วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /จากกฎหมายถึงจริยธรรม

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์  

จากกฎหมายถึงจริยธรรม

การประกอบวิชาชีพต้องมีจริยธรรม เช่น งานด้านการเขียน ไม่ว่าจะเขียนประเภทใด จริยธรรมคือจรรยาของอาชีพการเขียน หรือนักเขียน เรียกว่า “จรรยาบรรณ” เพราะเป็น “จรรยา” ของการเขียน

ขณะที่ในวิชาชีพอื่นมีจริยธรรมกำกับทั้งสิ้น อาทิ จรรยาครู จรรยาแพทย์ จรรยาวิศวกร จรรยาสถาปนิก (สองอาชีพหลังไม่ทราบว่าใช้คำว่า “จรรยา” หรือไม่) ส่วนทนายความใช้ว่า “มารยาททนายความ”

เมื่อมีผู้เรียกร้องเรื่อง “จรรยาบรรณ” ของผู้ประกอบวิชาชีพการเขียน โดยเฉพาะการเขียนข่าวหนังสือพิมพ์ มีผู้เรียกร้องให้ผู้ประกอบอาชีพนี้มี “จรรยาบรรณ” จึงเป็นเหตุให้เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพใดประพฤติผิดจริยธรรม จึงมักเรียกร้องให้ผู้นั้นปฏิบัติตามจรรยาบรรณ เช่น วิชาชีพแพทย์ ทั้งที่แพทย์มีจรรยาแพทย์กำกับอยู่แล้ว

หนังสือ “กฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน” ของรองศาสตราจารย์พิศิษฐ์ ชวาลาธวัช ฉบับแก้ไขปรับปรุงพิมพ์ครั้งที่ 14 เดือนมิถุนายน 2549 สำนักพิมพ์บ้านหนังสือโกสินทร์ อธิบายความหมายของ “จริยธรรม” ในงานสัมมนาระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์และนักวิชาการทางด้านวารสารศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์ เรื่อง “การปฏิรูปสื่อมวลชน”

ซึ่งผู้เขียน (รศ.พิศิษฐ์) ได้รับมอบหมายให้พูดในหัวข้อ “บทบาทของนักวิชาการในการปฏิรูปสื่อมวลชนผ่านการเรียนการสอนด้านจริยธรรม” ว่า

 

จริย หมายถึง ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ

ธรรม หมายถึง ความถูกต้อง กฎเกณฑ์ คุณความดี คำสั่งสอนในทางศาสนา

จริยธรรมของนักสื่อสารมวลชนหรือของสื่อมวลชน หมายถึง ความประพฤติที่รักษาความถูกต้องที่มีกฎเกณฑ์ของสื่อมวลชนตามแต่ประเภทของงานซึ่งต่างฝ่ายต่างมีจริยธรรมของตนเอง เช่น หนังสือพิมพ์ก็มีสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติทำหน้าที่ดูแลสมาชิกให้ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ซึ่งได้รับการประกาศใช้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2541…

ข้อบังคับทางจริยธรรมเป็นหลักธรรมทางความคิดที่อยู่สูงกว่ากฎหมาย เป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงาม ถูกต้อง ที่มนุษย์จะเคารพในสิทธิของความเป็นมนุษย์ทั้งในระดับศีลธรรมและกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ

สมาชิกขององค์กรควบคุมวิชาชีพแห่งนี้จะต้องเคารพกฎเกณฑ์ทางจริยธรรมที่ช่วยกันสร้าง และไม่มีการฝ่าฝืนข้อบังคับทางจริยธรรมที่ให้สัญญาไว้กับสังคม หากต่อไปในภายภาคหน้า สมาชิกหรือผู้ประกอบวิชาชีพนี้ไม่รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ จะถูกลงโทษด้วยความเสื่อมศรัทธาและอาจถูกประณามจากสังคมได้

เรื่องของจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์มักมีผู้กล่าวถึงเสมอ โดยเฉพาะในการนำเสนอข่าวสารและภาพไปในทางไม่เคารพในสิทธิของผู้ตกเป็นข่าว และมักละเมิดบุคคลอื่น อาทิ ผู้หญิง เด็ก และผู้ด้อยโอกาส ที่ถูกกระทำการอันมิดีมิร้าย เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืนกระทำชำเรา

ขณะที่ในวงการผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์เอง ตระหนักในกรณีนี้ ทั้งมีผู้เรียกร้องให้ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์นำเสนอภาพและข่าวโดยไม่นำเสนอภาพที่อุจาดและข่าวที่ละเมิดผู้อื่น ทั้งมักมีการเรียกร้องให้ควบคุมกันเอง เพื่อให้หนังสือพิมพ์มีสิทธิเสรีภาพ โดยไม่มีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องหรือลิดรอนเสรีภาพ

 

เมื่อครั้งก่อตั้งสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมมีจริยธรรมเป็นข้อบังคับ หลังจากนั้นได้ก่อตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ต่อมารวมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีข้อบังคับเป็นจริยธรรมวิชาชีพของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รวม 6 ข้อ

  1. ส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพการเสนอข่าวและความคิดเห็น
  2. ให้ประชาชนได้ทราบข่าวเฉพาะที่เป็นจริง การเสนอข่าวสารใดๆ ออกพิมพ์โฆษณาเผยแพร่ ถ้าปรากฏว่าไม่ตรงต่อความเป็นจริง ต้องรีบจัดการแก้ไขให้ถูกต้องโดยเร็ว
  3. ในการได้มาซึ่งข่าว ภาพ หรือข้อมูลใดมาเป็นของตน ต้องใช้วิธีการที่สุภาพและซื่อสัตย์เท่านั้น
  4. เคารพในความไว้วางใจของผู้ให้ข่าว และรักษาไว้ซึ่งความลับของแหล่งข่าว
  5. ปฏิบัติหน้าที่ของตน โดยมุ่งหวังต่อสาธารณประโยชน์ ไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวหรือหมู่คณะโดยไม่ชอบธรรม
  6. ไม่กระทำการอันเป็นการบั่นทอนเกียรติคุณของวิชาชีพ หรือความสามัคคีของเพื่อนร่วมอาชีพ

 

ต่อเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2540 จากความพยายามของผู้ประกอบการหนังสือพิมพ์ โดยเจ้าของ ผู้ประกอบการ บรรณาธิการ และผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์พร้อมใจกันสถาปนาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ให้เป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ควบคุมกันเอง เพื่อส่งเสริมเสรีภาพ ความรับผิดชอบ สถานภาพผู้ประกอบการวิชาชีพและกิจการหนังสือพิมพ์

ตลอดจนส่งเสริมสนับสนุนสิทธิการใช้สื่อหนังสือพิมพ์เพื่อการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยส่งเสริมให้หนังสือพิมพ์ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่ประชาชน ทั้งยึดถือความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมเป็นหลักในการประกอบวิชาชีพ

อาศัยความตามข้อ 5(1) และข้อ 14(4) แห่งธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2540 คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติมีมติเห็นชอบให้ตราข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ไว้ดังต่อไปนี้

หมวด 1 หมวดทั่วไป

ข้อ 1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ พ.ศ.2541”

ข้อ 2 ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ 3 ในข้อบังคับนี้

“ข่าว” หมายถึง เนื้อข่าว ความนำหรือตัวโปรย พาดหัวข่าว ภาพข่าว และคำบรรยายข่าว

“หนังสือพิมพ์” หมายถึง หนังสือพิมพ์ตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2540 ข้อ 3

“ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์” หมายถึง ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2540 ข้อ 3

จากนั้นเป็นหมวด 2 จริยธรรมของหนังสือพิมพ์ หมวด 3 จริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ และหมวด 4 แนวปฏิบัติของหนังสือพิมพ์และผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์