจะไม่รอดแล้วจึงให้นายกรัฐมนตรีมาเข้าเฝ้าแล้วทรงสั่งเสียว่า ให้ทำพิธีราชาภิเษกรัชทายาทหลี่เสี้ยนเป็นจักรพรรดิต่อหน้าศพของพระองค์

แต่เนื่องจากจักรพรรดิยังเยาว์วัยจึงให้มเหสีอู่เป็นที่ปรึกษา จากนั้นก็สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ.683 คำสั่งเสียของถังเกาจงจึงไม่ต่างกับใบเบิกทางให้แก่มเหสีอู่ก้าวขึ้นสู่อำนาจอย่างเต็มตัว

 

สู่จักรพรรดินี

อันที่จริงแล้วการที่งานศึกษาในที่นี้ใช้คำว่ามเหสีกับอู่เจ้ามาตลอดก่อนหน้านี้นั้น เป็นการใช้เพื่อหลีกเลี่ยงคำว่าจักรพรรดินี ทั้งๆ ที่คำทั้งสองมีฐานะไม่ต่างกัน ดังจะเห็นได้จากคำในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า empress เพียงคำเดียวโดยตลอด

การใช้คำว่ามเหสีกับจักรพรรดินีแยกกันในที่นี้เป็นไปด้วยเหตุผลเดียวคือ เพื่อแบ่งช่วงเวลาที่อู่เจ้ายังมีอำนาจนำไม่เต็มที่กับช่วงที่มีอำนาจนำเต็มที่แล้ว ช่วงที่มีอำนาจนำไม่เต็มที่จะใช้คำว่ามเหสี และช่วงที่มีอำนาจนำเต็มที่แล้วจะใช้คำว่าจักรพรรดินี

ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจนำที่ต่างกันในสองช่วงเวลา และหลังการสิ้นพระชนม์ของถังเกาจงจึงเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของอำนาจนำที่ว่า

กล่าวคือ อู่เจ้ามิได้ก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดินีในทันทีทันใดที่ถังเกาจงสิ้นพระชนม์ เพราะผู้ที่เป็นจักรพรรดิคือรัชทายาทหลี่เสี้ยนภายใต้พระนามถังจงจง (ครองราชย์ ค.ศ.684) โดยมเหสีอู่เปลี่ยนฐานะเป็นราชชนนีและมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่จักรพรรดิ

 

แต่หลังเป็นจักรพรรดิได้ไม่นาน ถังจงจงได้แต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดที่ต่ำศักดิ์ให้ได้เป็นขุนนางชั้นสูง แม้จะได้รับการคัดค้านจากเหล่าเสนามาตย์ในประเด็นความเหมาะสม แต่พระองค์ก็หาฟังไม่ เมื่อความรู้ถึงราชชนนีอู่แล้วจึงทรงให้มีการประชุมเสนามาตย์เพื่อพิจารณากรณีนี้

ผลคือ ที่ประชุมเห็นควรถอดถอนถังจงจงออกจากจักรพรรดิขณะดำรงตำแหน่งนี้ได้เพียงหกสัปดาห์ แล้วตั้งโอรสองค์ที่สี่ของราชชนนีอู่คือหลี่ตั้น (ค.ศ.662-716) เป็นแทน ซึ่งก็คือจักรพรรดิถังญุ่ยจง (ครองราชย์ ค.ศ.684)

แต่เพื่อให้แน่ใจว่าถังญุ่ยจงจะไม่ปกครองจนก่อปัญหาดังถังจงจง ราชชนนีอู่จึงใช้อำนาจแทนถังญุ่ยจงด้วยการว่าราชการหลังม่านดังที่เคยปฏิบัติกับถังเกาจง

แต่การทั้งนี้เหล่าเสนามาตย์ไม่เห็นด้วย และทำให้หนึ่งในเสนามาตย์เหล่านี้ก่อการกบฏขึ้น แต่กบฏกลุ่มนี้เคลื่อนไหวได้เพียงเดือนเศษก็ถูกปราบลง

เมื่อกบฏถูกปราบไปแล้ว อำนาจของราชชนนีอู่ก็เพิ่มมากขึ้นจนเป็นที่ประจักษ์

อำนาจดังกล่าวของราชชนนีอู่ได้สร้างความไม่พอใจแก่วงศานุวงศ์สกุลหลี่ ที่ในเวลานั้นยังมีอยู่นับสิบองค์และกระจายกันปกครองเมืองต่างๆ ความไม่พอใจนี้ได้นำมาซึ่งแผนการกบฏในเวลาต่อมา แผนนี้ได้ถูกวางเป็นที่เรียบร้อย แต่กลับมีวงศานุวงศ์องค์หนึ่งนำแผนนี้ไปแจ้งแก่ราชชนนีอู่

การตอบโต้ของราชชนนีอู่จึงเกิดขึ้นโดยฉับพลัน กบฏครั้งนี้จึงถูกปราบลงหลังก่อการได้เพียงเจ็ดวันเท่านั้น และเมื่อถูกปราบลงแล้วบรรดาผู้ก่อการสกุลหลี่และผู้สมรู้ร่วมคิดราว 700 ครอบครัวถูกประหาร ผู้ถูกประหารจึงมีหลายพันคน

จากเหตุนี้ สกุลหลี่ที่เป็นต้นธารราชวงศ์ถังจึงถูกปราบจนแทบจะสิ้นโคตร

 

ภายหลังกบฏสกุลหลี่ครั้งนั้นไปแล้ว อำนาจของราชชนนีอู่ที่เต็มเปี่ยมในทางปฏิบัติก็ไม่เป็นที่สงสัยอีกต่อไป พระนางดำรงตนด้วยอำนาจเช่นนี้ไปจนถึง ค.ศ.690 ก็มีมหาอำมาตย์คนหนึ่งนำราษฎร 900 คนเข้าถวายฎีกาต่อราชชนนีอู่

ฎีกานี้เสนอให้พระนางเปลี่ยนชื่อราชวงศ์ถังเป็นราชวงศ์โจว และให้ถังญุ่ยจงเปลี่ยนสกุลหลี่เป็นสกุลอู่ให้เหมือนราชชนนี แม้ราชชนนีอู่จะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของฎีกา แต่พระนางก็เลื่อนตำแหน่งให้กับมหาอำมาตย์ผู้นั้น

พลันที่ข่าวนี้แพร่สะพัดออกไปก็ส่งผลสะเทือนทันที ด้วยมีขุนนางและขุนศึกน้อยใหญ่ ญาติวงศ์ ราษฎรทั้งใกล้และไกล ชนชาติที่มิใช่ฮั่น และนักบวชในศาสนาหรือลัทธินิกายต่างๆ รวมแล้วกว่า 6 หมื่นคนต่างก็เอาอย่างมหาอำมาตย์ผู้นั้นด้วยการถวายฎีกาในทำนองเดียวกัน

โดยเสนอให้เปลี่ยนชื่อราชวงศ์และให้ราชชนนีอู่สถาปนาตนเป็นจักรพรรดินี

ข้างถังญุ่ยจงก็ขอให้พระนางประทานสกุลอู่แก่พระองค์เช่นกัน ส่วนราชชนนีอู่ก็ปฏิเสธแต่พองามแล้วก็ยอมตามเสียงเรียกร้อง ดังนั้น ในเดือนเก้าของ ค.ศ.690 พิธีสถาปนาราชชนนีอู่ขึ้นเป็นจักรพรรดินีก็มีขึ้น ณ ประตูอู่เจ๋อ (ประตูดุจสวรรค์) พร้อมกับเปลี่ยนชื่อราชวงศ์จากถังมาเป็นโจว

และเปลี่ยนสกุลหลี่ของถังญุ่ยจงมาเป็นอู่โดยหมดซึ่งฐานะจักรพรรดิ แต่ถูกแทนที่ด้วยตำแหน่งรัชทายาท ชื่อเดิมของรัชทายาทหลี่ตั้นจึงกลายเป็นชื่อใหม่ว่าอู่ตั้น และเนื่องจากพิธีสถาปนาจักรพรรดินีมีขึ้นที่ประตูอู่เจ๋อ พระนามของจักรพรรดินีจึงมีว่า อู่เจ๋อเทียน ตามชื่อประตู

เวลานั้นพระนางทรงมีอายุ 63-64 ชันษาแล้ว และเมื่อเป็นจักรพรรดินีแล้วก็ทรงย้ายเมืองหลวงมายังลว่อหยัง

 

จากที่กล่าวมานี้ หากว่าตามความเป็นจริงแล้ว การสถาปนาจักรพรรดินีให้มีฐานะดังจักรพรรดิที่เป็นบุรุษครั้งนี้เป็นแต่เพียงพิธี คือเป็นการรับรองอำนาจของอู่เจ๋อเทียนที่มีอยู่แล้วให้มีผลในทางนิตินัย จากแต่เดิมที่มีอยู่มานานนับสิบปีในทางพฤตินัย

กล่าวอีกอย่างคือ แม้จะไม่มีพิธีนี้พระนางก็มีอำนาจเต็มอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นแล้วความหมายของพิธีนี้หากจะมีให้อธิบายแล้วก็น่าจะอยู่ตรงที่ว่า มันคือหลักหมายสำคัญที่ระบุว่าอู่เจ๋อเทียนคือจักรพรรดินีองค์แรกของจีน

จนเมื่อประวัติศาสตร์จีนเดินมาถึงตอนที่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ล่มสลายในต้นศตวรรษที่ 20 นั้น ก็ยังระบุได้ต่อไปว่า อู่เจ๋อเทียนคือจักรพรรดินีเพียงหนึ่งเดียวของจีน

ทั้งก่อนและหลังอู่เจ๋อเทียนก็หาไม่มีอีกแล้ว