หนึ่งคำถามล้านคำตอบ กับ นิ้วกลม “จัสติน ทรูโด” : ออกจากความขัดแย้งด้วยความหวัง

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK
justin trudeau


1ในยามขัดแย้งและเต็มไปด้วยการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เรามักรู้สึกมีความหวังเมื่อ “ฝ่ายเรา” มีโอกาสพลิกเกมขึ้นมากุมชัยชนะเหนือ “ฝ่ายนั้น” เราดำเนินชีวิตอยู่ในทัศนะที่ต้องการสร้างความหวังเพื่อชนะอีกฝ่ายหนึ่ง เช่นกันกับอีกฝ่ายหนึ่งที่ขับเคลื่อนไปด้วยความคิดทำนองเดียวกัน

ความขัดแย้งยาวนานสะสมอดีต บาดแผล ความแค้น การเอาเปรียบ การเสียเปรียบ เอาไว้เสมอ สิ่งเหล่านั้นค่อยๆ ถ่างรอยแยกให้เกิดขึ้นระหว่างคนแต่ละกลุ่ม เมื่อเส้นแบ่งชัดเจน เราจึงนิยามตัวเองด้วยความแตกต่างจากคนอีกกลุ่มหนึ่งได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ

ในห้วงยามเช่นนั้น ความเป็นการเมืองได้ครอบงำความรู้สึกของทุกคน ยิ่งฝักฝ่ายชัด การเอาชนะคะคานก็ยิ่งรุนแรง และความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของแต่ละคนที่จะโน้มเขาหากันก็ยิ่งยากเย็นขึ้นทุกวัน บรรยากาศวนเวียนอยู่กับการทุ่มเถียงในความแตกต่างเดิมๆ ด้วยวัตถุดิบใหม่ๆ ของสถานการณ์ล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้น

ต่อให้เปลี่ยนไปกี่เรื่อง แต่คู่ชกยังคงเป็นคนเดิม ฐานคิดในการชกก็ยังเหมือนเดิม

บางคนให้ข้อสังเกตว่า สิ่งที่หายไประหว่างความขัดแย้งที่พุ่งสูงขึ้นในรอบสิบปีที่ผ่านมาของบ้านเมืองเราก็คือความหวัง บทสนทนาที่มีให้กันมักไปในแนวทางของการหักล้าง ทุ่มเถียง เอาชนะ กันไปวันต่อวัน แต่ไม่ค่อยมีบทสนทนาที่จะชี้ทางสว่างหรือทางเลือกอื่นให้เป็นความหวังของสังคม

และความแตกแยกของประชาชนก็ดูจะถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจ ผู้อยากมีอำนาจ ผู้ปรารถนาดี และผู้อ้างว่าปรารถนาดีทั้งหลาย

บางครั้งความขัดแย้งก็ทำให้นักการเมืองได้มวลชนสนับสนุน บางครั้งความขัดแย้งก็สามารถรวบรวมมวลชนมาล้มรัฐบาลที่ฝ่ายเราไม่ชอบ บางครั้งความขัดแย้งก็เป็นเหตุผลของการขึ้นมากุมอำนาจของคนบางกลุ่ม ดูเหมือนว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นสามารถถูกบรรดาผู้มีอำนาจไปใช้ได้ในหลายทาง

อำนาจหมุนเวียนเปลี่ยนมือ แต่ความขัดแย้งร้าวลึก และไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย

2จัสติน ทรูโด หนุ่มหล่อหน้าตาดี ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศแคนาดาในเดือนตุลาคม 2015 เช่นกันกับผู้นำคนอื่น เขาขึ้นรับตำแหน่งท่ามกลางปัญหานานาชนิด และฟันฝ่าผ่านก้อนหินสารพัดรูปแบบที่โยนตลอดเส้นทางก่อนที่จะชนะการเลือกตั้ง

การขึ้นมาเป็นนายกฯ ของทรูโดนับเป็นการพลิกโฉมพรรคของเขา นอกจากนั้นยังเป็นการพลิกโฉมวาทกรรมในการต่อสู้ทางการเมืองของแคนาดาอีกด้วย

พรรคเสรีนิยมของเขาตกต่ำอย่างหนัก เมื่อได้รับที่นั่ง ส.ส. ในสภาเพียง 34 ที่นั่ง หล่นลงมาเป็นพรรคอันดับสาม เขาวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะพรรคของเขาไม่ได้ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนอย่างแท้จริง จึงเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ซึ่งเริ่มตั้งแต่สมัยหาเสียงตอนเป็น ส.ส. เขาเดินเคาะประตูบ้านทีละหลังเพื่ออธิบายแนวคิดและนโยบาย แต่มากไปกว่านั้น เขาไม่ได้ไปเพียงเพื่อจะพูด แต่ไปพบประชาชนเพื่อรับฟัง

สำหรับ จัสติน ทรูโด แคนาดาเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม และความแตกต่างทางเศรษฐกิจ ซึ่งผู้คนที่แตกต่างเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่อแคนาดา และควรถูกนับรวมด้วยกันทั้งสิ้น

ในความแตกต่างเหล่านั้น ทรูโดพยายามทำให้ทุกคนเห็นว่า ทุกคนสามารถมีคุณค่าหลักบางอย่างที่สามารถยึดถือร่วมกันได้ ซึ่งคุณค่านั้นเองที่จะเชื่อมโยงทุกคนเข้าด้วยกัน

การฟังทำให้เขาได้ยินปัญหาจากปากคำหลากหลาย ตั้งแต่พ่อที่บ่นว่าลูกพวกเขาหางานไม่ได้ ผู้อพยพเล่าความยากลำบากในการทำวีซ่าให้ฟัง บางคนเดินออกมาจากร้านขายของชำแล้วบอกกับเขาว่าแทบไม่มีเงินพอซื้ออาหารให้คนในครอบครัว นอกจากนั้น เขายังเงี่ยหูฟังผู้คนที่แตกต่างอย่างคนที่พูดฝรั่งเศสเป็นภาษาหลัก ผู้อพยพชาวกรีกและอิตาลี ผู้มาใหม่จากเฮติและแอฟริกาเหนือ ฯลฯ อีกมากมาย

หัวใจเปิดกว้างและสองหูที่ยินดีรับฟังความหลากหลายของผู้คนเช่นนี้ อาจสั่งสมมาตั้งแต่สมัยที่เขายังเป็นหนุ่มนักเดินทางก็เป็นได้


3หลังจบการศึกษา ทรูโดออกเดินทางไกลและยาวนานกับเพื่อนรักสามคน เริ่มต้นผจญภัยจากลอนดอน มุ่งหน้าสู่แอฟริกา ขับรถบรรทุกข้ามฝรั่งเศส สเปน ไปถึงยิบรอลตา ลงเรือไปโมร็อกโก สู่แอฟริกาเหนือ เทือกเขาแอตลาส ซาฮาร่าตะวันตก มอริเตเนีย ผ่านบูร์กินาฟาโซ ไอวอรีโคสต์ กานา คองโก เบนิน แล้วไปเริ่มต้นทริประลอกสองที่ฟินแลนด์ มอลตา รัสเซีย ปักกิ่ง ฮ่องกง ฮานอย กรุงเทพฯ

ทรูโดบอกว่า ไม่มีการเดินทางที่ครอบคลุมกว้างขวางรวมหลายประเทศเข้าไว้ด้วยกันครั้งใดที่ไม่ทำให้นักเดินทางผู้นั้นเกิดความเปลี่ยนแปลง

การเดินทางครั้งนั้นทำให้เขาตระหนักและเข้าใจถึงผู้คนต่างๆ ที่มีภูมิหลังต่างกัน นอกจากนั้น เขายังสังเกตเห็นว่า ชุมชนที่ประชาชนเปิดรับความแตกต่างของคนอื่น มีความสุขและมีพลวัตกว่าชุมชนที่มีทัศนคติที่คับแคบและปิดตัวเอง

ทรูโดบอกว่า ไม่ว่าที่ใดที่เขาไปก็จะมีคนท้องถิ่น มีคนกระแสหลัก และมีคนส่วนน้อย เสมอ นั่นทำให้เขาคิดถึงผู้คนในแคนาดาซึ่งมีที่มากันจากหลากหลายมุมโลก เขาเห็นว่าสิ่งนี้เองคือคุณค่าของแคนาดา

นั่นคือการสร้างสังคมที่มีค่านิยมร่วมกันอย่างการเปิดกว้าง เคารพความแตกต่าง ความเห็นอกเห็นใจกัน ความยุติธรรม ความเท่าเทียม และโอกาส สิ่งเหล่านี้ทำให้แคนาดาเข้มแข็ง

4การเคารพความแตกต่างของทรูโดสะสมมาตั้งแต่สมัยที่เขายังเป็นเด็ก ปิแอร์ เอลเลียต ทรูโด-คุณพ่อของเขาซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีแคนาดาในตอนนั้น เล่าให้ลูกชายตัวเองฟังถึงการออกกฎบัตรว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพปี 1982

กฎบัตรนั้นเป็นแนวทางที่มีไว้เพื่อรับประกันว่าชาวแคนาดากลุ่มใดก็ตามไม่สามารถใช้รัฐบาลเป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพพื้นฐานของชาวแคนาดากลุ่มอื่นๆ มากเกินไป มันกลายเป็นเครื่องมือในการขยายขอบเขตเสรีภาพบุคคลในแคนาดาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้ชาวแคนาดาไม่ถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงานเพราะรสนิยมทางเพศ ไม่ถูกกีดกันจากการแต่งงานกับคนรักเพียงเพราะเป็นเพศเดียวกัน ผู้หญิงมีสิทธิควบคุมการตั้งครรภ์ของตนเอง ฯลฯ

พ่ออธิบายกับเขาในแบบให้เด็กๆ เข้าใจง่ายว่า “ประชาชนถนัดขวาซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ไม่ควรได้รับอนุญาตให้ออกกฎหมายที่ทำร้ายประชาชนถนัดซ้ายเพียงเพราะพวกเขาเป็นคนส่วนน้อย” เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะกลายเป็น “ทรราชเสียงข้างมาก”

แต่แม้จะเป็นผู้ปฏิรูปกฎหมายการหย่าร้างให้ทันสมัย ในมุมส่วนตัว พ่อของเขาก็ยังคงยึดมั่นในคำสอนศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกที่ว่า “อะไรก็ตามที่พระเจ้าเป็นผู้รวมเข้าด้วยกัน มนุษย์จะแยกมันออกจากกันไม่ได้” ด้วยการที่ไม่มีภรรยาใหม่หลังแยกทางกับแม่ของทรูโด และนั่นเป็นสิ่งที่ทรูโดเรียนรู้จากพ่อว่า ความเชื่อส่วนตัวกับความรับผิดชอบต่อสาธารณะเป็นสองสิ่งที่แยกกัน เราไม่ควรนำความเชื่อส่วนตัวของเราไปครอบงำให้ทุกคนต้องปฏิบัติตาม

นั่นคือการเคารพในสิ่งที่เราเชื่อ ขณะเดียวกันก็เคารพในสิ่งที่คนอื่นเชื่อด้วย

5ด้วยความเชื่อมั่นในค่านิยมแห่งวัฒนธรรมที่หลากหลายซึ่งสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและส่งพลังถึงกัน ทรูโดเน้นย้ำเกี่ยวกับเรื่องนี้ตลอดเวลาระหว่างหาเสียง และต้องการเปลี่ยนข้อถกเถียงในสังคมที่มุ่งเน้นการโจมตีฝ่ายตรงข้าม หรือแยกตัวเองด้วยความแตกต่างจากภูมิภาคอื่นให้มองถึงจุดร่วมบางอย่างในความหลากหลายนั้น

ทรูโดเชื่อว่า “สังคมควรโอบอุ้มรูปแบบของการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ไม่ละเมิดคุณค่าหลักของสังคมเรา สิ่งเหล่านี้รวมถึงสิทธิคนยิวที่สวมคิปปา (หมวกที่ทำจากเส้นผมจริง) ชาวซิกข์ที่จะสวมผ้าโพกศีรษะ มุสลิมที่จะสวมผ้าคลุมผม หรือคริสเตียนที่จะห้อยจี้ไม้กางเขน”

ความหลากหลายเป็นแกนสำคัญที่ทำให้แคนาดาเป็นแคนาดา ทรูโดเชื่อเช่นนั้น และนี่คือสิ่งที่ทำให้แคนาดาประสบความสำเร็จ และเป็นคุณูปการที่แคนาดาแสดงเป็นตัวอย่างให้โลกเห็นว่าเราสามารถอยู่ร่วมกันได้ในความแตกต่าง

เขายังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า บางครั้งประชาชนก็ตกเป็นเหยื่อของการเมืองแบบแบ่งแยก วิสัยทัศน์ที่มองอะไรสั้นๆ มักถูกนำมาใช้เพื่อหาประโยชน์ให้ตัวเอง แต่เราจะสร้างประเทศหรือผลักดันประเทศไปข้างหน้าได้อย่างไรหากยังคงสนใจในสิ่งที่ทำให้เราแตกแยกกันแทนที่จะมุ่งผลประโยชน์ที่เรามีร่วมกัน

สำหรับทรูโด การเมืองมิใช่การเอาชนะคู่ต่อสู้ทางการเมือง เพราะฝ่ายตรงข้ามก็คือเพื่อนบ้านของเรา หากจะทำอะไรให้สำเร็จในระดับประเทศก็ต้องการการร่วมมือจากทุกฝ่ายและทุกคน

เขาพยายามชวนทุกคนมองไปข้างหน้า กำหนดคุณค่าร่วมกันว่า เราต้องทำงานหนักเพื่อร่วมกันสร้างประเทศที่มอบสิ่งต่างๆ ให้กับคนรุ่นหลังได้มากกว่าที่เราเคยได้รับ ไม่ว่าจะเป็นโอกาส ทางเลือก ความสำเร็จที่มากกว่า สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ มีอะไรบ้างที่ชาวแคนาดาต้องการเหมือนๆ กัน งานดีๆ เศรษฐกิจที่เติบโต การศึกษาที่ดี สวัสดิการในยามแก่ชรา เช่นนั้นแล้วสังคมก็ควรมีความเห็นอกเห็นใจและร่วมมือกันช่วยเหลือผู้คนที่ไม่ได้โชคดีเท่าตนเอง คนที่มีโอกาสในชีวิตน้อยกว่า เราสามารถกำหนดคุณค่าร่วมกัน และผลักดันประเทศไปสู่จุดหมายเดียวกันได้

ทรูโดเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้มิสามารถทำสำเร็จได้โดยพ่อรู้ดีบางคน หรือรัฐบาลที่ใช้อำนาจสั่งการจากบนลงล่าง แต่จะเกิดขึ้นได้จากการฟังปัญหาที่แท้จริงของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ปัญหา เราจึงต้องการรัฐบาลที่มองประชาชนอย่างเคารพ ไม่ใช่สงสัย รัฐบาลที่สนับสนุนสิทธิและเสรีภาพ เชื่อในทางเลือกของประชาชน เชื่อในค่านิยมของประชาชน และเชื่อในเสรีภาพของประชาชน

ความรู้สึกเอกภาพสำหรับทรูโดคือการมองเห็นความเชื่อมโยงว่า เราทั้งหมดอยู่ด้วยกัน “เมื่อชาวแอลเบอร์ตาทำได้ดี มันก็สร้างโอกาสให้กับความควิเบก เมื่อชาวควิเบกสร้างนวัตกรรม มันเกิดเสียงกึกก้องไปทั่วประเทศและรอบโลก”

สิ่งนี้เองคือความหวังที่ จัสติน ทรูโด สร้างให้ประชาชนชาวแคนาดา นั่นคือความรู้สึกว่าประชาชนที่แตกต่างหลากหลายสามารถร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้ตามแนวทางของตนเอง ทางเลือกทางการเมืองไม่ใช่เลือกเพื่อต่อต้านคนบางคน หรือเลือกด้วยความเกลียดชัง แต่เลือกเพื่อวิสัยทัศน์ที่ยืนยาวของประเทศ เลือกจากความฝัน ค่านิยมหลักที่ดีงาม และเลือกจากความปรารถนาที่มีร่วมกัน

ท่ามกลางการเมืองที่โจมตีฝ่ายตรงข้าม พยายามแบ่งแยก และสร้างความเกลียดชัง จัสติน ทรูโด จุดไฟแห่งความหวังขึ้นมาด้วยการเสนอความคิดว่า เราควรมองไปข้างหน้า กำหนดความฝันและค่านิยมหลักร่วมกัน และเขาทำให้ประชาชนแคนาดาเชื่อได้ว่า สิ่งนั้นมีอยู่จริง ด้วยการเปิดกว้างและรับฟังเสียงที่แตกต่างหลากหลายทุกๆ เสียง

จัสติน ทรูโด จะนำพาแคนาดาไปสู่การเป็นประเทศแบบไหน คงยากที่จะคาดเดาว่าเขาจะทำได้สำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้หรือไม่ แต่อย่างน้อย การปรากฏขึ้นของเขาก็ได้สร้าง “ทางเลือก” ออกไปจากวังวนแห่งการเมืองเดิมๆ ที่เต็มไปด้วยการเอาชนะและแบ่งแยก

นี่คือพลังแห่งความหวัง

และนั่นอาจเป็นสิ่งที่เรากำลังคิดถึง

เรา-หมายถึงสังคมไทย

อ่านเพิ่มเติมได้ใน Common Ground ก้าวใหม่ที่แตกต่างบนทางเดียวกัน นงนุช สิงหเดชะ แปล สนพ.มติชน