ฉัตรสุมาลย์ : บนเส้นทางภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย (6) “การบรรพชาสามเณรี”

ปีแรกที่ท่านธัมมนันทาออกบวชเป็นสามเณรี สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมไทยทีเดียว

ปีแรกไม่มีคนกล้าแสดงตัวอยากจะออกบวชตาม รอจนเห็นว่า ตำรวจไม่ได้มานิมนต์ตัวท่านธัมมนันทาให้ไปพักผ่อนในสถานที่พิเศษ ท่านธัมมนันทายังอยู่ดีมีสุข ยังเห็นหน้าท่านให้สัมภาษณ์ออกรายการต่างๆ จึงเริ่มมีการขยับตัวตามๆ กัน

ช่วงนั้น มีแม่ชีที่สนใจการบวชที่ผู้เขียนทราบ ตั้งแต่แม่ชีสุดารัตน์ ซึ่งต่อมาเป็นภิกษุณีสีลนันทา ปัจจุบันมีอารามอยู่ที่ อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

อีกท่านหนึ่งคือ แม่ชีสกาวรัตน์ ต่อมาเป็นภิกษุณีธัมมสุรินทรา อยู่ที่จังหวัดสุรินทร์

แม่ชีทั้งสองรูปนี้ มาจากกลุ่มเสขิยธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มพระสงฆ์และแม่ชีที่มีความสนใจ และได้รับการอบรมทางด้านพุทธศาสนาเพื่อสังคม (เครือข่าย อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์)

แม่ชีอีกท่านหนึ่งที่พาแม่ชีในคณะของท่านจาก อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ มาเยี่ยมท่านธัมมนันทาถึงที่จังหวัดนครปฐม คือ แม่ชีรุ้งเดือน ต่อมาเป็นภิกษุณีนันทญาณี

ท่านได้ฉายาจากหลวงปู่ทอง ซึ่งเป็นพระวิปัสสนาจารย์ที่มีชื่อเสียงในอำเภอจอมทอง

ปัจจุบันอารามของท่านใหญ่โต งดงาม และมีภิกษุณีหลายรูป

ในช่วงปีแรกนั้น ท่านธัมมนันทามีความเชื่อว่า ผู้ที่จะบวชเป็นสามเณรี ซึ่งเป็นขั้นแรกของการอุปสมบทเป็นภิกษุณีนั้น ควรจะเป็นผู้ที่ตั้งใจจะบวชเป็นภิกษุณีจริงจัง ท่านจึงไม่พิจารณาผู้ที่ต้องการบรรพชาเป็นสามเณรีชั่วคราวเลย

ผู้ที่ขอบรรพชาเป็นสามเณรีรูปแรกที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี เป็นแม่ชีมานาน 9 ปี ท่านธัมมนันทาจัดการบรรพชาครั้งสำคัญให้ โดยมีปวัตตินี คือ ภิกษุณีรหตุงโคทะ สัทธา สุมนา ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่านธัมมนันทาเอง

บังเอิญท่านมาประชุมในกลุ่ม INEB จำได้ว่าไปประชุมที่บ้านของคุณขรรค์ชัย บุนปาน ที่สุพรรณบุรี เสร็จจากงานประชุมจึงนิมนต์ท่านมาให้การบรรพชาแก่สามเณรีธัมมรักขิตา

น่าเสียดายที่สามเณรีผู้นี้ ลาสิกขาไปในเวลาต่อมา

 

ช่วงแรกของการบวชเป็นสามเณรี ท่านธัมมนันทาจึงอยู่กับมารดา คือ ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ เท่านั้น นอกนั้นเป็นอุบาสิกาที่เข้ามาเป็นอาสาสมัคร

เมื่อกลับจากการอุปสมบทเป็นภิกษุณีใน พ.ศ.2546 ตามพระวินัย ท่านต้องถือนิสสัยกับปวัตตินี คือ ภิกษุณีผู้เป็นอาจารย์ของท่าน 2 พรรษา

ท่านไม่สามารถจะเดินทางไปอยู่กับอาจารย์ที่ศรีลังกาได้ แต่ด้วยความเคารพพระวินัย ท่านจึงนิมนต์อาจารย์ของท่านจากศรีลังกามาจำพรรษาที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี ทั้งพรรษา 2546 และ 2547

ช่วงนั้นภิกษุณีในสายเถรวาทเพิ่งเกิดขึ้น เหมือนดอกเห็ดดอกเล็กๆ ที่กระจายกันอยู่ ที่ประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม ศรีลังกา และออสเตรเลีย ล้วนไม่มีอาจารย์ที่จะอบรมสั่งสอนพระวินัย ซึ่งเป็นสิ่งที่พระวินัยกำหนดไว้

เมื่อมีอาจารย์รับนิมนต์มาประเทศไทย ทั้งสองพรรษาที่ว่านี้ จึงมีพระภิกษุณีจากต่างประเทศที่ล้วนแล้วแต่เป็นนวกภิกษุณี คือ ภิกษุณีที่บวชใหม่ทั้งสิ้น

เป็นโอกาสดีที่ได้มารับการฝึกฝนพระวินัยด้วยกัน

 

อุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามอีกข้อหนึ่ง คือ ภาษา ปวัตตินีเอง ก็ยังไม่ได้ภาษาที่จะสื่อกับลูกศิษย์ต่างชาติได้ ในพรรษาแรกท่านธัมมนันทาต้องนิมนต์ภิกษุณีชาวศรีลังกาที่บวชใหม่ด้วยกัน แต่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้มาเป็นล่ามให้ปวัตตินี

ส่วนภิกษุณีที่เป็นศิษย์บางรูปก็ยังไม่ได้ภาษาอังกฤษ เช่น ท่านสันตินี ภิกษุณีรูปแรกของอินโดนีเซียที่มาอบรมด้วยกัน

ในการอบรมนั้น ทุกรูปต้องฝึกแสดงธรรมด้วย

ท่านสันตินีแก้ปัญหาโดยการเขียนบทเทศน์ของท่านเป็นภาษาอินโดนีเซียแล้วส่งกลับไปให้ลูกศิษย์ที่อินโดนีเซียแปลเป็นภาษาอังกฤษ

ท่านธัมมนันทาต้องจัดการส่งข้อมูลไป และคอยรับบทแปลกลับมาทุกอาทิตย์ เพื่อให้ท่านสันตินีแสดงธรรมเป็นภาษาอังกฤษได้

ท่านธัมมนันทาเองยังไม่มีสามเณรีหรืออาสาสมัครที่จะช่วยแบ่งเบางาน ช่วงนั้นงานทุกอย่างจึงกองอยู่ที่ท่านทั้งหมด

พรรษาแรกที่ท่านธัมมนันทานิมนต์อาจารย์มาอยู่ด้วยนั้น เป็นช่วงที่มารดาของท่าน คือ ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ มรณภาพวันที่ 24 มิถุนายน 2546

วันที่ 1 กรกฎาคม ภิกษุณีสงฆ์นานาชาติก็มาถึง เพื่อเข้าพรรษาด้วยกัน

 

เรียกว่า วัตรทรงธรรมกัลยาณีมีภิกษุณีมาตั้งแต่ พ.ศ.2514 โดยไม่ขาดสาย พ.ศ.2546 มีภิกษุณีสงฆ์นานาชาติมาเข้าพรรษาร่วมกันอีกด้วย

เพราะภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ มรณภาพในช่วงนี้ อาทิตย์แรกนิมนต์พระภิกษุ 4 รูปมาสวดอภิธรรมหน้าศพทุกวัน แล้วจากนั้นภิกษุณีสงฆ์นานาชาติก็ได้มีโอกาสฝึกสวดอภิธรรมหน้าศพด้วยตลอดพรรษา เรียกว่า ปรับวิกฤตให้เป็นโอกาสอย่างยิ่ง

การเคลื่อนสรีระของปฐมภิกษุณีแห่งประเทศไทย จากวัตรทรงธรรมกัลยาณี ไปยังเมรุที่วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นไปอย่างสมเกียรติ โดยมีภิกษุณีนานาชาตินั่งประจำสี่ทิศของบุษบกที่พาสังขารของท่านไปสู่เชิงตะกอน

ท่านธัมมนันทาอุปสมบทเป็นภิกษุณีปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ส่วนมารดาของท่าน คือ ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ทิ้งสังขารวันที่ 24 มิถุนายน ปีเดียวกัน เรียกว่า วัตรทรงธรรมกัลยาณีมีภิกษุณีต่อเนื่องไม่ขาดสายจริงๆ นับตั้งแต่ พ.ศ.2514 ที่ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ อุปสมบท

 

การรู้จักและมีเครือข่ายภิกษุณีเถรวาทนานาชาติ เป็นสิ่งจำเป็นกับการเกิดขึ้นของภิกษุณีสายเถรวาท

เมื่อท่านธัมมนันทาไปเยี่ยมท่านสันตินีที่อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ท่านสันตินีเผยแผ่พุทธศาสนาโดยให้การบวชสามเณรีชั่วคราวให้แก่นักศึกษาชาวพุทธ ทั้งนี้ เพียงชั่วระยะเวลาปิดเทอม ในช่วงที่ท่านธัมมนันทาไปเยี่ยมท่านที่อินโดนีเซีย จากการพูดคุยกันนั้น ท่านสันตินี ขอให้ท่านธัมมนันทาพิจารณาให้การบรรพชาสามเณรีแม้เพียงชั่วคราว ทั้งนี้ เป็นการเปิดพื้นที่ให้สตรีชาวพุทธได้เข้ามาใกล้พระศาสนามากขึ้น

ช่วงแรกนั้น เมื่อมีสตรีชาวไทยที่ประสงค์จะออกบวช ก็ยังต้องส่งไปศรีลังกาเพื่อการบรรพชา เช่น ท่านธัมมธารี (ท่านต้องลาสิกขาในเวลาต่อมาเพราะมีปัญหาทางสุขภาพ) และท่านธัมมธีรา เป็นต้น

ต่อมา เมื่อมีการบรรพชาสามเณรีที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี โดยนิมนต์พระภิกษุไทย 5 รูป (แต่มาจริงๆ 6 รูป) พระผู้ใหญ่ที่นิมนต์มาในงานบรรพชานั้น กล่าวว่า… “ท่านธัมมนันทาบวชให้เองได้แล้ว”

ท่านธัมมนันทาถือว่าได้รับอนุญาตโดยภิกษุสงฆ์แล้ว ต่อมาในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2551 ท่านจึงเริ่มให้การบรรพชาสามเณรีชั่วคราวเป็นครั้งแรก

ครั้งนั้น มีผู้ขอบรรพชา 35 รูป แต่มีสามเณรีไทยที่บรรพชามาจากศรีลังกามาขอฝึกอบรมด้วย 1 รูป จึงนับรวมเป็น 36 รูป

ได้ตั้งฉายากลุ่มนี้ว่า 3 โหล

 

สามเณรีรุ่นแรก คือ รุ่นสามโหลนี้ ได้รวมเรื่องราวความรู้สึกในการบรรพชาลงในหนังสือ ชื่อ สามเณรีเป็นปลื้ม ที่สำนักพิมพ์สุขภาพใจพิมพ์เผยแพร่ออกสู่ตลาดด้วย

หนังสือเล่มนี้ สร้างแรงบันดาลใจให้สตรีชาวพุทธหลายคนที่ปรารถนาจะออกบวช แต่ยังไม่สามารถวางภาระทางครอบครัวในระยะยาวได้

การบรรพชาสามเณรีชั่วคราว ซึ่งครั้งแรกที่จัดนั้น ท่านธัมมนันทาก็ไม่ได้มีแผนว่าจะมีครั้งต่อไป แต่ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.9) ทรงพระประชวร และเสด็จไปประทับที่โรงพยาบาลศิริราช

คิดจากในบริบทของลูกผู้หญิง ไม่มีการทำสิ่งใดประเสริฐและได้บุญมากกว่าการออกบวชให้ “พ่อ” จึงเป็นที่มาของการจัดการบรรพชาสามเณรีอีกครั้งวันที่ 5 ธันวาคม ในปีนั้นเอง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

การให้การบรรพชาสามเณรีชั่วคราวที่ว่านี้ จัดมาทุกปี ในวันที่ 6 เมษายน และ 5 ธันวาคม จนปัจจุบัน นับจำนวนผู้ที่เคยได้รับการบรรพชาจากท่านธัมมนันทา ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีมาแล้ว 848 รูป

ในปี 2558 เพื่อร่วมฉลองการเปิดพระวิหารยโสธรา มีการบรรพชาสามเณรี 108 รูปอีกด้วย

สามเณรีส่วนใหญ่ก็จะลาสิกขาหลังจากการบวช 9 วัน แต่บางครั้งก็จะมีผู้ที่ตั้งใจจะออกบวชในระยะยาว กลายมาเป็นจำนวนภิกษุณีที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา

 

นอกจากที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี จ.นครปฐมแล้ว ท่านธัมมนันทายังเดินทางไปทั้ง จ.พะเยา และ จ.สงขลา เพื่อให้การบรรพชาสามเณรีรวมแล้วนับได้กว่า 100 รูปเช่นกัน

การให้การบรรพชาสามเณรี เป็นกลวิธีในการสร้างฐานที่มั่นคงขึ้นสำหรับสตรีชาวพุทธเอง และสามเณรีบางรูปที่ตั้งใจปฏิบัติต่อจนได้อุปสมบทเป็นภิกษุณี

ก้อนหิมะเมื่อรวมตัวกันแล้วค่อยๆ ม้วนตัวช้าๆ กลิ้งไปข้างหน้า ก้อนหิมะจะแข็งตัวขึ้นเป็นน้ำแข็ง ขณะเดียวกันขนาดก็ค่อยๆ ใหญ่ขึ้น รวบรวมหิมะที่ตกใหม่ทำให้ขนาดใหญ่ขึ้นๆ ตามกำลังที่กลิ้งไป

ภิกษุณีสงฆ์ในไทยก็ประมาณนั้น