Hito Steyerl ศิลปินแห่งยุคสมัยของเรา

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในยุคปัจจุบันที่การสื่อสารทั้งโลกไร้ขอบเขตพรมแดน ในยุคดิจิตอลที่โลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย แม้โลกศิลปะเองก็เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

มีศิลปินผู้หนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้และใช้มันสำรวจความเป็นไปของโลกยุคดิจิตอลในปัจจุบันอย่างเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างยากจะหาใครเสมอเหมือน

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

ฮิโต สเตเยิร์ล (Hito Steyerl)

ศิลปินภาพเคลื่อนไหว, ศิลปะจัดวาง และศิลปะแสดงสด, นักทำภาพยนตร์, นักเขียน, นักวิชาการ

เกิดในเยอรมนีในปี 1967 แรกเริ่มเธอศึกษาด้านภาพยนตร์ที่ญี่ปุ่น ก่อนที่จะจบปริญญาเอกสาขาปรัชญาที่เวียนนา

สเตเยิร์ลเป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะในรูปของภาพยนตร์และวิดีโออันน่าตื่นตา ที่ผสมผสานเนื้อหาและภาพจากหลายแหล่งที่มา ที่นอกจากจะสนุกสนานแล้วยังเปี่ยมความหมายลุ่มลึกคมคายอีกด้วย

บางครั้งดูๆ ไปผลงานของเธอก็คล้ายวิดีโอเกมอยู่ไม่หยอก เพราะเธอมักจะใช้ฉากที่สร้างขึ้นในหนังและวิดีโอของเธอในระบบดิจิตอล หรือเวอร์ช่วล เรียลลิตี้ (ระบบความเป็นจริงเสมือน) หลอมรวมเข้ากับฉากในโลกแห่งความเป็นจริงจนเป็นเนื้อเดียวกัน

และมักจะสร้างสถานการณ์สมมุติเพื่อสร้างความสับสนจนทำให้ผู้ชมแยกไม่ออกว่าสิ่งไหนคือโลกจริงหรือมายา

เพื่อตั้งคำถามว่า เราจะแยกแยะระหว่างข้อมูลข่าวสาร เฟกนิวส์ หรือไวรัลที่ถล่มหน้าจอท่วมท้นชีวิตเราทุกวันได้อย่างไร

เปรียบเทียบว่า ถ้าศิลปินในยุค 1970 อย่าง Arte Povera หยิบเอาวัสดุข้าวของเก่า เหลือใช้ ชำรุดทรุดโทรม ไร้ค่า ไร้ราคาที่มีอยู่เกลื่อนกลาดดาษดื่นทุกหนทุกแห่งมาทำงานศิลปะ เพื่อแสดงการต่อต้านคุณค่าความงามตามขนบ และคุณค่าทางวัฒนธรรมที่สถาปนาโดยสถาบันของรัฐ และวิพากษ์วิจารณ์การเติบโตอย่างฉุดไม่อยู่ของระบบอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของอิตาลีในยุคสมัยนั้น (https://bit.ly/39kRaF9)

สเตเยิร์ลเองก็มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน ด้วยการหยิบเอาข้อมูลภาพดิจิตอลคุณภาพต่ำที่มีอยู่มากมายมหาศาลเกลื่อนกลาดดาษดื่นในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต, ภาพที่ผ่านการแต่งในแอพพ์ หรือโฟโต้ช็อป, สกรีนช็อตเห่ยๆ ในคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน และไวรัลในโลกออนไลน์ ที่ถูกมองว่าไร้คุณค่า มาสร้างเป็นผลงานศิลปะที่ใช้สุนทรียะแบบป๊อปๆ ผสมกับวัฒนธรรมเซลฟี่และโซเชียลมีเดีย

เธอหลงใหลในภาพและข้อมูลเหล่านี้ที่ไหลบ่าท่วมท้นสายตาพวกเราอยู่ทุกวี่วัน รวมถึงเทคโนโลยีดิจิตอลที่ผลิตภาพและข้อมูลเหล่านี้ส่งออกไปทั่วโลก

เธอกล่าวว่า

“ภาพแตกๆ คุณภาพต่ำ (ที่เราเห็นกันจนเกร่อในโลกอินเตอร์เน็ต) แสดงให้เห็นถึงคุณค่าที่เข้าใจง่ายและน่าเหลือเชื่อ มันแสดงให้เห็นถึงความลับบางอย่าง ถ้าเพียงแต่เราตั้งใจสังเกตมัน”

ผลงานของเธอสำรวจว่าภาพและข้อมูลคุณภาพต่ำอันเกร่อเกลื่อนกลาดเหล่านี้ถูกทำขึ้นมาเพื่ออะไร พวกมันแสดงให้เห็นอะไร และส่งผลอย่างไรต่อความคิดและการมองโลกของพวกเราเหล่ามนุษย์ที่อาศัยอยู่ในโลกแห่งมหาสมุทรข้อมูลข่าวสารในยุคปัจจุบัน เธอยังตั้งคำถามว่า เราจะชื่นชมกับศิลปะหรือแม้แต่สร้างสรรค์ศิลปะขึ้นมาอย่างไร ในยุคสมัยปัจจุบันที่ทุกอย่างถูกเปลี่ยนเป็นข้อมูลดิจิตอลแทบจะทั้งหมดแล้ว

สเตเยิร์ลได้แรงบันดาลใจจากสิ่งละอันพันละน้อยในโลกแห่งการสื่อสาร ทั้งภาพยนตร์นิวเวฟของฌอง-ลุค โกดาร์ด ผลงานของกลุ่มนักแสดงตลกเสียดสีอย่างมอนตี้ ไพธอน, นักแสดงผู้เชี่ยวชาญศิลปะป้องกันตัวระดับตำนานผู้ล่วงลับอย่างบรูซ ลี ไปจนถึงท่าเต้นในมิวสิกวิดีโอ โทรทัศน์, อินเตอร์เน็ต, สถาปัตยกรรมสมัยใหม่

ไปจนถึงปรัชญา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์

ในการสร้างสรรค์ผลงานออกมาแต่ละชิ้น เธอต้องทำการค้นคว้าอย่างมากมาย ตระเวนสัมภาษณ์ผู้คน และสำรวจตรวจสอบเรื่องราวและหัวข้อที่เธอสนใจ

ตามเก็บสะสมภาพจากโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต ภาพงานศิลปะสมัยใหม่หรือแม้แต่ภาพงานศิลปะในประวัติศาสตร์จากแหล่งที่มาต่างๆ นำมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกันโดยใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่าง (sampling)

เติมแต่งด้วยภาพดิจิตอลที่เธอทำขึ้น สร้างเป็นผลงานภาพยนตร์และวิดีโออันน่าตื่นตะลึงที่บางครั้งก็ดูเหมือนสารคดีวิทยาศาสตร์อันเคร่งเครียดจริงจัง และบางครั้งก็ดูเหมือนภาพฝันอันเหลวไหลไร้ตรรกะ

เช่น ผลงาน How Not to Be Seen : A Fucking Didactic Educational. MOV File (2013) เธอใช้แนวคิดแบบวิดีโอ “ฮาวทู” ที่สอนหรืออธิบายวิธีการทำอะไรสักอย่างให้ผู้ชม ด้วยการผสมผสานระหว่างภาพและวิดีโอคลิปจากเหตุการณ์จริงที่หยิบฉวยมาจากอินเตอร์เน็ตและภาพดิจิตอลที่สร้างขึ้น

How Not to Be Seen: A Fucking Didactic Educational .MOV File (2013)
How Not to Be Seen: A Fucking Didactic Educational .MOV File (2013)
How Not to Be Seen: A Fucking Didactic Educational .MOV File (2013)

การถ่ายทำตัวละครที่เลือนหายไปกับฉากหลัง และเสียงบรรยายที่ฟังคล้ายเสียงประกาศในโฆษณาโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ ที่สอน “วิธีการในการล่องหนหายตัว” รูปแบบต่างๆ ทั้งแนวทางแบบเสียดสีแดกดันอย่างการเป็นคนชายขอบ คนยากจน หรือถูกจับติดคุก

How Not to Be Seen: A Fucking Didactic Educational .MOV File (2013)

ไปจนถึงแนวทางแบบเป็นการเป็นงานอย่างการใช้ลายพราง หรือซ่อนตัวในชุมชนที่มีรั้วรอบขอบชิด

หรือถ้าวิธีการเหล่านี้ไม่ได้ผล ก็ยังมีตัวเลือกอย่างการเป็นซูเปอร์ฮีโร่หรือการใช้ผ้าคลุมล่องหนไปเลยก็มี!

หรือผลงาน Liquidity, Inc. (2014) ที่มาร่วมแสดงในซีรี่ส์การแสดงศิลปะวิดีโอและศิลปะแสดงสด Ghost : 2561 ในบ้านเราด้วย วิดีโอจัดวางที่ใช้สถานะอันเลื่อนไหลของน้ำเป็นธีมหลักในการนำเสนอเรื่องราวของเจค็อบ วู้ด อดีตผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามที่ได้รับการอุปการะจากครอบครัวอเมริกัน และเติบโตมาเป็นนักวิเคราะห์ทางการเงิน ก่อนที่จะตกงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008

Liquidity, Inc. (2014

เขาจึงตัดสินใจผันงานอดิเรกเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบผสมผสาน (MMA) ให้กลายเป็นอาชีพ

วิดีโอสารคดีนี้แทรกด้วยข้อมูลของ “น้ำ” อันท่วมท้นล้นหลากในโลกออนไลน์ ทั้งในแบบตรงตัว หรือในเชิงภาพแทนในรูปแบบของศิลปะอย่างภาพคลื่นยักษ์ของโฮะคุไซ

และในเชิงอุปมาถึงการไหลเวียนของข้อมูลและสินทรัพย์ในโลกทุนนิยม ไปจนถึงในเชิงปรัชญาการต่อสู้ดังคำกล่าวของบรูซ ลี ฮีโร่ของเจค็อบ ที่ว่า “จงไร้รูปทรง ไร้รูปร่าง จงเป็นดั่งน้ำ”

Liquidity, Inc. (2014

สเตเยิร์ลนำเสนอเรื่องราวอันหลากหลายด้วยจังหวะอันหวือหวาฉับไว สนุกสนาน เร้าใจ เสียดเย้ยและยั่วล้ออย่างแหลมคม โดยฉายลงบนจอที่จัดวางตรงกันข้ามโครงสร้างที่นั่งที่ดูคล้ายกับกระดานลาดเล่นสเก๊ตบอร์ดปูโฟมยางสีฟ้า

จนคล้ายกับว่าผู้ชมกำลังโล้คลื่นยักษ์ที่กำลังซัดสาดใส่จอยังไงยังงั้น

Factory of the Sun (2015)

ผลงานของเธอยังสำรวจประเด็นทางสังคมและการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสิทธิสตรี, เสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลความรู้, วิกฤตผู้ลี้ภัยทั่วโลก, การคอร์รัปชั่นทางการเมือง, ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ไปจนถึงสงคราม

หรือแม้แต่ตั้งคำถามถึงความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันศิลปะและอุตสาหกรรมค้าความตาย เมื่อบริษัทผลิตอาวุธเป็นแหล่งเงินทุนใหญ่ที่สนับสนุนพิพิธภัณฑ์ระดับโลก

เธอยังตั้งคำถามถึงสถานภาพของงานศิลปะ เมื่องานศิลปะชิ้นเอกของโลกถูกปั่นราคาจนแพงมหาศาลในตลาดเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจจนสูญเสียคุณค่าในตัวมันเอง และกลายเป็นสินทรัพย์สูงค่า ที่ถูกเก็บเอาไว้ในพื้นที่จัดเก็บศิลปะปลอดภาษีและล่องหน

HellYeahWeFuckDie (2017)

เพราะสาธารณชนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะในขณะที่งานศิลปะเหล่านั้นถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี ในสภาวะอุณหภูมิที่ถูกควบคุมอย่างเหมาะสม ปลอดความชื้น ปลอดภัยจากการวินาศกรรม และสงครามกลางเมือง

แต่ในขณะเดียวกัน จะมีความหมายอะไรถ้างานศิลปะเหล่านั้นถูกเก็บเอาไว้ให้อภิสิทธิ์ชนเพียงไม่กี่คนได้เห็นมัน

ฮิโตกล่าวว่า สำหรับเธอ ศิลปะจะไม่เป็นศิลปะ ถ้ามันไม่สามารถถูกคนส่วนใหญ่มองเห็น เธอตั้งคำถามว่า การที่ศิลปะถูกสถาบันเก็บรักษาเอาไว้อย่างแน่นหนา จนคนทั่วไปเข้าถึงไม่ได้ จะทำให้ศิลปะหมดคุณค่าและความหมายที่มันเป็นตั้งแต่แรกลงไปหรือไม่?

เธอยังเป็นผู้บุกเบิกการเล็กเชอร์กึ่งแสดงสด (Performance-lectures) ที่เป็นการผสมผสานระหว่างการบรรยายและศิลปะแสดงสด ด้วยการใช้น้ำเสียงแปลกหู ท่าทางอันแปลกตา และการแต่งกายและบุคลิกอันแปลกประหลาด ไม่ว่าจะเป็นในรูปของครูสอนโยคะ หรือแม้แต่ปรมาจารย์เจไดก็ยังมี!

ผลงานของเธอถูกแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยระดับโลกมากมาย ทั้งมหกรรมศิลปะ Manifesta ในปี 2004, มหกรรมศิลปะเซี่ยงไฮ้, กวางจู และไทเปเบียนนาเล่ ในปี 2007, มหกรรมศิลปะ documenta ครั้งที่ 12, มหกรรมศิลปะร่วมสมัยเวนิสเบียนนาเล่ ในปี 2013, 2015 และปี 2019 เธอยังเป็นศิลปินหญิงคนแรกที่ถูดจัดอยู่ในอันดับหนึ่งของบุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกศิลปะร่วมสมัยในปี 2017 โดยนิตยสาร ArtReview

ด้วยองค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้ ทำให้ฮิโต สเตเยิร์ล ถูกยกให้เป็นตัวแทนของ “ศิลปินแห่งยุคสมัยของเรา” อย่างไม่อาจปฏิเสธได้

ภาพและข้อมูลจาก https://nyti.ms/3bsGar2, https://bit.ly/37dfzLl, https://bit.ly/2vpkwTZ