สุรชาติ บำรุงสุข | รัฐมหาอำนาจ 2020 : สงครามหลีกเลี่ยงได้หรือไม่?

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ความกลัวของรัฐมหาอำนาจเก่ามักจะถูกเติมเชื้อเพลิงด้วยทัศนะที่ผิดพลาดและความกลัวที่เกินจริง ในขณะที่ความมั่นใจของรัฐมหาอำนาจใหม่ถูกกระตุ้นจากความคาดหวังที่ไม่เป็นจริง และถูกผลักดันจากความพร้อมที่จะเสี่ยง [ทำสงคราม]”

Graham Allison (2017)

ถ้าเริ่มต้นด้วยสมมุติฐานตามแนวคิดของนักประวัติศาสตร์สงครามชาวกรีกอย่างทูซิดิดิสแล้ว เราอาจจะเห็นได้ว่าบทสุดท้ายของความขัดแย้งระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่ในระบบระหว่างประเทศมักจะจบลงด้วยสงคราม

สภาวะในบริบททางประวัติศาสตร์ของสงครามนครรัฐกรีก ที่เริ่มจากการดำรงอยู่ของรัฐมหาอำนาจเก่า (ruling power) คือสปาร์ตา และเมื่อต้องเผชิญกับการเติบโตของรัฐมหาอำนาจใหม่ (rising power) อย่างเอเธนส์ แม้ในช่วงต้นความท้าทายจากการเติบใหญ่ของรัฐมหาอำนาจใหม่อาจจะไม่เป็นประเด็นสำคัญ แต่ยิ่งนานวัน ความเติบใหญ่ของรัฐคู่แข่งเช่นนี้กลายเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิด “ความกลัว”

…ความกลัวส่งผลให้เกิดการแสวงหามาตรการปกป้องตัวเอง

นัยสำคัญของความกลัวดังกล่าวทำให้ “สายเหยี่ยว” ที่นิยมสงครามมีอิทธิพลมากขึ้นในการทำนโยบายของรัฐมหาอำนาจเก่า อันมีความหมายในอนาคตที่หมายถึง รัฐมหาอำนาจเก่ามีความพร้อมที่จะปกป้องระเบียบเดิมด้วยสงคราม

ซึ่งระเบียบเดิมนี้มีความหมายโดยตรงถึง ผลประโยชน์และเกียรติภูมิของรัฐ (เกียรติภูมิไม่ใช่ในความหมายแบบนามธรรม หากแต่หมายถึงการได้รับการยอมรับและนับถือจากรัฐอื่นๆ ในระบบระหว่างประเทศ)

ขณะเดียวกันรัฐมหาอำนาจใหม่เติบโตด้วยความพร้อมที่จะเปลี่ยนสถานะของตนในความสัมพันธ์กับรัฐมหาอำนาจเก่าที่เป็น “ผู้ควบคุมระเบียบเดิม”

หรืออีกนัยหนึ่งเขาพร้อมที่จะก้าวขึ้นมาท้าทายกับอำนาจเก่า

และที่สำคัญเขาพร้อมที่จะเปลี่ยนการควบคุมระเบียบเดิมด้วยสงครามเช่นกัน

ดังนั้น สงครามในสภาวะเช่นนี้จึงเป็นผลผลิตโดยตรงของ “ความตึงเครียดในเชิงโครงสร้าง” (structural stress) ระหว่างรัฐมหาอำนาจทั้งสองฝ่าย

และสภาวะดังกล่าวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในระบบระหว่างประเทศ

อันกลายเป็นข้อสังเกตในทางทฤษฎีว่า สงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในความขัดแย้งระหว่างรัฐมหาอำนาจเก่ากับใหม่ (ดังเช่นที่ Allison กล่าวสรุปแนวคิดพื้นฐานของทูซิดิดิสไว้ในข้างต้นเรื่องการกำเนิดของสงครามใหญ่ระหว่างรัฐมหาอำนาจ)

ถ้าสมมุติฐานจากการกำเนิดของสงครามใหญ่ของทูซิดิดิสเป็นจริงแล้ว การแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจระหว่างสหรัฐกับจีนในยุคปัจจุบันก็น่าจะนำไปสู่สงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้งเมื่อหลายตัวอย่างของการแข่งขันเช่นนี้ในเวทีโลกที่ล้วนแต่จบลงด้วยสงคราม

สงครามในบริบทเช่นนี้ได้กลายเป็นเสมือนกับการพิสูจน์สมมุติฐานของทูซิดิดิสในตัวเอง

สมมุติฐานเช่นนี้ทำให้เกิดความกังวลว่า การเมืองโลกปัจจุบันกำลังเดินไปบนเส้นทางเดียวกับการต่อสู้ระหว่างสปาร์ตากับเอเธนส์ใช่หรือไม่ อันเป็นข้อสังเกตว่าการแข่งขันเชิงอำนาจเช่นนี้ “สงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้!” หรือเป็น “กับดักสงคราม” ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ถ้าการแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจส่งผลให้เกิด “ความตึงเครียดเชิงโครงสร้าง” ในระบบระหว่างประเทศ อันทำให้สงครามกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

คำถามอีกด้านในเงื่อนไขเช่นนี้จึงได้แก่ “สงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้หรือไม่?” (Is war inevitable?)

หรืออีกนัยหนึ่งเป็นไปได้ไหมที่การแข่งขันดังกล่าวจะไม่ต้องเดินไปสู่สงครามเช่นสมมุติฐานของทูซิดิดิส

แอลลิสัน นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชาวอเมริกัน ได้สำรวจความขัดแย้งระหว่างรัฐมหาอำนาจใหญ่จำนวน 16 กรณี

พบว่ามีเพียง 4 กรณีเท่านั้นที่ไม่ได้จบลงด้วยสงคราม

การศึกษานี้ปรากฏ ใน Graham Allison, Destined for War: Can America and China Escape Thucydides”s Trap? (2017) ซึ่งความขัดแย้งในเงื่อนไขเช่นนี้แอลลิสันเรียกว่าเป็นดัง “กับดักทูซิดิดิส”

ที่สุดท้ายแล้ว นำรัฐเข้าคู่ขัดแย้งเข้าสู่สงคราม

กรณีที่ 1 การแข่งขันระหว่างโปรตุเกสกับสเปนในปลายศตวรรษที่ 15 : ความขัดแย้งระหว่างรัฐมหาอำนาจทั้งสองมีประเด็นเรื่องการแข่งขันทางการค้า และการสร้างจักรวรรดิในดินแดนโพ้นทะเลนอกยุโรป ผลการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ได้จบลงด้วยสงคราม

กรณีที่ 2 การแข่งขันระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรียในช่วงต้นศตวรรษที่ 16 : ความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับราชสำนักออสเตรียในการสถาปนาความเป็นมหาอำนาจทางบกเหนืออาณาบริเวณยุโรปตะวันตก

เนื่องจากในช่วงต้นของศตวรรษที่ 16 นั้น ราชวงศ์ฮับส์เบิร์กแห่งออสเตรียไม่เพียงเป็นมหาอำนาจใหญ่ของยุโรปเท่านั้น หากยังมีสถานะเป็น “มหาอำนาจของโลก” หรือเป็นจักรวรรดิของโลก (The World Empire) อันเป็นผลจากการสมรสในแบบยุคกลาง จึงทำให้ราชวงศ์ขยายอิทธิพลครอบคลุมพื้นที่หลักของยุโรป และเป็นมหาอำนาจใหม่ในขณะนั้น

อันนำไปสู่การปะทะกับอำนาจเดิมของจักรวรรดิฝรั่งเศส และการแข่งขันนี้จบลงด้วยสงคราม

กรณีที่ 3 การแข่งขันระหว่างออสเตรียกับจักรวรรดิออตโตมันในศตวรรษที่ 16 และ 17: ออสเตรียมีฐานะเป็นมหาอำนาจเก่า และเผชิญหน้ากับการเติบโตของจักรวรรดิออตโตมันที่เป็นมหาอำนาจใหม่ และขยายอำนาจเข้าสู่พื้นที่บางส่วนของยุโรป ซึ่งมีผลกระทบกับการค้าระหว่างรัฐยุโรปกับอาณานิคมบริเวณชายฝั่งทะเลเอเจียน

การแข่งขันครั้งนี้เพื่อครองความเป็นมหาอำนาจทางบกเหนืออาณาบริเวณยุโรปกลางและยุโรปตะวันตก

การปะทะของอิทธิพลของสองมหาอำนาจไม่ใช่เพียงการต่อสู้ระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออกเท่านั้น

หากยังเป็นการปะทะของสองอารยธรรมด้วยสงคราม

กรณีที่ 4 การแข่งขันระหว่างออสเตรียกับสวีเดนในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 17 : ออสเตรียเป็นมหาอำนาจเก่า ที่เผชิญกับการเติบโตของสวีเดนที่เป็นรัฐมหาอำนาจใหม่

การแข่งขันที่เกิดขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นมหาอำนาจทั้งทางบกและทางทะเลในบริเวณยุโรปเหนือ

การต่อสู้ครั้งนี้จบลงด้วยสงคราม

กรณีที่ 5 การแข่งขันระหว่างเนเธอร์แลนด์กับอังกฤษในช่วงกลางและปลายศตรรษที่ 17 : สาธารณรัฐดัตช์เป็นรัฐมหาอำนาจเก่าที่ควบคุมเส้นทางเดินเรือและการค้าในโพ้นทะเล ต้องเผชิญกับการเติบโตของอังกฤษที่เป็นรัฐมหาอำนาจใหม่ การแข่งขันนี้เป็นเรื่องของการครองทะเล เพื่อควบคุมเส้นทางเดินเรือ และการค้าในอาณาบริเวณนอกยุโรป

การต่อสู้ครั้งนี้นำไปสู่สงคราม และส่งผลให้อังกฤษกลายเป็นมหาอำนาจใหญ่ทางทะเล

กรณีที่ 6 การแข่งขันระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 จนถึงกลางศตวรรษที่ 18 : ฝรั่งเศสมีสถานะเป็นรัฐมหาอำนาจเก่า และอังกฤษเติบโตเป็นรัฐมหาอำนาจใหม่ที่ท้าทายกับอำนาจของจักรวรรดิเดิม การแข่งขันนี้เพื่อยืนยันถึงสถานะความเป็นมหาอำนาจใหญ่ของยุโรป และทั้งยังนำไปสู่การขยายอำนาจของจักรวรรดิในโพ้นทะเล

การต่อสู้ครั้งนี้จบลงด้วยสงคราม และสงครามภาพสะท้อนที่ชัดเจนของการต่อสู้เพื่อสถาปนาอำนาจของจักรวรรดิใหญ่ของการเมืองยุโรป

กรณีที่ 7 การแข่งขันระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 : ในครั้งนี้อังกฤษมีสถานะเป็นรัฐมหาอำนาจเก่า และฝรั่งเศสเป็นผู้ท้าทายด้วยการเป็นมหาอำนาจใหม่ ซึ่งส่วนสำคัญเป็นผลจากการปฏิวัติฝรั่งเศส

อันส่งผลให้การแข่งขันครั้งนี้จบลงด้วยสงคราม

และสงครามที่สำคัญของยุคสมัยคือ “สงครามนโปเลียน” (The Napoleonic War) สงครามชี้ขาดความเป็นรัฐมหาอำนาจทั้งทางบกและทางทะเลของอังกฤษ

กรณีที่ 8 การแข่งขันระหว่างอังกฤษ-ฝรั่งเศสกับรัสเซียในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 : ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของการเมืองยุโรปในยุคหลังสงครามนโปเลียน อังกฤษกับฝรั่งเศสที่เคยเป็นรัฐมหาอำนาจคู่แข่งขัน กลับจับมือเป็นพันธมิตรกันในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 อังกฤษกับฝรั่งเศสมีสถานะเป็นรัฐมหาอำนาจเก่า และรัสเซียในช่วงเวลานี้เป็นมหาอำนาจใหม่ ที่ก้าวขึ้นมาท้าทาย

การแข่งขันเกิดขึ้นเพื่อสถาปนาอำนาจของจักรวรรดิเหนือพื้นที่เอเชียกลางและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนครั้งนี้นำไปสู่สงคราม

และสงครามสำคัญในกรณีนี้คือสงครามไครเมีย (The Crimean War)

กรณีที่ 9 การแข่งขันระหว่างฝรั่งเศสกับปรัสเซียในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 : หลังจากชัยชนะของปรัสเซียเหนือออสเตรียในปี 1866 ทำให้สถานะของปรัสเซียสูงเด่นขึ้นในบรรดารัฐเยอรมนี และต่อมาปรัสเซียประสบชัยชนะครั้งสำคัญเหนือฝรั่งเศสในปี 1870 ซึ่งส่งผลให้ปรัสเซียเป็นผู้นำในการรวมรัฐต่างๆ เพื่อก่อตั้งประเทศเยอรมนี

สภาวะเช่นนี้จึงเป็นการต่อสู้ระหว่างฝรั่งเศสที่เป็นรัฐมหาอำนาจเก่า และเยอรมนีเป็นรัฐมหาอำนาจใหม่ที่กำเนิดขึ้นในการเมืองยุโรป

สงครามที่เกิดระหว่างขึ้นระหว่างฝรั่งเศสกับปรัสเซียชี้ให้เห็นถึงความเป็นมหาอำนาจใหม่ทางบกของเยอรมนี

และเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งชุดใหญ่ในต้นศตวรรษที่ 20

Russian President Vladimir Putin (L) shakes hands with Chinese President Xi Jinping during a signing ceremony in Beijing’s Great Hall of the People on June 25, 2016. / AFP PHOTO / POOL / GREG BAKER

กรณีที่ 10 การแข่งขันระหว่างรัสเชีย/จีนและญี่ปุ่นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 : จากปลายศตวรรษที่ 19 หรือในช่วงหลังจาก “การปฏิรูปเมจิ” ที่นำไปสู่การสร้างความเป็นสมัยใหม่ (modernization) ในสังคมญี่ปุ่น จนทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ในเอเชีย และการเติบโตของญี่ปุ่นเช่นนี้กลายเป็นความท้าทายกับรัฐมหาอำนาจเก่าอย่างทั้งจีนและรัสเซีย

การแข่งขันนี้นำไปสู่สงครามครั้งสำคัญ ได้แก่ สงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น และสงครามระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่น

ชัยชนะในสองสงครามบ่งบอกถึงการเป็นมหาอำนาจของญี่ปุ่นในเอเชียอย่างชัดเจนในต้นศตวรรษที่ 20

กรณีที่ 11 การแข่งขันอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 : เมื่อสหรัฐเติบโตมากขึ้นในทางเศรษฐกิจ และส่งสัญญาณถึงการก้าวขึ้นสู่ความเป็นมหาอำนาจใหม่ที่ท้าทายกับความเป็นมหาอำนาจเก่าของอังกฤษ การต่อสู้ครั้งนี้เพื่อบ่งบอกว่า ใครจะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก และใครจะเป็นมหาอำนาจทางทะเลในซีกโลกตะวันตก

น่าสนใจว่า การแข่งขันครั้งนี้ไม่นำไปสู่สงคราม

กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่การต่อสู้ของรัฐมหาอำนาจไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยสงคราม

กรณีที่ 12 การแข่งขันระหว่างอังกฤษกับเยอรมนีในต้นศตวรรษที่ 20 : เมื่อเยอรมนีเติบโตเป็นจักรวรรดิใหม่ในยุโรป ย่อมปะทะกับอิทธิพลของอังกฤษในฐานะของจักรวรรดิเก่า การแข่งขันนี้เป็นกรณีสำคัญในโลกสมัยใหม่ที่ชี้ให้เห็นว่า สงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

สงครามจะตัดสินว่า ใครจะเป็นมหาอำนาจหลักของยุโรป

และใครจะเป็น “ผู้ครองทะเล” ของโลก

กรณีที่ 13 การแข่งขันระหว่างอังกฤษ/ฝรั่งเศส/โซเวียตกับเยอรมนีในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 : ฝ่ายสัมพันธมิตรในฐานะรัฐมหาอำนาจเก่าต้องเผชิญกับการท้าทายอีกครั้งของเยอรมนี

เป็นอีกครั้งที่สงครามตัดสินว่า ใครจะเป็นมหาอำนาจใหญ่ของยุโรป

กรณีที่ 14 การแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 : การเติบโตเป็นมหาอำนาจใหม่ของญี่ปุ่นย่อมปะทะกับสหรัฐที่เป็นมหาอำนาจเก่า การต่อสู้นี้นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเอเชีย เพื่อตัดสินว่าใครจะเป็นมหาอำนาจใหญ่ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การแข่งขันนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการที่สงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

กรณีที่ 15 การแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น : สหรัฐในยุคสงครามเย็นเป็นมหาอำนาจเก่าที่ถูกท้าทายจากโซเวียตที่ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ การแข่งขันในยุคนี้ต้องการช่วงชิงความเป็นมหาอำนาจใหญ่ของโลก และมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดความกังวลว่า การต่อสู้นี้อาจจะจบลงด้วยสงครามนิวเคลียร์ แต่สุดท้ายสงครามเย็นจบลงด้วยการล่มสลายของโซเวียตโดยไม่มีสงคราม

กรณีที่ 16 การแข่งขันระหว่างอังกฤษ/ฝรั่งเศสกับเยอรมนีจากช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ถึงปัจจุบัน : การแข่งขันครั้งนี้แตกต่างจากอดีตที่ไม่เน้นมิติทางทหาร การฟื้นตัวของเยอรมนีเป็นการท้าทายอย่างมากกับมหาอำนาจเก่าอย่างอังกฤษกับฝรั่งเศส

และเป็นอีกกรณีที่ไม่นำไปสู่สงคราม

หากพิจารณาในข้างต้นจะพบว่า มีเพียงสี่ในสิบหกการแข่งขันเท่านั้นที่ไม่ได้จบลงด้วยสงครามใหญ่

ดังนั้น จึงเป็นคำถามที่มีความหวังว่า

เป็นไปได้หรือไม่ที่การแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนจะไม่เข้าไปติด “กับดักของทูซิดิดิส” เช่นในปี 1914 1939 และ 1941…

คำถามเช่นนี้ท้าทายกับยุคสมัยเป็นอย่างยิ่ง!