มุกดา สุวรรณชาติ : ยุทธศาสตร์ผิด จะแพ้พ่าย ใช้กฎหมายทำลายไปอีก 20 ปี

มุกดา สุวรรณชาติ

1.ฝ่ายประชาธิปไตยหลงอยู่กับการเลือกตั้ง ตามกฎหมายของเขา

ผู้ปกครองในยุคปัจจุบัน อยากจะเป็นที่ยอมรับในประเทศ และในระดับสากล จะต้องแสดงว่ามาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยโดยประชาชน ไม่ว่าระบบประธานาธิบดี หรือระบบรัฐสภาที่มีหลายพรรค ค่านิยมในการเลือกตั้งทำให้แม้แต่ในประเทศจีนก็ยังต้องมีการเลือกตั้งที่ผ่านระบบของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่การเลือกตั้งแบบมีพรรคเดียวก็ไม่เป็นที่ยอมรับนะว่าเป็นประชาธิปไตย

การเลือกตั้งแบบพหุพรรคที่มีหลายพรรคการเมืองมาสมัครแข่งขันเป็นที่ยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตยมากกว่า ประชาชนมีสิทธิ์ตัดสินใจเลือกได้หลายทาง ทั้งบุคคลและแนวนโยบายของพรรค

ปัญหาการเลือกตั้งไม่ได้เกิดจากผู้นิยมประชาธิปไตย แต่เกิดกับกลุ่มที่ต้องการมีอำนาจอย่างยาวนาน อยากสืบทอดอำนาจ ลงจากตำแหน่งไม่ได้เพราะทำความผิดไว้มาก หรือผู้ที่นิยมระบบเผด็จการ

ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ต้องการปกครองแบบคณาธิปไตยหรืออํามาตยาธิปไตย

แต่สังคมยุคใหม่ไม่ยอมรับพวกเขาก็จำเป็นจะต้องแสดงบทนักประชาธิปไตยหัวใจเผด็จการ คือต้องมีรูปแบบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา

แต่ถ้าทำตามหลักการประชาธิปไตยเขาจะไม่ชนะเลือกตั้ง ไม่ได้ครองอำนาจรัฐ ไม่ได้สืบทอดอำนาจ จะได้เป็นแค่ฝ่ายค้าน อาจจะได้ ส.ส.ไม่กี่คน ดังนั้น จะต้องมียุทธศาสตร์เพื่อให้ได้ครองอำนาจรัฐแบบที่ตนเองต้องการ แต่แขวนป้ายประชาธิปไตยไว้โชว์ที่หน้าบ้านด้วย

กลุ่มอำนาจเก่ากุมยุทธศาสตร์สำคัญได้ดีกว่า

งานนี้ต้องถือว่า นายทุน ขุนศึก ศักดินา เก่งกว่าจึงสามารถสร้างระบอบอำมาตยาธิปไตย ภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตยได้สำเร็จ แม้คนรู้ทันก็อยู่อย่างด้านๆ ไปได้

บางคนไปดูถูกคนพวกนี้ว่าเป็นไดโนเสาร์ ที่จริงพวกเขาเป็นคนฉลาด มีเล่ห์เหลี่ยม แต่มีความคิดเป็นแบบอนุรักษนิยม เคยชินกับระบบอุปถัมภ์และเป็นชนชั้นที่มีอำนาจมานาน เราจะเรียกสั้นๆ ว่ากลุ่มอำนาจเก่า เมื่อก่อนคนพวกนี้ใช้กำลังยึดอำนาจทำการรัฐประหาร ยุบสภา ยุบพรรคการเมือง ฉีกรัฐธรรมนูญและก็สามารถปกครองต่อไปได้ระยะหนึ่งสังคมปัจจุบันทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว

แต่ระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมาพวกเขายังกุมจุดยุทธศาสตร์มั่น และเป็นฝ่ายได้เปรียบ คือ

คุมปืน ถือกฎหมาย ทำลายพรรคตรงข้าม ขยายกำลังในสภา เข้าหากลุ่มทุน

การคุมปืน ถือเป็นเป้าหมายอันดับแรก แม้ฝ่ายประชาธิปไตยได้เป็นรัฐบาลก็ยังไม่สามารถเข้าไปยุ่งในกองทัพได้

ส่วนในเกมอำนาจพวกเขาจะพูดว่า “ให้พวกมันหลงอยู่กับการเลือกตั้งไป ต่อให้ชนะเลือกตั้ง ก็ยังไร้อำนาจ เอาลงเมื่อไรก็ได้” ซึ่งเขาทำได้จริง

 

2.คุมกฎหมาย…ขยายอำนาจในระบบรัฐสภา เพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล ต้องควบคุมอะไร

2.1 คุมการร่างรัฐธรรมนูญ

คสช.กล่าวถูกต้องว่า… “รัฐธรรมนูญใครก็รัฐธรรมนูญมัน”

เมื่อคิดจะสืบทอดอำนาจ อย่างแรกจะต้องเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยกลุ่มของตนเองจะปล่อยให้ประชาชนตั้งตัวแทนมาร่างไม่ได้ เพราะจะได้ไม่ตรงตามความต้องการ

2.2 คุมเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญ…จะต้องมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งให้ได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับจำนวน ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง… เช่น สามในสี่ของจำนวน ส.ส.เหมือนสมัยหลังรัฐประหาร 2520 โดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หรือสองในสามของจํานวน ส.ส.เหมือนสมัยรัฐประหารของคณะ รสช. ของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ และหรือล่าสุดรัฐธรรมนูญหลังการรัฐประหาร 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้มี ส.ว.ครึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. 500 คน

และพยายามให้ ส.ว.มีอำนาจมากที่สุด คล้ายกับ ส.ส. โดยเฉพาะการเลือกนายกฯ

ถ้าทำแบบนี้ได้การขยายอำนาจในสภาก็จะตกอยู่ในมือ เมื่อ ส.ว.เลือกนายกฯ ได้ ก็จะมีโอกาสชนะและได้เป็นฝ่ายบริหารได้ง่ายกว่า ฝ่ายตรงข้ามถึงอย่างไรก็ไม่มีทางหา ส.ส.ได้ครึ่งของรัฐสภา คือ 375 เสียง (ส.ส. 500+ส.ว. 250) รธน.2560 ร่างมาถึงตรงนี้ คนร่างยังมียางอาย ไม่กล้าให้อำนาจ ส.ว. แต่งตั้งไปเลือกนายกฯ เพราะรู้ว่านี่มันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แต่สมาชิก สนช.ไม่มั่นใจ กลัวแพ้ ก็เลยต้องใส่ไปในบทเฉพาะกาล แล้วยัดลงในคำถามพ่วง

ซึ่งสามารถทำให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯ ได้อีก 5 ปี สามารถเลือกนายกฯ ได้อย่างน้อย 2 ครั้ง จึงสืบทอดอำนาจได้ไม่น้อยกว่า 8 ปี

2.3 อำนาจตุลาการที่เกี่ยวข้องกับการเมืองสามารถชี้ถูกชี้ผิด เช่น ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ เช่น กกต. ป.ป.ช. ก็กำหนดให้การคัดเลือกกรรมการเหล่านั้น ต้องได้รับการเห็นชอบจากวุฒิสภา ดังนั้น ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง ก็จะสามารถมีอิทธิพลไปถึงการแต่งตั้งกรรมการองค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ

ความแตกต่างของ รธน.2540 คือ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ส่วน รธน.2560 ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร จึงไม่มีอะไรที่ยึดโยงกับอำนาจประชาชน

นี่คือรัฐธรรมนูญและกฎหมายของพวกเขา จากนั้นเขาก็จะเรียกร้องให้ประชาชนจะต้องเคารพกฎหมายที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเพื่อพวกเขาเอง

เมื่อ ส.ว.เป็นของเขาแล้ว กฎหมายเลือกตั้งก็จัดการให้วิธีการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ไม่เคยมีมาก่อน ใช้บัตรใบเดียวแต่นับได้ 2 อย่าง ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ วิธีนี้จะทำให้พรรคใหญ่เดิมได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลดลง หรือไม่ได้เลย เช่น พรรคเพื่อไทย

ส่วนกรรมการ กกต.มีวิธีคิดคะแนนปัดเศษแบบพิสดาร ทำให้เขาสามารถรวมเสียงพรรคเล็กพรรคน้อยจนได้เกินครึ่ง ตั้งรัฐบาลแบบปริ่มน้ำ แต่ก็ถือได้ว่าบรรลุเป้าหมาย

 

3.พรรคการเมือง คือฐานที่มั่นทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

พรรคการเมือง คือองค์กรพื้นฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นที่รวมของความคิดทางการเมืองที่คล้ายกัน แนวทางเศรษฐกิจที่คล้ายกันของกลุ่มคนทั้งในท้องถิ่นเดียวกันและต่างท้องถิ่นเพื่อจัดตั้งเป็นองค์กรให้สามารถดำเนินงานทางการเมืองได้ สามารถจะมีตัวแทนทางความคิดเพื่อจัดตั้งรัฐบาลหรือเป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าหากคนที่มีความคิดการเมืองไม่มารวมกัน อย่างมีการจัดตั้งพลังทางการเมืองจะมีน้อยมากไม่สามารถใช้ในการต่อสู้ ช่วงชิงอำนาจและผลักดันนโยบายต่างๆ ได้

การทำลายพรรคการเมืองเป็นการทำลายองค์กรพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่การต่อสู้ระหว่างระบอบอํามาตยาธิปไตยกับประชาธิปไตยดำเนินอยู่

การทำลายพรรคการเมืองสำคัญของฝ่ายประชาธิปไตย จะทำให้ทั้งขบวนอ่อนแอ

นี่จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ

วิธีการทำลายพรรคการเมือง สมัยก่อน คือการใช้กำลังรัฐประหาร เมื่อล้มรัฐบาลได้ คณะรัฐประหารจะยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภา และยุบพรรคการเมือง

แต่ปัจจุบันไม่ต้องถึงขั้นใช้กำลังรัฐประหาร ก็สามารถใช้กฎหมายลิดรอนกำลัง และยุบพรรคการเมืองได้ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องทำให้พรรคการเมืองน้อยลงเท่านั้น

การให้มีพรรคการเมืองมากมายก็ทำให้เกิดความเสื่อมได้ ถ้ามีพรรคการเมืองที่ไม่ได้ทำเพื่อประชาชน มีนักการเมืองที่ขายตัว ที่ไม่ดีเข้าไปอยู่ในพรรคแบบนี้ก็จะทำให้คนเสื่อมศรัทธาต่อพรรคการเมือง และระบอบประชาธิปไตย

ในขณะเดียวกันถ้ามีพรรคการเมืองที่เข้มแข็งทำเพื่อประชาชน ก็จะเหมือนป้อมปราการของฝ่ายประชาธิปไตยที่จะใช้ต่อสู้กับพวกเผด็จการ

ดังนั้น การทำลายป้อมปราการเหล่านี้จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ

แต่พรรคแบบนี้มักจะมีประชาชนเลือกเยอะ มีสมาชิกมาก มีผลงานดี เป็นไปได้ยากในการจะปล่อยให้เสื่อมไปเองตามธรรมชาติ

ถ้ารอจนคนไม่นิยมแล้วก็ยุบหายไปเองนั้นใช้เวลานานมาก

 

4.การยุบพรรคเป็นยุทธศาสตร์ย่อยที่สำคัญ

จึงต้องมีการร่างกฎหมายยุบพรรคขึ้น เป็นกฎหมายที่มีจุดมุ่งหมายทางยุทธศาสตร์ในการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐ เพื่อชัยชนะทางการเมืองโดยผู้มีอำนาจ ดังนั้น ฝ่ายที่นิยมอำนาจเผด็จการจึงอาศัยการร่างกฎหมายเปิดช่องให้ยุบพรรคการเมืองได้ง่ายๆ โดยไม่สนใจว่าแต่ละพรรคจะมีสมาชิกกี่หมื่นกี่แสนหรือมีคนเลือกกี่ล้าน

ใช้วิธีการร่างกฎหมายที่กำหนดความผิดของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่เป็นกรรมการไว้อย่างมากมายหลายช่องทาง เหมือนกางตาข่าย จะเห็นว่ามีกฎหมายเกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อ มีกฎหมายเกี่ยวกับด้านการเงิน มีกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง ดังนั้น จีงมีพรรคการเมืองที่ถูกยุบ กรรมการพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองหลายสิบหรือเป็นร้อยคน เพราะไปโดนข้อหาต้องห้ามแม้จะทำโดยกรรมการเพียงคนเดียว และโทษก็ไม่ควรถึงยุบพรรค

ในองค์กรอื่นๆ ถ้ามีคนทำผิด เราไม่มีกฎหมายที่กำหนด ให้ยุบองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ตำรวจ กระทรวง กรม เพราะองค์กรเหล่านี้เกี่ยวพันกับคนจำนวนมาก คนทำงานก็มีมาก อย่างหนักก็ลงโทษผู้บริหารในบางระดับ หรือผู้บริหารสูงสุดก็ต้องลาออกและต้องรับผิดชอบ การวางโทษถึงยุบพรรคจึงชี้เจตนาของผู้ร่าง

สำหรับคนที่เลือกพรรค ถ้ามีหลายล้านคนถามว่าถ้ายุบพรรคนั้นไปแล้ว เสียงที่เลือกจะลอยหายไปไหน ในเมื่อยังไม่มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะเสียงของประชาชนเหล่านั้นมีที่มาที่ไป มันไม่ใช่เสียงร้องเพลง เสียงที่สนับสนุนพรรคเหล่านั้นเป็นไปตามนโยบายที่เขาเห็นด้วย หรือบุคคลที่เขาเห็นด้วย

ต่อให้ ส.ส.ย้ายพรรคไปก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเห็นด้วยกับพรรคใหม่ โดยเฉพาะถ้าพรรคใหม่นั้นมีอุดมการณ์หรือนโยบายตรงกันข้ามกับพรรคเดิม การดูด ส.ส.แบบนี้จึงคล้ายการวิ่งราวทรัพย์

ดูตัวอย่างการยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย มัชฌิมาธิปไตย ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเล็กๆ มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง มีลักษณะคล้ายการรัฐประหารอย่างหนึ่ง แต่ใช้กฎหมายไม่ได้ใช้ปืน การยึดอำนาจโดยกฎหมาย

ทำได้เมื่อบุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นพวกเดียวกันกับผู้มีอำนาจจริง การทำลายพรรคการเมืองด้วยการยุบพรรคทางการเมือง ตัดสิทธิกรรมการพรรค จึงเป็นเรื่องไม่ยาก ง่ายกว่ารัฐประหาร และไม่มีโทษทางอาญา

ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นคือ สถานการณ์แบบเสียงปริ่มน้ำของรัฐบาล จำเป็นจะต้องหา ส.ส.งูเห่า ส.ส.ลิงกินกล้วย มาเสริม โดยมีกฎหมายที่อำนวยให้ยุบพรรค ย้ายพรรค ไล่ออกจากพรรค ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ช่วยให้การขายตัว ย้ายค่ายของ ส.ส.ง่ายขึ้น ในเมื่อองค์ประกอบพร้อมแล้ว กฎหมายเปิดช่อง กรรมการฝ่ายต่างๆ พร้อมปฏิบัติการจึงเริ่มได้ด้วยจังหวะที่เหมาะสม สามารถจะทำประโยชน์ได้หลายทอด คือตัดกำลังตัวหลักอภิปรายไม่ไว้วางใจ ลดจำนวน ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ในระยะยาวตามทฤษฎีงูเห่าและลิง

ดังนั้น เราจะได้เห็นการดูด ส.ส.หลังยุบพรรคอนาคตใหม่ นี่เป็นการขยายกำลังในสภาวิธีหนึ่ง ข่าวแจ้งว่าใช้ครื่องดูดเกินกว่า 200 แรงม้า ตั้งเป้าถึง 20 คน

ฝ่ายประชาธิปไตยต้องปรับยุทธศาสตร์ แก้เกม มิฉะนั้นจะแพ้ไปอีก 20 ปี

จะเห็นว่าการวางยุทธศาสตร์แบบนี้จะทำให้การสืบทอดอำนาจสามารถอยู่ได้อย่างยาวนาน ตราบใดที่ประชาชนและพรรคต่างๆ ไม่ผลักดันให้มีการแก้กฎหมาย กฎเกณฑ์ที่เขาร่างขึ้นมาเพื่อพวกเขา

การหลง วนเวียน ต่อสู้อยู่ในกรอบ ที่ฝ่ายตรงข้ามกำหนดให้ ทำให้เราไม่มีโอกาสชนะ เพราะข้ออ้างว่านี่คือกฎหมายให้ทุกคนทำตามกฎหมายที่พวกเขาสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะยุติธรรมหรือไม่ แต่ถ้าคุณเล่นตามนั้นและยังจะชนะเขาอีก เขาก็อาจจะให้กรรมการจับคนแพ้ฟาวล์หาว่าทำผิดกติกาโน่นนี่นั่น และ…แรงสุด…ถ้าเห็นว่าเอาชนะคุณไม่ได้ เขาก็ล้มเกม โดยการรัฐประหารคุณอยู่ดี ลองมองย้อนไปสิบกว่าปีก็เห็นชัดแล้ว

ถ้าไม่ปรับยุทธศาสตร์ นอกจากไม่มีวันชนะ ตัวเก่ง นักกีฬาคนเก่งๆ ของฝ่ายประชาธิปไตยก็จะถูกทำร้ายทำลายไปทีละคนสองคน ถ้าไม่หนี ก็ต้องติดคุก บางคนก็ยอมแพ้ ย้ายค่าย มันต้องคิดเกมใหม่แล้ว เกมใหม่ สนามใหม่ กฎเกณฑ์ใหม่ กติกาใหม่ ต้องหาทางยกเลิกกฎ กติกานี้ ยกเลิกกรรมการชุดนี้