เกษียร เตชะพีระ | วิพากษ์ตุลาการภิวัตน์ (1)

เกษียร เตชะพีระ

ปาฐกถารีธ หรือ The Reith Lectures เป็นปาฐกถาเกียรติยศประจำปีที่บีบีซี (BBC : British Broadcasting Corporation) เชิญคนดังระดับสากลมาแสดงออกอากาศในประเด็นสำคัญต่างๆ นับแต่ปี ค.ศ.1948 เป็นต้นมา เพื่อเป็นเกียรติแก่ Lord Reith ผู้อำนวยการบีบีซีคนแรก

สำหรับปี ค.ศ.2019 ล่าสุด บีบีซีได้เชิญโจนาธาน ซัมพ์ชัน นักเขียน นักประวัติศาสตร์และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาอังกฤษมาปาฐกถาเรื่อง “กฎหมายกับความเสื่อมถอยของการเมือง” https://www.bbc.co.uk/programmes/m00057m9 ซึ่งเป็นแนวโน้มหลักของหลายประเทศรวมทั้งไทยเราด้วย

ผมจึงใคร่ขอนำมาเรียบเรียงเสนอเป็นอนุสติทางวิชาการดังต่อไปนี้ :

ตอนที่หนึ่ง : จักรวรรดิกฎหมายขยายตัว

แรกเริ่มเดิมทีมีแต่ความโกลาหลวุ่นวายและการใช้กำลังดิบเถื่อน มันเป็นโลกที่ปราศจากกฎหมาย ในประมวลเรื่องปรัมปราของกรุงเอเธนส์สมัยโบราณ อากาเมมนองบูชายัญธิดาของตนเพื่อที่บรรดาเทพเจ้าจะปล่อยให้กองเรือของเขาแล่นไปกรุงทรอยได้ ภรรยาของอากาเมมนองฆ่าเขาเพื่อล้างแค้น และในทางกลับกัน เธอเองก็ถูกบุตรชายฆ่า

อาเธนา เทพีแห่งภูมิปัญญา จึงยุติวงจรความรุนแรงนี้ด้วยการสร้างศาลขึ้นมากำหนดทางแก้ให้โดยถือตามสิ่งที่ทุกวันนี้เราเรียกว่าประโยชน์ส่วนรวม

กล่าวคือ เป็นทางแก้ที่ตั้งอยู่บนเหตุผล ประสบการณ์แห่งความเปราะบางอ่อนแอของมนุษย์ และความหวาดกลัวทางเลือกอย่างอื่น

ในตอนท้ายของตำนานไตรภาคอันยิ่งใหญ่ของไอชีลุสเรื่อง อาริสเทีย เทพีอาเธนาให้เหตุผลความชอบธรรมที่เธอแทรกแซงเรื่องราวในโลกของมนุษย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

“จงอย่าได้มีมนุษย์ผู้ใดอยู่โดยไม่ถูกกฎหมายเหนี่ยวรั้งไว้ หรือถูกเหนี่ยวรั้งไว้โดยทรราชเลย”

ข้อความนี้เขียนไว้ก่อนคริสต์ศก 5 ปี ทว่าสารที่ส่งนั้นเป็นอกาลิโกและสากล กฎหมายหาใช่เพียงเครื่องมือของความยุติธรรมในการชดเชยหรือความยุติธรรมในการแบ่งปันไม่ หากเป็นการแสดงออกซึ่งคุณค่ารวมหมู่และทางเลือกนอกเหนือไปจากความรุนแรงและระบอบเผด็จอำนาจตามอำเภอใจ

มันเป็นความชั่วร้ายของนักกฎหมายบางคนที่พูดถึงกฎหมายราวกับว่ามันเป็นเรื่องปิดเฉพาะตัวมันเอง

เป็นบางสิ่งบางอย่างที่จะถูกตรวจสอบเหมือนตัวอย่างในหลอดทดลองของห้องทดลอง

ทว่าอันที่จริงกฎหมายหาได้ครองโลกของมันเองไม่ มันเป็นส่วนหนึ่งของระบบการตัดสินใจส่วนรวมที่ใหญ่กว่า

ส่วนที่เหลือของระบบที่ว่านั้นได้แก่การเมือง การเมืองอันเป็นเรื่องของรัฐมนตรีและสมาชิกสภานิติบัญญัติสังกัดพรรคการเมือง เรื่องของสื่อมวลชนและกลุ่มกดดัน และเรื่องของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่กว้างออกไป

หัวเรื่องของผมในปาฐกถาต่อไปนี้คือที่ทางของกฎหมายในชีวิตส่วนรวม แก่นเรื่องสองประการที่ผมใคร่จะสำรวจคือความเสื่อมถอยของการเมืองกับการผงาดขึ้นของกฎหมายเพื่อเติมเต็มที่ว่างนั้น อะไรพึงเป็นบทบาทของกฎหมายในระบอบประชาธิปไตยแบบแทนตนอย่างที่เรามี?

มันมีกฎหมายมากไปหรือเปล่า?

หรือบางทีมันอาจจะมีน้อยไปกระนั้นรึ?

ผู้พิพากษามีอำนาจมากเกินไปไหม?

เราหมายถึงอะไรเวลาพูดถึงหลักนิติธรรม อันเป็นวลีที่พร้อมจะหลุดปากนักกฎหมายออกมาเหลือเกิน?

ใช่หรือไม่ว่าเอาเข้าจริงมันไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าคำรื่นหูแทนคำว่าการปกครองของนักกฎหมาย ดังที่บางทีพวกขวางโลกชี้บอกไว้?

จักรวรรดิของกฎหมายที่ขยายตัวไปนั้นเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในยุคของเรา หอประชุมมิดเดิล เทมเปิลอันงามวิเศษกลางกรุงลอนดอนที่เราใช้อยู่นี้เคยถูกนักกฎหมายใช้กันมานับแต่สร้างขึ้นสี่ศตวรรษครึ่งก่อน

ทว่าในเวลาส่วนใหญ่ที่กล่าวมานั้น พวกนักกฎหมายเหล่านี้มีอะไรทำน้อยมาก

จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 19 ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ส่วนใหญ่ถูกปกครองโดยธรรมเนียมประเพณี กฎหมายตอนนั้นใช้จัดการกับปัญหาของมนุษย์ในขอบเขตแคบๆ เท่านั้น

มันใช้กำกับกรรมสิทธิ์เหนือทรัพย์สิน มันบังคับใช้สัญญาต่างๆ มันปกป้องชีวิต ร่างกาย เสรีภาพและทรัพย์สินของผู้คนจากการประทุษร้ายโดยพลการ แต่ทั้งหมดก็ประมาณนั้นแหละครับ ส่วนทุกวันนี้ กฎหมายกลับทะลุทะลวงเข้าไปในทุกแง่มุมซอกหลืบของชีวิตคนเรา

ประมวลกฎหมายอังกฤษสมัยใหม่ฉบับมาตรฐานกินเนื้อที่ราว 50 เล่มหนาเตอะ แถมภาคเสริมอีกกว่า 30 เล่ม มิหนำซ้ำตอนนี้ยังมีกฎระเบียบราว 21,000 ฉบับออกโดยรัฐมนตรีทั้งหลายซึ่งมีอำนาจบังคับใช้เป็นกฎหมาย

และกฎระเบียบอีกเกือบ 12,000 ฉบับออกโดยสหภาพยุโรปซึ่งยังคงจะบังคับใช้ต่อไปเว้นเสียแต่ว่าและจนกระทั่งมันถูกยกเลิกหรือแทนที่โดยการบัญญัติกฎหมายในประเทศเราเอง

ในชั่วเวลาเพียงปีเดียวถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2010 มีการกำหนดความผิดอาญาใหม่ๆ ขึ้นกว่า 700 กระทง ซึ่งสามในสี่ของมันถูกกำหนดขึ้นโดยกฎระเบียบรัฐบาล

ผมยอมรับว่านั่นเป็นปีที่ออกจะอุดมสมบูรณ์สักหน่อย แต่อัตราการเพิ่มของมันก็ยังสูงอยู่

ยิ่งกว่านั้นยังมีคำพิพากษาของศาลต่างๆ ที่ผลิตออกมาไม่หยุดหย่อนผ่อนเพลา โดยที่คำพิพากษาจำนวนมากเกี่ยวข้องกับเรื่องซึ่งกฎหมายแทบจะไม่เข้าไปแตะต้องเลยเมื่อศตวรรษก่อน

ตอนนี้อำนาจของศาลครอบครัวขยายไปครอบคลุมสวัสดิภาพของเด็กเล็กทุกๆ ด้านซึ่งครั้งหนึ่งมันเคยเป็นธุระของเขตอำนาจครัวเรือนแบบปิด

ประมวลกฎหมายอันซับซ้อนซึ่งบังคับใช้โดยศาลชำนัญพิเศษก็คอยกำกับดูแลโลกการจ้างงาน

ระบบกฎหมายปกครองอันละเอียดพิสดารซึ่งส่วนใหญ่สร้างขึ้นโดยผู้พิพากษานับแต่คริสต์ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมาก็กำกับควบคุมแง่มุมส่วนใหญ่ของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับพลเมือง

พื้นที่พิเศษซึ่งเคยคิดกันว่าอยู่นอกขอบเขตของศาล อาทิ นโยบายต่างประเทศ การดำเนินปฏิบัติการทางทหารโพ้นทะเล และอำนาจพิเศษอื่นๆ ของรัฐได้ทยอยกันสยบยอมต่ออำนาจของผู้พิพากษาจนหมดสิ้น

เหนือสิ่งอื่นใด นับแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา ประมวลสิทธิมนุษยชนซึ่งบังคับใช้ได้ทางกฎหมายได้เปิดพื้นที่ใหม่อันกว้างไพศาลให้แก่การกำกับด้วยอำนาจตุลาการ

ผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเหล่านี้อาจคาดประเมินได้ด้วยการเติบโตของวิชาชีพนักกฎหมาย ในปี ค.ศ.1911 ในอังกฤษมีทนายความหนึ่งคนต่อราษฎร 3,000 คน กว่าศตวรรษให้หลัง มีทนายความหนึ่งคนต่อราษฎร 400 คน

กล่าวคือ เพิ่มขึ้นถึงเจ็ดเท่า

หลักนิติธรรมเป็นสำนวนจำเจอย่างหนึ่งของชีวิตสมัยใหม่ซึ่งมักถูกอ้างอุทธรณ์ถึงโดยไม่ค่อยได้คิดใคร่ครวญว่าเอาเข้าจริงมันหมายถึงอะไรกันแน่ แม้กระทั่งในหมู่นักกฎหมายเอง แก่นแท้ของมันอาจสรุปได้สามประเด็นด้วยกัน กล่าวคือ

หนึ่ง อำนาจหน้าที่สาธารณะบังคับเราไม่ได้ เว้นเสียแต่เท่าที่กฎหมายได้ให้อำนาจเอาไว้

สอง ผู้คนต้องมีสิทธิพื้นฐานขั้นต่ำสุดตามกฎหมาย เราอาจเถียงกันได้ว่าสิทธิเหล่านั้นควรมีอะไรบ้าง แต่อย่างน้อยที่สุดมันควรรวมถึงการได้การปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรงทางกายภาพและการแทรกแซงชีวิต เสรีภาพและทรัพย์สินของเราโดยพลการ หากปราศจากสิทธิเหล่านี้เสียแล้ว การดำรงอยู่ทางสังคมก็ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการประลองกำลังกันอย่างดิบๆ แค่นั้นเอง

สาม ต้องมีช่องทางเข้าถึงตุลาการอิสระเพื่อยืนยันสิทธิเหล่านี้ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายอาญา และเพื่อบังคับใช้การจำกัดอำนาจรัฐ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อย่างน้อยก็สำคัญไม่แพ้แก่นแท้ของหลักนิติธรรมข้างต้น ก็คือความเข้าใจอย่างชัดเจนว่าหลักนิติธรรมไม่ได้หมายถึงอะไรบ้าง มันไม่ได้หมายความว่าปัญหาของมนุษย์ทุกปัญหาและทางแพร่งทางศีลธรรมทุกทางแพร่งเรียกร้องต้องการทางออกเชิงกฎหมาย

กระนั้นแล้วไฉนการขยายเขตอำนาจของกฎหมายออกไปกว้างไพศาลจึงได้เกิดขึ้นเล่า?

เหตุผลขั้นมูลฐานก็คือการมาถึงของระบอบประชาธิปไตยที่มีฐานมวลชนกว้างขวางระหว่างคริสต์ทศวรรษที่ 1860 ถึง 1920 การที่มวลชนเข้าเกี่ยวพันกับกิจการส่วนรวมย่อมนำไปสู่การเรียกร้องจากรัฐเพิ่มสูงขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ กล่าวคือ ให้รัฐเป็นผู้จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกและรื่นรมย์ ให้รัฐเป็นผู้ค้ำประกันมาตรฐานความมั่นคงทางสังคมขั้นต่ำ และให้รัฐเป็นผู้กำกับควบคุมกิจการทางเศรษฐกิจ

(ต่อตอนหน้า)