เป็นเฟมินิสต์โชว์นมได้ไหม? และทำไม Emma Watson จึงเป็นเฟมินิสต์ผู้ทรงอิทธิพล

หากดาราผู้หญิงทั่วไปออกมาโชว์นม คงเป็นเรื่องที่ฮือฮาและเสียวซ่านของบรรดาหนุ่มๆ แต่เมื่อดาราสาวคนนั้นเป็น เอ็มมา วัตสัน เสียงตอบรับกลับต่างออกไป

“เฟมินิสต์ หรือนางแบบโป๊หน้า 3 กันแน่?”

“เอ็มมา วัตสัน เปลือยอก? กล้าอย่างน่าประหลาด!”

“ดัดจริต”

“ไม่เหมาะสม”

“เพราะแบบนี้ไงฉันเลยไม่เคยจริงจังกับพวกเฟมินิสต์เลย”

เรื่องเกิดจาก เอ็มมา วัตสัน ดาราฮอลลีวู้ดชื่อดังที่ถูกยกย่องเป็นเฟมินิสต์มาตลอด ไปถ่ายภาพลงนิตยสาร Vanity Fair โดยหนึ่งในเซ็ตแฟชั่นนั้นเป็นภาพเธอเปลือยอก มีชุดสีขาวที่ท่อนบนเป็นเสื้อแจ๊กเก็ตโครเชต์ ภาพนี้ถูกถ่ายโดย Tim Walker ช่างภาพแฟชั่น

ถือเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นหน้าอกของเธอแบบเต็มๆ

เอ็มมา วัตสัน เปิดเผยว่า “เราทำสิ่งบ้าๆ ด้วยกันเยอะมาก แต่ฉันรู้สึกว่ามันเป็นงานศิลปะที่น่าเหลือเชื่อ ฉันรู้สึกมีส่วนร่วมในการทำงานกับช่างภาพ ฉันตื่นเต้นมากที่จะได้เห็นว่ารูปนี้จะออกมาสวยและน่าสนใจเพียงใด”

สำหรับผมแล้ว ภาพนี้สวยงาม น่ารัก เซ็กซี่ และสง่างาม

แต่ทว่าบางคนกลับคิดตรงกันข้าม…

 

ภาพนี้ทำให้เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า กำลังทำลายภาพลักษณ์ความเป็น “นักสตรีนิยม” เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาภาพลักษณ์ของเธอคือผู้หญิงเก่ง เรียนดี มีสมอง เป็นตัวของตัวเอง และส่งเสริมความเป็นสตรี

เอ็มมา วัตสัน โต้กลับทันทีว่า “สิ่งนี้เปิดเผยให้ฉันเห็นถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Feminism (สิทธิสตรี)

“หลักเสมอภาคและสิทธิสตรีคือ การให้สิทธิผู้หญิงในการตัดสินใจ หลักการของสตรีนิยมไม่ได้หมายถึงการโจมตีผู้หญิงคนอื่น มันเกี่ยวกับอิสรภาพ เสรีภาพ และความเท่าเทียม

“ฉันไม่รู้จริงๆ ว่าภาพหน้าอกของฉันไปทำลายสิทธิสตรีตรงไหน มันเป็นสิ่งที่สับสนมาก ฉันสับสน และคนส่วนใหญ่ก็สับสน”

“หลายคนพูดว่าฉันไม่สามารถเป็นนักสิทธิสตรีและมีหน้าอกได้ ซึ่งฉันต้องการแสดงออกว่ามันไม่จริง”

อ่านข่าวนี้แล้วผมเกิดคำถาม 2 ข้อ

หนึ่ง จากดาราวัยรุ่น เอ็มมา วัตสัน เปลี่ยนตัวเองมาเป็นเฟมินิสต์ผู้มีอิทธิพลได้อย่างไร?

และสอง เป็นเฟมินิสต์โชว์นมได้ไหม?

 

หลายคนคงจะคุ้นหน้าคุ้นตา เอ็มมา วัตสัน จากบทบาท “เฮอร์ไมโอนี่” ในภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่เป็นแม่มดสุดขยัน เรียนเก่ง กล้าหาญ และมีความเป็นผู้นำ แต่ก่อนจะเข้าวงการบันเทิง เธอเคยคิดว่าเธออาจจะไม่เหมาะกับวงการนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า “เธอเป็นคนจริงจังเกินไป”

“ฉันคิดตั้งแต่ฉันอายุ 10-11 ขวบ ว่า ฉันอาจจะไม่เหมาะกับอาชีพนี้ เพราะฉันเป็นคนจริงจังเกินไป ฉันจะก่อปัญหา คนอาจจะเข้าใจฉันยาก ฉันรู้สึกว่าฉันไม่เข้ากับคนอื่นๆ”

ความคิดเธอเปลี่ยนไปเมื่อเธอโตขึ้น

“พอฉันโตขึ้น ฉันเข้าใจว่าทั้งหมดคือสมรภูมิรบในชีวิตของฉัน ไม่ว่าจะในสนามเล็ก หรือสนามใหญ่ มันคือตัวฉัน”

เอ็มมา วัตสัน เติบโตขึ้นด้วยภาพลักษณ์ของการเป็นนักแสดงที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก ที่สำคัญคือเธอเป็นนักอ่านตัวยง

วัตสันอธิบายกับนิตยสาร Vanity Fair ถึงเหตุผลที่เธอยกย่องการอ่านว่าคือ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์”

“หนังสือทำให้ฉันเชื่อมโยงกับพ่อได้ นั่นคือเวลาที่มีค่าเหมือนสมบัติล้ำค่า” พ่อแม่เธอหย่าตั้งแต่เธอยังเด็ก “ฉันยังจำเวลาที่พ่อชอบอ่านหนังสือให้ฟังตอนเด็กๆ จำได้แม้กระทั่งการพากย์เสียงที่แตกต่างกัน ฉันเติบโตในกองถ่ายก็จริง แต่หนังสือคือสิ่งที่ทำให้ฉันเชื่อมต่อกับโลกภายนอก และเหมือนเป็นทางออกของชีวิต เป็นการเพิ่มพลังชีวิตให้กับตัวเอง”

เธอเรียนจบปริญญาตรีด้านวรรณกรรมอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยบราวน์ โดยระหว่างเรียนเธอต้องปฏิเสธงานดีๆ ชื่อเสียง เงินทองมากมาย (แม้แต่หนังมิวสิคัลรางวัลออสการ์เรื่องล่าสุด La La Land (2016) ที่สร้างบทมาให้เธอโดยเฉพาะ เธอก็ปฏิเสธไป) แต่เธอไม่ได้รู้สึกเสียดายแต่อย่างใด

“ฉันรู้สึกได้ว่าถ้าฉันไม่ตัดสินใจเรียนเดี๋ยวนั้น มันก็จะไม่มีโอกาสแล้ว ฉันคิดว่าหากฉันหลงไปกับชื่อเสียง มันจะเป็นจุดที่ฉันไม่สามารถวกกลับมาได้อีก ซึ่งโปรดิวเซอร์ส่วนใหญ่จะตอบกลับฉันว่า ฉันบ้าไปแล้วหรือเปล่า หรือฉันกำลังตัดสินใจพลาดครั้งใหญ่หลวง แต่ถามหน่อยเถอะว่า อะไรคือประเด็นของการประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ถ้าคุณบอกว่าฉันบ้าหรือเปล่า? ฉันคงต้องตอบกลับว่า “เฮ้! ฉันต้องไปโรงเรียน” หรือ “ฉันแค่อยากกลับบ้านไปเล่นกับแมว” แม้ว่าคนอาจจะมองว่าฉันบ้าไปกันใหญ่ แต่เอาเข้าจริง ฉันว่าสิ่งที่ฉันทำนั้นตรงข้ามกับคำว่าบ้าโดยสิ้นเชิงนะ”

วัตสันมักจะปฏิเสธหนังทุนสูงฟอร์มยักษ์ แต่เลือกรับหนังอินดี้เล็กๆ ที่กำกับฯ โดยผู้กำกับฯ คุณภาพ เช่น The Perks of Being a Wallflower (2012), The Bling Ring (2013) และ Noah (2014) แต่ล่าสุดเธอก็รับบทเป็น Bell ในหนังรีเมกจากการ์ตูนของดิสนีย์อย่าง Beauty and the Beast ซึ่งเธอบอกว่าจะเป็นตัวละครหญิงที่ไม่ใช่แค่ผู้หญิงธรรมดาๆ เหมือนการ์ตูนทั่วไปอย่างแน่นอน

นอกจากการใส่ใจกับการศึกษา ช่างเลือกงาน และรักการอ่านแล้ว เธอยังเป็นดาราที่มีความเป็นตัวเองสูง และต้องการที่จะแยกชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวอย่างเด็ดขาดชัดเจน

เธอปฏิเสธการเซลฟี่กับแฟนๆ แต่เลือกที่จะตอบทุกคำถามของแฟนคลับที่พุ่งเข้ามาหาเธอ เพื่อไม่ให้ชีวิตส่วนตัวของเธอ ทั้งสถานที่ที่เธอไป และเสื้อผ้าที่เธอใส่ไปปรากฏอยู่บนสื่อโซเชียลมีเดีย รวมถึงปฏิเสธที่จะเปิดเผยชีวิตด้านความรักกับสื่อต่างๆ

ภาพลักษณ์สวยและเก่งของเธอทำให้ในเวลาต่อมาเธอได้รับเลือกจากสหประชาชาติให้เป็นทูตสันถวไมตรีขององค์กรเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ และร่วมรณรงค์ในโครงการ HeForShe ของสหประชาชาติ ที่ต้องการรณรงค์ให้ผู้ชายเห็นว่าเพศหญิงมีความเท่าเทียมกับเพศชาย

และเธอก็ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีมาตลอด เธอปรากฏตัวตามเวทีที่รณรงค์เพื่อสิทธิสตรีหลายครั้ง จนกลายเป็นไอดอลของคนทั่วโลก กระทั่งมาเจอคำวิพากษ์วิจารณ์จากการถ่ายแบบให้กับนิตยสาร Vanity Fair

 

แล้วเป็นเฟมินิสต์โชว์นมได้ไหม?

ผมมอบหมายให้ กานท์กลอน รักธรรม บรรณาธิการข่าวต่างประเทศประจำ The Momentum สัมภาษณ์ ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ

ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท มองว่าในกรณีของ เอ็มมา วัตสัน นั้นเกิดจากความคาดหวังของสังคมต่อตัวบุคคลที่มีลำดับชั้น ซึ่งจะแตกต่างตามเพศและภาพลักษณ์ของคนคนนั้น

พูดง่ายๆ ก็คือ การวิพากษ์วิจารณ์ เอ็มมา วัตสัน นั้นเกิดจากชุดความคิดตายตัวเกี่ยวกับนักสตรีนิยม ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

“ผู้หญิงและผู้ชายถ่ายรูปโนบรามีเยอะแยะ ผู้ชายถ่ายได้ไม่เป็นไร หากผู้หญิงที่เป็นนางแบบถ่ายภาพโนบราก็เกิดเป็นกระแสฮือฮา แต่ไม่ได้ประณาม แต่พอเป็น เอ็มมา วัตสัน มันกลายเป็นกระแสตีกลับจากการที่เธอประกาศตัวว่าเป็นนักสตรีนิยม แล้วหลายคนมีชุดความคิดตายตัวว่า นักสตรีนิยมต้องแต่งตัวมิดชิดตลอดเวลา ไม่ทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ ซึ่งส่วนตัวมองว่าอาจจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะใจความสำคัญของ Feminism คือการให้ทางเลือกกับผู้หญิง”

ส่วนเรื่องที่การโชว์นมนั้นอาจจะทำให้ผู้หญิงกลายเป็นวัตถุทางเพศ ดร.วราภรณ์ ยิ่งไม่เห็นด้วย และย้ำว่านั้นคือความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง

“คิดว่าคนมองผิดจุด ถ้าจะไปมองว่าการลดการแต่งตัววาบหวามจะช่วยลดการเกิดความรุนแรงทางเพศนั้น นักสตรีนิยมจะมองว่าแนวคิดข้างต้นไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาความรุนแรง เพราะการแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศไม่ใช่การจำกัดว่าผู้หญิงควรแต่งตัวอย่างไร หรือไม่ให้ผู้หญิงออกไปข้างนอกเวลากลางคืน ถ้าเรายอมให้สังคมใช้ความรุนแรงโดยโทษว่าผู้หญิงทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ และกล่าวโทษผู้ถูกกระทำ สังคมจะไม่มีทางมีความปลอดภัย เราต้องสอนให้สังคมเคารพทุกเพศ”

ส่วนตัวผมเห็นด้วยกับ ดร.วราภรณ์ เพราะไม่เห็นว่าหน้าอกของ เอ็มมา วัตสัน จะไปทำลายสิทธิสตรีตรงไหน เรือนร่าง หน้าอก เป็นของเธอ เธอจึงมีสิทธิที่จะทำอะไรกับมันก็ได้ และถือเป็นเรื่องเชยและล้าสมัยเหลือเกินกับคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์เธอในเรื่องนี้

เพราะท้ายที่สุดแล้ว ก็คงเหมือนกับที่ เอ็มมา วัตสัน ออกมาพูดว่า

“ใจความสำคัญของสิทธิสตรีคือ การให้สิทธิผู้หญิงในการเลือก”

และการมีสิทธิในการเลือกนี่แหละคือการปลดปล่อยจากการครอบงำและคืออำนาจที่แท้จริงของผู้หญิง