ความโกลาหลของวิชาชีพสื่อมวลชน กับ ดราม่า “สื่อไม่มีจรรยาบรรณ”

เรียกร้องใน “สิ่งที่ไม่รู้จัก”

ท่ามกลางความโกลาหลของวิชาชีพสื่อมวลชน ประเด็นหนึ่งที่แทรกเข้ามาด้วยพลังรุนแรงคือข้อกล่าวหาว่า “สื่อมวลชนไร้จรรยาบรรณ”

ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ หรือเรื่องราวอันเป็นที่สนใจของสาธารณชน ซึ่งเป็นปกติที่เหตุการณ์นั้นจะถูกนำเสนอครึกโครมเป็นพิเศษ

ที่จะตามมาทันทีคือข้อกล่าวหา “สื่อไม่มีจรรยาบรรณ”

ประชาชนคิดอย่างไรกับเรื่องนี้

ผลสำรวจ “นิด้าโพล” ล่าสุด มีคำตอบในบางคำถามที่น่าสนใจ

“ท่านคิดว่าสื่อมวลชนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันทำข่าว/รายงานข่าวอย่างไร” คือคำถามซึ่งมีคำตอบว่า เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจขององค์กรตัวเอง ร้อยละ 28.12, เป็นกลาง ร้อยละ 24.23, เลือกข้าง ร้อยละ 21.13, ไม่มีการตรวจสอบความจริง ร้อยละ 19.86, น่าเชื่อถือ ร้อยละ 12.07, เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ร้อยละ 11.28, ที่เหลือร้อยละ 1.75 ไม่ทราบ ไม่ตอบ และไม่สนใจ

เป็นคำตอบที่เป็นภาพลบกับภาพบวกของสื่อมวลชนยังก้ำกึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า “การปฏิรูปสื่อมวลชนไทยเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนแค่ไหน” ร้อยละ 50.20 ตอบว่ามาก, ร้อยละ 30.82 ค่อนข้างมาก, ร้อยละ 12.23 ไม่ค่อย, ร้อยละ 4.92 ไม่เป็น และร้อยละ 1.83 ไม่ตอบ

นั่นหมายถึง ไม่ว่าจะอย่างไร ที่สุดแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกต้องการสื่อมวลชนที่มีคุณภาพมากกว่านี้ ต้องการปฏิรูปอันหมายถึงไม่พอใจคุณภาพของสื่อที่เป็นอยู่

กระแสไม่พึงพอใจสื่อเป็นมาระยะหนึ่งแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะขยายขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม หากลองพิจารณาให้ถึงเหตุของข้อกล่าวหา “ไร้จริยธรรมของสื่อมวลชน” ด้วยการแบ่งง่ายๆ เป็น 3 ส่วน จะพบว่ามีบางประเด็นที่น่าพิจารณา

หนึ่ง ตัวสื่อเอง ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับสถานะสื่ออย่างโกลาหล เจ้าของช่องทางสื่อที่กลายเป็นธุรกิจระดับโลก เปิดช่องทางให้ทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ เมื่อทุกคนขยายบทบาทของตัวเองไปเป็นสื่อมวลชนได้ ไม่มีใครจะคุมใครได้

ความเข้าใจว่าอะไรคือ “จรรยาบรรณ” จึงเป็นปัญหาที่ไม่มีทางมองในมุมเดียวกัน

สอง ผู้กล่าวหาว่าสื่อมวลชนไม่มีจรรยาบรรณ สังคมที่มีความแตกแยก ผู้คนเลือกที่จะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่ได้พิจารณาถึงองค์ประกอบอื่น ทำให้การชี้ว่าแบบไหนมีจรรยาบรรณ แบบไหนไร้จรรยาบรรณ เป็นไปตามความรู้สึกนึกคิดมากกว่าที่จะเป็นไปตามหลักการเดียวกัน เป็นเรื่องของการตัดสินด้วยความพอใจว่าพอใจส่วนตัวของแต่ละคน

ต่างคนต่างใช้คำว่า “ไร้จรรยาบรรณ” กลายเป็นภาพรวมของสื่อมวลชน

สาม องค์กรวิชาชีพสื่อ แม้จะเข้าใจในหลักการว่าอะไรคือ “จรรยาบรรณ” แบบไหนเป็น “จริยธรรมสื่อ” ทว่าพลังในการทำให้เกิดความเข้าในวงกว้างกลับไม่เพียงพอ และยิ่งไปกว่านั้นคือ โฟกัสในการทำหน้าที่ขององค์กรวิชาชีพยังไม่ใช่การมุ่งไปที่การทำความเข้าใจ แต่สาละวนอยู่กับการไร้ตรวจสอบสื่อว่าใครทำขัดกับหลักจริยธรรมสื่อหรือไม่ ซึ่งแทนที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น กลับขยายให้ภาพของสื่อเลวร้ายขึ้น เป็นการช่วยซ้ำเติมเสียมากกว่าที่จะให้ความรู้ให้เกิดความเข้าใจไปในทางเดียวกันว่า “จรรยาบรรณ” คืออะไร

สถานการณ์ทางธุรกิจที่กระทบต่อปากท้องของคนทำอาชีพสื่อ โกลาหลอยู่แล้ว

แต่การรับมือกับข้อกล่าวหาที่ว่าด้วย “ไร้จรรยาบรรณ” ยังทุลักทุเลยิ่ง