จีนยุคบุราณรัฐ : ร้อยสำนักเปล่งภูมิ (6)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ขงจื่อกับสำนักหญู (ต่อ)

ปกรณ์ทั้งสามดังกล่าวดำรงอยู่เรื่อยมาแม้จนปีสุดท้ายของยุครัฐศึก แล้วหยุดชะงักการเผยแพร่ไปในสมัยราชวงศ์ฉินเมื่อมีการเผาตำราขึ้นมา

จากนั้นปกรณ์ทั้งสามเล่มนี้ก็ปรากฏอีกครั้งในต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (206 ปีก่อน ค.ศ.-ค.ศ.25) แต่การเรียบเรียงและชำระครั้งสำคัญมีขึ้นในรัชสมัยจักรพรรดิซวนตี้ (ครองราชย์ 73-49 ปีก่อน ค.ศ.) โดยบัณฑิตสำนักหญู 2 คน

คนหนึ่งคือ ไต้เต๋อ อีกคนหนึ่งคือ ไต้เซิ่ง ซึ่งเป็นหลานชายของไต้เต๋อ

ฉบับที่ไต้เต๋อชำระและเรียบเรียงมีอยู่ 85 บท และเรียกกันต่อมาว่า ต้าไต้หลี่จี้ (บันทึกรีตฉบับไต้ผู้อาวุโส)

ส่วนฉบับที่ชำระและเรียบเรียงโดยไต้เซิ่งมีอยู่ 49 บท และเรียกกันต่อมาว่า เสี่ยวไต้หลี่จี้ (บันทึกรีตฉบับไต้ผู้เยาว์) โดยฉบับหลังนี้ต่อมายังได้รับการชำระจากบัณฑิตคนอื่นอีกด้วย และเป็นฉบับเดียวที่เหลือตกทอดใช้กันเรื่อยมา

ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ซ่ง (960-1279) ได้แยกบทที่ 31 และบทที่ 42 มาเป็นปกรณ์ใหม่ต่างหาก 2 เล่มคือ จงยง (มัชฌิมาปกรณ์, The Doctrine of the Mean) และ ต้าเสีว์ย (อภิสิกขา, The Great Learning) ตามลำดับ

 

จากพัฒนาการของปกรณ์เล่มนี้ชี้ให้เห็นถึงนิยามที่กว้างขวางและลึกซึ้งของรีตหรือหลี่ ที่ครอบคลุมถึงประเพณี พิธีกรรม ธรรมเนียมปฏิบัติ กิริยามารยาท ฯลฯ ที่สมาชิกของสังคมพึงยึดถือปฏิบัติทั้งโดยเป็นหน้าที่และโดยจิตสำนึก

ข้อยึดถือนี้เห็นได้ตั้งแต่ในสถาบันครอบครัวอันเป็นหน่วยสังคมที่เล็กที่สุด จากนั้นก็ไล่ขึ้นไปยังหน่วยสังคมที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนถึงสถาบันทางการเมืองการปกครองที่เป็นหน่วยสังคมที่ใหญ่ที่สุด

จนกล่าวได้ว่า สมาชิกในสังคมแต่ละหน่วยมีข้อที่พึงปฏิบัติตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนในแต่ละวัน อีกทั้งยังเป็นข้อปฏิบัติที่มีตั้งแต่รีตที่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในระดับปัจเจก ไปจนถึงรีตขนาดใหญ่ที่มีรายละเอียดซับซ้อนในระดับรัฐ

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่ขงจื่อจะกล่าวว่า หากสามารถปกครองรัฐด้วยรีตก็จะไม่มีปัญหา เพราะรีตในทัศนะของขงจื่อก็คือแบบแผนหนึ่งของระบบการเมืองการปกครอง และหากทุกคนปฏิบัติตนตามแบบแผนนี้แล้ว การดำเนินชีวิตหรือชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมก็จะเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีความยุ่งยากวุ่นวายให้ผู้ปกครองหรือผู้ใต้ปกครองต้องหนักใจ

และด้วยความสำคัญเช่นนี้ของรีต ขงจื่อจึงได้อุทิศตนในการชำระปกรณ์ หลี่จิง เล่มนี้ขึ้นมา

 

ก.4 อี้จิง (อนิจปกรณ์, Classic of Changes, The Book of Change)

เป็นความจริงที่ว่าในปกรณ์ 5 เล่มของ เบญจปกรณ์ นี้ เล่มที่แนะนำยากที่สุดก็คือ อี้จิง หรือ อนิจปกรณ์ ทั้งนี้เพราะนอกจากจะเป็นปกรณ์ที่มีปัญหาตั้งแต่ประวัติความเป็นมาแล้ว ก็ยังยากที่จะอธิบายให้เข้าใจถึงเนื้อหาสาระอีกด้วย

เริ่มจากประวัติความเป็นมาของปกรณ์เล่มนี้ที่กล่าวกันว่า สามารถสืบย้อนกลับไปถึงยุคตำนานหรือยุค “สามกษัตริย์ ห้าจักรพรรดิ” ในกรณี “บันไดสวรรค์” ของฝูซีและไท่เฮ่าหรือที่มักเรียกรวมเป็นคนเดียวกันว่าไท่เฮ่าฝูซี ที่ทั้งสองใช้ไต่ขึ้นไปสวรรค์จนเห็นการเคลื่อนไหวของภูมิจักรวาล

จากนั้นจึงรู้ถึงกำหนดการของฤดูทั้งสี่ที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านกันในแต่ละปี จนสามารถจับกฎเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศได้

แล้วนำเอากฎเกณฑ์ที่ว่ามาทำเป็นแผนภูมิที่เรียกว่า “ปากว้า” หรือ “อัษฏลักษณ์” เพื่อนำมาพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงของภูมินิเวศน์ ว่าจะดีหรือร้ายต่อสังคมส่วนรวมหรือต่อปัจเจกบุคคลอย่างไร และจะพัฒนาและแก้ไขอย่างไร

กล่าวโดยสรุปแล้วก็คือ การปรับดุลยภาพของระบบนิเวศน์หรือการปรับให้ชีวิตกับธรรมชาติเกิดความสมดุลกัน (ดังได้กล่าวไปบ้างแล้วในบทที่ 2) นั้นเอง ซึ่งการสืบย้อนไปถึงยุคตำนานเช่นนี้ย่อมไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ใดๆ มายืนยัน

 

แต่เท่าที่มีหลักฐานนั้น พบว่า ความคิดความเชื่อในเรื่องการพยากรณ์หรือเสี่ยงทายที่ว่าได้มีขึ้นแล้วในสมัยราชวงศ์ซาง คือการพยากรณ์ผ่านกระดูกและกระดองเต่า ครั้นพอถึงราชวงศ์โจวความคิดความเชื่อนี้จึงถูกบันทึกเป็นตำราขึ้นมา เรียกว่า โจวอี้ (โจวอนิจปกรณ์) ซึ่งก็คือ อี้จิง ตามที่เรียกกันหลังจากนั้นต่อมา

และปกรณ์เล่มนี้เองที่บอกให้รู้ถึงภูมิปัญญาของจีนเกี่ยวกับภูมิจักรวาล ว่าโดยพื้นฐานแล้วจักรวาลพึงมีความสมดุลระหว่างอินกับหยางเป็นปฐม อินเป็นสิ่งแทนของแผ่นดิน ความเย็น เพศหญิง ความมืด หรือความอ่อนโยน เป็นต้น หยางเป็นสิ่งแทนของฟ้า ความร้อน เพศชาย ความสว่าง ความเข้มแข็ง เป็นต้น

ซึ่งหากอินกับหยางมีความสมดุลกันแล้ว สรรพสิ่งในโลกก็จะมีความสุขสงบ แต่หากขาดซึ่งความสมดุล สรรพสิ่งก็จะปั่นป่วนวุ่นวาย

 

จากพื้นฐานความคิดเรื่องภูมิจักรวาลที่สัมพันธ์กับชีวิตและธรรมชาติดังกล่าว อี้จิง จึงได้กำหนดสัญลักษณ์อินกับหยางขึ้นมา คือ อินจะมีสัญลักษณ์เป็นขีดสั้น 2 ขีด ส่วนหยางจะเป็นขีดยาว 1 ขีด จากนั้นก็จะนำขีดทั้งสองแบบนี้มาจัดวางซ้อนกันไม่เกิน 3 ชั้น การจัดวางเช่นนี้จะเริ่มจากนำเฉพาะขีดยาว 1 ขีดของหยางมาวางเรียกกัน 3 ขีดในแนวตั้ง และขีดสั้น 2 ขีดของอินมาวางในแบบเดียวกัน จากนั้นก็จะนำขีดอินกับหยางมาจัดวางผสมกันโดยไม่ให้เกิน 3 ชั้น

การจัดวางเช่นนี้จึงมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น บางกลุ่มจะมีอิน 2 ชั้นและหยาง 1 ชั้น (รวมเป็น 3 ชั้นเท่ากับ 1 รูป) บางกลุ่มมีหยาง 2 ชั้นและอิน 1 ชั้น เป็นต้น

ที่สำคัญคือ การจัดวางที่ว่านี้จะทำสลับกันไป เช่น อินอยู่ชั้นบนสุด 1 ขีดบ้าง 2 ขีดบ้าง แล้วขีดที่เหลือจะเป็นหยาง หรือไม่ก็อินถูกนำมาแทรกกลางโดยมีหยางอยู่ชั้นบนสุดกับล่างสุดบ้าง เป็นต้น

การจัดวางสลับกันไปเช่นนี้จะทำไปจนครบหมดทุกรูปแบบโดยไม่มีรูปแบบใดซ้ำกัน แล้วจะพบว่า ขีดอินหยางที่จัดวางด้วยวิธีดังกล่าวจะมีทั้งหมด 8 รูป แต่ละรูปจะมีคำเรียกเฉพาะ

ลำดับต่อมาจะเป็นการนำแต่ละรูปมาจัดวางกันอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้จะจัดวางซ้อนกันไม่เกิน 2 รูปซึ่งเท่ากับ 6 ชั้น แล้วจัดวางสลับกันไปเช่นนี้จนกว่าจะครบโดยไม่มีรูปใดซ้ำกัน ลำดับนี้จะพบด้วยความพิศวงว่ามีอยู่ 64 รูปด้วยกัน

ขีดสัญลักษณ์ของอินกับหยางแต่ละรูปใน 64 รูปดังกล่าวจะแทนค่าคำพยากรณ์ของแต่ละสรรพสิ่งหรือแต่ละบุคคล ซึ่งแน่นอนว่าย่อมต้องนำปัจจัยอื่นมาประกอบการพยากรณ์ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เชื่อกันโดยไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ขงจื่อเป็นผู้ขยายความเพิ่มเติมให้กับ อี้จิง ไปอีกมากมาย

 

จะอย่างไรก็ตาม จากสารัตถะโดยสังเขปของปกรณ์เล่มนี้ได้ทำให้เราเข้าใจนิยามที่แท้ของคำว่า อี้ ไปด้วยว่าหมายถึง ความเปลี่ยนแปลง คือเป็นความเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งที่อาจดีหรือร้ายก็ได้ และด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่ฝ่ายตะวันตกจะใช้คำว่า Change มาเรียกเป็นชื่อของปกรณ์เล่มนี้ และด้วยความสำคัญดังกล่าวของอี้จิง ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตกจึงยกให้ปกรณ์เล่มนี้เป็นหนึ่งในอู่จิง นับแต่นั้นมา

ความเป็นมาและสารัตถะโดยสังเขปของอี้จิง จากที่กล่าวมานี้ ไม่เพียงทำให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนของปกรณ์เท่านั้น หากยังทำให้รู้สึกด้วยว่าปกรณ์เล่มนี้ในด้านหนึ่งดูเหมือนศาสตร์ที่ยากจะเข้าถึง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีเสน่ห์จากความเหนือจริงคอยดึงดูดให้ผู้คนอยากจะเข้าหา

ภาวะเช่นนี้ของอี้จิง ที่ต่อมาเมื่อถูกพัฒนาขยายไปสู่ศาสตร์อันเกี่ยวกับภูมินิเวศน์ที่มีลมและน้ำหรือ เฟิงสุ่ย (หรือที่เรียกตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า ฮวงจุ้ย หรือ ฮวงซุ้ย) เป็นแกนหลักในการพยากรณ์แล้ว ศาสตร์นี้จึงเป็นที่สนใจที่จะเข้าถึงของผู้คน

แต่ในเมื่อเข้าถึงได้ยาก จึงต้องอาศัยหมอหรือครูในศาสตร์นี้มาช่วยดังจะเห็นได้แม้ในปัจจุบันนี้

สําหรับเรื่อง เฟิงสุ่ย ที่เกี่ยวพันกับอี้จิง นี้ถือเป็นศาสตร์หนึ่งที่สังคมจีนในอดีตให้ความเชื่อถือมายาวนาน ในทางปฏิบัติจะมีผู้ทำหน้าที่นี้โดยตรง บางทีก็เรียกว่า หมอเฟิงสุ่ย บางทีก็เรียกว่า ครูเฟิงสุ่ย คำว่าหมอหรือครูนี้ต่างก็มาจากคำจีนคำเดียวกันคือ เซียนเซิง (ภาษาถิ่นแต้จิ๋วเรียกว่า ซินแส)

เวลาปฏิบัติหน้าที่ หมอเฟิงสุ่ยจะมีเครื่องไม้เครื่องมืออยู่ชุดหนึ่ง แต่ที่ถูกนำมาใช้มากก็คือ จานปากว้าหรือจานอัฏลักษณ์ เพื่อนำมาคำนวณหาคำพยากรณ์

นอกจากนี้ สัญลักษณ์อัฏลักษณ์นี้ยังสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย สัญลักษณ์นี้มักจะถูกนำมาติดตั้งหรือประดับไว้ส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคาร นัยว่าเพื่อป้องกันเหตุร้ายมิให้มากล้ำกรายบุคคล

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ตัวอย่างหนึ่งที่พอจะทำให้เห็นภาพและอิทธิพลที่มีต่อความเชื่อในอี้จิง ของชาวจีน