คุยประธานบริหาร GDH ‘จินา โอสถศิลป์’ หมุดหมายใหม่ ไม่ใช่แค่ “ในไทย” เท่านั้น

หมุดหมายใหม่ “จีดีเอช” ไม่ใช่แค่ “ในไทย” เท่านั้น

ในฐานะคนทำหนัง จินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด บอกว่า พอเห็นตัวเลขรายได้รวมของภาพยนตร์ไทยในปีที่ผ่านมา ว่าทำรายได้ไปราว 711 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าปี 2561 ถึง 14% ทั้งๆ ที่จำนวนหนังไม่ได้แตกต่างกันนัก คือมีราว 40 กว่าเรื่อง

“ก็รู้สึกผิดหวังนิดหน่อย” ด้วยจะว่าไป รายได้รวมของตลาดภาพยนตร์ในบ้านเราปี 2561 อยู่ที่เกือบ 4,700 ล้านบาท เติบโตจากเดิมราว 3% ด้วยซ้ำ เพียงแต่ฝั่งที่เติบโตคือหนังต่างประเทศ ซึ่งที่เฉพาะ “Avengers : Endgame” ก็กวาดไปราว 600 ล้านบาทแล้ว

ขณะที่ในส่วนหนังไทยมีที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท ไปเพียง 2 เรื่อง เกิน 50 ล้านบาทอีก 2 เรื่อง ที่ทำรายได้ 10-50 ล้านบาท มี 13 เรื่อง ได้ 1-10 ล้านบาท 11 เรื่อง และทำรายได้ไม่ถึง 1 ล้านบาท อีก 17 เรื่อง

หาค่าเฉลี่ยแล้ว รายได้อยู่ที่ราวๆ 15 ล้านบาทต่อเรื่องเท่านั้น

และอย่าถามเลยว่าจะขาดทุนไหม เพราะขนาดค่าเฉลี่ยปี 2561 อยู่ที่เรื่องละ 18-19 ล้านบาท ก็ยังน่าจะขาดทุน

แต่ในส่วนจีดีเอชนั้น – “ถือว่าเราโชคดี” เธอบอก

เพราะที่ทำไป 3 เรื่อง “เฟรนด์โซน ระวังสิ้นสุดทางเพื่อน” ได้ 139 ล้านบาท “ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะ เฟค” 141 ล้านบาท และ “ฮาว ทู ทิ้ง” 57 ล้านบาท

“ถ้าสอบก็เป็นที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ของห้อง”

ซึ่งแม้จะรู้สึกดีใจและมีความสุข แต่ลึกๆ แล้วก็มีความหวั่นใจแทรกอยู่

“เพราะเราทำหนัง เราโตคนเดียวไม่ได้ มันต้องไปทั้งอุตสาหกรรม มันต้องพึ่งพากัน ต้องช่วยเหลือกัน”

ภาพจากเพจ GDH

ส่วนที่ผลประกอบการของหนังไทยโดยรวมเป็นเช่นนี้ เธอว่าคงมีหลายเหตุผล

“บางคนตั้งใจทำงานดี แต่โปรโมตไม่ดี บางคนไม่รู้ว่าจะทำยังไงถึงจะให้คนมาดูหนัง”

และเพื่อไม่ให้ประสบปัญหาเช่นนั้น เธอจึงว่าในฝั่งจีดีเอชนอกจากการมุ่งเน้นในแง่คุณภาพ “เราก็พยายามให้เกิดมิติใหม่ เกิดความแปลก สด ของคอนเทนต์ตลอดเวลา”

ซึ่งหลายค่ายก็พยายามทำเช่นนี้อยู่เหมือนกัน

“ค่ายที่ยังรักการทำหนังไทยอยู่ ก็ยังต่อสู้ด้วยกัน จับมือกันไปอยู่”

จินายังบอกอีกว่า ในความคิดของเธอ “ตอนนี้มันไม่มีหน้าหนังอีกแล้ว ว่าหน้าหนังแบบไหนที่คนอยากดู แบบไหนไม่อยาก”

ที่รู้ก็แค่ “คนอยากดูที่มันว้าว”

 

ดังนั้นในยุคที่มีคอนเทนต์มากมายให้ดูฟรีในแพลตฟอร์มต่างๆ หนังไทยที่ทำฉายในโรงก็ต้องดีพอจะสู้กับงานเหล่านั้นได้

“ในภาวการณ์ที่มีฝุ่นพีเอ็ม รถติด เศรษฐกิจไม่ดี การจะออกจากบ้าน เอาเงินตัวเองไปจ่าย ไปดูหนัง กินข้าว มันต้องมีความดึงดูดใจให้ไป ก็เป็นหน้าที่ที่คนทำต้องพยายามพัฒนาตัวเอง”

เมื่อถามถึงรายได้ที่ตั้งเป้าหมายไว้ จินายิ้ม แล้วว่าเรื่องนี้ไม่เคยมีเป้าชัดเจน

“เป้าหมายของจีดีเอชคือ จำนวนของงานที่เราสามารถทำแล้วควบคุมคุณภาพได้ ไม่เคยมีว่าต้องได้กี่ล้านบาท”

“เพราะจริงๆ มันบอกไม่ได้ค่ะ”

ทุกครั้งเวลาจะทำงานสักชิ้น อย่างแรกที่คิดจึงเป็น “เราจะทำอะไร ทำให้ใครดู และทำเพื่ออะไร”

“ทำหนังมาเรื่องหนึ่ง ตั้งใจทำเต็มที่ อยากให้คนดูเยอะๆๆ เยอะที่สุด”

แต่จะได้แค่ไหน อย่างไร ต้องไปลุ้นตอนเข้าโรง ซึ่งจะว่าไปเดี๋ยวนี้เวลาที่หนังจะทำเงินได้ก็สั้นกว่าแต่ก่อนมาก

“สมัยก่อนคนจะดูอาทิตย์แรก อาทิตย์ที่ 2 ที่ 3 จะมีคำว่าก๊อกหนึ่ง ก๊อกสอง เดี๋ยวนี้มาก๊อกแรกเลยค่ะ โปรโมตปุ๊บ คนอยากดู พออาทิตย์ที่ 2 เหมือนเขาจะมีสิ่งที่สนใจอื่นๆ มีคอนเทนต์อื่นๆ มีสื่อออนไลน์ เขาก็อาจจะเปลี่ยนใจไม่เลี้ยวไปโรงหนังแล้ว”

เล่าอีกว่า แต่ก่อนถ้านับจากวันเริ่มฉาย หนังก็น่าจะยืนโรงได้ราวๆ 4 สัปดาห์ และอาจถึง 6 สัปดาห์ถ้ามีกระแสบอกต่อ แต่ “เดี๋ยวนี้ไม่ถึงหรอกค่ะ”

“อาทิตย์แรกถ้ามาได้เต็ม มันคือ 65% ของรายได้เลย”

เพราะอาทิตย์ต่อๆ ไป ถ้าคนดูไม่หันไปสนใจเรื่องอื่นอย่างที่บอกไว้ ก็อาจเจอปัญหารอบในโรงเหลือน้อย เพราะโรงก็มักจะแบ่งไปฉายเรื่องใหม่ๆ เรื่องอื่น สิ่งที่คนทำหนังต้องทำจึงเป็นการพยายามโปรโมตให้คนรับรู้ได้กว้างที่สุด

“เหมือนเวลาของการดูหนังสั้นลง เวลาของการที่จะได้เงินสั้นลง”

ในส่วนการลงทุน จินาบอกว่าโปรดักชั่นของจีดีเอช ไม่ว่าจะหนังหรือซีรี่ส์ จะอยู่ที่เรื่องละ 25-30 ล้านบาท มีบางเรื่องอาจจะน้อยกว่า ขณะที่การโปรโมตจะใช้ราวๆ 20 ล้านบาท

ตัวเลขกลมๆ แต่ละเรื่องจึงอยู่ที่ 45-50 ล้านบาท ซึ่งนอกเหนือจากการแบ่งเปอร์เซ็นต์กับโรงภาพยนตร์บางส่วน และรายได้จากสายหนังแล้ว รายได้จากการขายให้ต่างประเทศก็เป็นอีกช่องทางที่แนวโน้มดี เฉพาะปีที่แล้วก็เติบโตถึง 90%

“แล้วเป็นสิ่งที่เราโฟกัสอยู่”

โฟกัสที่ไม่ได้อยู่แค่เพียง “การขาย” เหมือนที่ผ่านๆ มา

“เรารู้สึกว่าหนังไทยไม่ควรทำแค่ในประเทศไทย ควรยกระดับให้ไปได้ไกลมากขึ้น ไกลที่สุดเท่าที่ไกลได้ แล้วเราตั้งเป้าจะโตไปอีก”

โตในแบบการร่วมทุนสร้าง

“เราอยากจะมีหนังที่ผู้กำกับไทย หนังไทย ไปปักธงอยู่ที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง แล้วทำความสำเร็จได้ทั้งประเทศเขาและประเทศเรา ซึ่งตอนนี้ใกล้เคียงมากแล้วค่ะ ใกล้จะเป็นจริง”

โดยถ้าทุกสิ่งราบรื่น ปี 2564 ก็อาจจะได้เห็น

กำไรคือสิ่งที่พระเจ้าประทานพร

“ฉลาดเกมส์โกง เดอะ ซีรีส์” งานที่ต่อยอดจากภาพยนตร์เรื่องดัง “ฉลาดเกมส์โกง”, ภาพยนตร์ thriller horror จากกอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา และภาพยนตร์โรแมนติก คอเมดี้ จาก เมษ ธราธร คืองาน 3 ชิ้นที่จีดีเอชเตรียมไว้ในปีนี้

งานที่เธอหวังว่า “จะให้ดีกว่าปีที่แล้ว”

แต่ “ดีเท่าไหร่ อันนี้แล้วแต่พระเจ้าประทานพร”

“อันนี้คุณไพบูลย์สอนมา (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)”

“คือไม่น้อยกว่าเดิมก็พึงพอใจ กำไรเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานพร”

“ภาค 2” อันไม่ท้าทาย

“อาจจะเป็นเพราะว่าพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล Head Producer) และวรรณ (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และพัฒนาบทภาพยนตร์) ที่เป็นต้นทางของจีดีเอชเป็นคนที่มีความคิดท้าทาย อยากจะเอาชนะสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ บางทีเราก็มีคำถามว่า เอ๊ะ! ทำไมเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ เราไม่ทำภาค 2”

“ภาค 2 มันทำไม่ยาก แต่มันไม่ค่อยท้าทายค่ะ” คือคำตอบ

“พอต้นทางเป็นอย่างนี้ พวกเราก็มีหน้าที่ต้องซัพพอร์ตให้มันไปข้างหน้าให้ได้”

“จริงๆ แล้วก็คือ ถ้าเราอยากเอาชนะ เราต้องพัฒนาตัวเองจากงานเดิม งานล่าสุดของเรา ให้มันไปอีกให้ได้”