เศรษฐกิจ / เบื้องลึก!! ศึกก่อน-หลังประมูล 5 G คลื่นค่ายไหน…ฉายหนังคนละม้วน

เศรษฐกิจ

 

เบื้องลึก!! ศึกก่อน-หลังประมูล 5 G

คลื่นค่ายไหน…ฉายหนังคนละม้วน

 

การก้าวไปสู่ยุค 5 G คลื่นความถี่ถือเป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ

โดยคลื่นความถี่ที่ทั่วโลกนิยมใช้เพื่อรองรับ 5 G ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิร์ตซ์

โดยคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ ปัจจุบัน ‘ไชน่าโมบายล์’ ของจีน ซึ่งมีฐานลูกค้ามากที่สุดในโลกประมาณ 925 ล้านราย เปิดให้บริการ 5 G บนคลื่นความถี่ดังกล่าว และมีการผลิตอุปกรณ์ขึ้นมารองรับ

ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิร์ตซ์ เป็นคลื่นความถี่หลักในการรองรับ 5 G ในภูมิภาคยุโรป ซึ่งปัจจุบันไทยใช้ในกิจการดาวเทียมโดยจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในเดือนกันยายน 2564

ดังนั้น คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ จึงเป็นที่หมายตาของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) กระเป๋าหนัก และต้องการเป็นผู้นำในการเปิดให้บริการ 5 G เป็นรายแรกในไทย

ซึ่งก็ตกเป็นของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ที่ชนะการประมูล จำนวน 10 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิร์ตซ์ รวม 100 เมกะเฮิร์ตซ์ มูลค่า 20,930.027 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ซึ่งให้หลังการประมูลเพียง 5 วัน ก็เข้าชำระเงินค่าใบอนุญาตงวดแรกจำนวน 2,093.027 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หรือคิดเป็น 10% ของราคาค่าใบอนุญาต

พร้อมรับใบอนุญาต และวางหนังสือค้ำประกัน (แบงก์การันตี) จากธนาคารเพื่อค้ำประกันการชำระเงินค่าใบอนุญาตในส่วนที่เหลือ 18,837 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แล้ว สดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ปีนี้

โดยในวันเดียวกันนั้น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้กดปุ่มสวิตช์ออนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ เพื่อให้บริการ 5 G อย่างเป็นทางการทันที

ทำให้เอไอเอสได้ใจลูกค้าไปเต็มๆ

 

ฟากบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ไม่น้อยหน้า ชนะการประมูล จำนวน 9 ใบอนุญาต รวม 90 เมกะเฮิร์ตซ์ มูลค่า 19,123.04 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ระบุว่า รอฤกษ์งามยามดีในการเข้าชำระค่าใบอนุญาตงวดแรก จำนวน 1,912.304 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยระหว่างนี้ก็มีการติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายให้พร้อมใช้งาน ซึ่งคาดว่าไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์นี้จะเข้าชำระค่าใบอนุญาตงวดแรกแน่นอน

ทั้งนี้ มีแหล่งข่าวเผยว่า ทรูอยู่ระหว่างการยื่นเอกสารเพื่อขอแบงก์การันตีจากธนาคาร ซึ่งหากได้รับการไฟเขียวจึงจะสามารถเข้าชำระค่าใบอนุญาตงวดแรกได้

ซึ่งจะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ มาช้ายังดีกว่าไม่มา อีกทั้งยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดให้ชำระค่าใบอนุญาตงวดแรกภายใน 90 วัน จากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะการประมูล

 

แต่จะว่าไปแล้วผลการประมูลที่ออกมา ดูยังไงก็หนังคนละม้วนกับการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 700, 1800 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ และ 26 กิกะเฮิร์ตซ์ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562

ซึ่งในขณะนั้น กิตตินันท์ พจน์ประสาท หัวหน้าส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส ระบุว่า กสทช.ควรเลื่อนการประมูลออกไปก่อน เพราะคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ ไม่เหมาะสมในการรองรับ 5 G ขณะที่การเรียกคืนคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวก็ยังไม่ชัดเจน

ทั้งนี้ มีความเห็นว่าคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิร์ตซ์ เหมาะสมในการรองรับ 5 G มากกว่า แต่ก็ยังไม่สามารถนำมาประมูลได้ ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์ ปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนกับสัญญาณไมโครโฟน

ขณะที่คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ราคาเริ่มต้นการประมูลสูงไป และเหมาะสำหรับการเสริมโครงข่าย 4 G มากกว่า ส่วนความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิร์ตซ์ ยิ่งไม่น่าสนใจเพราะเป็นคลื่นความถี่ที่ยังไม่มีการลงทุนใดๆ ในตลาด

 

ด้านจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ ทรู เผยว่า ต้องการทราบความชัดเจนเรื่องคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ว่าในพื้นที่ใดสามารถใช้งานได้ พื้นที่ใดใช้งานไม่ได้ รวมถึงจะพร้อมใช้งานได้เมื่อใด ดังนั้น เห็นว่า กสทช.ควรนำคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ออกประมูลเพียงคลื่นเดียว เพื่อให้โอเปอเรเตอร์ภาคเอกชนมีงบประมาณในการลงทุนในคลื่นความถี่ย่านอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วให้เกิดการให้บริการ 5 G ได้ในปี 2563

ส่วนประเด็นที่บังคับให้ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ต้องรีบลงทุนขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรในเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ตซิตี้) ภายใน 4 ปี นำไปปฏิบัติได้ยาก

เพราะบางครั้งความต้องการอาจอยู่นอกพื้นที่ จึงต้องการให้ตัดเงื่อนไขนี้ออกไป

 

ฝั่งบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท ที่เข้าประมูลในคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ แต่ต้องพ่ายแพ้เก็บกระเป๋ากลับบ้าน โดยณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย แคท ระบุว่า ควรปรับลดเพดานการถือครองคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ ที่กำหนดให้ถือครองได้ไม่เกินรายละ 100 เมกะเฮิร์ตซ์ เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้เข้าร่วมประมูล และไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องลงทุนขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่อีอีซีภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรในสมาร์ตซิตี้ภายใน 4 ปี เพราะอาจจะไม่ตรงตามความต้องการใช้งาน

ขณะที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ช่วงแรกดูจะสนอกสนใจคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ เช่นกัน แต่ก็ต้องสะดุด เพราะทั้ง ‘แคท-ทีโอที’ มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียวกัน จึงต้องเข้าร่วมการประมูลคนละย่านความถี่

โดยรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย ทีโอที ได้แสดงความคิดเห็นต่อประกาศ กสทช. ลักษณะเดียวกันกับที่แคทเสนอไปก่อนหน้า

 

หันมาดูฟากบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ดีทีเอ็น) ในเครือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค มีข้อเสนอ 3 เรื่อง ประกอบด้วย เรื่องแรก ขอให้ กสทช.เลื่อนเวลาการประมูลออกไปอีกสักระยะ เพื่อให้สามารถนำคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิร์ตซ์ออกมาประมูลพร้อมกัน เรื่องต่อมา คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิร์ตซ์ มีราคาเริ่มต้นที่ 1,862 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิร์ตซ์ เป็นราคาสูงกว่าค่ากลางของสากล ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายโครงข่าย และเรื่องสุดท้าย ควรพิจารณาวิธีการประมูลใหม่ เพื่อให้สอดรับกับคุณสมบัติทางเทคนิคของแต่ละคลื่นความถี่

เพิ่มเติมจากมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการดีแทค ระบุว่า ยิ่งโอเปอเรเตอร์นำเงินมาลงทุนในการประมูลคลื่นความถี่ที่แพงเท่าไร ยิ่งจะกระทบต่อการลงทุนด้านโครงข่ายที่จะไม่สามารถลงทุนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ดังนั้น หากจะลงทุนในการประมูลคลื่นความถี่ที่แพง นั่นหมายความว่า โอเปอเรเตอร์จะต้องได้รับรายได้จากการให้บริการที่สูงขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยไม่ว่าจะในระบบ 2 G, 3 G หรือ 4 G ไม่สามารถที่จะคิดอัตราค่าบริการที่สูงขึ้นได้ มีแต่จะเท่าเดิมหรือถูกลง

ซึ่งนี่อาจเป็นที่มาที่ดีแทคเข้าประมูลคลื่นความถี่อย่างเสียไม่ได้ โดยชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 26 กิกะเฮิร์ตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาต รวม 200 เมกะเฮิร์ตซ์ มูลค่า 974 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และได้เข้าชำระค่าใบอนุญาตเต็มจำนวนแล้ว

   จากนี้จะกลายเป็นหนังคนละม้วนอีกหรือไม่ ต้องติดตาม