กรองกระแส / การเคลื่อนไหว จุดเทียน หน่ออ่อน ปรากฏการณ์ พลังนักศึกษา การเมือง ของ คนรุ่นใหม่

กรองกระแส

 

การเคลื่อนไหว จุดเทียน

หน่ออ่อน ปรากฏการณ์ พลังนักศึกษา

การเมือง ของ คนรุ่นใหม่

 

การปรากฏขึ้นของปรากฏการณ์ “จุดเทียน” ของนิสิต นักศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ สร้างความรู้สึกทั้งตื่นเต้นดีใจและตระหนก ตกประหม่า

ตระหนก ตกประหม่า เพราะว่าน้ำเสียงที่เกิดขึ้นพุ่งเป้าไปยังประชาธิปไตย ความเป็นธรรม

ตระหนก ตกประหม่า เพราะว่าการแพร่กระจายของการเคลื่อนไหวดำเนินไปในลักษณะอันเป็น “ไวรัล” ในทางการเมือง

จากมหาวิทยาลัยหนึ่ง ไปยังอีกมหาวิทยาลัยหนึ่ง

ตื่นเต้น ดีใจ เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่า “พลังนักศึกษา” ได้ขาดหายไปนับแต่หลังสถานการณ์สังหารโหดกลางเมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2519 เป็นต้นมา

นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ “ดอกไม้เริ่มบาน บริสุทธิ์และกล้าหาญ” อย่างยิ่ง

เมื่อนำเอาความรู้สึกตื่นเต้น ดีใจ ประสานเข้ากับความรู้สึกตระหนก ตกประหม่า ก็นำไปสู่ความกังวลว่าอาจเกิดสถานการณ์บดขยี้และทำลาย

เหมือนที่เกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่

 

ปรากฏการณ์ จุดเทียน

ปรากฏการณ์ ออนไลน์

 

ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าปรากฏการณ์ ณ ลานปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ว่าปรากฏการณ์ข้างหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดคณะอักษรศาสตร์ กับคณะวิศวกรรมศาสตร์

เป็นปรากฏการณ์อันมีจุดเริ่มและรับรู้กันในสังคมออนไลน์

หากปรากฏในสื่อกระแสหลักอย่างเช่น สื่อโทรทัศน์ สื่อหนังสือพิมพ์ ก็มิได้เป็นข่าวใหญ่ หากแต่เป็นข่าวเล็กๆ แทรกแซมอยู่กับข่าวการเมืองอื่นๆ

ยิ่งกว่านั้น บรรดา “สื่อพลังประชารัฐ” ยังไม่ยอมรายงานให้เป็นที่ปรากฏ

การสื่อสารและกระจายรายละเอียดของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องของปัจเจก เป็นเรื่องที่สื่อในกลุ่มเดียวกัน

ไม่ว่าในทางคนต่อคน ไม่ว่าในทางมหาวิทยาลัยต่อมหาวิทยาลัย

เพียงแต่เมื่อแพร่กระจายไม่ว่าที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ว่าที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไม่ว่าที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ไม่ว่าที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ในที่สุดสื่อโทรทัศน์ สื่อหนังสือพิมพ์ ก็เริ่มให้ความสนใจ

 

ชะตากรรม อนาคตใหม่

ชะตากรรม คนรุ่นใหม่

 

ที่มิอาจปฏิเสธได้เลยก็คือ ปฏิกิริยาอันแสดงความไม่พอใจของนิสิต-นักศึกษาครั้งนี้มีจุดเริ่มจากรู้สึกว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่ดำเนินไปอย่างเป็นการกลั่นแกล้ง ไม่เป็นธรรม

โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคการเมืองอย่างพรรคพลังประชารัฐ

ขณะเดียวกัน ในหมู่ของนิสิต-นักศึกษาก็มีจำนวนไม่น้อยเป็น “นิวโหวตเตอร์” และด้านหลักเลือกพรรคอนาคตใหม่ด้วยความหวังว่าจะไปสร้างภูมิทัศน์ใหม่ในทางการเมืองให้เกิดขึ้น

เมื่อประสบกับการถูกบดขยี้และทำลายจึงเกิดความเจ็บปวด

ความรู้สึกร่วมของพวกเขาประการหนึ่งก็คือ มีความเห็นว่าสภาพการณ์ทางการเมืองเช่นนี้กระทบต่ออนาคตในทางการเมือง กระทบต่ออนาคตของพวกเขาโดยตรง

อนาคตของพรรคอนาคตใหม่จึงกลายเป็นเรื่องเดียวกับอนาคตของคนรุ่นใหม่

ตรงนี้เองที่ทำให้พวกเขาไม่อาจทนเห็นสภาพการณ์เช่นนี้และต้องพากันออกมาแสดงความคิดเห็นโดยผ่านกระบวนการแฟลชม็อบ แห่งแล้วแห่งเล่า

ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าอนาคตอันใกล้ แฟลชม็อบจะมีพัฒนาการอย่างไร

 

เสียงคำราม เสียงเตือน

ก่อน พลังนักศึกษา ปรากฏ

 

เริ่มมีความไม่พอใจปรากฏขึ้นและเห็นว่าการชุมนุมและเคลื่อนไหวของนิสิต-นักศึกษาจะกลายเป็นโรคระบาดอย่างใหม่ในทางการเมือง

เป็นความคิดอย่างเดียวกับก่อนเดือนตุลาคม 2519

เพียงแต่ในตอนนั้นต้องการกำจัดบทบาทและความหมายของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ ศนท.

เพียงแต่ในตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าการเคลื่อนไหวจะก่อรูปเป็น “พลังนักศึกษา” ได้หรือไม่

กระนั้น ความหงุดหงิด ความไม่พอใจอันก่อรูปขึ้นภายในกลุ่มผู้กุมอำนาจมีแนวโน้มที่จะนำบทเรียนจากอดีตมากำราบและจัดการกับการเคลื่อนไหวครั้งนี้อย่างแน่นอน

เพียงแต่จะใช้รูปแบบอย่างไรเท่านั้น