กู | คุณนิสิตนักศึกษา

กูเป็นนิสิตนักศึกษา

วาสนาสูงส่งสโมสร

ย่ำค่ำนี่จะย่ำไปงานบอลล์

เสพเสน่ห์เกสรสุมาลี

การที่สุจิตต์ วงษ์เทศ ใช้สรรพนาม “กู” กับนิสิตนักศึกษาในยุคสายลมแสงแดด ย่อมเหมาะสมกับกาลสมัย

แต่เมื่อเวลาผันแปรมาถึงปี 2563

การใช้กู กับนิสิตนักศึกษา อาจจะไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่

โดยเฉพาะบทบาทของนิสิตนักศึกษาบางส่วน

ที่มีปฏิกิริยาต่อต้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่ไปกู้เงินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค 191 ล้านบาท

ถือเป็นปฏิกิริยาที่ก้าวหน้า และแพร่ขยายไปเป็นไฟลามทุ่ง

คุณ (ซึ่งกลายเป็นคำไม่สุภาพเสียแล้วเมื่อนำไปเรียกขานใครบางคนในสภา) นิสิตนักศึกษากำลังพิสูจน์ว่า จะลุกลามไปไกลขนาดไหน

จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่นอกเหนือจากการแสดงความไม่พอใจการยุบพรรคอนาคตใหม่หรือไม่

นี่คือสิ่งที่เราควรติดตาม ของเหล่า “คุณนิสิตนักศึกษา” ทั้งหลาย!!

ด้วยเพราะธงแรก-แรกที่ชูขึ้นมาเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ มิใช่เฉพาะการต่อต้านการยุบพรรคอนาคตใหม่

หากแต่สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) นำโดย น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธาน ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรม ภายใต้บริบทที่แผ่กว้างออกไป ในนาม ‘ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม’ บริเวณลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการทวงคืนความยุติธรรม

แน่นอน ด้านหนึ่งเป็นการวิพากษ์คำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่กรณีเงินกู้ 191 ล้านบาทและตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 10 ปี

แต่ก็ได้ขยายไปสู่ความไม่ยุติธรรมอื่นๆ รวมทั้งการถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพจากผู้ปกครองด้วย

ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ลานข้างหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝั่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ กลุ่มนิสิตจุฬาฯ ในนาม “จุฬาฯ รวมพล CU Assemble” นำโดย น.ส.อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และ น.ส.สิรินทร์ มุ่งเจริญ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จัดการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ ในหัวข้อ “จุฬาฯ รวมพล CUassemble …เพราะเกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน…” ขึ้น

เพื่อแสดงพลังของนิสิตทวงคืนเสียงที่หายไป ความอยุติธรรมจากศาล/ผู้มีอำนาจ กรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่ โดยมีนิสิตจุฬาฯ จากคณะต่างๆ ที่เป็นนักเคลื่อนไหวคนสำคัญๆ อาทิ นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และนายธนวัฒน์ วงค์ไชย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้จัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุง พร้อมด้วยคณาจารย์และเจ้าหน้าที่จุฬาฯ จำนวนกว่า 500 คนเข้าร่วม

มีการขึ้นป้ายข้อความบนอาคารคณะนิเทศศาสตร์ แม้ถูกสั่งปลดลงในเวลาสั้นๆ

แต่ข้อความว่า “no privacy no security no democracy จบสวัสดี” ก็แพร่สะพัดเข้าสู่โลกโซเชียลเรียบร้อยแล้ว

จากนั้นมีการจัดไฮด์ปาร์กโจมตีรัฐบาล และร่วมเขียนข้อความแสดงความในใจกับมติศาลรัฐธรรมนูญที่ให้มีการยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมร่วมกันชูป้ายข้อความโจมตีรัฐบาล ปิดท้ายด้วยการจุดเทียน แล้วร้องเพลง Do you hear the people sing? ร่วมกัน

และยังประกาศเชิญชวนให้แชร์ภาพของกิจกรรมนี้ผ่านโซเชียลมีเดีย พร้อมติดแฮชแท็กว่า #เสาหลักจะไม่หักอีกต่อไป ที่สื่อถึงจุฬาฯ ที่จะอยู่เคียงข้างประชาชน

 

จากนั้นประกายไฟก็ลามไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ

เช่น บริเวณหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ประตูพหลโยธิน) กลุ่มนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดกิจกรรม “มอกะเสดไม่ใช่ขนมหวานราดกะทิ” เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย สนับสนุนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกทางการเมือง และสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพให้กับสังคม โดยมีนิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ทยอยเข้าร่วมจำนวนมาก

พร้อมกล่าวม็อตโต้ประจำสถาบัน “ประชาชนคือเจ้าของประเทศ เกษตรศาสตร์คือภาษีของประชาชน”

ส่วนต่างจังหวัด ที่ จ.อุบลราชธานี มีแถลงการณ์จากสภานักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เรื่องแสดงข้อกังวลการยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่าหกล้านคนที่ลงคะแนนเสียงเลือกพรรคอนาคตใหม่

และยังจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของศาล ที่ยึดถือและรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม และความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย

ที่ จ.นครศรีธรรมราช นักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) นครศรีธรรมราช ตลอดจนประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมในกิจกรรมร่วมแสดงพลังนักศึกษา ณ ลานไทร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในวันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ภายใต้คำขวัญ WU# ขอกู้คืนเกียรติ “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” ขอธำรงไว้ซึ่งประชาธิปไตย เพื่อพิทักษ์ศักดิ์ พิทักษ์สิทธิ์ของตน”

ขณะที่ทางเพจสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ศูนย์ประจำมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้โพสต์ข้อความเชิญชวน ระบุ “WU #ขอกู้คืนเกียรติ ขอเชิญพี่น้องนักศึกษาผู้มีหัวใจรัก ฝักใฝ่ประชาธิปไตย ออกมาร่วมแสดงพลังกันอย่างพร้อมเพรียง มาร่วมกันแสดงออกในสิ่งที่คุณอยากบอก เพื่อให้เขารู้ว่า เราไม่ได้อยู่กันแค่ในโซเชียลอย่างที่เขาหลอกลวง”

ส่วนในกลุ่มเพจ มวล.เสรี ได้มีการโพสต์ภาพและข้อความเชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วยเช่นกัน “ตื่นเถิดสหายข้า… อย่าหลับหูหลับตาทำเป็นไม่รู้สึกอะไรกับความอยุติธรรมที่ฝ่ายอำนาจนิยมกำลังกดหัวพวกเราอยู่เลย…หากครั้งนี้พวกเรานิ่งเฉยต่อความอยุติธรรม พวกเราเองนี้เหละ ที่ต้องอยู่กับอนาคตอันมืดมัวที่ไม่ได้ลิขิตเอง #มาเถิดสหายข้า มาต่อสู้เพื่ออนาคตของพวกเรา เราจะกำหนดอนาคตด้วยมือของพวกเราเอง#”

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ นักศึกษาสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ จัดกิจกรรม “ราชภัฏฯ อยากงัดกับสลิ่ม” ที่บริเวณหน้าสาขารัฐประศาสนศาสตร์ โดยมีการรวมตัวเพื่อชูป้ายข้อความต่างๆ อาทิ “ราชภัฏฯ อยากงัดกับสลิ่ม” “เราจะไม่ทนต่อความอยุติธรรม” “ตื่นเถิดประชาชนทั้งหลาย”

 

ย้อนกลับมาสู่ส่วนกลาง นายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง ผู้ประสานงานภาคีนักศึกษาศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) กล่าวว่า ภาคีนักศึกษาศาลายาเกิดจากการรวมตัวของนักศึกษามากกว่า 2 คณะ ที่ต้องการแสดงออกทางสัญลักษณ์ให้รัฐบาลลาออก เพราะมองว่าไม่มีสิทธิในการปกครองต่อไปแล้ว และมองว่าขณะนี้รัฐบาลไม่มีเสียงของประชาชนมาสนับสนุน และได้ย่ำยีศักดิ์ศรีของประชาชน ทั้งนี้ อยากเรียกร้องให้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา โดยจะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่มีประชาธิปไตย และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนด้วย

ทางด้านตัวแทนนิสิต กลุ่ม NU-Movement – นู๋เคลื่อนไหว มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) กล่าวว่า ทางกลุ่มนิสิตเห็นว่า การยุบพรรค อนค. ไม่ใช่เรื่องความไม่เป็นธรรมต่อพรรคการเมือง แต่เหมือนไม่เห็นหัวประชาชนกว่า 6 ล้านเสียงที่เลือกผู้แทนราษฎรเข้ามา ทำให้นานาชาติเห็นถึงความไม่มีประชาธิปไตยของประเทศ อยากให้ทางรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นถึงพลังของนิสิตนักศึกษา ซึ่งมีความคิด ไม่ได้อยู่ในกะลา

ขณะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็ได้นัดหมายที่จะเคลื่อนไหว

แม้ว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ออกประกาศเรื่อง มาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) (ฉบับที่ 2) ความว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) กำลังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยพบการติดเชื้อในหลายประเทศทั่วโลกกว่า 34 ประเทศ และมีการแพร่กระจายจากคนสู่คนภายในหลายประเทศแล้ว

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการเฝ้าระวังการระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) เพื่อควบคุมสถานการณ์และป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออย่างรวดเร็ว กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งได้ออกประกาศมาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2563 จึงขอยกระดับมาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรค COVID-19 ของกระทรวง ให้สอดรับกับมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข 8 ข้อ

ปรากฏว่าในข้อ 7 ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการชุมนุมของนักศึกษา หรือบุคลากรในสังกัดกระทรวงเป็นจำนวนมาก

ท่ามกลางการจับตาว่า นี้เป็นการหาข้ออ้างไม่ให้มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่

แต่ก็ดูเหมือนคงจะหยุดยั้งลำบาก

ด้วยทั้งธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีบางมด มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี 3 พระจอมเกล้าฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และสวนสุนันทา

ได้ประกาศรวมตัวกันของผู้คนในแวดวงการศึกษา ทั้งจากนิสิต-นักศึกษา ตลอดจนบุคลากรและคณาจารย์ เพื่อที่จะคัดค้านการยุบพรรคอนาคตใหม่ การเรียกร้องความเป็นธรรม ความเท่าเทียม และขยายประเด็นไปสู่การเมืองในระบอบเก่า

จึงเป็นสิ่งที่เราต้องจับตาดูกันต่อไปกับแนวทางการเคลื่อนไหวหลังจากนี้ ว่าจะเป็นไฟลามทุ่งขนาดไหน

และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเหนือความคาดหมายหรือไม่

            ซึ่งต้องไม่ประมาท นี่ถือเป็นปรากฏการณ์ในหมู่คนรุ่นใหม่ ที่มิได้ผ่านการจัดตั้ง หากแต่เป็นการตื่นตัวขึ้นมาด้วยตัวของพวกเขาเองทั้งสิ้น!