สุจิตต์ วงษ์เทศ / ‘มิ่ง’ รอเข้าสิงจาก ‘ขวัญ’ กระดูกคนตายถูกเก็บในภาชนะ

หม้อรูปแบบและขนาดต่างๆ เก็บกระดูกคนตาย ราว 2,500 ปีมาแล้ว จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด

สุจิตต์ วงษ์เทศ

‘มิ่ง’ รอเข้าสิงจาก ‘ขวัญ’

กระดูกคนตายถูกเก็บในภาชนะ

 

โลกหลังความตายของคน มีหลักฐานทางมานุษยวิทยาและโบราณคดีจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ผมเพิ่งไปดูที่ จ.สุรินทร์ และ จ.ร้อยเอ็ด เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563

คนทั้งในจีน, ไทย และอุษาคเนย์ [อาจมีที่อื่นอีก] มีพิธีกรรมหลังความตายคล้ายกันหรือมีร่วมกัน คือ กระดูกคนตายถูกฝังหรือเก็บไว้ในภาชนะลักษณะต่างๆ ด้วยความเชื่อเดียวกัน คือ ขวัญในศาสนาผี มากกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

คนแต่ละคนในความเข้าใจและความเชื่อของไทยสมัยก่อน ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ มิ่งกับขวัญ ผมปรับจากคำอธิบายเรื่องขวัญของจีน จากข้อเขียนของ ถาวร สิกขโกศล ว่า (1.) ส่วนที่เป็นตัวตน เรียก มิ่ง คือ ร่างกายอวัยวะต่างๆ และ (2.) ส่วนที่ไม่เป็นตัวตน เรียก ขวัญ คือ ไม่มีรูปร่าง

ถาวร สิกขโกศล อธิบายว่าคนจีนโบราณไม่เชื่อการเวียนว่ายตายเกิด (ตามพุทธศาสนา) แต่เชื่อว่าคนตายแล้วขวัญยังอยู่ มีสถานะเป็นเจ้าประจำวงศ์ตระกูล (คำจีนว่า “เจียสิน” เสียงแต้จิ๋วว่า “เกซิ้ง”) ขวัญของคนจีน มี 2 ประเภท อยู่รวมกัน ได้แก่

หุน [คำไทยว่า ขวัญ] เป็นฝ่ายหยาง หรือฝ่ายจิต มีความนึกคิด และมีอารมณ์ ซึ่งเป็นสมรรถนะทางจิต

พ่อ [แปลว่า ภูต] เป็นฝ่ายหยิน หรือฝ่ายกาย มีความเคลื่อนไหวทางกาย แต่ไม่มีความรู้สึกนึกคิด ซึ่งเป็นสมรรถนะทางกาย

เมื่อคนตกใจ หรือเจ็บป่วย ขวัญ 2 ประเภทจะออกจากร่างชั่วคราว ครั้นคนตาย ขวัญ 2 ประเภทออกจากร่าง โดยหุน (ขวัญ) จำญาติมิตรได้ แต่พ่อ (ภูต) ถ้าขาดหุนอยู่ด้วยจะกลายเป็นผีดิบ ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี

[สรุปจากบทความเรื่อง “ป้ายสถิตวิญญาณจากจีน สู่ราชสำนักไทย” ของ ถาวร สิกขโกศล ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2559 หน้า 161]

ไทย ว่า ขวัญ ส่วนจีน ว่า หวั่น (กวางตุ้ง) ฮุ้น (แต้จิ๋ว) [จากหนังสือ ไทย-จีน ของ พระยาอนุมานราชธน (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2479) พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ.2505 หน้า 93] พิธีกรรมหลังความตายมีส่งขวัญคล้ายกันทั้งไทยและจีน เจีย แยนจอง [นักปราชญ์จีนเรื่องไท (จากหนังสือ “คนไท” ไม่ใช่ “คนไทย” แต่เป็นเครือญาติชาติภาษา โดย เจีย        แยนจอง สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 86)]

ภาชนะดินเผา “แคปซูล” (ราว 2,500 ปีมาแล้วต้นแบบโกศ) และหม้อใส่กระดูกคนตาย จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์

 

มิ่งต้องมีขวัญ

ภาชนะเก็บกระดูกคนตายหลายรูปแบบและขนาด ที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ฯ สุรินทร์, ร้อยเอ็ด มีความหมายเดียวกัน คือ เก็บ “มิ่ง” รอเข้าสิงจาก “ขวัญ” หรือเก็บ “มิ่ง” เป็นตัวแทนของ “ขวัญ” คล้ายคนนั้นยังมีความเคลื่อนไหวเสมือนตอนมีชีวิต แต่ต่างมิติเท่านั้น จึงเรียก “ผีขวัญ” มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า