สุรชาติ บำรุงสุข | โลก 2020 : ความต่อเนื่อง และความเปลี่ยนแปลง!

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“เมื่อมองปัญหาขนาดใหญ่ที่เราต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นประชากรล้นโลก การขาดแคลนน้ำ โลกร้อน และโรคเอดส์ ปัญหาเหล่านี้ล้วนแต่ต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไข”

Molly Ivins, นักสื่อสารมวลชนชาวอเมริกัน

หากพิจารณาการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของบรรดารัฐมหาอำนาจใหญ่ของโลก

เราอาจเห็นความต่อเนื่องและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในปี 2020 จากปัจจัยต่างๆ

ดังต่อไปนี้

1)การขับเคลื่อนทางการเมืองของกลุ่มปีกขวาในโลกตะวันตก

การเมืองของโลกตะวันตกในหลายปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดถึงบทบาทของกลุ่มการเมืองปีกขวา หรือที่เรียกในปัจจุบันว่ากลุ่ม “ประชานิยมปีกขวา” (The Rightwing Populism) หรือนักวิชาการบางส่วนอาจจะเรียกว่ากลุ่ม “ชาตินิยมใหม่” (The New Nationalism) ซึ่งมีทิศทางที่ชัดเจนในการให้ความสําคัญกับความเป็นรัฐของตน (หรือให้ความสําคัญกับรัฐประชาชาติ-The Nation States) มากกว่าจะสนใจในเรื่องของความเป็น “สากลนิยม” (Internationalism) และเรื่อง “ภูมิภาคนิยม” (Regionalism)

การให้น้ำหนักเช่นนี้ทำให้พวกเขามีความคิดที่ชัดเจนที่ไม่ต้องการให้ประเทศอยู่ภายใต้องค์กรในภูมิภาค เพราะเป็นดังการนำเอาประเทศไปอยู่ภายใต้การควบคุมขององค์กรดังกล่าว

และในอีกด้านพวกเขาปฏิเสธที่จะยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่มีนัยหมายถึงการเปิดประเทศให้บุคคลภายนอกเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศ

สภาวะเช่นนี้นำไปสู่ความกลัว และปัญหาเช่นนี้ยังถูกผนวกเข้ากับการก่อการร้าย และการทะลักของผู้อพยพชาวมุสลิมเข้าสู่ยุโรป

เงื่อนไขดังกล่าวนำไปสู่การ “ต่อต้านอิสลาม” หรือมองว่าคนมุสลิมเป็นภัยคุกคามที่ยุโรปไม่ควรเปิดรับเข้ามา

ดังนั้น ข้อเรียกร้องที่ให้ประเทศออกจากสหภาพยุโรป หรือการต่อต้านมุสลิมกลายเป็นทิศทางที่ทำให้พวกเขาได้คะแนนเสียงจากประชาชน

ดังเช่นรัฐบาลฝ่ายขวาในอิตาลี ฮังการี และน่าสนใจว่ากลุ่มการเมืองปีกขวาเหล่านี้จะมีอิทธิพลมากขึ้นอย่างไรในปี 2020

2)ชัยชนะของกลุ่มประชานิยมปีกขวาและการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ

หลังจากชัยชนะของกลุ่มขวาที่ต้องการออกจากสหภาพ (หรือ BREXIT) ในตอนกลางปี 2016 แล้ว อังกฤษต้องเผชิญกับวิกฤต

เพราะด้านหนึ่งกลายเป็นความแตกแยกขนาดใหญ่ในสังคม ระหว่างความเห็นต่างสองฝ่าย

และในอีกด้านกลายเป็นปัญหาอย่างมาก เมื่อร่างกฎหมายในการออกครั้งนี้กลับไม่ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา

แต่สุดท้ายผลการเลือกตั้งในปี 2019 กลับพลิกความคาดหมายที่พรรคอนุรักษนิยมชนะเสียงข้างมาก

ซึ่งชัดเจนว่า ปี 2020 จะเป็นการ “หย่า” ที่สมบูรณ์ของอังกฤษ

3)การเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา

ปลายปี 2020 จะเป็นช่วงเวลาสำคัญของโลกที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ

การแข่งขันครั้งนี้จะเป็นการพิสูจน์ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นผู้ชนะในการชิงชัยสู่ทำเนียบขาวเช่นในปี 2016 อีกหรือไม่

แน่นอนว่าชัยชนะในปีนั้นเป็นอีกหนึ่งในความพลิกผันทางการเมือง

ดังนั้น ปีนี้จะเป็นอีกครั้งที่ต้องสนใจว่า การเลือกตั้งในปลายปี 2020 จะได้ใครเป็นผู้นำ

และที่สำคัญผลครั้งนี้จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐเพียงใด

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในฐานะที่สหรัฐเป็นผู้นำโลก นโยบายของสหรัฐจึงมีส่วนโดยตรงต่อการกำหนดทิศทางของโลก และทิศทางเช่นนี้เป็นผลผลิตที่มาจากการกำหนดนโยบายของทำเนียบขาว

นอกจากนี้ประเด็นสำคัญที่เห็นจากการเลือกตั้งสหรัฐ 2016 คือ การแทรกแซงของรัสเซีย

ดังจะเห็นได้จากการตรวจสอบของคณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงของรัฐสภาอเมริกัน ที่มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของรัสเซียในกรณีนี้

ถ้าเช่นนั้นรัสเซียจะมีบทบาทในการแทรกแซงอีกหรือไม่

และสหรัฐจะป้องกันกรณีนี้ในการหาเสียงในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2020 อย่างไร

4)ปัญหาการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ

หนึ่งในปัญหาการเมืองโลกที่สำคัญคือ การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ซึ่งมีนัยรวมถึงขีปนาวุธในพิสัยต่างๆ โดยเฉพาะพิสัยกลางและพิสัยไกล

อันเป็นการยืนยันว่าเกาหลีเหนือไม่เพียงประสบความสําเร็จในการมีหัวรบนิวเคลียร์เท่านั้น

หากแต่ยังประสบความสําเร็จในการมีขีปนาวุธข้ามทวีปด้วย

ดังนั้น หลายรัฐบาลอเมริกันจึงพยายามอย่างมากในการกดดันให้เกาหลีเหนือยุติโครงการดังกล่าว

และเมื่อทรัมป์ปรับท่าทีใหม่ด้วยการเปิดการพบระดับผู้นำสูงสุดจากสิงคโปร์ ฮานอย และการพบอย่างกะทันหันที่เขตปลอดทหาร

สิ่งเหล่านี้เป็นความหวังว่า ความตึงเครียดจากปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือจะลดลง

แต่กระนั้นก็ยังไม่เห็นถึง รูปธรรมของการปลดอาวุธนิวเคลียร์ (denuclearization)

ฉะนั้น จึงน่าสนในว่า ในปี 2020 ปัญหานี้จะคลี่คลายไปในทิศทางใด และจะมีการพบระหว่างสองผู้นำในปีนี้อีกหรือไม่

5)ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์อิหร่าน

ปัญหาคู่ขนานอีกประการคือ การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านที่รัฐบาลอเมริกันในหลายสมัยพยายามกดดันไม่ต่างจากกรณีของเกาหลีเหนือ

แต่เมื่อทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแล้ว เห็นได้ชัดว่าอาวุธนิวเคลียร์อิหร่านกลายเป็นหนึ่งในปัญหาใจกลางที่สำคัญ และทิศทางการแก้ปัญหามีลักษณะเป็นแบบ “สายเหยี่ยว” มากขึ้น

โดยเฉพาะเมื่อทรัมป์ปฏิเสธข้อตกลงเดิม (The Iran Nuclear Deal 2015)

อีกทั้งกลุ่มปีกขวาที่มีอิทธิพลในรัฐบาลอเมริกันล้วนมองอิหร่านเป็น “ภัยคุกคามหลัก” ในตะวันออกกลาง

และสถานการณ์สุดท้ายก่อนสิ้นปี 2019 คือ การประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐที่แบกแดด ซึ่งผู้นำสหรัฐเชื่อว่าอิหร่านอยู่เบื้องหลัง อันนำไปสู่การตัดสินใจที่สำคัญในการสังหารนายพลโซไลมานีของอิหร่านในอิรัก

แน่นอนว่าการสังหารนี้นำไปสู่ความตึงเครียดครั้งใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังตามมาด้วยการยิงเครื่องโดยสารพลเรือนจากฝ่ายอิหร่าน

ฉะนั้น สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิหร่านน่าจะดำรงอยู่ต่อไป และเป็นความกังวลของหลายฝ่ายต่อการแก้แค้นของอิหร่าน

อีกทั้งการแก้แค้นนี้จะนำไปสู่การขยายตัวของความขัดแย้งในปีนี้หรือไม่

6)ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน

การโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียในเดือนกันยายน 2019 ตลอดรวมถึงปัญหาการโจมตีเรือขนส่งน้ำมันในช่องแคบฮอร์มุซ สะท้อนให้เห็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่จะยังคงเป็นประเด็นในปี 2020

ได้แก่ ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน

และปัญหานี้ปรากฏให้เห็นอีกส่วนการความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่านจากกรณีการลอบสังหารนายพลอิหร่าน

หลายฝ่ายกังวลว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้การเดินทางของเรือขนส่งน้ำมันในช่องแคบฮอร์มุซจะเป็นประเด็นอีกในปีนี้

หากการขนส่งในช่องแคบดังกล่าวเกิดปัญหาขึ้นจริง ย่อมส่งผลกระทบต่อปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานของโลก

และยังส่งผลต่อราคาพลังงานในตลาดโลกอีกด้วย

ดังนั้น ปัญหาความผันผวนทางด้านพลังงานในปี 2020 จะยังเป็นประเด็นสำคัญ

และหากปัญหามีความรุนแรงแล้ว ย่อมจะส่งผลกระทบกับความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกที่มีปัญหาจากสงครามการค้าอีกด้วย

7)ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ

ปัญหานี้แต่เดิมดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว ที่ผู้คนในสังคมอาจจะไม่รู้สึกถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในระดับส่วนบุคคลหรือระดับครอบครัว

แต่ปรากฏการณ์จากไฟป่าขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในออสเตรเลียชี้ให้เห็นถึงความเสียหายต่างๆ อย่างมากมาย ทั้งคน สัตว์ป่า และทรัพย์สิน

สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดไฟป่าทั่วโลก

และการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ตัวแบบของปัญหาไฟป่าออสเตรเลียกำลังเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดไฟป่า ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ความชื้นต่ำในอากาศ ปริมาณฝนที่ลดน้อยลง และกระแสลมแรง

ดังจะเห็นได้ว่าปี 2019 เป็นปีที่ “ร้อนสุด-แล้งที่สุด” ของออสเตรเลีย

และลักษณะอากาศเช่นนี้กำลังเกิดในหลายประเทศ การแก้ไขอาจจะต้องผลัดดันให้มีมาตรการลดอุณหภูมิต่ำกว่า 2 องศาต่อปี

รวมถึงการสนับสนุน “ปฏิญญาปารีส” ในการลดภาวะโลกร้อน

และปัญหานี้จะเป็นประเด็นที่ได้รับการผลักดันมากขึ้นในปี 2020 ดังจะเห็นได้จากขบวนการสภาวะอากาศโลก (Global Climate Movement) ที่นำโดยกรีตา ทุนเบิร์ก (Greta Thunberg) ใช้ระยะเวลาเพียง 18 เดือนในการเคลื่อนจนกลายเป็นกระแสโลกที่สำคัญในปัจจุบัน

(เธอได้รับการยกย่องให้เป็น “บุคคลแห่งปี” ของนิตยสารไทม์ในปี 2019 และมีอายุ 18 ปีในปีนี้)

ซึ่งเป็นความหวังว่า ผู้นำของประเทศต่างๆ และผู้นำธุรกิจใหญ่จะให้ความสนใจกับปัญหานี้มากขึ้นในอนาคต

เพราะปัญหาไม่ได้มีเฉพาะเรื่องไฟป่าเท่านั้น หากยังเห็นน้ำท่วมใหญ่เช่นในเวนิสอีกด้วย

8)ปัญหาการก่อการร้ายในยุคหลังกลุ่มรัฐอิสลาม

การสูญเสียฐานที่มั่นหลักของกลุ่มรัฐอิสลาม และตามมาด้วยการสังหารผู้นำกลุ่มทำให้การก่อการร้ายในภาพรวมของปี 2019 มีทิศทางที่ลดลง

แต่สิ่งที่เป็นความกังวลด้านความมั่นคงในปี 2019 และในปี 2020 คือ การ “กลับบ้าน” ของบรรดานักรบต่างชาติ (foreign fighters) ที่เข้าร่วมการรบกับกลุ่มรัฐอิสลามทั้งในอิรักและในซีเรีย

ซึ่งนักรบเหล่านี้ไปจากหลายประเทศ ทั้งในเอเชีย แอฟริกา และยุโรป เช่นจากอินโดนีเซีย อียิปต์ เลบานอน จอร์แดน ตูนิเซีย ซาอุดีอาระเบีย อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย เป็นต้น

การกลับประเทศของนักรบเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นการพาการก่อการร้ายกลับเข้าไปในประเทศของตน

ทั้งในกรณีของยุโรปและเอเชีย เพราะผลจากประสบการณ์ในสงครามทำให้คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งกลายเป็น “ผู้เชี่ยวชาญในการก่อการร้าย” (terrorism specialists)

ดังที่เห็นจากตัวอย่างของเหตุที่เกิดในยุโรปจากบรรดานักรบที่กลับบ้าน

ดังนั้น ในปีนี้จึงไม่เพียงที่ต้องตามดูถึงความพยายามในการฟื้นตัวขอกลุ่มรัฐอิสลามภายใต้ผู้นำใหม่

และขณะเดียวกันยังต้องให้ความสนใจกับปัญหาการกลับบ้านของบรรดานักรบที่เป็น “ทหารผ่านศึก” จากอิรักและซีเรียจะเป็นภัยคุกคามเพียงใดในปี 2020

9)ความเปลี่ยนแปลงของสงคราม

การเปิดการโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียในกลางปี 2019 และการสังหารผู้นำทางทหารของอิหร่านในอิรักในตอนต้นปี 2020 ด้วยการใช้โดรนเป็นเครื่องมือนั้น

ทำให้แนวคิดในเรื่องของ “สงครามโดรน” (Drone Warfare) ไม่ใช่เป็นเรื่องของนิยายวิทยาศาสตร์อีกต่อไป

ในขณะเดียวกันการใช้โดรนได้ถูกยกระดับมากขึ้น จากเดิมที่โดรนมีภารกิจในการถ่ายภาพ หรือทำหน้าที่ในการลาดตระเวนทางอากาศสมัยใหม่

แต่ต่อมาโดรนไม่ได้ติดตั้งเพียงกล้องถ่ายภาพ หากยังติดอาวุธอีกด้วย (คือเป็น combat drone) ไม่ว่าจะเป็นระเบิด หรืออาวุธยิงจากอากาศสู่พื้น

การใช้โดรนในภารกิจทางทหารในฐานะของการเป็นเครื่องมือของการโจมตีทางอากาศ และการล่าสังหารทางอากาศ จึงเป็นดังการเปลี่ยนภาพของสงคราม ที่เครื่องมือในการรบจะไม่ใช่มีเพียงเครื่องมือที่ใช้มนุษย์เป็นผู้ขับขี่ในแบบเดิมเท่านั้น

หากแต่เครื่องมือสงครามใหม่จะเป็นแบบที่ถูกควบคุมโดยมนุษย์จากระยะไกล (remote control)

สิ่งนี้กำลังบ่งชี้ว่า อาวุธแบบใหม่กำลังเข้ามาแทนที่แบบเก่า และโดรนกำลังเป็นหนึ่งในตัวแทนความใหม่ของสงครามในอนาคต

10)การประท้วงใหญ่ในเวทีโลก

หนึ่งในความน่าสนใจในเวทีโลก 2019 คือการประท้วงใหญ่ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนรัฐบาล

เช่น ในแอลจีเรีย ซูดาน เลบานอน อิรัก และโบลิเวีย และเห็นการประท้วงใหญ่ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอิหร่าน อินเดีย ฝรั่งเศส และฮ่องกง

ซึ่งการประท้วงในหลายกรณีเป็น “ม็อบเศรษฐกิจ”

เช่น ตัวอย่างของกลุ่มแจ๊กเก็ตเหลืองในฝรั่งเศส และบางกรณีเป็น “ม็อบการเมือง” ดังกรณีของฮ่องกง

ฉะนั้น ปี 2020 จึงเป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลในหลายประเทศที่อาจจะต้องเผชิญกับการประท้วง และอาจมีประเด็นทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องหลักมากขึ้น

และปีนี้จะมีรัฐบาลใดที่ถูกม็อบโค่น

11)พัฒนาการของโลกหุ่นยนต์

โลกได้เห็นพัฒนาการที่มากขึ้นของหุ่นยนต์ในปีที่ผ่านมา

ซึ่งเชื่อว่าปี 2020 หุ่นยนต์จะก้าวหน้ามากขึ้นทั้งในบริบททางสังคม

หรือการเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจ

อีกทั้งการใช้หุ่นยนต์ในทางทหาร

ตลอดถึงพัฒนาการของระบบอาวุธอัตโนมัติ (autonomous weapons)

12)การอพยพย้ายถิ่นในเวทีโลก

ประเด็นการอพยพจะยังคงประเด็นสำคัญต่อเนื่องในเวทีโลก

การข้ามจากจากตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือไปยุโรปเป็นตัวอย่างในกรณีนี้

และด้วยเงื่อนไขสงคราม ความอดอยาก

และอีกส่วนคือความแห้งแล้งจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ

เรื่องเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายคนยอมเสี่ยงตายเดินทางไปแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า

13)กระแสสตรีและความหลากหลายทางเพศ

ปี 2018 ถูกยกให้เป็น “ปีของผู้หญิง” (The Year of the Woman) แม้การเมืองโลกจะเป็นเวทีของผู้นำประชานิยมปีกขวา

แน่นอนว่ากระแส “สิทธิสตรี” (women”s rights) ยังคงเป็นประเด็นสำคัญต่อมาจนถึงปัจจุบัน

และจะเห็นถึงการเดินขบวนของสตรีในหลายประเทศ รวมถึงการต่อสู้ในเรื่องของความหลากหลายทางเพศ