อุรุดา โควินท์ / ทางรอดอยู่ในครัว : ร้อนล่วงหน้า

ยังไม่ทันถึงฤดูร้อน แต่เราตำมะม่วงกินบ่อย อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง วันที่ซันมาทำงานบ้านให้เรา

ฉันย้ายมาอยู่บ้านหลังนี้ครบปี หนึ่งปีแรก ฉันทำความสะอาดบ้านเองทั้งหมด พื้นที่ 1 ไร่เศษ ซึ่งประกอบไปด้วยเกสต์เฮาส์ 3 ห้อง บ้านของเรา ห้องสมุด และบาร์ ไม่ถึงกับเหนื่อยมาก ฉันชอบทำความสะอาดบ้านอยู่แล้ว แต่มันทำให้ฉันมีเวลาเขียนหนังสือน้อยลง

หาคนมาช่วยทำงานบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย และมันอาจจะหนักไป ถ้าเราต้องจ้างหนึ่งคนมาประจำการ

หนักในทีนี้ หมายถึงค่าใช้จ่าย ไม่ใช่งาน

ฉันจึงมองหาใครสักคนที่จะมาช่วยผ่อนแรง เป็นคู่หูเรื่องงานบ้านกับฉัน

กว่าจะได้ซันมาช่วย มือของฉันพังไปหลายครั้ง

ซันเป็นชาวพม่า บ้านอยู่ท่าขี้เหล็ก เธอเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพราะอยู่บ้านไม่สนุก ซันบอกว่า เธอเข้ามาตั้งแต่อายุ 14 ได้พบสามีที่นี่ ลูกชายสองคนของซันก็เกิดในประเทศไทย

ซันช่วยฉันได้มาก เธอมาเพียงสัปดาห์ละวัน ซึ่งถือเป็นวันทำความสะอาดบ้านของฉัน หากงานไม่ยุ่งจริงๆ ฉันจะทำความสะอาดกับเธอ ไม่ใช่เพื่อควบคุม แต่ฉันรู้ มันจะดีกว่า ถ้าเราทำด้วยกัน เหนื่อยน้อยลง งานเสร็จเร็วขึ้น และหากแบ่งงานกัน จะทำให้เราเก็บรายละเอียดแต่ละส่วนได้ดี

วันนี้เราเน้นทำความสะอาดส่วนบุ๊กคลับ บาร์ และครัวด้านหลังของบาร์ ซึ่งเป็นครัวโล่ง ฉันใช้ทำน้ำพริกเดือนละ 4-5 วัน

เราเช็ดทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่กระจก เคาน์เตอร์ พื้นน่ะเหรอ เราล้างเลย ใช้น้ำฉีด เอาแปรงลง ขัด และไล่น้ำทิ้ง

“ดูพี่สิ พี่เรียกให้ซันมาทำ แต่พี่ทำเองหมดเลย” ซันว่า

“พี่ทำเองไม่ได้งานเท่านี้หรอก และมันแปลกนะ ทำความสะอาดบ้านเนี่ย ถ้าทำสองคนมันจะสนุก ไม่เหนื่อยเลย”

“จริงค่ะ ส่วนใหญ่ซันทำงานคนเดียว มันจะเหงาๆ หน่อย”

 

ซันมีเรื่องเล่าให้ฉันฟังเยอะ เธอว่า อยากพาฉันไปเที่ยวท่าขี้เหล็กในแบบที่นักท่องเที่ยวไม่ได้เห็น แม่ของเธอมีร้านขายขนมอยู่ในตลาด ทำขนมขายเอง เธอกลับไปเยี่ยมแม่ของเธอทุกวันจันทร์ และรับหิ้วทุกสิ่งอันจากท่าขี้เหล็กมาให้คนไทย

“อย่างน้อยซันก็ได้ค่ารถไป-กลับ พี่อยากได้อะไรบอกซันนะคะ” เธอว่า

เธอมีรายได้จากการพาคนพม่ามาเชียงรายด้วย เช่น มาหาหมอ มาซื้อของในห้าง

“หาหมอสำคัญมากนะคะ ถ้าสื่อสารกันไม่ได้ ก็รักษาลำบาก ส่วนใหญ่เขาจะให้ซันแปลภาษาให้ พาไปโรงพยาบาล แล้วก็หาที่พักด้วยค่ะ”

ภาษาไทยของซันไม่ได้แค่ชัด แต่เธอใช้มันได้ระดับที่เราคุยกันได้สนุกและลึกซึ้ง เธอบอกฉันว่า เจ้าของกิจการส่วนใหญ่ในท่าขี้เหล็กเป็นชาวจีน ให้ค่าแรงคนงานไทยสูงกว่าคนงานพม่าเท่าตัว

ซันอีกนั่นละ ที่ทำให้ฉันรู้ว่า ชาวท่าขี้เหล็กใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาของประเทศไทย

“คนท่าขี้เหล็กเกือบจะเป็นคนไทยอยู่แล้วพี่ ข้ามไปข้ามมาทุกวัน อะไรๆ ก็ซื้อจากแม่สาย ส่วนวัยรุ่นแม่สายก็เข้าไปทำงานในท่าขี้เหล็ก ทำกับบ่อน กับโต๊ะบอลออนไลน์”

ฉันให้ซันช่วยสับมะม่วง มือสับ ปากเธอก็เล่าเรื่องสนุกๆ ให้ฟัง เรากินข้าวกลางวันด้วยกันเสมอ และถ้าฉันถามเธอ อยากกินอะไร เธอจะตอบว่าตำมะม่วงกับข้าวเหนียว

เธอเป็นคนขยัน ทำงานเรียบร้อย ฉลาด แถมยังเลี้ยงง่ายอีกด้วย

“ถ้ากินข้าวกับตำมะม่วงทุกมื้อ เราคงรวยแย่เลย” ฉันว่า

“ซันกินได้นะพี่”

“มันไม่มีโปรตีนเลยนะ เดี๋ยวออกไปซื้อหมูทอดดีกว่า”

“ไม่ต้องหรอกพี่ ข้าวเหนียวร้อนๆ ตำมะม่วงใส่ฮ้าแห้ง แล้วก็ชะอม อร่อยแล้ว” เธอมั่นอกมั่นใจเสียจนฉันอร่อยไปกับเธอ

 

ตํามะม่วงแบบทางเหนือ เราใช้มะม่วงเปรี้ยวมากๆ สับเหมือนกินกับข้าวคลุกกะปิ

ใช้พริกแห้งย่างไฟ ฮ้าแห้งหรือปลาสลากแห้งย่างไฟ ย่างให้หอมไปทั้งครัวคือใช้ได้ สำคัญมากที่ไฟต้องอ่อนจริงๆ เพราะถ้าไหม้ จะไม่เหลือความอร่อยเลย

ปอกกระเทียมไว้นิดหน่อย และหัวหอมเยอะหน่อย

เครื่องปรุงเรียบง่ายเท่านี้ หวานจากน้ำอ้อยเท่านั้น ไม่ใช้น้ำตาล และเค็มน้ำปลาร้า กับน้ำปลา

ข้าวนึ่งร้อนๆ รออยู่บนโต๊ะแล้ว

ฉันหงายครก ใส่พริกแห้งกับปลาร้าแห้งลงไปก่อน

“ซันตำให้” เธอคว้าสากไป ออกแรงตำไม่นานก็ละเอียด

“เราเอาเผ็ดพอดีๆ โนะ พริกไม่ต้องมาก แต่ฮ้าแห้งควรมาก”

“ซันรู้ละ กินที่ไหนก็ไม่อร่อยเท่าพี่ตำ เพราะพี่ใส่ฮ้าแห้งเยอะนี่เอง”

“พี่ใช้น้ำอ้อยด้วยละ ส่วนใหญ่ร้านเขาใช้น้ำตาลปีบ ของแท้ต้องน้ำอ้อย” ฉันโยนน้ำอ้อยลงไปในครก 1 ก้อน

ซันตำไม่กี่ทีก็แหลก แรงเยอะจริงๆ ที่นอนของฉันหนักมาก ฉันต้องนับหนึ่งถึงสามก่อนยก แต่ซันใช้มือเดียวยกอย่างสบาย

ใส่กระเทียมกับหัวหอมลงไปพร้อมกัน ตำต่อให้ละเอียด

มะม่วงลงครกท้ายสุด โดยตำอย่างเบามือ ให้เข้ากับเครื่องปรุง มะม่วงช้ำหน่อยๆ แต่ไม่ถึงกับเละ ใส่น้ำปลาร้าสองช้อนโต๊ะ น้ำปลานิดหน่อย แล้วฉันก็ให้ซันชิม

“กินได้เลย น้ำลายไหลแล้ว”

ตักตำมะม่วงใส่จานดิน วางชะอมข้างๆ ช้อนกลางหนึ่งคัน จานเล็กคนละใบพร้อมช้อนประจำตัว และข้าวเหนียว

เรากินตำมะม่วงเหมือนไม่ได้กินมาเป็นปี ทั้งที่เพิ่งกินเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา