วิกฤติศตวรรษที่21 : มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น : ความระส่ำสายของโลกตะวันตกถึงขั้นสูง

ความระส่ำสายของโลกตะวันตกถึงขั้นสูง

ปี2017 ความระส่ำระสายของตะวันตกเข้าสู่ระดับสูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

สัญญาณการเข้าสู่ระดับสูงมีสามประการด้วยกันได้แก่

(ก) เครื่องมือหรือกลไกที่เคยใช้ควบคุมหรือจัดระเบียบโลก ไม่ทำงานตามปรกติ

(ข) สหรัฐภายใต้ลัทธิทรัมป์กลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง

(ค) ความแตกแยกภายในชาติและขบวนแถวของโลกตะวันตก เป็นไปอย่างรุนแรง ผลักดันให้ทั้งโลกเข้าสู่ภาวะโกลาหล

ซึ่งเป็นสัญญาณว่าสิ่งใหม่ที่ไม่รู้ว่าน่ารักหรือน่าชังกำลังคลอดออกมา


กลไกจัดระเบียบโลกที่ไม่ทำงาน

กลไกที่ตะวันตกใช้ควบคุมและจัดระเบียบโลกมาหลายร้อยปี มีที่สำคัญอยู่สามอย่างตามลำดับได้แก่

(ก) แสนยานุภาพ เช่น เรือปืน ขีปนาวุธ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ปฏิบัติการข่าวสาร

(ข) การควบคุมทางอุตสาหกรรม การค้าและการเงิน

(ค) การจูงใจทางวัฒนธรรม ค่านิยม อุดมการณ์ ได้แก่ ศาสนา ความเหนือกว่าของคนขาว เสรีภาพและประชาธิปไตย เป็นต้น

จะได้กล่าวเป็นลำดับไป

1.ว่าด้วยแสนยานุภาพ ยุโรปตะวันตกได้พัฒนากองทัพสมัยใหม่ขึ้นก่อนใคร ทั้งในด้านการจัดตั้ง การรวมศูนย์บัญชาการ การติดอาวุธยุทโธปกรณ์ และการทำสงคราม

ด้วยความเหนือกว่าทางแสนยานุภาพ ความสามารถในการเดินเรือ และการผลิตโดยใช้เครื่องจักรกล ตะวันตกได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานทั่วโลก สร้างสถานีการค้าในเมืองท่าต่างๆ

เช่น อังกฤษโดยผ่านบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ (ต่อไปจะเรียกว่า “บริษัท”) ได้เข้ายึดดินแดนบริเวณแคว้นเบงกอลในอินเดียตั้งแต่ปี 1757 การยึดครองนี้เพื่อการผูกขาดทางการค้า และกลไกสำคัญคือกองทัพ

บริษัทได้ขยายกองทัพของตนอย่างรวดเร็วจาก 3,000 คนในปี 1750 เป็น 26,000 คนในปี 1763 และ 67,000 คน ในปี 1778

ทหารที่ระดมมานี้เป็นชาวอินเดีย แต่ฝึกแบบยุโรป กองทัพเรือก็มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นกัน กลายเป็นกองทัพส่วนตัวขนาดใหญ่ของบริษัท จนกระทั่งสามารถปกครองและผูกขาดการค้าในอินเดีย

แต่การใช้แสนยานุภาพก็สิ้นเปลืองมาก ฐานะการเงินของบริษัทไม่ดีนัก และดูจะไม่สามารถปกครองอาณานิคมอันกว้างใหญ่ได้

เมื่อทหารอินเดีย (ซีปอย) ก่อการกบฏในปี 1857 ทางรัฐบาลอังกฤษต้องเข้ามารับภาระยึดครองอินเดียเป็นอาณานิคมต่อไป (1858-1947)

บริษัทอินเดียตะวันออกยังได้เข้าผูกขาดการค้าระหว่างอังกฤษกับจีน ตั้งแต่ต้นศตวรรษ 1700 จนถึงปี 1833 แต่ว่าการค้าระหว่างสองประเทศแม้รุ่งเรืองในศตวรรษ 1800 โดยอังกฤษส่งขนแกะจากอังกฤษ และฝ้ายจากอินเดียไปขายจีน และสั่งซื้อชา เครื่องเคลือบ และผ้าไหมจากจีน ซึ่งชาเป็นสินค้านำเข้าใหญ่สุด

ขณะที่สินค้าส่งออกจากอังกฤษและอินเดียลดลง สินค้านำเข้าจากจีนกลับเพิ่ม ทำให้บริษัทขาดดุลการค้า ไม่มีเหรียญเงินในการซื้อสินค้าจากจีน จึงหันไปค้าฝิ่นที่ทำกำไรสูง แต่เป็นสินค้าผิดกฎหมายจีน (ประกาศตั้งแต่ปี 1729) จึงค้าขายแบบลักลอบ

เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างรัฐบาลจีนกับบริษัท จนกระทั่งระเบิดเป็นสงครามฝิ่นถึงสองครั้ง

และแสนยานุภาพของตะวันตกก็สามารถเปลี่ยนจักรวรรดิจีนที่ยิ่งใหญ่ให้เป็นประเทศกึ่งอาณานิคมได้

แต่การรักษาจักรวรรดิตะวันตกด้วยแสนยานุภาพไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง ประเทศเมืองขึ้น หรือกึ่งเมืองขึ้น สามารถเรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่ ปฏิรูปการทหารของตนและทำสงครามอสมมาตรรูปแบบต่างๆ กับเจ้าอาณานิคมได้

เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองก็เห็นได้ชัดว่ากลไกแสนยานุภาพใช้ไม่ได้ผลเหมือนเดิม ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายประกาศตัวเป็นเอกราช สิ้นสุดยุคอาณานิคมแบบเก่า

สหรัฐที่มีฐานอุตสาหกรรม-การทหารใหญ่ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตะวันตกแทนอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และรวมทั้งญี่ปุ่น

แต่เมื่อถึงทศวรรษ 1970 ก็มีสัญญาณว่าแสนยานุภาพของสหรัฐเองก็เริ่มเสื่อมถอย เมื่อแพ้สงครามเวียดนามที่ดุเดือดยืดเยื้อ (1955-1975)

เป็นเพราะการล่มสลายของโลกสังคมนิยมและสหภาพโซเวียต (ทศวรรษ 1990) เท่านั้น แสนยานุภาพสหรัฐ-นาโตจึงกลับมาน่าเกรงขามอีกครั้งแต่ก็มีอายุสั้น การประกาศทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่ยาวนาน (2001) เป็นขาลงของแสนยานุภาพนี้

เมื่อถึงปี 2004 ก็เป็นที่ชัดเจนว่าสหรัฐได้ติดหล่มสงครามอสมมาตรในประเทศกำลังพัฒนาอีกครั้ง แต่ตอนนี้อยู่ในภูมิภาค “มหาตะวันออกกลาง” อันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรพลังงาน ซึ่งได้กลายเป็นสมรภูมิ “เวียดนาม 2”

และปิดฉากด้วยการที่รัสเซียเข้าร่วมและพลิกสถานการณ์สงครามกลางเมืองซีเรีย (2011 ถึงขณะนี้) โดยสนับสนุนประธานาธิบดีอัสซาดที่สหรัฐและพันธมิตรต้องการโค่นล้ม

เมื่ออาวุธหนักคือแสนยานุภาพใช้ไม่เกิดผลตามคาด การไปใช้อาวุธรองลงมาได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ การผลิต-การเงิน และด้านค่านิยมอุดมการณ์ก็จะยิ่งไม่ได้ผลมากขึ้น

ดังนั้น คาดหมายว่าสหรัฐ-นาโต ไม่ว่าจะมีทรัมป์หรือไม่มี ก็ยังคงต้องพึ่งแสนยานุภาพของตนต่อไป และจะเกิดการแข่งขันอาวุธขนานใหญ่ คล้ายบรรยากาศก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง

2.สงครามเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตะวันตกกับประเทศตลาดเกิดโลกที่สาม และประเทศด้อยพัฒนานั้น มีทั้งด้านที่เกื้อหนุน แข่งขัน และกดดันบีบคั้น โจมตีกันอย่างดุเดือด

กล่าวถึงที่สุดแล้วควรเรียกว่าเป็นการทำสงคราม

ลัทธิทรัมป์ที่กำลังปฏิบัติอยู่ได้เปิดเผยให้เห็นเบื้องลึกเช่นนั้น

สงครามเศรษฐกิจที่ตะวันตกปฏิบัติต่อประเทศกำลังพัฒนา (และปฏิบัติต่อประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน) สรุปได้ดังนี้

(ก) การกดดันให้ยอมทำสัญญาเปิดประตูการค้า โดยการคุกคามว่าจะใช้หรือใช้กำลังรุนแรง สัญญาเหล่านี้ฝ่ายได้เปรียบคือตะวันตก และมีการกดดันบีบคั้นให้เปลี่ยนสัญญาเพื่อรักษาความได้เปรียบนี้ให้สูงขึ้น ถ้าจำเป็น รูปแบบนี้ปฏิบัติเปิดเผยในสมัยอาณานิคม

(ข) การค้ายาเสพติดสิ่งผิดกฎหมาย เช่นกรณีค้าฝิ่นในประเทศจีน กรณีอื่นก็มีการกล่าวถึงในทฤษฎีสมคบคิด เช่น การค้าเฮโรอีน การค้าอาวุธ

(ค) การจูงใจกดดันให้ประเทศกำลังพัฒนากู้เงิน (ปฏิบัติการจริงจังตั้งแต่ทศวรรษ 1970) การมีหนี้สินมากทำให้ประเทศกำลังพัฒนาในละตินอเมริกาเกิดวิกฤติหนี้โลก ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 โดยในปี 1982 เม็กซิโกประกาศไม่สามารถชำระหนี้ได้

สหรัฐเข้ามาให้สินเชื่อฉุกเฉินแก่เม็กซิโกหลายพันล้านดอลลาร์ ตั้งแต่นั้นรัฐบาลสหรัฐได้เข้ามามีบทบาทนำในการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจเหล่านี้ เป็นปฏิบัติการที่เรียกร้องความร่วมมือจากรัฐบาลประเทศเจ้าหนี้ รัฐบาลลูกหนี้ ธนาคารระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินข้ามชาติ

ปฏิบัติการดังกล่าวได้ผลดีบางส่วน กล่าวคือ ทำให้ประเทศที่มีหนี้ก้อนใหญ่มาก ยังสามารถชำระหนี้ได้ ไม่ต้องผิดชำระหนี้

แต่ผลต่อเศรษฐกิจประเทศลูกหนี้เกือบทั้งหมดไม่ดีเลย นั่นคือการพัฒนาทางเศรษฐกิจของผู้คนหลายร้อยล้านคนต้องหยุดชะงักหรือถอยหลังบางส่วน นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศลูกหนี้ทั้งหลาย ก็ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างมั่นคง หรือสามารถกลับสู่ตลาดสินเชื่อได้อีกตามกฎระเบียบที่เป็นอยู่

(ดูบทความของ Jeffrey D. Sachs ชื่อ Developing Country Debt ใน nber.org 1988)

(ง) การกำหนดให้เงินตราตะวันตกเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ได้แก่ เงินดอลลาร์สหรัฐ เงินปอนด์อังกฤษ เงินยูโรของสภาพยุโรป และเงินเยนของญี่ปุ่น เป็นสกุลเงินใช้ในการค้าระหว่างประเทศ และทำธุรกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเงินดอลลาร์ที่ครองความเป็นใหญ่ในโลกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อเกิดวิกฤติน้ำมันในทศวรรษ 1970 สหรัฐได้กดดันให้สร้างระบบดอลลาร์น้ำมันขึ้น โดยให้การซื้อขายน้ำมันในโลกทำในเงินดอลลาร์

ทำให้เงินดอลลาร์อย่างน้อยดีเท่ากับน้ำมัน มีส่วนก่อผลกระทบต่อการเงินโลกอย่างคาดไม่ถึง

นั่นคือประเทศผู้ส่งออกน้ำมันที่มีรายได้เพิ่มขึ้นมาก ได้นำเงินเหลือใช้ไปไว้ที่ตะวันตกที่สำคัญคือสหรัฐ จนเกิดภาวะเงินล้น และแก้ไขด้วยการชักจูงบีบคั้นให้รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนากู้ยืมเงิน จนกระทั่งเกิดวิกฤติหนี้ดังกล่าวแล้ว

อนึ่ง มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันใดพยายามล้มระบบดอลลาร์น้ำมัน ก็จะถูกสหรัฐและพันธมิตรโค่นล้มกดดันด้วยประการต่างๆ

ตั้งแต่ซัดดัมที่อิรัก กัดดาฟีที่ลิเบีย (ต้องการสร้างสกุลเงินของแอฟริกา หรือ Gold Dinar ขึ้นมา ดูรายงานใน sputniknews.com 17.03.2016 เป็นต้น) จนถึงผู้นำของอิหร่านที่ต้องการลดความสำคัญของระบบดอลลาร์น้ำมัน

(จ) การก่อวิกฤติการเงินเป็นระยะ ประเด็นนี้เอียงไปข้างทฤษฎีสมคบคิด นั่นคือ กล่าวว่ากลุ่มทุนการเงินโลกตั้งใจก่อวิกฤติการเงินเป็นระยะ เพื่อการล้างกลุ่มทุนการเงินที่อ่อนแอ ไม่มีประสิทธิภาพออกไป และทำให้กลุ่มทุนการเงินตะวันตกที่แข็งแรงกว่า ขนาดใหญ่กว่า มีข่าวสารมากกว่า เป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานในการทำธุรกรรมทั่วโลก ควบคุมสถาบันการเงินระดับโลกได้ทั้งหมด ก็จะคงอยู่ต่อไป

เรื่องดังกล่าวนี้ไม่มีข้อเท็จจริงยืนยันชัดเจน แต่เป็นไปได้ที่กลุ่มทุนการเงินตะวันตกที่มีความได้เปรียบ เช่นว่า ไม่เกรงกลัวเรื่องผลกระทบจากวิกฤติ เนื่องจากตนเองใหญ่เกินกว่าจะล้ม รัฐต้องอุ้มชู และเติบโตขึ้น ในท่ามกลางวิกฤติได้ จึงกระทำการโดยเน้นกำไรเฉพาะหน้าเป็นสำคัญ ซึ่งนำมาสู่วิกฤติ

(ฉ) การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ สหรัฐได้ใช้สิ่งนี้เป็นเครื่องมือทางนโยบายต่างประเทศมานานแล้ว เนื่องจากสามารถควบคุมการค้า การเงินและเงินตราโลกได้สูง การใช้เครื่องมือนี้ขึ้นสู่ระดับสูงในสมัย ประธานาธิบดีโอบามาที่ปฏิบัติบ่อยและชักจูงให้พันธมิตรปฏิบัติตาม

เช่น การแซงก์ชั่นอิหร่าน ด้วยข้อหาว่าอิหร่านเตรียมสร้างอาวุธนิวเคลียร์ รัฐบาลสหรัฐได้กดดันชักจูงให้ประเทศต่างๆ งดการสั่งซื้อน้ำมันจากอิหร่าน และปิดการทำธุรกรรมกับธนาคารอิหร่าน และเกือบทั้งโลกก็แซงก์ชั่นเกาหลีเหนือในทำนองเดียวกัน

เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองซีเรีย (2011) สหรัฐ ยุโรป และสันนิบาตอาหรับ หวังว่าการอายัดทรัพย์สิน การแซงก์ชั่นธนาคารและการออกวีซ่าของซีเรีย รวมทั้งการงดสั่งซื้อน้ำมันจากซีเรีย จะกดดันให้ประธานาธิบดีอัสซาดยอมลงจากตำแหน่ง หรือช่วยให้คนสนิทของเขาขับไล่เขาออกไป

สหรัฐได้แซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจแก่ประเทศต่างๆ ราวครึ่งโหล ได้แก่ คิวบา อิหร่าน เกาหลีเหนือ ซูดาน และซีเรีย

แต่ทั้งหมดดูให้ผลอย่างจำกัด เช่น การแซงก์ชั่นอิหร่านและเกาหลีเหนือ ก็ไม่ได้ยับยั้งการทำยูเรเนียมให้บริสุทธิ์ของอิหร่าน และการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ แต่กระนั้นนักการเมืองสหรัฐก็มีการกระตือรือร้นอย่างยิ่งในการแซงก์ชั่น (ดูบทความของ Carla Anne Robbins ชื่อ Why Economic Sanctions rarely Work? ใน Bloomberg.com 24.05.2013)

ที่น่าตื่นเต้นกว่าคือการแซงก์ชั่นรัสเซีย (2014) ซึ่งได้ผลน้อยและยังเกิดผลสสะท้อนกลับแก่สหรัฐและสหภาพยุโรปเอง

ทำให้รัสเซียยิ่งเร่งพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ มุ่งมั่นในการสร้างพันธมิตรกับจีนและอิหร่าน เพื่อฟื้นอิทธิพลตนในเขตยูเรเซีย การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจของสหรัฐกำลังเป็นเครื่องมือที่ล้าสมัยขึ้น

สงครามเศรษฐกิจยังกระทำในรูปแบบและมิติอื่นอีก เป็นต้นว่า

(ก) การกดดันในเรื่องสิทธิบัตร ที่ตะวันตกได้เปรียบสูงต่อประเทศกำลังพัฒนา

(ข) การอุดหนุนการผลิตและการค้าโดยเฉพาะทางด้านการเกษตร ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจ และความมั่นคงของชาติในประเทศกำลังพัฒนา โดยการจัดการที่ซับซ้อน พบว่าประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งไม่สามารถพึ่งตนเองทางอาหารได้

(ค) การกีดกันทางการค้าทั้งด้วยมาตรการทางภาษีและไม่ใช่ เช่น การตั้งเกณฑ์ชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง เพื่อให้สามารถเลือกปฏิบัติได้มากเท่ากฎหมาย การค้าระหว่างประเทศจะยอมได้ หรือการตั้งเกณฑ์มาตรฐานการผลิตให้สูงจนประเทศกำลังพัฒนาปฏิบัติได้ยาก

โดยการใช้สงครามเศรษฐกิจหลายรูปแบบดังกล่าว พบว่าประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่สามารถเล็ดลอดมาอยู่ในระดับประเทศพัฒนาแล้วมีน้อยมาก เช่น เกาหลีใต้ เขตไต้หวัน สิงคโปร์ ซึ่งเป็นข้อยกเว้น เกือบทั้งหมดติดอยู่ใน “กับดักรายได้ปานกลาง”

แต่ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่จะไปโทษแต่ตะวันตก ประเทศกำลังพัฒนาเอง จำต้องเก็บรับบทเรียนและปรับแก้ไขตนเองด้วย

3.สงครามด้านวัฒนธรรม ค่านิยม อุดมการณ์ เป็นการต่อสู้ที่อยู่ในปริมณฑลของอำนาจอ่อน แต่ส่งผลลึกซึ้ง จนถึงปัจจุบันประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไปยังเห็นตะวันตกเป็นแบบอย่างในหลายประการ เช่น ของนอกดีกว่า ไปนอกยิ่งดี ตะวันตกเสรีและเปิดโอกาส หนังนอกดูสนุกเห็นจริงเห็นจัง ในหมู่ปัญญาชนและชนชั้นกลาง-สูง แม้บางคนจะกล่าวแสดงทัศนะชาตินิยมต่อต้านตะวันตก แต่ก็มักส่งลูกไปเรียนต่างประเทศถ้าหากทำได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามทางกายภาพและสงครามเศรษฐกิจของตะวันตกเริ่มไม่ได้ผล สงครามทางวัฒนธรรมก็จะอ่อนล้าตามไปด้วย การที่กลไกการควบคุมจัดระเบียบโลกของสหรัฐและตะวันตกไม่ทำงาน ย่อมลดช่องว่างความแตกต่างระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศตลาดเกิดใหม่ลง

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึง ปัญหาของสหรัฐและความระส่ำระสายของขบวนแถวตะวันตก